Jumaat, 17 Januari 2025

บ้านกะลาพอ จากแขวงสู่อำเภอ จากอำเภอสู่กิ่งอำเภอ และลดสถานะกลายเป็นชุมชมบ้านกะลาพอ

ในการพบปะผู้คน และการร่วมสัมมนาหลายๆ ครั้ง มักได้รับคำถามจากผู้ร่วมสนทนา และร่วมสัมมนาที่รู้จัก ว่า กะลาพอ หรือ กลาพอ (Kelaba) ว่าเคยเป็น “Negeri” หรือเปล่า ก็ตอบว่า น่าจะไม่ใช่ ถ้าความหมายของคำว่า Negeri ที่หมายถึงสถานะที่เทียบเท่า รัฐ หรือเมืองใหญ่ กว้างขวางเมืองหนึ่ง แต่ถ้าเป็นความหมายของ Negeri หรือ Nagori ของชาวมีนังกาเบา ก็น่าจะใช่ เพราะคำว่า Nagori หมายถึงชุมชนหนึ่ง และตอบเสริมว่า ผู้เขียนมีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องบ้านกลาพอ เท่าที่ได้ค้นหาหลักฐานมา โดยเฉพาะในครั้งครบรอบ 100 ปีของการจัดตั้งอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปหาข้อมูลเพื่อจัดทำนิทรรศการครบรอบ 100 ปีของการจัดตั้งอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ  ซึ่งจากการเดินทางครั้งนั้น ข้อสงสัยหลายๆอย่างของผู้เขียน ก็ไดัรับคำตอบ ไม่ว่า ข้อสงสัยที่ว่า เมื่อไร ปีไหนที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส หรือแม้แต่อำเภอเมืองนราธิวาส เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสายบุรี ถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองระแงะ

 

การตั้งบ้านกลาพอขึ้นเป็นแขวง

บ้านกะลาพอ ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี เดิมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองสายบุรี หรือในปัจจุบันคืออำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ด้วยบ้านกะลาพอ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองระแงะ  สำหรับการยกฐานะของตำบลกะลาพอมาเป็นแขวง (น่าจะเทียบเท่าอำเภอในการปกครองปัจจุบัน) เมื่อปัตตานีพ่ายแพ้ต่อสยามแล้ว ทางสยามจึงส่งคนคือนายขวัญซ้าย มาเป็นเจ้าเมืองปัตตานี โดยนายขวัญซ้าย เป็นบุตรของนายเค่ง (ชาวจีนแผ่นดินใหญ่) ได้อพยพมาอยู่เมืองสงขลา ต่อมาโดยการเสนอของพระยาสงขลา(บุญฮุ้ย) ให้นายเค่งช่วยงานราชการในสมัย ร. 1  และนายเค่ง มีบุตรชาย 2 คน คือ นายขวัญซ้าย และนายพ่าย สำหรับนายเค่งต่อมาได้รับบรรดายศเป็นพระมหานุภาพปราบสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองจะนะ ส่วนนายขวัญซ้าย ได้รับราชการเป็นปลัดเมืองจะนะ

Tiada ulasan: