Isnin, 22 Julai 2024

Soenting Melajoe หนังสือพิมพ์สตรีภาษามลายูฉบับแรกในสุมาตรา เมื่อ 100 กว่าปีก่อน

โดย นิอับดุรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

หนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe หรือในการเขียนแบบปัจจุบันคือ Sunting Melayu เป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูที่ตีพิมพ์ในเมืองปาดัง สุมาตราตะวันตก จากปี 1912-1921 มีชื่อเต็มว่า Soenting Melajoe: soerat chabar perempoean di Alam Minang Kabau (Soenting Melajoe เป็นหนังสือพิมพ์เพื่อสตรีในดินแดนมีนังกาเบา) มีบรรณาธิการชื่อ รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านการศึกษาสตรียุคแรก และเป็นหนังสือพิมพ์สำหรับผู้หญิงฉบับแรกที่ตีพิมพ์ในสุมาตราตะวันตก


รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) เกิดเมื่อ 20 ธันวาคม 1884 เสียชีวิตเมื่อ 17 สิงหาคม 1972 เธอได้แต่งงานในปี 1908 ขณะมีอายุ 24 ปี กับนายอับดุลกุดดุส (Abdoel Koeddoes) เธอจึงรู้จักในนามของรูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) โดยนายอับดุลกุดดุส (Abdoel Koeddoes) เป็นผู้สนับสนุนภรรยาในการพัฒนาการศึกษาของสตรี

รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) 

รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) เป็นลูกสาวร่วมบิดากับนายซูตัน ซาห์รีร์ (Sutan Sjahrir) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินโดเนเซีย ระหว่างปี 1945-1947  และเธอเป็นลูกพี่ลูกน้องของอาฆุส สาลิม (Agus Salim) ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชที่มีชื่อเสียงของอินโดเนเซีย และเธอเป็นน้าสาวของนายคัยริล อันวาร์ (Chairil Anwar) นักกวีนามอุโฆษของอินโดเนเซีย


ในเดือนกุมภาพันธ์ 1911 รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) ตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียนฝึกสอนสำหรับผู้หญิง ชื่อว่า Kerajinan Amai Setia โดยเป็นโรงเรียนที่มุ่งเป้าไปที่การสอนงานฝีมือและทักษะสำหรับเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะ นอกเหนือจากหน้าที่ในบ้านทั่วไป เช่นเดียวกับการอ่านการเขียนภาษามลายูอักขระยาวีและอักขระละติน ในช่วงก่อตั้งโรงเรียน เธอเผชิญกับการต่อต้านจากแหล่งต่างๆ มากมายที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของสตรี และในที่สุดโรงเรียนที่เธอก่อตั้งก็รับนักเรียนได้ประมาณหกสิบคน

นาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja 

หนังสือพิมพ์  Soenting Melajoe เปิดตัวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1912 โดยนาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja ปัญญาชนชาวมีนังกาเบา และเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ซึ่งคิดว่าควรมีหนังสือพิมพ์แนวปฏิรูปมุ่งเป้าไปที่ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงในเมองปาดัง  ตอนนั้นมีหนังสือพิมพ์อิสระเพียงไม่กี่ฉบับที่พิมพ์โดยชาวอินโดเนเซียและมีเป้าหมายผู้อ่านที่เป็นสตรี เช่น หนังสือพิมพ์ Tiong Hoa Wi Sien Po ของ Lim Titie Nio ซึ่งเปิดตัวในปี 1906 หรือ Poetri Hindia ของ Tirto Adhi Soerjo เปิดตัวในปี 1908  โดยหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับพิมพ์ที่เมือง Buitenzorg หรือเมืองโบโฆร์ในปัจจุบัน จังหวัดชวาตะวันตก


นาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja ได้ยินเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการศึกษาของรูฮานา กุดดุส ผู้สร้างโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จและทันสมัยในเมืองโกตาฆาดัง (Kota Gadang) ใกล้เมืองบูกิตติงฆี


เมื่อเธอได้ติดต่อกับนาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja เขาก็ตกลงที่จะผลิตหนังสือพิมพ์สำหรับสตรี โดยมีเธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าบรรณาธิการ โดยมีลูกสาวของนาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja ที่ชื่อว่า Zoebaidah Ratna Djoewita จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของรูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) ทั้งสองคนยังคงเป็นบรรณาธิการร่วมในทศวรรษถัดมา แม้ว่ารูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) จะโดดเด่นกว่าก็ตาม เมื่อเปิดตัวหนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe ทางรูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) กล่าวว่า จะมุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงระดับการศึกษาของผู้หญิงอินโดเนเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่สามารถอ่านภาษาดัตช์ได้ และมีสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่เป็นภาษามลายูค่อนข้างน้อย

ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe  ได้กล่าวถึงประเด็นทางสังคมในยุคนั้น รวมถึงลัทธิอนุรักษนิยม การมีภรรยาหลายคน การหย่าร้าง และการศึกษาของเด็กผู้หญิง หนังสือพิมพ์ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในสมัยนั้น ที่ผู้มีส่วนสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง หนังสือพิมพ์ได้สร้างเวทีที่ค่อนข้างเปิดกว้างและเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ ผู้มีส่วนร่วมหลายคนเป็นภรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือขุนนาง ในที่สุด การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสมาคมการศึกษามากขึ้น เช่นเดียวกับที่รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) สร้างขึ้นในปี 1911 และนักเรียนจากโรงเรียนและชมรมที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้นก็กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่ร่วมเขียนบทกวีและบทความให้กับหนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe  เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนผู้อ่านก็ขยายออกไปนอกจากสุมาตราตะวันตกไปยังเมืองบันดุง เมืองเมดาน เมืองเบงกูลู และส่วนอื่นๆ ของหมู่เกาะ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงจ้างคนเพื่อรายงานข่าวบางส่วนจากเมืองอื่นๆ โดยให้เป็นบรรณาธิการร่วม รวมถึงซีตีโนรมะห์ (Sitti Noermah) จากเมืองปาดัง และ อัมนะห์ อับดุลการิม (Amna bint Abdul Karim) จากเมืองเบ็งกูลู ในปี 1917 และซีตียาตียะห์ ปาซาร์ โยฮาร์ (Sitti Djatiah Pasar Djohar) จากเมืองตายูตานัม (Kayu Tanam) ในปี 1919


แม้จะได้รับความนิยมมาหลายสิบปี Soenting Melajoe ก็ประสบปัญหาในปี 1921 เนื่องจากถูกผูกติดอยู่กับการสนับสนุนของ Soetan Maharadja และหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe อีกฉบับของเขา ในเดือนมกราคม 1921 รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) ลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ และ Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja ได้แต่งตั้งลูกสาวของเขาที่ชื่อ Retna Tenoen เป็นบรรณาธิการคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe และหนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe หยุดตีพิมพ์ในเดือนมกราคม 1921

Tiada ulasan: