Khamis, 29 Februari 2024

ลมหายใจแห่งอิสรภาพ บทกวีของชายชาวสามจังหวัดชายแดนคนหนึ่ง

โดย นายนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

วันนี้ขอเสนอบทกวีของนายฮัสซัน  บูงาสายู เป็นบทกวี ในขณะที่ตัวเองตัวถูกคุมขังในข้อหากบถ  และสุดท้ายทางศาลได้ลงมติให้เจ้าตัวพ้นผิดจากข้อกล่าวหา และเจ้าตัวกลายเป็นผู้บริสุทธิ์

“ลมหายใจแห่งอิสรภาพ”

อะไรเกิดขึ้นกับตัวฉัน

เมฆทึบทมึนกำลังไล่เมฆขาวพราวสดใส

บดบังแสงอาทิตย์

ฉันสูญสิ้นอิสรภาพ

ได้ลิ้มรสความข่มขื่น

ในขอบเขตอันจำกัด

ได้เรียนรู้ความคิด

ด้วยน้ำตาและ... ความเจ็บปวด

ฉันต้องการออกจากที่นี่

ฉันไม่ต้องการอยู่

ไม่มีใครต้องการอยู่

กุญแจดิกนั้นอยู่ที่ไหน

คล้ำหาในความมืด

จะเปิดประตู

ใครเปิดประตูให้ฉันได้ไหม

ได้ยินไหม.....

ฉันจะสูดลมแห่งอิสรภาพ


ฮัสซัน บูงาสายู

Ahad, 25 Februari 2024

บทกวีชื่อ “คืนไร้จันทร์”จากชีวิตจริงของชาวปาตานีคนหนึ่ง

 โดยนายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

วันนี้จะขอเสนอบทกวีของนายฮัสซัน  บูงาสายู นักกิจกรรมนักศึกษาที่ชอบขีดเขียนบทกวี โดยเฉพาะเป็นบทกวีภาษาไทย  บทกวี่ที่เขาเขียนชื่อว่า “คืนไร้จันทร์”เป็นที่บรรยายถึงดวงจันทร์ ซึ่งสื่ออะไรบางอย่างของเจ้าตัว ในขณะที่ตัวเองถูกคุมขังในข้อหากบถ ที่คุกบางเขนกรุงเทพฯ  นายฮัสซัน  บูงาสายู เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และสุดท้ายทางศาลได้ลงมติให้เจ้าตัวพ้นผิดจากข้อกล่าวหา และการตัดสินของศาลทำให้เจ้าตัวกลายเป็นผู้บริสุทธิ์  โดยนายฮัสซัน  บูงาสายู เป็นคนชอบขีดเขียนบทกวี ในขณะที่อยู่ในเรือนจำ เจ้าตัวได้เขียนบทกวีชื่อว่า “คืนไร้จันทร์”เป็นบทกวีที่บรรยายถึงดวงจันทร์ที่ไร้เงา

 

คืนไร้จันทร์

ราตรีมืดเช่นนี้

ฉันหงอยเศร้าเปล่าเปลี่ยวยิ่งนัก

บนฟ้ากว้างแสนอ้างว้างไร้จันทร์ให้ฉันชม

โอ้....จันทร์ที่งามตาของฉัน

เธอร้างไกลจากฉันไปไหนหนอ

กลับมาเถิด

กลับมาหาฉัน

อย่าร้างเลยใจฉันเศร้า

เธอนะเหมือนเพื่อนคนหนึ่งของฉัน

เธอรู้ไหม......?

ว่าฉันกำลังรอคอยเธอมาเยี่ยมเยือน

อยากให้เธอส่องแสงงามออกมา

ทาสีนวลให้ราตรีอวลอุ่นอีกครั้ง.....



Rabu, 21 Februari 2024

บทกวีชื่อ “คืนแรก”จากชีวิตจริงของชาวปาตานีคนหนึ่ง

โดยนายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

วันนี้ขอเสนอบทกวีของนายฮัสซัน  บูงาสายู ซึ่งเป็นบทกวี ชื่อว่า “คืนแรก”เป็นคืนแรกในขณะที่ตัวเองถูกคุมขังในข้อหากบถ ที่คุกบางเขนกรุงเทพฯ  ในขณะที่นายฮัสซัน  บูงาสายู เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และสุดท้ายทางศาลได้ลงมติให้เจ้าตัวพ้นผิดจากข้อกล่าวหา และการตัดสินของศาลทำให้เจ้าตัวกลายเป็นผู้บริสุทธิ์  โดยนายฮัสซัน  บูงาสายู เป็นคนชอบขีดเขียนบทกวี ในขณะที่อยู่ในเรือนจำ เจ้าตัวได้เขียนบทกวีชื่อว่า “คืนแรก”เป็นบทกวีกล่าวถึงคืนแรกที่ตัวเองนอนในเรือนจำ


คืนแรก

คืนแรกในคุก

เสียงระฆังบอกเวลาดังทุกโมงยาม

ฉันนอนไม่หลับเลย

เพราะไม่เคยชิน

พลิกตัวไปมาอย่างกระสับกระสาย

ฉันบอกไม่ถูกว่าอีงอลแค่ไหน

ปั่นป่วนด้วยแรงครุ่นคิดประดังเข้ามา

มือทั้งสองคอยปัดป้องฝูงยุง

บินจู่โจมอย่างกระหายเลือดมานาน

เสมือนการต้อนรับผู้มาใหม่

Ahad, 18 Februari 2024

ฮีกายัตสรีกลันตัน ประวัติศาสตร์รัฐกลันตัน ที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวข้องกับปาตานี

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ฮีกายัตสรีกลันตัน เป็นเอกสารโบราณที่สำคัญยิ่ง บอกกล่าวถึงประวัติศาตร์รัฐกลันตัน เป็นประวัติศาสตร์ ที่ต้นราชวงศืรัฐกลันตันเกี่ยวโยงกับรัฐปาตานีในอดีต ต้นราชวงศ์ผู้ปกครองรัฐกลันตัน คือ ลงยูนุส ซึ่งถือว่า เป็นชาวปาตานี แล้วต่อมาได้กลายเป็นเจ้าเมืองรัฐกลันตัน  และเมื่อกล่าวถึงแง่ความสัมพันธ์รัฐกลันตัน-รัฐปาตานี ลงยูนุส แม้จะเป็นเจ้าเมืองรัฐกลันตัน ที่มาจากรัฐปาตานี เกิดที่รัฐปาตานี เติบโตที่รัฐปาตานี ลงยูนุสมีแม่เป็นบุตรสาวของขุนนางรัฐปาตานี แต่พ่อกลับเป็นลงสุไลมาน ที่เป็นบุตรชายของลงปันดัก เจ้าเมืองรัฐกลันตัน โดยลงปันดัก ได้ส่งลงสุไลมานกับลูกสาวอีกคน ตวนเกิมบังบูงา หนีสงครามจากรัฐกลันตัน มาอยู่รัฐปาตานี ซึ่งสามารถเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกลันตัน-รัฐปาตานีทั้งความสัมพันธ์ระดับผู้ปกครอง และประชาชนในอดีตจนถึงปัจจุบัน


สำหรับเอกสารประวัติศาสตร์รัฐกลันตัน มีอยู่หลายฉบับ เช่น

1) Hikayat Seri Kelantan

2) Syair Musuh Kelantan

3) Ringkasan Tarikh Kelantan

4) Syair Musuh Tok Janggut

5) Salsilah Kerajaan Kelantan

6) Kitab Tarikh Kelantan

แต่ในครั้งนี้ขอนำประวัติศาสตร์รัฐกลันตันจากเอกสารที่ชื่อว่า Hikayat Seri Kelantan


ฮีกายัตสรีกลันตัน

ฮีกายัตสรีกลันตันเป็นเอกสารฉบับภาษามลายูที่เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐกลันตัน เชื่อกันว่าเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1914 หรือวันที่ 9 เดือนรอบีอุลอาวัล ปี 1332 ส่วนชื่อผู้เขียนไม่เป็นที่แน่ชัด


สำเนาฮีกายัตสรีกลันตัน มีอยู่ในหอสมุดมหาวิทยาลัยมาลายา (Universiti Malaya) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในปี 1914 เอกสารฮีกายัตสรีกลันตันได้มาจากการรวบรวมจากแหล่งข้อมูลสองฉบับที่มีก่อนหน้านี้ โดยแหล่งที่เก่าแก่ที่สุดมีบันทึกใน 1783 โดยเอกสารต้นฉบับเดิมอยู่ในมือของดาโต๊ะปาดูกามหาราชาเลลา (Datuk Paduka Maharaja Lela) ซึ่งเป็นเอกสารที่สืบทอดมาจากบิดาของเขา คือ ดาโต๊ะฮัจญีนิมาหมุด บินอิสมาแอล (Datuk Haji Nik Mahmud bin Ismail) มุขมนตรีของรัฐกลันตัน


พิมพ์ใหม่อีกครั้ง

ฮีกายัตสรีกลันตันถูกพิมพ์ใหม่ โดยมีนายมูฮัมหมัดตาอิบ ออสมาน (Mohd Taib Osman) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์โดย Dewan Bahasa dan Pustaka กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในปี 2004 เป็นการพิมพ์ชุด ซีรีส์มรดกวรรณกรรมคลาสสิก โดยใช้สำเนาถ่ายเอกสารฮีกายัตสรีกลันตัน ที่มีอยู่ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยมาลายา กัวลาลัมเปอร์ นายมูฮัมหมัดตาอิบ ออสมาน เป็นอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาลายา


ศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัด ฮาชิม อดีตอาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์  มหาวิทยาลัยมาลายา กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้กล่าวว่า งานเขียนประวัติศาสตร์มลายูแบบดั้งเดิมเป็นแหล่งท้องถิ่นที่มีประโยชน์มากสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนมลายูในอดีต งานเขียนทางประวัติศาสตร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าชุมชนมลายูดั้งเดิมมีแนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว แนวคิดนี้มีหน้าที่บางอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในยุคนั้น


แนวคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มลายูดั้งเดิมสามารถเข้าใจได้จากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมในขณะนั้นเท่านั้น การเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ในทางกลับกัน การเขียนวรรณกรรมประวัติศาสตร์มลายูเก่า จะมีประวัติศาสตร์ที่ผสมตำนานอยู่ในงานเขียน ที่มีหน้าที่หรือบทบาทของตัวเองตามภูมิหลังของสังคมในขณะนั้น


มีนักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยถึงฮีกายัตสรีกลันตันหลายคน เช่น นายมูฮัมหมัดตาอิบ ออสมาน ในปี 2006 โดยหัวข้อวิจันของเขา คือ Hikayat Seri Kelantan: Manifesting a Civilization and Sociopolitical Statement of a State in its History สำหรับนายมูฮัมหมัดตาอิบ ออสมาน วิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่สถาบันมลายูศึกษา มหาลัยมาลายา ในปี 1961 ก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับฮีกายัตสรีกลันตัน โดยหัวข้อวิจัยชื่อว่า Hikayat Seri Kelantan : sa-buah naskhah tulisan tangan dari Kelantan ส่วนนายบัซรุล บาฮามาน (Bazrul Bahaman)  ได้ศึกษาฮีกายัตสรีกลันตัน ในหัวข้อ  Analisis Motif Politik dalam Hikayat Seri Kelantan ในปี 2006 ส่วนนายซัยนาลอาบีดิน บูรฮาน (Zainal Abidin Borhan) อดีตคณบดีสถาบันมลายูศึกษา มหาลัยมาลายา ก็ได้ศึกษาฮีกายัตสรีกลันตัน ในปี 2006 ในหัวข้อ ) ยังศึกษาเรื่อง Perang, Perang, Perang: Satu Kajian Berdasarkan Hikayat Seri Kelantan สำหรับดร. ฮาชิม มูซา อดีตคณบดีสถาบันมลายูศึกษา มหาลัยมาลายา อีกคน ก็ได้ศึกษาฮีกายัตสรีกลันตัน ในปี 2006 ในหัวข้อ Unsur Nilai Moral dan Etika dalam Hikayat Seri Kelantan และนายอาหมัดฮากีมี คัยรุดดิน (Ahmad Hakimi Khairuddin) ได้ศึกษาฮีกายัตสรีกลันตัน ในปี 2006 ในหัวข้อ Sejarah Awal Kelantan Berdasarkan Teks Riwayat Kelantan dan Hikayat Seri Kelantan


เนื้อหาของฮีกายัตสรีกลันตัน

ฮีกายัตสรีกลันตัน ได้บันทึกประวัติศาสตร์ของเจ้าเมืองแห่งรัฐกลันตัน โดยเริ่มจากเรื่องราวของเจ๊ะซีตีวันเกิมบัง (Encik Siti Wan Kembang) เจ้าเมืองรัฐกลันตันโบราณที่รู้จักกันในชื่อรัฐว่า Tanah Serendah Kebun Bunga Cerangtegayung หลังจากนั้นตามด้วยเรื่องราวในตำนานของปุตรี ซาอาดอง (Putri Saadong) ลูกสาวบุญธรรมของเจ๊ะซีตีวันเกิมบัง (Encik Siti Wan Kembang) ที่แทงสามีตัวเองที่ถูกว่ากันว่านอกใจ ปุตรี ซาอาดองได้ก้าวลงจากบัลลังก์รัฐและมอบอำนาจให้แก่ราชาอิบราฮิม ผู้เป็นน้องเขยของเธอ การปกครองของราชาหรือสุลต่านอิบราฮิมโหดร้ายต่อประชาชน ความโหดร้ายนี้ถูกนำข่าวให้ปุตรี ซาอาดง รับรู้ จนทำให้ปุตรี ซาอาดอง รู้สึกเศร้าใจและหายตัวไปจากถ้ำบูกิตมารัค ต่อมาก็ไม่มีเจ้าเมืองในรัฐนี้ ต่อมาเป็นเรื่องราวของผู้นำที่ชื่อว่า ดาตู (น่าจะเป็นชื่อยศมากกว่า) ผู้สืบเชื้อสายของสุลต่านอิบราฮิม


หลังจากการเสียชีวิตของดาตู ทางราชาอุดัง (Raja Udang) ก็เข้ารับตำแหน่งผู้นำรัฐ หลังจากนั้นไม่นาน ตวนลงปันดักก็เข้ามามีอำนาจเป็นผู้นำรัฐ ตวนลงปันดักได้ปกครองอย่างยุติธรรม ไม่นานหลังจากนั้น ตวนลงปันดักก็มีบุตรชายสองคน คนโตชื่อตวนเกิมบัง บุงา (Tuan Kembang Bunga) และน้องชายของเขาชื่อ ลงสุไลมาน (Long Sulaiman)ทั้ งสองคนจึงล่องเรือไปยังปาตานี เพราะกลัวกองทัพจีนที่มาโจมตีรัฐของบิดา


