Sabtu, 20 Mac 2021

ดร. อาหมัด อโลนโต ซีเนียร์ หรือ อาหมัด โดโมคาว เอ. อโลนโต (Dr. Ahmad Domocao "Domie" A. Alonto) นักต่อสู้ชาวมุสลิมฟิลิปปินส์ภาคใต้

โดย นิอับดุลรากิ๊บ   บินนิฮัสซัน

อดีตวุฒิสมาชิกชาวฟิลิปปินส์ อยู่ในตำแหน่งระหว่าง 27 มกราคม 1956 – 13ธันวาคม 1961 เป็นตัวแทนของเขต  Lanao del Sur   เกิดเมื่อ 1 สิงหาคม 1914 ที่เมือง Ditsaan-Ramain จังหวัด  Lanao del Sur

เสียชีวิตเมื่อ 11 ธันวาคม  2002 (อายุ 88 ปี)    สังกัดพรรคการเมืองชื่อ Nacionalista Party    เขาได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์

เป็นทนายความ นักการศึกษา นักเขียน ผู้นำท้องถิ่น และนักต่อสู้ชาวมุสลิมจากจังหวัดลาเนาเดลซูร์ ภาคใต้ฟิลิปปินส์

 

ในปี 1988 เขาได้รับรางวัล King Faisal Prize for Service to Islam จากประเทศซาอุดีอาราเบีย

เขาเป็นบุตรคนโตจากพี่น้อง 6 คนของอดีตวุฒิสมาชิกสุลต่านอาเลายา แห่งรามัยน์ กับนางบัยฮัจยะห์อามีนะห์ บารีฆา อาลังอาดี ซึ่งเป็นลูกหลานชั้นที่ 6 ของสุลต่านมูฮัมหมัดดีปาตวน กุดารัต แห่งมาฆินดาเนา  ขีวิตในวัยเด็ก ได้รับการเรียนด้านศาสนาอิสลามจากมารดา ระหว่างปี 1921–1931 เรียนจบประถมศึกษา และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดลาเนาเดลซูร์ และจบปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และเขาได้เป็นสมาชิก the Upsilon Sigma Phi fraternity ของมหาวิทยาลัยดังกล่าว เขาสอบได้เนติบัณฑิตในปี 1938

 

เขาเป็นน้องชายของนายอับดุลฆาฟูร์ มัดกี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดและอดีตนักการทูต และนายตาร์ฮาตา อาโลนโต ลุกมาน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลาเนาเดลซูร์ สำหรับบุตรชายของเขาที่ชื่อว่า นายอัดนัน วิลลาลูนา อาโลนโต ปัจจุบันในยุคของประธานาธิบดีโรดรีโก ดูเตอร์เต ได้รับเลือกให้เป็นเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศซาอุดีอาราเบีย ส่วนบุตรสาวของ คือ นางเบโจเรีย โซรายา อาโลนโต อาดียง ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลาเนาเดลซูร์ ในปี 2016 และบุตรชายของเขาอีกคน คือ นายอาหมัด เองกราเซีย อาโลนโต จูเนียร์ เคยเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินดาเนา ระหว่างปี 1987–1992

เขาเริ่มงานเป็นครูในจังหวัดลาเนาเดลซูร์ และเป็นนักเขียน(ไม่เปิดเผยชื่อ) ให้กับคณะกรรมการข้อมูลแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้รับยศเป็นร้อยตรีในกองทัพฟิลิปปินส์กองที่ 81ของกองกำลังสหรัฐฯในตะวันออกไกล (USAFFE)

 

ในช่วงการยึดครองของญี่ปุ่นระหว่างปี 1942–1945 เขาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดันซาลัน ซึ่งปัจจุบัน คือเมืองมาราวี ต่อมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลาเนา ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ในขณะที่เขาทำงานให้กับการปกครองของญี่ปุ่น เขายังทำงานใต้ดินลับๆกับขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยของญี่ปุ่นแต่อย่างใด   ภายหลังสงครามเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยประธานาธิบดี(Presidential Assistant) และที่ปรึกษาของทำเนียบประธานาธิบดี ระหว่างปี 1947–1948

ในปี 1954 เขาได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามมินดาเนา (The Mindanao Islamic University) หรือ ยัมอียะห์อัลฟิลิบบิน อัลอิสลามีย์ เป็นมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งแรกในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ระหว่างปี 1955–1961 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสูงของฟิลิปปินส์ สังกัดพรรค the Nacionalista Party. ผลงานในระหว่างอยู่ในตำแหน่ง เช่น การเสนอการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินดาเนา หรือ the Mindanao State University (MSU) และมีการเสนอแก้ไขกฎหมายที่ชื่อว่า the Civil Service Law of 1959 เพื่อรับรองวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม คือ วันตรุษอีดิลฟีตรี และวันตรุษอีดิลอัฎฮา นอกจากนั้นยังเป็นผู้เสนอกฎหมายตามคำสั่ง Republic Act No. 2228 ให้แบ่งแยกจังหวัดลาเนา ออกเป็นจังหวัดลาเนาเดลซูร์ และจังหวัดลาเนาเดลนอร์เต

 

การประชุมที่เมืองบันดุง

ในปี 1955 มีการประชุมของกลุ่มประเทศไม่ฝักฝ่ายใดขึ้นที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดเนเซีย มีนายคาร์ลอส พี. โรมูโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้นำตัวแทนของประเทศฟิลิปปินส์ และดร. อาหมัด อโลนโต ซีเนียร์ เป็นมุสลิมคนเดียวในตัวแทนประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นโอกาสให้เขาได้สร้างความรู้จักกับอดีตประธานาธิบดียามาล อับดุลนัสเซอร์ แห่งประเทศอิยิปต์ อดีตประธานาธิบดีซูการ์โน แห่งประเทศอินโดเนเซีย และตนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา แห่งสหพันธรัฐมาลายา

การเข้าร่วมประชุมครั้งนั้น สร้างความรู้จัก สร้างเครือข่ายของเขากับตะวันออกกลาง ทำให้โลกมุสลิมสนใจชาวมุสลิมในประเทศฟิลิปปินส์ มีผลทำให้เขาได้รับทุนการศึกษาให้กับชาวมุสลิมในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนการทหารกรุงไคโร รวมทั้งมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์ ประเทศอิยิปต์ หนึ่งในนักศึกษาที่ได้รับทุนครั้งนั้น คือ นายสลามัต ฮาชิม ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งขบวนการต่อสู้ของชาวโมโร ภายใต้องค์กรชื่อว่า the Moro Islamic Liberation Front (MILF)

 

เขาเป็นสมาชิกก่อตั้งของ World Muslim League ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในนครมักกะห์ นอกจากนั้นเขายังเป็นคณะกรรมการบริหารของ Council of the World Islamic Congress รวมทั้งเป็นคณะกรรมการบริหารของ the Central Council of the International Organization of Islamic Universities และยังเป็นกรรมการของอีกหลายองค์กรมุสลิมในประทศฟิลิปปินส์

เขาเป็นคนสนับสนุนให้ชาวมุสลิมมีการยอมรับในการจัดตั้ง the Moro National Liberation Front (MNLF) และต่อมาเป็นองค์กรที่แยกออกมาเป็น the Moro Islamic Liberation Front (MILF)

 

เขาเสียชีวิตเมื่อ 11 ธันวาคม 2002 ที่เมืองมาราวี จากการเป็นโรคมะเร็ง

 

 

Jumaat, 12 Mac 2021

10 เมืองที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศอินโดเนเซีย

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

เมื่อกล่าวถึงคำว่า เมือง ย่อมมีคำนิยามของคำว่าเมืองหลายความหมายด้วยกัน สำหรับ โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ให้ความหมายว่า เมือง คือ พื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและจำนวนประชากรในพื้นที่เมืองมีมากจนเกินขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของระบบนิเวศ ในการผลิต อาหารและน้ำ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชากรในพื้นที่ดังกล่าว

 

ส่วนทางสกุณตลา ปัญจากุล ได้ให้ความหมายว่า เมืองคือ พื้นที่หรืออาณาบริเวณที่อยู่รวมกันของคนที่มีกิจกรรมหรือภารกิจร่วมกันหรือแยกจากกัน อันเกิดจากการกระทำของคนที่อยู่ในเมืองนั้น

