Jumaat, 29 Januari 2021

ความสัมพันธ์ระหว่าจังหวัดนราธิวาสกับรัฐกลันตัน มาเลเซีย กรณีเมืองระแงะกับรัฐกลันตัน

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ด้วยจังหวัดนราธิวาส มีชายแดนติดกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ดังนั้นในทางประวัติศาสตร์ทั้งจังหวัดนราธิวาสและรัฐกลันตัน ย่อมมีความสัมพันธ์กันทั้งในระดับประชาชนและระดับผู้นำ จังหวัดนราธิวาส ในอดีตนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของเมืองระแงะ ซึ่งต่อมาเมืองระแงะ ได้เล็กลง จนต่อมามีสภาพเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส

 

ในที่นี่ผู้เขียนจึงขอเสนอถึงความสัมพันธ์ระหว่าเมืองระแงะในอดีตกับรัฐกลันตัน  มาเลเซีย โดยนำเนื้อหาตอนหนึ่งที่ผู้เขียนได้เขียนในหนังสือชื่อว่า “ประวัติศาสตร์จังหวัดนราธิวาส” เป็นงานชุดโครงการสืบค้นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส

 

งานเขียนข้างต้นได้เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่าเมืองระแงะในอดีตกับรัฐกลันตัน  มาเลเซีย ดังนี้

 

จังหวัดนราธิวาสนั้นประกอบด้วยอาณาบริเวณในอดีต เช่นเมืองระแงะ  เมืองสายบุรี   บางส่วนของเมืองกลันตัน  บางส่วนของเมืองรามันห์ ดังนั้นจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะเมืองระแงะ ที่มีชายแดนติดกับรัฐกลันตัน จึงมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับเมืองกลันตัน

 

เมืองระแงะเพิ่งปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อปัตตานีถูกแบ่งออกเป็น  7  หัวเมือง  ถึงอย่างไรก็ตาม  เมืองระแงะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในบันทึกของไทย แต่กลับมีอยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ของรัฐกลันตัน โดยในปี 1755 (พ.ศ. 2298)  เมืองระแงะกับเมืองรามันห์กลับมีชื่อปรากฎในประวัติศาสตร์ของกลันตัน

 

ระแงะ  เป็นคำภาษามลายู  เพี้ยนจากคำว่า  Legeh  หมายถึง  บริเวณโดยปกติเป็นที่สูง และที่แยกต้นน้ำสองสายหรือมากกว่า  และในอีกข้อมูลหนึ่งคำว่า legeh ยังหมายถึงชื่อต้นไม้ป่าชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวคนอัสลีรู้จักในต้นมืที่ใช้ในการทำยาเสน่ห์  สำหรับในประวัติศาสตร์ของเมืองกลันตันนั้นระบุว่า  สุลต่านรัฐกลันตันนั้นสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองปัตตานี  เจ้าเมืองกลันตันบางท่าน  มีฐานะเป็นพ่อตา  น้องเขย  และบุตรเขยของเจ้าเมืองระแงะ  เจ้าเมืองกลันตันบางท่าน  ทางเจ้าเมืองระแงะเป็นผู้แต่งตั้งในบางสมัย เช่น  ตอนที่พวกลูกหลานเจ้าเมืองกลันตันขัดแย้งกันในเรื่องผู้สืบแทนเจ้าเมือง  มีอยู่ท่านหนึ่งมาหลบภัยอยู่ที่บางนรา  คือลงเยนัล (Long Jenal)

 

ในปี 1721(พ.ศ. 2264)  เจ้าเมืองกลันตันที่มีนามว่า  ราชาอุมาร์  (Raja  Umar)  สิ้นชีวิตด้วยโรคชรา  ลงบาฮาร์  ลูกเขยของท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าเมืองกลันตัน

ลงสุลัยมาน  บุตรลงบาฮาร์ผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตันคนใหม่   มีบุตรี  2  คน  กับบุตรชายอีก  1  คน  มีนามว่า  ตวนเดวี  ตวนกึมบัง  และลงยูนุส  ตามลำดับ