การที่บุตรทั้งสองของตวนลงปันดักเดินทางมายังปาตานี ทำให้ขุนนางปาตานี รับทั้งสองคนเป็นลูกบุญธรรม เมื่อบุตรทั้งสองโตขึ้น ขุนนางปาตานีได้หาคู่ครองให้ลงสุไลมาน โดยขุนนางปาตานีท่านนั้นได้จัดให้ลงสุไลมานแต่งงานกับบุตรสาวของเขา ต่อมาภรรยาของลงสุไลมานได้ตั้งท้อง


เนื่องจากมีหลายคนคลั่งไคล้ปุตรี เกิมบัง บูงา กล่าวกันว่าเธอจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายบนเรือ ไม่นานหลังจากนั้น ภรรยาของลงสุไลมานก็ให้กำเนิดบุตรชายชื่อลงยูนุส ลงสุไลมานเสียใจจากการเสียชีวิตของพี่สาว จึงได้เดินทางออกจากปาตานี โดยปล่อยให้ลงยูนุสอาศัยอยู่กับยายและเติบโตที่ปาตานี


มีเรื่องเล่าถึงนางจายัง เจ้าเมืองแห่งปาตานีในสมัยนั้นด้วย ลงยูนุสได้ไปหานางจายัง เจ้าเมืองแห่งปาตานี  นางจายัง มีความพอใจกับลงยูนุส จึงรับเลี้ยงเขาไว้ หลังจากนั้นไม่นานนางจายัง เจ้าเมืองปาตานี ก็ล้มป่วยลง บรรดาหมอถูกเรียกให้รักษาโรคเจ้าเมืองปาตานี แต่ไม่หายจากโรคได้ ต่อมาโหราจารย์มาพบเจ้าเมือง และทำนายต่อนางจายัง เจ้าเมืองปาตานีว่า ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นกับรัฐปาตานี หากลงยูนุสไม่ถูกเนรเทศออกจากรัฐปาตานี นางจายัง เจ้าเมืองปาตานีจึงได้ขับไล่ลงยูนุสออกจากรัฐปาตานี


ลงยูนุสได้เดินทางกลับยังรัฐกลันตัน จนเดินทางถึงศูนย์อำนาจรัฐกลันตัน ที่เมืองกูบังลาบู เขาไปเข้าพบเจ้าเมืองที่เมืองกูบังลาบู เจ้าเมืองเห็นเขาหน้าตาดีและมีนิสัยดี ลงยูนุสได้รับแต่งตั้งให้เป็นเหรัญญิก ต่อมาไม่นานก็เกิดสงคราม ลงยูนุส และลงจาฟาร์จึงเดินทางไปยังรัฐตรังกานู ขณะที่อยู่ในรัฐตรังกานู มีชนชาวบูกิสทต้องการชนไก่ และต้องการเดิมพันเป็นจำนวนทองเท่าที่พวกเขามีในเรือของพวกเขา เจ้าเมืองแห่งรัฐตรังกานูมอบรัฐตรังกานูเป็นเดิมพันกับชาวบูกิสหากไก่ต่อสู้ของเจ้าเมืองแห่งรัฐตรังกานูแพ้ ดังนั้นหลังจากการชนไก่อย่างยาวนาน ไก่ชนของลงจาฟาร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของไก่เจ้าเมืองรัฐตรังกานูก็ได้รับชัยชนะ


หลังจากนั้น ลงยูนุสขอกลับรัฐกลันตัน ไม่นานหลังจากนั้น ลงยูนุสก็เป็นเจ้าเมืองรัฐกลันตัน ลงยูนุสมีลูกแปดคน เป็นชายห้าคน และหญิงสามคน ลูกชายของลงยูนุส เป็นผู้สืบทอดอำนาจรัฐกลันตันตลอดมา ลงยูนุสปกครองรัฐกลันตันด้วยความสงบและเจริญรุ่งเรือง ลูกหลานของลงยูนุสได้ปกครองรัฐกลันตันมานานจนถึงปัจจุบัน ศพลงยูนุสถูกฝังไว้ที่สุสานลังการ์ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน หลังจากนั้นลงมูฮัมหมัด เข้ามาเป็นเจ้าเมืองรัฐกลันตัน และลงเจนัล ในฐานะเหรัญญิก หลังจากนั้นรัฐกลันตันกลันตันก็เริ่มวุ่นวาย เจ้าเมืองสลับเปลี่ยนกันจนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายครั้ง จนทำให้เพื่อนบ้านต้องมาเกี่ยวข้องกับรัฐกลันตัน เช่น สยามและรัฐตรังกานู


อ้างอิง

Mohd. Taib Osman,Hikayat Seri Kelantan : sa-buah naskhah tulisan tangan dari Kelantan, Univrsiti Malaya,1961.


Mohd. Taib Osman,Hikayat Seri Kelantan. Kuala Lumpur:Dewan Bahasa dan Pustaka,2004.


Kesultanan Melayu Kelantan, Kuala Lumpur:Dewan Bahasa dan Pustaka,2006.


Tesis MA UM Hikayat Seri Kelantan

Sabtu, 17 Februari 2024

ฮีกายัตอาเจะห์ ฮีกายัตที่ได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกจากองค์กรยูเนสโก

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ฮีกายัตหรือตำนาน ที่เป็นเอกสารงานเขียนเก่าแก่ในโลกมลายูมีจำนวนมาก และหนึ่งในฮีกายัตที่สำคัญของโลกมลายู คือ ฮีกายัตอาเจะห์ ครั้งนี้จึงขอเสนอเรื่องของฮีกายัตอาเจะห์เป็นความรู้กัน


ฮีกายัตอาเจะห์เป็นวรรณกรรมที่มีรูปแบบหนึ่งของงานเขียนในรูปแบบกวีนิพนธ์ ซึ่งแตกต่างจากงานเขียนในภาษามลายูอื่นๆที่มักเป็นเป็นร้อยแก้ว


ต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์กลายเป็นเอกสารที่องค์กรยูเนสโก หรือ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มีมติรับรองว่า เป็นเอกสารที่ถูกเรียกว่าเป็น “ความทรงจำของโลกอย่างเป็นทางการหรือมรดกโลก” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2023 โดยต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์เป็นเอกสารในภาษามลายู อักขระยาวี เป็นเอกสารบอกเล่าเรื่องราวของอาเจะห์ในสมัยสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา

การเสนอชื่อฮีกายัตอาเจะห์ต่อองค์กร UNESCO เป็นการยื่นร่วมกันโดยประเทศเนเธอร์แลนด์และอินโดเนเซีย ฮีกายัตอาเจะห์นี้มีความพิเศษ เพราะถือว่าเป็นเอกสารเก่าแก่มากของเอกสารโบราณภาษามลายู ฮีกายัตอาเจะห์นี้เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 17


การเขียนฮีกายัตอาเจะห์นี้เป็นความคิดริเริ่มของบุตรสาวของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา นอกจากนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับชีวิตในอาเจะห์ในเวลานั้น เกี่ยวกับสงคราม ศาสนาอิสลาม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอาเจะห์ รวมถึงความสัมพันธ์กับโปรตุเกส จีน และตุรกี