 

และจากพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่า เมืองคือ พื้นที่ตั้งชุมชน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้านมีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โดยมีองค์กรปกครองท้องถิ่นดูแลและจัดการ อาจเรียกเมืองต่างๆ ตามลักษณะกิจกรรมที่สำคัญในเมืองนั้นๆ เช่น เมืองการค้า เมืองอุตสาหกรรม

 

ด้วยประเทศอินโดเนเซีย เป็นประเทศที่ค่อนข้างใหญ่ และกว้าง ดังนั้นเมืองใหญ่ๆ จึงมีเป็นจำนวนมาก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างของเมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน มา 10 เมือง

 

ตารางเมืองต่างๆใหญ่ๆ ที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน และจำนวนประชากรในแต่ละเมือง



1. กรุงจาการ์ตา

ในฐานะที่กรุงจาการ์ตา เป็นเมืองหลวงของประเทศอินโดเนเซีย ดังนั้นจึงเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเงินการศึกษาและความบันเทิงต่างๆ ดังนั้นจึงมีผู้คนจำนวนมาก จากทั่วสารทิศของอินโดเนเซีย ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองหลวงแห่งนี้ ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมกรุงจาการ์ตา จึงเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในอินโดเนเซีย  จากการสำรวจประชากรของกรุงจาการ์ตา ที่มีการแบ่งการการปกครองภายในออกเป็น 5 เมืองย่อยๆ คือ

1. เมืองจาการ์ตากลาง (Jakarta Pusat)

2.เมืองจาการ์ตาตะวันตก (Jakarta Barat)

3.เมืองจาการ์ตาเหนือ (Jakarta Utara)

4. เมืองจาการ์ตาใต้ (Jakarta Selatan)

5. เมืองจาการ์ตาJakartaตะวันออก (Timur)

ประชากรทั้งห้าเมืองในกรุงจาการ์ตา มีประชากรทั้งหมด คือ 11,100,929 คน[1]

 

2. เมืองสุราบายา

 เมืองตำแหน่งอันดับที่สองที่มีประชากรมากที่สุดของอินโดเนเซีย คือเมืองสุราบายา เมืองนี้เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางการศึกษา  การเงิน การบริการ และการค้าที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชวาตะวันออก   โดยเมืองสุราบายามีประชากร 3,158,943 คน[2]

3. เมืองเมดาน

เมืองเมดานเป็นเมืองที่มีตำแหน่งเป็นอันดับที่สามของเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศอินโดเนเซีย เมืองเมดานเป็นเมืองเอก ศูนย์อำนาจของจังหวัดสุมาตราเหนือ เมืองเมดานเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าที่ใหญ่ที่สุดนอกเกาะชวา นอกจากนั้นยังเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดบนเกาะสุมาตราอีกด้วย เมืองเมดานมีประชากร 2,524,341 คน[3]

4. เมืองเบกาซี

 เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในจังหวัดชวาตะวันตก ชื่อของเมืองเบกาซี มาจากคำว่าบาฆาซาซี เป็นคำที่จารึกอยู่ในศิลาจารึกในยุครัฐตารูมาเนอฆารา เป็นชื่อของแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองนี้ เมืองเบกาซีเป็นที่ตั้งของ บริษัท และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเมืองเบกาซี มีประชากร 2,464,719 คน[4]

5. เมืองบันดุง     

เมืองบันดุงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ปาริสแห่งเกาะชวา หรือ "Paris Van Java เป็นเมืองที่ติดอันดับเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในอินโดนีเซีย  เมืองบันดุงเป็นเมืองเอกของจังหวัดชวาตะวันตก    เมืองมีบรรยากาศที่เย็นสบายเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนมาตั้งรกรากในเมืองบันดุง   เมืองบันดุงมีประชากร 2,507,888 คน[5]