 

ตวนเดวีบุตรีคนโตของลงสุลัยมาน  ได้แต่งงานกับเจ้าเมืองระแงะ ผู้มีชื่อว่าลงดือราห์มัน (Long  Derahman)   ลงบาฮาร์ผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตัน  สิ้นชีวิตในปี 1733 (พ.ศ. 2276) ด้วยโรคชรา  หลังจากปกครองเมืองกลันตัน  13  ปี  ลงสุลัยมานเป็นเจ้าเมืองกลันตันแทนบิดาที่เสียชีวิต


ในปี 1756 (พ.ศ. 2299)  เกิดการนองเลือดในวังกลันตัน  โดยลงดือรามันเจ้าเมืองระแงะ   ซึ่งเป็นบุตรเขยลงสุลัยมานผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตัน  ได้แทงพ่อตาของตัวเองคือ  ลงสุลัยมานผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตัน จนเสียชีวิต ลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะ  จึงแต่งตั้งลูกพี่ลูกน้องของลงสุลัยมานเป็นเจ้าเมืองกลันตัน  ที่ชื่อลงปันดัก  (Long  Pandak)  บุตรตวนสุหลง  เป็นเจ้าเมืองกลันตัน  และลปันดัก  ผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตันคนใหม่ เป็นบุตรเขยของลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะ  โดยได้พำนักอยู่ที่วังกูบังลาบู  (Kota  Kubang  Labu)

 

วังกูบังลาบู  ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านปาเซร์เปอกัน (Pasir  Pekan)  สร้างประมาณ ปี 1702 (พ.ศ. 2245)  โดยต่วนสุหลง  บิดาของลงปันดัก ผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน ก่อนหน้านี้หนึ่งปี  วังและตำหนักสนิง  (Sening)  ตั้งอยู่ใกล้บ้านยึมบัล  (Jembal)  สร้างโดยลงบือซาร์ หรือลงบาฮาร์ (Long  Besar/Long  Bahar)  ซึ่งสืบเชื้อสายจากปัตตานี

 

ในปี 1719 (พ.ศ. 2262)  ลงบือซาร์ได้รับแต่งตั้งเป็นสุลต่านเมืองกลันตัน มีศูนย์อำนาจอยู่ที่ยึมบัล  ท่านสิ้นชีวิตในปี 1733 (พ.ศ. 2276)  หลังจากนั้นลงสุลัยมาน  ได้รับแต่งตั้งเป็นสุลต่านแทนบิดา  และต่อมาถูกเจ้าเมืองระแงะ  (ลงดือรามัน)  แทงจนสิ้นชีวิตดังได้กล่าวมาแล้ว

 

ในปี 1754 (พ.ศ. 2297)  เกิดการนองเลือดในวังกูบังลาบูอีกครั้งหนึ่งโดยสาเหตุจากความหึงหวง  กล่าวคือ  ลงยะอ์ฟาร์  หรือลงกาฟาร์  (Long  Jakfar/Long  Gafar)  บุตรเจ้าเมืองรามัน  ได้ไปเยือนเมืองกลันตัน  อึงกูตือเงาะห์  (Engku Tengah/Engku  Mas)  ราชินีของลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน  ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของลงกาฟาร์ได้เห็นผ้าคาดเอวของหลงกาฟาร์มีลวดลายสวยงามมาก  จึงขอยืมเป็นตัวอย่างในการทอผ้าเพื่อให้สามีซึ่งเป็นสุลต่านเมืองกลันตันได้ใช้ผ้าคาดเอวสวยงามบ้าง  เมื่อลงกาฟาร์กลับเมืองรามันก็ไม่ได้ขอคืนผ้าดังกล่าว 

 

เมื่อลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน เห็นผ้าคาดเอวดังกล่าวแขวนอยู่ในห้องเลยคิดว่า  ลงกาฟาร์คงมีความสัมพันธ์ลับกับภรรยาของตน  จึงแทงภรรยาของตนทันทีโดยไม่ได้สืบสวนแต่อย่างใด  อึงกูมัส  หรืออึงกูตือเงาะห์สิ้นชีวิตทันที  แล้วลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน ได้เอาศพของอังกูมัสผูกบนช้าง  “นังมาลา”  ด้วยผ้าคาดเอวของหลงกาฟาร์  และส่งกลับไปยังเมืองระแงะ  เมื่อลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะ  เห็นศพลูกสาวของตนถูกมัดอยู่บนหลังช้างนังมาลา  ซึ่งเป็นช้างที่ตนมอบเป็นของขวัญวันแต่งงานบุตรีของตนกับลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน  หลังจากเสร็จพิธีฝังศพเรียบร้อยแล้ว 

 

ทั้งลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะและลงกาฟาร์  จึงนำกองกำลังไปตีวังกูบังลาบู  ลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน ถูกลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะแทงด้วยกริชถึงแก่ชีวิต  แล้วแต่งตั้งลงมูฮัมมัด  น้องชายของลงปันดักเป็นสุลต่านเมืองกลันตันคนใหม่ ในปี 1758 (พ.ศ. 2301)


การที่เจ้าเมืองระแงะแต่งตั้งลงมูฮัมมัดเป็นสุลต่านเมืองกลันตัน  เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายในเมืองกลันตันในเวลาต่อมา  กล่าวคือ  ลงสุลัยมานผู้ป็นสุลต่านเมืองกลันตันคนก่อน   มีบุตรชายคนหนึ่งมีนามว่า  ลงยูนุส  บรรดาญาติพี่น้องเห็นว่า  คนที่สมควรเป็นสุลต่านกลันตันนั้นคือลงยูนุส  แต่เจ้าเมืองระแงะไม่ยอมฟังเสียง  จึงแต่งตั้งลงมูฮัมมัดเป็นสุลต่านเมืองกลันตัน  ฝ่ายญาติพี่น้องก็ยอมแบบไม่เต็มใจนัก  อีกอย่างหนึ่งขณะนั้นหลงยูนุสอายุยังน้อย  โอกาสที่ลงยูนุสจะเป็นเจ้าเมืองนั้นยังมีอีกมาก 

 

ซึ่งเหตุการณ์ณ์ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองระแงะในอดีตกับเมืองกลันตันในอดีตเป็นความสัมพันธ์ทั้งในระดับผู้ปกครอง  รวมทั้งความสัมพันธ์ในระดับประชาชนทั่วไปก็คงมีเฉกเช่นเดียวกัน

Khamis, 28 Januari 2021

เงินเหรียญที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

เราต้องขอบคุณคณะสำรวจของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ที่ได้ทำการสำรวจพื้นที่แหลมมลายู ระหว่างปี 1899-1900 จนสามารถบันทึก เก็บเรื่องราวในอดีตมาให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้

 

บุคคลหนึ่งที่เป็นตัวหลักในคณะสำรวจนี้คือ นายวอลเตอร์ วิลเลียม สกีต (Walter William Skeat) ในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจ เขาเกิดเมื่อ 14 ตุลาคม 1866และเสียชีวิตเมื่อ 24 กรกฎาคม 1953  เป็นนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ เขามีงานเขียนเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยาในแหลมมลายู เขาเกิดที่เมืองเคมบริดจ์  ประเทศอังกฤษ เขาเป็นบุตรชายของนายวอลเตอร์ วิลเลียม สกีต (Walter William Skeat) ผู้พ่อ ที่เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

 

นายวอลเตอร์ วิลเลียม สกีต (Walter William Skeat) ผู้ลูกได้รับทุนการศึกษาจากวิทยาลัยคริสตส์ (Christ's College) ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาจบจากวิทยาลัยดังกล่าวในปี 1891 หลังจากนั้นเขาก็เข้ารับราชการกับรัฐสลังงอร์  และหลังจากนั้นเขาเคยเป็นนายอำเภอที่เขตกลัง อูลูลางัต และกัวลาลางัต รัฐสลังงอร์   ต่อมาในปี 1898 เขาเป็นผู้พิพากษาของเขตลารุต ในรัฐเปรัค

 

นายวอลเตอร์ วิลเลียม สกีต (Walter William Skeat) ผู้ลูก ได้ศึกษาถึงวิถีชีวิตชาวมลายู และชนอัสลีในที่สูง โดยเขามีงานเขียน เช่น

1. Malay magic : being an introduction to the folklore and popular

    religion of the Malay Peninsula (1900)

2. Pagan races of the Malay Peninsula (1906)

3. The past at our doors (1913)

 

นายวอลเตอร์ วิลเลียม สกีต (Walter William Skeat) ได้เกษียณอายุราชการในปี 1932 และเขาเสียชีวิตที่กรุงลอนดอน เมื่อ 24 กรกฎาคม 1953

 

สิ่งหนึ่งที่เราได้จากคณะสำรวจของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ คือ การที่ทางคณะสำรวจได้สำรวจถึงการใช้เหรียญตรา ไม่เพียงในแหลมมลายู แต่ยังรวมถึงเมืองต่างๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้

The Patani States, Kedah and neighbouring territory, about 1900

   The Patani States (JMBRAS Volum XXVI Part 4 December 1953)

 

งานของคณะสำรวจมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ภายใต้การนำของ นายวอลเตอร์ วิลเลียม สกีต (Walter William Skeat) ที่ได้บันทึกถึงการใช้เงินตราในพื้นที่การสำรวจได้รับการอ้างอิง จากหนังสือที่รวบรวมเงินเหรียญ ที่มีชื่อเสียง และเป็นหนังสือหายาก เดิมราคาในช่วงการจัดจำหน่าย มีราคาเพียง 80 ริงกิต แต่หนังสือนี้มีราคาในท้องตลาดถึง 1,500 ริงกิต แต่ก็ยากที่จะหาได้ หนังสือที่ว่านั้น คือ  The Encyclopedia of the Coins of Malaysia, Singapore, and Brunei, 1400-1967 เขียนโดย นายซารัน สิงห์ ชาวมาเลเซีย เชื้อสายอินเดีย

เหรียญ  7 หัวเมืองภาคใต้นี้ส่วนหนึ่ง เป็นเหรียญที่นำมาจากการสำรวจของคณะสำรวจมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมีการอ้างอิงในหนังสือดังกล่าว

 

อัตราเงินเหรียญ   7 หัวเมืองภาคใต้

 

เงินเหรียญเมืองปัตตานี

                    25  ปีติส           เท่ากับ                      1   เกอนอรี

                    100  ปีติส หรือ 4 เกอเนอรี     เท่ากับ      1   กูปัง

                    หมายเหตุ  เงินเหรียญเมืองปัตตานี มีทั้งหมด 8 รุ่น คือ รุ่นที่ผลิตปี 1845, 1861, 1868, 1879,  1883/4,  18891 และอีก 2 รุ่นไม่ปรากฏปีผลิต


                                 เงินเหรียญเมืองปัตตานี

                  Al Matsaraffi Balad Al Patani Sanat 1309

                      Ini Pitis Belanja Dalam Negri Patani

 

เงินเหรียญเมืองยะหริ่ง

                    20  ปีติส           เท่ากับ                      1   เกอนอรี

                    100  ปีติส หรือ 4 เกอเนอรี        เท่ากับ   1   กูปัง

                    หมายเหตุ  เงินเหรียญเมืองปัตตานี มีทั้งหมด 5 รุ่น คือ รุ่นที่ผลิตปี 1845, 1879, 1884/45, 1894 และอีกรุ่นไม่ปรากฏปีผลิต

                              เงินเหรียญเมืองยะหริ่ง

         Hadza Al Dewan Al Raja Al Adil Fi Balad Al Jaring 1302

 

เงินเหรียญเมืองระแงะ

                    10  ปีติส            เท่ากับ                      1   เกอนอรี

                    100  ปีติส หรือ 4 เกอเนอรี        เท่ากับ    1   กูปัง

          หมายเหตุ  เงินเหรียญเมืองระแงะ  มีทั้งหมด 2 รุ่น คือ รุ่นที่ผลิตปี 1889 และอีกรุ่นไม่ปรากฏปีผลิต

                                  เงินเหรียญเมืองระแงะ

                          Pitis Negri Langkat Daral Salam

                          Malik Al Adil Khalifatul Muminin

 

เงินเหรียญเมืองสายบุรี

                    12  ปีติส            เท่ากับ                      1   เกอนอรี

                    100  ปีติส หรือ 4 เกอเนอรี        เท่ากับ    1   กูปัง

          หมายเหตุ  เงินเหรียญเมืองสายบุรี มีทั้งหมด 3 รุ่น คือ รุ่นที่ผลิตปี 1873, 1889 และ 1891

                                 เงินเหรียญเมืองสายบุรี

                  Al Daulat Al Kairiyat Fi Balad Al Saiwi 1307

 

เงินเหรียญเมืองรามันห์

        เงินเหรียญเมืองรามันห์       ค้นพบเมื่อปี 1956   ปรากฏว่าไม่ทราบกำหนดอัตราของเมืองรามันห์ได้  ปัจจุบันเงินเหรียญดังกล่าวเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองไตปิง  รัฐเปรัค  ประเทศมาเลเซีย

เงินเหรียญเมืองยะลา       

        เงินเหรียญเมืองยะลายังไม่มีการค้นพบ  สำหรับเมืองยะลาพบเพียงเงินเหรียญกงสีที่ใช้ในชุมชนคนจีน  ซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์

 

Jumaat, 1 Januari 2021

ประวัติรายาโกตา ตำนานท้องถิ่นของจังหวัดนราธิวาส

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

จังหวัดนราธิวาสในอดีตเป็นดินแดนที่ประกอบด้วยพื้นที่บางส่วนของเมืองสายบุรี พื้นที่เมืองระแงะ พื้นที่ส่วนหนึ่งของรัฐกลันตัน และพื้นที่ส่วนหนึ่ง อาจเรียกว่า พื้นที่ส่วนนิดของเมืองรามันห์ คือ พื้นที่บางส่วนของอำเภอรือเสาะ ประกอบด้วยบาตง, สาวอ และตามุง  ซึ่งหลักฐานที่กล่าวถึงการเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมืองรามันห์นั้น  มาจากหนังสือชื่อ Sejarah Raja Kota หรือประวัติรายาโกตา หรือภาษามลายูท้องถิ่นว่า ประวัติเจ้าเมืองกอตอ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับคัดลอกจากต้นฉบับเดิมโดยนายเสนีย์  มะดากะกุล  อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส 

ซึ่งหนังสือ Sejarah Raja Kota หรือประวัติรายาโกตา นี้ทางคุณ อ. บางนรา ได้ทำการแปลเป็นภาษาไทย โดยเนื้อหาที่สรุปจากประวัติเจ้าเมืองกอตอ ซึ่งได้กล่าวถึงการเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมืองรามันห์ไว้ดังนี้

 

รายาบือซียง (พระราชาที่มีเขี้ยว) จากเมืองเคดะห์ (มาเลเซีย)  จะเดินทางไปเมืองกลันตัน (มาเลเซีย) เดินทางผ่านหลายแห่ง จนถึงเมือรามันห์  ได้แต่งงานกับธิดาเจ้าเมืองรามันห์  ซึ่งมีศิริโฉมงดงามมาก  มีนามเรียกขานว่า  ตวนปุตรี (Tuan Putri ) ทางเมืองรามันห์ได้จัดงานแต่งงานใหญ่โตมาก  มีการแห่ด้วยช้างเผือก 3 เชือก  และช้างอื่นๆ อีก 40 เชือก   อยู่ที่เมืองรามันห์เป็นเวลา13  เดือน ก็จะเดินทางไปเมืองกลันตันต่อไป 

 