ฮีกายัตอาเจะห์ค่อนข้างหายาก มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า มีต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์อยู่สามเล่มที่เสนอต่อองค์กร UNESCO โดยในปัจจุบันมี 2 เล่มเก็บไว้มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และอีก 1 เล่มอยู่ในหอสมุดแห่งชาติอินโดเนเซีย  กรุงจาการ์ตา


ต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์ที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดอยู่ในมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเขียนราวปีคริสตศักราช 1675-1700 และอีกฉบับสำเนาก็เก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฉบับในมหาวิทยาลัยไลเดน ฉบับหลังเขียนขึ้นเมื่อปี 1874 ส่วนฉบับที่อยู่ในหอสมุดแห่งชาติอินโดเนเซีย กรุงจาการ์ตา นั้นเขียนขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20

การที่มีต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์เพียงสามฉบับที่หลงเหลืออยู่  จึงทำให้ฮีกายัตอาเจะห์ถือว่าเป็นเอกสารโบราณที่หายากอย่างยิ่ง ฮีกายัตอาเจะห์นี้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประวัติศาสตร์ของอาเจะห์


ฮีกายัตอาเจะห์เป็นงานเขียน บันทึกเล่าถึงชีวิตของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา (ค.ศ. 1590-1636) เมื่อครั้งยังเป็นสุลต่านในรัฐอาเจะห์ดารุสสาลาม ต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 17 เป็นภาษามลายู อักระยาวี


เชื่อกันว่าต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์เขียนในสมัยสุลต่านซาฟียัต อัด-ดิน ชาห์ บุตรสาวของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดาต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์นั้นไม่สมบูรณ์เนื่องจากไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของงานเขียน ชื่อของฮีกายัตอาเจะห์นั้น ตั้งชื่อโดย Hendrik Herman Juynboll นักวิจัยชาวดัตช์ในปี 1899 โดยเขานำมาจากเรื่องราวในงานเขียนบันทึกดังกล่าว

ฮีกายัตอาเจะห์ได้รับการแนะนำครั้งแรกโดย Hendrik Herman Juynboll งานเขียนของเขานั้นเป็นข้อมูลที่กระชับและสั้นเกี่ยวกับฮีกายัตอาเจะห์ แม้ว่าเขาจะรวมฮีกายัตอาเจะห์เข้ากับเอกสารฉบับภาษามลายูอื่นๆ และต่อมาเป็นการศึกษาวิจัยของฮุสเซ็น ยาจาดีนิงกรัต (Hoesein Djajadiningrat) โดยได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเอกสารฉบับภาษามลายูอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของอาเจะห์ เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อรับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เขาทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ Critisch overzicht van de in Malesche werken vervatte gegeven over de degeschiedenis van het Soeltanat van Atjèh หรือ Critical overview of the history of the Sultanat of Aceh contained in Malay works  

นอกจากนี้ C.A. Mess ยังมีการแนะนำฮีกายัตอาเจะห์ อีกด้วย จากงานเขียนองเขาชื่อว่า "De Kroniek van Koetai" นอกจากนั้น Van der Linden เขาได้ใช้ข้อมูลจากฮีกายัตอาเจะห์ ในการศึกษาถึงการทูตของโปร์ตุเกสไปยังอาเจะห์ รวมถึงกองทัพของโปร์ตุเกสภายใต้ Tiele ที่ไม่ปรากฏในฮีกายัติอาเจะห์ แต่มีในเอกสารบุสตาน อัส-ซาลาตีน ที่เขียนโดยเชคนูรุดดิน อัล-รานีรี


ต่อมาในสมัยยุคอินโดเนเซียได้รับเอกราช  Van Nieuwenhuijze ได้เนื้อหาของฮีกายัตอาเจะห์ (จากหน้า 203-241) ของฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับ Cod. Or. 1954 ใส่ในวิทยานิพนธ์ของเขาที่มหาวิทยาลัยไลเดน เนเธอร์แลนด์ หัวข้อวิทยานิพนธ์ชื่อว่า Syamsu’l Din van Pasai  ในขณะเดียวกันมีการศึกษาในเชิงลึกโดย Teuku Iskandar bin Teuku Ali Basyah (ตือกู อิสกันดาร์ บิน ตือกู อาลี บาชาห์) ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาที่มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ หัวข้อว่า "De Hikajat Atjeh" ในปี 1959 เขาในฐานะเป็นชาวอาเจะห์ ดังนั้นเขาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาเจะห์ เพื่อสำรวจเอกสารอาเจะห์และเอกสารภาษามลายู ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการศึกษา ค้นคว้า จึงได้รับรางวัลรางวัลวัฒนธรรมจากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมอินโดเนเซียในฐานะ "นักแปลและเกจิของฮิกายัต"

ฮีกายัตอาเจะห์

จนถึงขณะนี้พบฮีกายัตอาเจะห์มีสองฉบับที่เก็บไว้ในมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ คือ ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบันที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or. 1954 (Ms. A) และฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or 1983 (Ms. B). ทั้งสองเป็นของหน่วยสะสม หรือ Collection ที่ชื่อว่า Legatum Warnerianum Collection ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยไลเดน  ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or. 1954 (Ms. A)  เป็นฉบับคัดลอกมาจากหอสมุด Isaak de Saint Martin ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปลายศตวรรษที่ 17  ซึ่งอยู่ในกลุ่มเอกสารโบราณที่มีการรวบรวมต้นฉบับภาษาชวา ชาวมลายู และอื่นๆ  สำหรับฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or 1983 (Ms. B) เป็นการคัดสำเนาจากฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or. 1954 (Ms. A)  มีบันทึกว่าเขียนขึ้นเมื่อ 9 มีนาคม 1847 เชื่อว่า ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or 1983 (Ms. B) ถูกคัดลอกในโลกมลายู ก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างอาเจะห์กับชาวดัตช์ เพราะหลังจากเกิดสงครามระหว่างอาเจะห์กับชาวดัตช์  ชาวอาเจะห์ จะไม่นำกระดาษที่ผลิตในประเทศเนเธอร์แลนด์ มาเป็นที่บันทึกเอกสารอีกต่อไป ไม่ว่าจเป็นการเขียนอัล-กุรอ่าน และเอกสารโบราณ


ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or. 1954 (Ms. A)  มีขนาด 19.5 x 15.5 ซม. มี 281 หน้า กระดาษต้นฉบับที่ใช้คือกระดาษผลิตภัณฑ์ยุโรปซึ่งมีลายน้ำ Foolscap และตัวอักษร IB หรือ LB ในการศึกษาของ Heawood เขากล่าวว่า กระดาษถูกผลิตขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 ต้นฉบับแต่ละหน้าประกอบด้วย 17 บรรทัด ยกเว้น 6 หน้าซึ่งมี 16 บรรทัด  หมายเหตุสำคัญ ต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่พบยังไม่สมบูรณ์ ไม่มีหน้าเริ่มต้นหรือหน้าสิ้นสุด

ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or 1983 (Ms. B) มีขนาด 21 x 16.5 ซม. จำนวน 227 หน้า. แต่ละหน้าประกอบด้วยจำนวน 13 บรรทัด เอกสารฉบับนี้นี้ประกอบด้วยสองเนื้อหา คือ เนื้อหาฮีกายัตอาเจะห์ (หน้า 1 ถึง หน้า 210 บรรทัดที่ 10) ในขณะเดียวกันเนื้อหาที่สอง มีชื่อว่า Tarikh As-Shalihin wa Sabil asSa'irin เขียนโดย Sheikh Syamsuddin alSumatra'i จากเมืองปาไซ บนโคโลโฟนของเอกสารต้นฉบับเขียนว่ามีวันที่ 9 มีนาคม 1847 หรือ ฮิจเราะห์ 1262