6. เมืองเดปอก

เมืองเดปอก เป็นเมืองที่ติดกับกรุงจาการ์ตา เมืองเดปอก ตั้งอยู่ในจังหวัดชวาตะวันตก เมืองเดปอกตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา เดิมเมืองนี้อยู่เป็นตำบล (kecamatan) อยู่ภายใต้อำเภอ (kabupaten) โบโกร์ ต่อมาได้ยกขึ้นมาเป็นเมืองเมื่อวันที่ 27 เมษายน 1999 เมืองนี้ยังของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ คือ มหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย  เมืองเดปอก ในปี 2020 มีประชากร 2,484,186 เป็นที่ตั้ง ล้านคน[6]

7. เมืองเซอมารัง

 เมืองเซอมารังเป็นเมืองเอกของจังหวัดชวากลาง  เมืองเซอมารังจะรู้จักในฐานะเป็นศูนย์กลางการศึกษา อุตสาหกรรมการบริการ และการค้าที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชวากลาง เมืองเซมารังมีประชากร 1,674,358 คน[7]

8. เมืองมากัสซาร์

คำว่า มากัสซาร์ นี้คนไทยจะรู้จักในชื่อว่า มักกะสัน ด้วยในอดีตจะมีชาวบูกิสจากมากัสซาร์ ไปตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา  สำหรับเมืองมากัสซาร์เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์  และยังได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษา การเงินและการค้าที่ใหญ่ที่สุดในด้านตะวันออกของอินโดเนเซีย  เมืองมากัสซาร์มีสถานะเป็นเมืองเอกของจังหวัดสุลาเวสีใต้  ทำให้เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดบนเกาะสุลาเวสี  เมืองมากัสซาร์มีประชากร 1,508,154 คน[8]

9. เมืองตาเงอรัง

เมืองตาเงอรังนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดบันเต็น ตั้งอยู่ทางตอนตะวันตกของกรุงจาการ์ตา ด้วยเป็นเมืองที่ใกล้กับเมืองหลวงของประเทศ ทำให้เมืองตาเงอรัง มีบริษัทใหญ่ๆ และโรงงานขนาดใหญ่จำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เมืองนี้จะเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชาการมากที่สุดในอินโดนีเซีย  เมืองตาเงอรังมีประชากร 1,895,486 คน[9]

10. เมืองปาเล็มบัง

เมืองปาเล็มบัง เป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์ ด้วยในอดีตเมืองปาเล็มบังเป็นเมืองศูนย์อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยในอดีตที่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั้งบนเกาะสุมาตรา แหลมมลายู และภาคใต้ของไทย เมืองปาเล็มบัง เป็นเมืองเอกของจังหวัดสุมาตราใต้ เป็นเมืองใหญ่อันดับสองบนเกาะสุมาตรา รองจากเมืองเมดาน เมืองปาเล็มบัง มีสะพานที่มีชื่อเสียง นั้นคือ สะพาน Ampera เป็นสะพานที่มีความยาวถึง 1.117 กิโลเมตร โดยเชื่อมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำมูซี เมืองปาเล็มบัง  มีประชากร 1,843,488 คน บันทึกเหล่านี้ทำให้ปาเล็มบังเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองบนเกาะสุมาตรารองจากเมดาน



[1] ข้อมูจากหนังสือ  Provinsi DKI Jakarta Dalam Angka 2021 จาก www.jakarta.bps.go.id

[2] ข้อมูลจากหนังสือ Kota Surabaya Dalam Angka 2020 จาก

  www.surabayakota.bps.go.id

[3] ข้อมูลจากหนังสือ Kota Medan Dalam Angka 2019. จาก https://medankota.bps.go.id

[4] ข้อมูลจากหนังสือ Kota Bekasi Dalam Angka 2020 จาก https://bekasikota.bps.go.id

[5] ข้อมูลจากหนังสือ Kota Bandung Dalam Angka 2020 จาก

   https://bandungkota.bps.go.id

[6] ข้อมูลจากหนังสือ Jumlah Penduduk Menurut Kelompok Umur dan Jenis Kelamin di

  Kota Depok (Jiwa), 2020 จาก https://depokkota.bps.go.id

[9] ข้อมูลจาก Kota Tangerang Dalam Angka 2020 จาก https://tangerangkota.bps.go.id