ขณะนั้นตวนปุตรีกำลังตั้งครรภ์  ซึ่งครบกำหนดจะคลอดแล้วก็ต้องติดตามสามีไปด้วย จึงได้เดินทางขี่ช้างไป  มีช้างขนเสบียงอีก 2  เชือกตามหลัง  เมื่อไปถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง  ตวนปุตรีเจ็บท้องจะคลอด  จึงหยุดที่ตรงนั้นและคลอดบุตรได้บุตรชาย  มีนามว่า“มายน”หรือ “มายง”

รายาบือซียงจึงได้สร้างวัง ณ ที่ตรงนั้น  อันเป็นที่มาของบ้านกอตอ (แปลว่า บ้านวัง) ณ บริเวณที่สร้างวังนั้น  มีสัตว์ร้ายชุกชุม  จึงได้ก่อกำแพงดินขึ้นมา  มีประตูทางทิศตะวันตก  เมื่อสร้างวังเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ตวนปุตรีก็จะปักหลักอยู่ที่ตรงนั้น  ไม่ยอมติดตามสามีต่อไป 

 

รายาบือซียงจึงเดินทางไปตามลำพัง ขณะนั้นโอรสมีพระชนม์ 1 ชันษา  ทั้งมารดาและโอรสจึงได้พำนักอยู่ในวังนั้นพร้อมด้วยบริวารทรงปกครองบริเวณ บาตง (Batong)  สาวอ (Sawa) และตามุง (Tambun)    กล่าวกันว่า บ้านตามุงนั้นเป็นบ้านของผู้คนที่ถูกเกณฑ์ไปก่อกำแพงดิน (ตามุง  แปลว่า  ก่อ  เช่น  ก่อดิน  ก่อทราย  เป็นต้น)  เขตบาตง มีผู้ปกครองคนหนึ่ง  สาวอก็มีผู้ปกครองคนหนึ่ง  ตอแล (Tolan) ก็มีผู้ปกครองคนหนึ่ง  ซึ่งปกครองครอบคลุมบ้านตามุง  ทั้งหมดนี้ขึ้นต่อผู้ปกครอง (เบินดาฮารา) ที่อยู่ที่กอตอ  ซึ่งเป็นผู้ดูแลตวนปุตรีและโอรส

 

จนกระทั่งพระโอรสมีพระชนม์ 20 ชันษา  จึงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองกอตอ  และปกครองบ้านเมืองแถบนั้น  จนพระองค์ได้รู้พฤติกรรมของดาโต๊ะเบินดาฮารากับพระมารดาของพระองค์  จึงได้รายงานไปยังเจ้าเมืองรามันห์ ซึ่งเป็นตา  เจ้าเมืองรามันห์จึงได้เรียกเบินดาฮาราไปสอบสวนและสำเร็จโทษ  ต่อมาพระนางตวนปุตรีได้สมรสใหม่กับเจ้าเมืองกือมุง (Kemun) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าเมืองระแงะ  ได้โอรสอีกพระองค์หนึ่ง โอรสพระองค์นี้ชอบเล่นกับช้าง  พำนักอยู่ที่วังใกล้บ้านกูจิงลือปะ(Kucing  Lepas)  ปัจจุบันอยู่ในตำบลเฉลิม  อำเภระแงะ  จังหวัดนราธิวาส  ที่อาบน้ำช้างเรียกว่า ลูโบ๊ะกาเยาะห์ รายอ (Lubuk Gajah  Raja) ปัจจุบันเป็นบ้านลูโบ๊ะกาเยาะห์  ตำบลเฉลิม  อำเภระแงะ  จังหวัดนราธิวาส

 

การสถาปนาเจ้าเมืองกอตอนั้นจัดงานใหญ่โต 3 วัน 3 คืน มีการละเล่นต่างๆ สุลต่านปาตานีก็เสด็จไปกับขบวนช้าง  15  เชือก ได้ทรงนำผู้ทรงความรู้ทางศาสนา ชื่อ โต๊ะเซียะ  เป็นผู้ทำพิธีสถาปนาเจ้าเมือง    โดยสุลต่านปาตานี ได้ทรงมอบอำนาจให้ปกครองเมืองแถบนั้น  โต๊ะเซียะ  เดิมเป็นชาวเมืองเซียะ (เมืองเซียะ Siak เป็นเมืองหนึ่งบนเกาสุมาตรา อินโดเนเซีย) กล่าวกันว่า เจ้าเมืองกอตอนั้นปกครองบ้านเมืองไม่เป็นธรรม  ท่านเลี้ยงช้างมากมาย  ปล่อยปละละเลยให้ช้างไปทำลายไร่สวนของชาวบ้าน  ชาวบ้านมาฟ้องร้องก็ไม่สนใจ  ใครมีลูกสาวสวยก็จะถูกเจ้าเมืองนำไปอยู่ในวัง  จึงมีราษฎรไปรายงานให้สุลต่านปาตานีเกี่ยวกับพฤติกรรมของเจ้าเมือง  สุลต่านปาตานีจึงไปส่งครูสอนศาสนาไปให้คำแนะนำสั่งสอน  เจ้าเมืองกอตอจึงได้งดกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม  ช้างดุก็ให้ฆ่าเสีย  บ้านเมืองจึงได้สงบสุข

 

ต่อมาเจ้าเมืองได้สมรสกับธิดาเจ้เมืองปาตานีที่ได้กับภรรยาน้อย  เมืองกอตอก็ยิ่งสงบ  เมืองก็ขยายตัว  ประชาชนก็เพิ่มมากขึ้น  มีการโยกย้ายไปอยู่ใกล้วัง  มีการขุดคลองหน้าวังไว้เป็นที่อาบน้ำและใช้น้ำดื่ม  มีการซื้อขายช้างด้วยการแลกเปลี่ยนกับทองคำกับชาวเมืองกลันตันและเมืองโยโฮร์  สถานที่แลกเปลี่ยนคือที่เมืองรามันห์ของคุณตาของเจ้าเมืองกอตอ  ส่วนวังก็สร้างอย่างแข็งแรงและทนทาน  คือสร้างด้วยไม้ตะเคียน  เสากลมใหญ่  พื้นไม้สยา  ใช้หมุดเหล็กขนาดใหญาเท่าแขน  หลังคามุงด้วยใบจากที่ผูกด้วยหวายกว้าง  8 วา   ยาว 16  วา  ไว้เป็นที่ประทับ  ทางด้านขวาอาคารสำหรับรับแขกเมือง  อาคารด้านซ้ายเป็นที่ว่าการเกี่ยวกับบ้านเมือง  เสื่อทั้งหมดทำด้วยหวายผ่าสี่  หุงข้าวด้วยกระทะใบใหญ่ (กาเวาะห์) ทุกวัน  ที่ประตูวังมีเจ้าหน้าที่เฝ้า 2 คน ทั้งกลางวันกลางคืน  ถือหอกและกริช  หอกยาวไว้สู้กับช้างเถื่อนและคนที่คิดไม่ดี

 

เจ้าเมืองมายนได้ธิดาคนหนึ่ง  ภายหลังได้สมรสกับบุตรเจ้าเมืองสาย  และไปสร้างวังที่บาโงปูโล๊ะ  ทำไร่ทำสวนอยู่ที่นั้น  แต่ในสมัยนั้นยังไม่ได้เรียกว่า บาโงปูโล๊ะ (ปัจจุบันอยู่ในตำบลเรียง  อำเภอรือเสาะ  จังหวัดนราธิวาส)  วังอยู่ใกล้ภูเขาทางไปเมืองรามันห์ บุตรของเจ้าเมืองมายนอีกคนหนึ่ง มีนามว่า รายาบอซู (Raja Bongsu )  เมื่อเจ้าเมืองมายนแก่ชราแล้ว  จึงได้สถาปนา รายาบอซูเป็นเจ้าเมือง  รายาบอซูสมัยเป็นเด็กไว้ผมจุก  วันที่เข้าสุนัตรายาบอซูได้มีการจัดงานกันอย่างใหญ่โตมาก  มีผู้รู้ทางศาสนาจากปัตตานีเป็นผู้โกนจุก  ขณะที่สถาปนารายาบอซูเป็นเจ้าเมืองกอตอนั้นพระองค์มีอายุ 18 ปี