ฮีกายัตอาเจะห์ฉบับหอสมุดแห่งชาติอินโดเนเซีย

ฮีกายัตอาเจะห์ฉบับนี้ มีรหัส No. ML. 421 หรือ No. Code KBG 421 Mal. เป็นฮีกายัตอาเจะห์ที่อยู่ในหน่วยสะสม หรือ Collection ของหอสมุดแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐอินโดเนเซีย (Perpustakaan Nasional Republik Indonesia) ฮีกายัตอาเจะห์พร้อมมีหมายเลข ML 421 หรือรหัสหมายเลข KBG 421 Mall. ฮีกายัตอาเจะห์ฉบับหอสมุดแห่งชาติอินโดเนเซีย นี้บันทึกโดยผู้ที่เข้าใจเนื้อหาของฮีกายัตอาเจะห์ แต่ได้มีการบันทึกหมายเหตุ ซึ่งถือว่ามีความผิดที่จะถือว่าเป็นการคัดลอกเอกสารโบราณ เพราะมีการเพิ่มเติม เขียนหมายเหตุ


จะอย่างไรก็ตาม ก็ถือได้ว่าเอกสารฮีกายัตอาเจะห์ทั้งสามมีความสำคัญ จนเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นส่วนประกอบในการเสนอฮีกายัตอาเจะห์สู่การได้รับการรับรองจากองค์กรยูเนสโก ให้เป็นหนึ่งในเอกสารที่เป็น “ความทรงจำของโลกอย่างเป็นทางการหรือมรดกโลก”


อ้างอิง

Hendrik Herman Juynboll, 1899. Catalogue van de Malaische en Sundaneesche Handschriften der Leidsche Universiteits-Bibliotheeks. Leiden: E.J. Brill.


Iskandar, Teuku. 2001. Hikayat Aceh.Kuala Lumpur: Yayasan Karyawan.


Hermansyah, Perspektif Nilai Sejarah Naskah HIK, Indonesian Journal of Islamic History and CultureVol. 1, No. 2 (2020)


Mess, C.A. 1935. De Kroniek van Koetai. Leiden: Santpoort.

Khamis, 8 Februari 2024

ตุนสรีลานัง ผู้บันทึกพงศาวดารมลายู หรือ ประวัติศาสตร์มลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับชาวมลายู ย่อมจะต้องสนใจถึงประวัติศาสตร์ของชาวมลายู ซึ่งหนังสือประวัติศาสตร์ของชาวมลายู มีอยู่หลายเล่ม เล่มหนึ่งมีชื่อว่า Sejarah Melayu หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Malay Annals

ตุน มูฮัมหมัด บิน ตุน อาหมัด (تون محمد بن تون احمد‎) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ตุนสรีลานัง  กล่าวว่ามีชีวิตอยู่ระหว่างปี  1565 – 1659 มีตำแหน่งเป็นพระคลัง (Bendehara) ของสุลต่านรัฐโยโฮร์ ในปี 1580-1615 เขาเกิดที่บูกิตเซอลูยุต (Bukit Seluyut) รัฐโยโฮร์ เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือพงศาวดารมลายู หรือ  Sejarah Melayu ในปี 1612 เขาเป็นบรรพบุรุษของราชวงศ์สุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์และสุลต่านแห่งตรังกานู

ในหนังสือประวัติศาสตร์รัฐตรังกานู ที่เขียนโดยนายฮัจญีบูยง อาดิล (Haji Buyong Adil) จัดพิมพ์โดย Dewan Bahasa dan Pustaka  เมื่อปี 1974 ได้เขียนไว้ว่า ลำดับวงศ์ตระกูลของสุลต่านแห่งรัฐตรังกานู ตุนฮาบิบ อับดุลมายิด (Tun Habib Abdul Majid) ผู้เป็นพระคลัง หรือ เบินเดอฮาราของสุลต่านรัฐโยโฮร์ เป็นพระคลังระหว่างปี 1688-1697 เป็นบิดาของสุลต่านไซนัล อาบีดินที่ 1 ซึ่งเป็นสุลต่านคนแรกของรัฐตรังกานู และเป็นบิดาของสุลต่านอับดุลยาลิลที่ 4  ผู้เป็นสุลต่านคนที่ 11 แห่งรัฐโยโฮร์ ระหว่างปี 1699-1719 นอกจากนั้น ในหนังสือข้างต้นยังกล่าวอีกว่า ตุนฮาบิบอับดุลมายิด นั้นเป็นบุตรของตุนมัดอาลี  ผู้เป็นบุตรของตุนสรีลานัง พระคลังของสุลต่านรัฐโยโฮร์ ในปี 1580-1615 ตุนสรีลานังเสียชีวิตในปี 1659 และฝังศพไว้ที่ลันโจ (Lancok) รัฐอาเจะห์

สงครามบาตูซาวาร์

สุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์ สุลต่านอิสกันดาร์ มูดา มะห์โกตา ได้โจมตีเมืองบาตูซาวาร์ รัฐโยโฮร์ ในปี 1613 การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐอาเจะห์ ไม่เห็นด้วยกับการสร้างมิตรภาพของรัฐโยโฮร์กับโปรตุเกส

แรกเริ่มสุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 เริ่มที่จะเป็นมิตรกับชาวโปรตุเกสในต้นปี 1610 เมื่อบุตรชายคนหนึ่งของสุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 แต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเขาคือบุตรสาวเจ้าเมืองเซียน (Siak) บนเกาะสุมาตรา   สำหรับเจ้าเมืองเซียะ (เรียว บนเกาะสุมาตรา)นั้นเป็นเพื่อนกับชาวโปรตุเกส  จึงได้ชักจูงให้สุลต่านแห่งรัฐโยโฮร์มาเป็นมิตรกับชาวโปรตุเกส

กองกำลังสงครามของรัฐอาเจะห์ ที่โจมตีเมืองบาตูซาวาร์ และเมืองโกตาเซอการัน ได้ต่อสู้กันเป็นเวลา 29 วันก่อนที่กองกำลังสงครามของรัฐอาเจะห์ จะยึดได้สำเร็จ สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 พร้อมด้วยน้องชายของเขาคือราชาอับดุลลอฮ และตุนสรีลานัง ผู้เป็นพระคลังรัฐโยโฮร์ ถูกจับและถูกนำตัวไปยังรัฐอาเจะห์


ขณะที่สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 ได้รับการปฏิบัติอย่างดีในรัฐอาเจะห์ และน้องชายของเขา คือ ราชาอับดุลละห์ได้แต่งงานกับน้องสาวของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา ที่ชื่อว่ารัตนาเยาฮารี (Ratna Jauhari) เพื่อที่จะกระชับความสัมพันธ์ของราชวงศ์ระหว่างทั้งสองรัฐอีกครั้ง จากนั้นราชาอับดุลละห์ก็ถูกส่งกลับไปยังรัฐโยโฮร์พร้อมกับกองกำลังของรัฐอาเจะห์ และนำค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งเพื่อมาซ่อมแซมและสร้างวังที่เมืองบาตูซาวาร์ ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามครั้งก่อน


พระคลังตุนสรีลานัง อาศัยอยู่ในรัฐอาเจะห์ ยังคงทำงานรวบรวมและปรับปรุงประวัติศาสตร์มลายูที่เริ่มต้นขณะอยู่ในรัฐโยโฮร์ต่อไป ตุนสรีลานังยังมีโอกาสพบปะกับนักเขียนและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของรัฐอาเจะห์ เช่นเชคนุรุดดิน อัร-รานีรี (Sheikh Nuruddin Ar-Raniri) ตวนบูรฮัต (Tuan Burhat) ฮัมซะห์ ฟันซูรี (Hamzah Fansuri) และคนอื่นๆ คนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา ให้ส่งเสริมวรรณกรรมมลายูและศาสนาอิสลาม

หลังจากที่สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 อยู่ในรัฐอาเจะห์นานกว่าหนึ่งปี ในที่สุดเขาก็ได้รับอนุญาตให้กลับไปยังรัฐโยโฮร์ สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 ได้สัญญากับสุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์ว่าจะช่วยรัฐอาเจะห์ในการทำสงครามกับโปรตุเกส และจะไม่อนุญาตให้ชาวดัตช์ตั้งถิ่นฐานในรัฐโยโฮร์


สำหรับชาวรัฐโยโฮร์ ที่เดินทางมาพร้อมกับสุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 ทางสุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์ ให้ไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เรียกว่า ซามาลางา (Samalanga) ซึ่งในจำนวนชาวรัฐโยโฮร์นี้ มีตุนสรีลานัง รวมอยู่ด้วย และตุนสรีลานัง ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “Ulubalang” หรือเจ้าเมืองซามาลางา โดยได้รับยศขนานนามจากชาวอาเจะห์ว่า "Orang Kaya Dato' Bendahara Seri Paduka Tun Seberang" และชาวโยโฮร์ได้ขนานนามว่า ''Dato' yang ke Aceh''


ตุนศรีลานัง มีชื่อเสียงจากผลงานที่ชื่อว่า Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ซึ่งรวมถึงประวัติศาสตร์ต่างๆ ของชุมชนชาวมลายู ชาวชวา ชาวบรูไน ชาวปาตานี และชาวจัมปา (รัฐจัมปา ในประเทศเวียดนาม)


ความจริงเกี่ยวกับสถานะของตุนสรีลานังต่อหนังสือ Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เพราะมีสองแนวทาง หนึ่งในฐานะผู้ขียน และ สอง ในฐานะผู้คัดลอก แต่จากข้อมูลของเชคนุรุดดิน อัล-รานีรี (Syeikh Nuruddin al-Raniri) นักวิชาการและที่ปรึกษาศาสนาของสุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์ เพื่อนร่วมสมัยของตุนสรีลานัง ได้เขียนว่า ตุนสรีลานังในฐานะผู้เขียนและผู้เรียบเรียงหนังสือ Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) เพราะเชคนุรุดดิน อัล-รานีรี (Syeikh Nuruddin al-Raniri) รู้จักและใกล้ชิดกับตุนสรีลานังเป็นอย่างดี ตุนสรีลานังง เขียนและเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ใช้เวลาถึงสองปี คือวันที่เริ่มเขียนเมื่อปี 1612 และแล้วเสร็วในปี 1614 หนังสือ Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุดที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของรัฐต่างๆในหมู่เกาะมลายู

มีการกล่าวว่า ต้นฉบับดั้งเดิมของหนังสือ Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ที่เขียนโดยตุนสรีลานังนั้น แต่มีเนื้อหามาจากหนังสือ Hikayat Melayu (ตำนานมลายู) ที่มอบให้โดยตุนบัมบัง สรี นาราวังสา บุตรของสรี อัสการ์ ราชาปัตตานี ว่ากันว่าหนังสือนี้ได้เรียบเรียงใหม่โดยตุนสรีลานัง ตามคำสั่งของราชาอับดุลละห์ น้องชายของสุลต่านอาลาอุดดิน รียายาตชาห์ ที่ 3  ซึ่งต่อมาหนังสือที่ชื่อว่า Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ได้กลายมาเป็นหนังสือสำคัญด้านประวัติศาสตร์ของชาวมลายู ตุนสรีลานังได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้เป็นคำนำ ด้วยคำสั่งของราชาอับดุลละฮ์ สรุปได้ว่าการเขียนหนังสือ Sulalatus Salatin เริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 รอบิอุลอาวัล 1021 ฮิจเราะห์ ตรงกับเดือนพฤษภาคม 1612 ขณะที่สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 พำนักอยู่ที่รัฐอาเจะห์

สถานที่ที่ขนานนามว่า Tun Sri Lanang ในมาเลเซีย


ลานตุนสรีลานัง (Laman Tun Sri Lanang) เมืองโกตาติงฆี รัฐโยโฮร์

หอสมุด Tun Seri Lanang มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย

โรงเรียนมัธยม Tun Seri Lanang ประเทศสิงคโปร์

ถนน Tun Sri Lanang เมืองโยโฮร์บารู มาเลเซีย

ถนน Tun Sri Lanang , เมืองมะละกา มาเลเซีย


อ้างอิง

Arba'iyah Mohd Noor,Tun Seri Lanang: Kehidupan Dan Pemikiran, Sejarah: Journal of the Department of History, UM, Vol. 13 No. 13 (2005)


Haji Buyong bin Adil, Sejarah Terengganu,Dewan Bahasa dan Pustaka, Kementerian Pelajaran Malaysia, 1974


Johari Talib, Maharam Mamat dan Maznah Ibrahim,Tun Seri Lanang: Dari Istana Batu Sawar Ke Nanggaroe Acheh Darussalam.


Abdul Samad Ahmad. 2003. Sulalatus Salatin, Sejarah Melayu. Kuala Lumpur: Dewan Bahasa Pustaka.


สัมภาษณ์ ดร. ตือกูอัฟรีซาล ลูกหลานตุนสรีลานัง ปัจจุบันสอนอยู่ ณ มหาวิทยาลัย Airlanggar เมืองสุราบายา อินโดเนเซีย


Isnin, 5 Februari 2024

กฎหมายรัฐมะละกา กฎหมายในอดีตของชาวมลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ในสมัยสอนวิชาอารายธรรมมลายู ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้แทรกความรู้เรื่องกฎหมายรัฐมะละกาไป แต่เป็นการเพิ่มเข้าไปให้นักศึกษาพอรู้ว่า ในโลกมลายู ก็มีกฎหมายมลายูจำนวนหนึ่ง และอธิบายกฎหมายรัฐมะละกา ให้พอรู้บ้างว่ามีกฎหมายฉบับนี้อยู่ ในครั้งนี้ จึงขอขยายให้ลึกขึ้น


กฎหมายรัฐมะละกา หรือ Undang Undang Melaka เป็นกฎหมายมลายูที่มีอายุราว 500 ปี  กฎหมายรัฐมะละกามีหลายชื่อ เช่น


1. Adat Orang Menjadi Raja (Singapore no.40),

2. Kitab Undang-Undang (Cod. Or. 5838),

3. Kitab Undang-undang Melaka (BL,Add12395,)

4. Hukum Kanun (Von de Wall 13),

5. Risalah Hukum Kanun (Cod. Or. 5836),

6. Surat Undang (Cod. Or.1725),

7. Surat Undang-Undang (Skeat 14B),

8. Surat Undang-Undang Kanun (Skeat 14A),

9. Surat Hukum Kanun (KL 24),

10. Undang-Undang Melaka (Maxwell 5,6,11A,19),

11. Undang-Undang Melayu (KL 21,Von de Wall 59),

12. Undang-Undang Negeri dan Pelayaran (Cod. Or. 1706, Cod. Or. 2160),

13. Undang-Undang Raja Melaka (Fakuhar 1,10).

14. Undang-Undang Sultan Mahmud Syah (SOAS 40505,40506).

ตามการศึกษาค้นคว้าของดร. ลิว ย๊อค ฟาง (Dr. Liaw Yock Fang) เขาได้แบ่งกฎหมายรัฐมะละกาออกเป็น 6 ส่วน คือ


1. ส่วนสำคัญของกฎหมายรัฐมะละกา (Intisari Undang-Undang Melaka)

2. กฎหมายทะเลรัฐมะละกา (หนึ่งส่วนเท่านั้น)

3. กฎหมายการแต่งงานตามหลักอิสลาม (Hukum Perkahwinan Islam)

4. กฎหมายการค้าและการกล่าวซื้อขาย(Hukum Perdagangan (Bai) dan

   Syahadat)

5. กฎหมายเกี่ยวกับรัฐ (Undang-Undang Negeri)

6. กฎหมายรัฐโยโฮร์ (Undang-Undang Johor)


กฎหมายรัฐมะละกา หรือ Undang Undang Melaka ที่เรารู้จักในปัจจุบันนั้นจะเป็นกฎหมายลูกผสม มีการเพิ่มเติมจากฉบับดั้งเดิม สำหรับกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับแรกนั้น  เริ่มจัดทำโดยสุลต่านมูฮัมหมัดชาห์ (Sultan Muhammad

Syah) เป็นสุลต่านรัฐมะละกา ระหว่างปี 1422-1444 ต่อมากฎหมายรัฐมะละกาฉบับนี้ มีการเพิ่มเติมโดยสุลต่านมุซาฟฟาร์ชาห์ (Sultan Muzaffar

Syah) เป็นสุลต่านรัฐมะละกา ระหว่างปี 1445-1458  และในการเผยแพร่กฎหมายนี้ไปยังรัฐมลายูอื่นๆ เพื่อความเหมาะสมของแต่ละรัฐจึงเกิดการปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อใช้ในรัฐมลายูอื่นๆ แล้วมีการคัดลอก จนกลายเป็นกฎหมายฉบับใหญ่ ความสั้น ยาวของเนื้อหา อยู่ที่แต่ละสถานที่(รัฐ) และผู้ทำการคัดลอก แต่ละสถานที่(รัฐ)จึงมีความแตกต่างของเนื้อหาของกฎหมาย


ดร. ลิว ย๊อค ฟาง (Dr. Liaw Yock Fang) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐมะละกา ผู้จบการศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศฮอลันดา และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเดียว โดยทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ กฎหมายรัฐมะละกา หรือ Undang Undang Melaka   ดร. ลิว ย๊อค ฟาง กล่าวว่า มีกฎหมายรัฐมะละกา หรือ Undang Undang Melaka  มากกว่า 50 เล่ม  โดยแบ่งกฎหมายรัฐมะละกา ออกได้ 6 กลุ่ม คือ


1. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับหลัก (Undang-Undang Melaka Pokok)

2. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับอาเจะห์

3. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับปาตานี

4. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับยาว

5. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับอิสลามและรัฐโยโฮร์

6. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับ  Fragmentarist

1. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับหลัก (Undang-Undang Melaka Pokok)

    ดร. ลิว ย๊อค ฟาง (Dr. Liaw Yock Fang) กล่าวว่า มีกฎหมายอยู่ 25 ฉบับที่

    จัดอยู่ในกลุ่มกฎหมายรัฐมะละกาหลัก ซึ่งในกลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

    ย่อย คือ


1.1 กลุ่มที่มีกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับ Cambridge 1364 ฉบับที่มีคำปฐมบท

     ยาว โดยหลังจากประโยคที่เขียนว่า “adat ini turun turuntemurun

     daripada zaman Sultan Iskandar Zulkarnain” หรือ จารีตประเพณี

     ที่มีมาแต่ยุคสุลต่านอิสกันดาร์ ซุลการ์ไนน์” ยังมีการระบุชื่อสุลต่านจำนวน

      5 คน เช่นเดียวกันกับกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับยาว แต่ในฉบับ

      Cambridge 1364 ไม่มีการเขียนในบทการแต่งงานตามหลักอิสลาม


1.2 กลุ่มที่มีกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับ Cod. Or. 1705 มีเนื้อหากฎหมาย 44

     บท


1.3 กลุ่มที่มีกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับ Vat.Ind. IV  ฉบับ Raf 74  และ ฉบับ

     Raf 33  สำหรับกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับ Raf 74 นั้นมีเพียง 4 ส่วน

     เช่นเดียวกันกับกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับ Vat.Ind. IV      แต่กฎหมายรัฐ

     มะละกา ฉบับ Raf 74 มีความใกล้เคียงกับกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับ Raf

     33

2. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับอาเจะห์

มีกฎหมายรัฐมะละกา ที่อยู่ในกลุ่มนี้ จำนวน 4 ฉบับ   เช่น กฎหมายรัฐมะละกา กฎหมายรัฐมะละกา  ฉบับ SOAS 40505 หลังจากกล่าวสรเสริญปฐมบท ก็ตามด้วย “kaedah raja-raja (วิธีการของกษัตริย์)” …….“... Iskandar Zulkarnain datang kepada Seri Sultan yang di atas takhta kerajaan iaitu teladan raja-raja pada hal memerintahkan adat segala menteri. Maka dihimpunkan hukum itu atas sembilan hukum. (จากสุลต่านอิสกันดาร์ ซุลการ์ไนน์ จนถึงสุลต่านที่อยู่ในอำนาจแห่งรัฐ เป็นแบบอย่างของเจ้าเมืองในการออกระเบียบจารีตประเพณีของมุขมนตรีทุกคน ดังนั้นจึงรวบรวมกฎหมายออกเป็นเก้าฉบับ)” กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับอาเจะห์ มีจำนวน 44 บท  ปรากฏว่า เขียนเมื่อ 3 เดือนยามาดีลอาวัล ปีฮิจเราะห์ศักราช 1202 หรือ วันอาทิตย์ เดือนกุมภาพันธุ์ 1788) ในสมัยสุลต่านยามาล อัล-อาลาม บาดร อัล-มูนีร์

3. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับปาตานี

มีการพูดถึง “ปาตานี” หลายครั้งในกลุ่มกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับปาตานี ดังนั้นจึงจัดกฎหมายรัฐมะละกาฉบับเหล่านี้ เป็นกลุ่มกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับปาตานี มีกฎหมายรัฐมะละกา ที่อยู่ในกลุ่มฉบับปาตานี อยู่จำนวน 6 ฉบับ มีกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับปาตานี จำนวน 3 ฉบับ ที่ใช้ชื่อว่า Undang-Undang Negeri dan Pelayaran (กฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐและการเดินเรือ) กฎหมายรัฐมะละกาฉบับปาตานีนี้ จะลงท้ายด้วย :


Demikian hukum yang disuruhkan oleh Duli Yang Dipertuan Sultan Mahmud Syah di dalam negeri Melaka” (กฎหมายนี้ทางสุลต่านมาห์มุดชาห์สั่งให้ใช้ในรัฐมะละกา) และปิดท้ายด้วย “Tamat selesai kitab kanun dan undang-undang ini. Yang mengarang dia Sadar Johan keluar dari kitab m.t.n. namanya” (เขียนแล้วเสร็จ กฎหมายฉบับนี้ ผู้เขียนคือ ซาดาร์ โยฮัน นำมาจากตำราชื่อ m.t.n. (?) ) กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับปาตานี ฉบับ SOAS 40506 เขียนว่า  “Adat negeri pada segala raja-raja kepada awal zaman” (จารีตประเพณีของเหล่าเจ้าเมืองในยุคต้น) สำหรับกฎหมายรัฐมะละกาฉบับนี้ ถือเป็นตัวอย่างของกฎหมายรัฐปาตานี ชื่อผู้เขียนคือ ซาดาร์ โยฮัน (Sadar Johan) เป็นผู้เขียนตอนต้น ในส่วนที่สาม เขียนหนึ่งตอน นั้นคือกฎหมายรัฐมะละกาที่เหมาะสมในมาตราที่ 9-24


ในกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับปาตานีนั้นยังเพิ่มมาตรา อธิบายภาษีใช้จ่าย ที่สมควรจ่ายให้แก่เจ้าเมือง และบรรดาขุนนาง เมื่อเรือสำเภาจีนเดินทางเข้ามายังปาตานี


4. กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับยาว 

มีกฎหมายรัฐมะละกา 6 ฉบับที่จัดอยู่ในกลุ่มกฎหมายรัฐมะละกา ฉบับยาว  ส่วนใหญ่จะมี 44 บท ยกเว้น กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับ Farquhar 10 ที่มีถึง 81 บท กฎหมายรัฐมะละกา ฉบับนี้ มี 5 ตอน ถือเป็นบทรวมของกฎหมายรัฐมะละกา กฎหมายรัฐมะละกาฉบับบนี้ที่สำคัญมีหลายตอน เช่น ตอนที่ 1 บทที่ 1-16 และบทที่ 18 มีความสอดคล้องกันกับ บทที่ 1-22 และบทที่ 29 ตามฉบับตีพิมพ์ ของ ดร. หลิว ย๊อค ฟาง (Liaw 1976)


ส่วนที่ 2 มาตรา 17 และมาตรา 19-25 จะเป็นเนื้อหาของกฎหมายทะเลรัฐมะละกา (Undang-Undang Melaka)


ส่วนที่ 3 มาตรา 26-52 เป็นเนื้อหาความเป็นอิสระ


ส่วนที่ 4 มาตรา 53-56 มีความสอดคล้องกันกับมาตรา 43.3-8 และมาตรา 44.1-3,6-8 ตามฉบับตีพิมพ์ ของ ดร. หลิว ย๊อค ฟาง (Liaw 1976) ที่น่าสนใจส่วนนี้ ยังมีในกฎหมายรัฐปาหัง (Undang Undang Pahang) มาตรา 17-76

(Kempe & Winstedt 1948) เป็นไปได้ว่า ส่วนนี้ มาจากเนื้อหาที่มีความอิสระ ซึ่งต่อมาเป็นส่วนที่ 5 นั้นคือ กฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐในกฎหมายเกี่ยวกับมาตรา 67-76 ของกฎหมายรัฐปาหัง


ส่วนที่ 5 เป็นการรวมกฎหมายในมาตรา 57-59 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 35-39 ตามฉบับตีพิมพ์ ของ ดร. หลิว ย๊อค ฟาง (Liaw 1976)

กฎหมายอิสลามและรัฐโยโฮร์

กฎหมายที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มี 6 ฉบับ โดยกฎหมายกลุ่มนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

i. กฎหมายฉบับ Von de Wall 50 (1,2)  กฎหมายฉบับ  Cod.Or. 1722 กฎหมายฉบับ และกฎหมายฉบับ Skeat 14B

ii. กฎหมายฉบับ Maxwell 17 และกฎหมายฉบับ Maxwell 20


กฎหมายในกลุ่ม ii นี้ถูกจัดพิมพ์โดย Kempe และ Winstedt ในนามของกฎหมายรัฐปาหัง (UndangUndang Pahang) เนื้อหาของทั้งสองกลุ่มนี้ มีความเหมือนกัน ยกเว้นในบางมาตรากลุ่ม  i ที่ไม่มีในกลุ่ม ii ในกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายรัฐปาหังนี้ ประกอบด้วย 3 ฉบับ ที่มีเนื้อหาใกล้ชิดกับกฎหมายรัฐมะละกา มาตรา 1-23 ที่ถือว่าเป็นแกนของกฎหมายรัฐปาหัง และมาตรา 24-65 ของกฎหมายอิสลาม


กฎหมายรัฐมะละกาฉบับสั้น

กฎหมายฉบับนี้ มีเนื้อหา 26-29 มาตรา มีเพียง 19 มาตราที่มีหมายเลข กล่าวว่า กฎหมายฉบับสั้นนี้ มี 3 ส่วน สำหรับส่วนที่ 4 กฎหมายการค้าขายและส่วนที่ 5 กฎหมายเกี่ยวกับรัฐและรัฐโยโฮร ไม่ปรากฎในกลุ่มกฎหมายรัฐมะละกาฉบับสั้นนี้


กฎหมายรัฐมะละกามีการเพิ่มเติมและแก้ไขอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยรัฐมะละกา ต้นฉบับมี 19 บทต่อมาจึงถูกขยายเป็น 22 บท และสุดท้ายเป็น 44 บทที่ยาวที่สุดที่เรารู้จักในปัจจุบัน แม้ว่าองค์ประกอบของกฎหมายจารีตประเพณี (adat) ที่มีอิทธิพลจากยุคฮินดู-พุทธยังคงมีอยู่ในเนื้อหา แต่อิทธิพลของศาสนาอิสลามก็สร้างความแข็งแกร่ง มีหลักฐานชัดเจนถึงการมีอยู่ของคำศัพท์ต่างๆ และกฎหมายที่มีต้นกำเนิดจากศาสนาอิสลาม ตัวอย่างเช่น

ซีนา (มาตรา 40:2)

qadhf หรือการกล่าวหาซินาที่เป็นเท็จ (มาตรา 12:3)

การโจรกรรม (มาตรา 7:2 และ 11:1)

การปล้น (มาตรา 43)

การละทิ้งความเชื่อ (มาตรา 36:1)

การดื่มของมึนเมา (มาตรา 42)

และอื่นๆ


Liaw Yock Fang, Undang-undang Melaka (The Law of

Melaka), diterbitkan oleh Koninklijk Instituut Voor Tall, Land En Volkenkunde, The Hague, 1976.


Liaw Yock Fang, Naskah Undang-Undang Melaka: Suatu Tinjauan, Jurnal Sari 25 (2007) 85 – 94

อ้างอิง 

Mohd Taib Osman, Laporan: Naskah-Naskah dan Alatan Budaya di Beberapa Pusat Pemgajian di Great Britain dan Jerman Barat, 1972, Nusantara I,


Dr. Ali Abubakar, Undang Undang Melaka, Sahifah, Aceh, Indonesia. 2018.


Abu Hassan Mohd Sham, Hukum kanun Melaka ,Perbadanan Muzium Melaka, 1995.