โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า การตีความคำว่า “มลายู”
มีการตีความได้ 2 แบบ คือ
1. การตีความคำว่า “มลายู”
ตามหลัก”ชนชาติ” หรือ “Race” หรือในภาษามลายูเรียกว่า “Ras”
หรือว่า “Rumpun” เป็นการตีความอย่างกว้าง และ
2. การตีความคำว่า “มลายู”
ตามหลัก “ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” ในภาษามลายูเรียกว่า
“Etnik”
สำหรับการตีความคำว่า “มลายู” ตามหลัก”ชนชาติ” หรือ “Race” นั้นได้เขียนแล้วเมื่อคราวก่อน ดังนั้นในครั้งนี้ จะมากล่าวถึงการตีความคำว่า “มลายู” ตามหลัก”ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” ในภาษามลายูเรียกว่า “Etnik” ซึ่งเป็นการตีความอย่างแคบ ด้วยคำว่า “มลายู” มี 2 สถานะ คือ ชนชาติ หรือ Ras และอีกสถานะหนึ่ง คือ ชาติพันธุ์ หรือ Etnik ในชนชาติหนึ่งๆ จะมีส่วนย่อย คือ ชาติพันธุ์ เช่น ในชนชาติจีน ก็จะมีส่วนย่อย เป็น จีนฮกเกี้ยน จีนแต้จี๋ว จีนแขก และจีนอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกัน ในชนชาติมลายู ก็จะมีชาติพันธุ์มลายู ชาติพันธุ์มีนังกาเบา ชาติพันธุ์บูกิส และอื่นๆ เพียงชนชาติมลายู มีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ด้วยบางชาติพันธุ์ ไม่ยอมรับว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชนชาติมลายู สิ่งนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นกับมลายูเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็เกิดขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างกลุ่มชาติพันธุ์บาตักกาโร ก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์บาตักอื่นๆ เช่นชาติพันธุ์บาตักกาโร หรือกลุ่มชาติพันธุ์มันไดลิง ก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์บาตัก สิ่งนี้อาจเกิดจากกระบวนการสร้างความแตกแยกก็เป็นไป
แม้ในอดีตก่อนการจัดตั้งประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย ก็มีการยอมรับว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นหมู่กะมลายู
หรือ Malay Archipelago ตามที่ นาย Alfred Russel
Wallace ได้เขียนหนังสือสำรวจหมู่กะมลายู
ภายใต้ชื่อ Malay Archipelago โดยจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ปี 1898
และเมื่อครั้งมีการจัดตั้งองค์กร Maphilindo – Malaya-Phillipines-Indonesia
ในสนธิสัญญาที่ยื่นให้องค์การสหประชาชาติ ก็บันทึกไว้ว่าเพื่อรวมตัวใน
Malay Region งนั้น ถือได้ว่า
ในส่วนของอินโดเนเซียก็ยอมรับในคำว่า Malay Region และปัจจุบันชาวอินโดเนเซียบางส่วน
แม้แต่ระดับสูงบางคนของประเทศ ก็ไม่ยอมรับว่า ภาษาอินโดเนเซีย มาจากภาษามลายู
แม้ว่า การประชุมด้านภาษาของอินโดเนเซีย ที่เรียกว่า Kongres Bahasa Indonesia II ปี 1954 ที่เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ก็มีข้อสรุปว่า menyatakan
bahwa bahasa Indonesia berasal dari bahasa Melayu (กล่าวได้ว่า
ภาษาอินโดเนเซียมีรากเหง้ามาจากภาษามลายู) และมีหลักฐานหนังสือที่ใช้ในการเรียน
การสอนในอดีตของอินโดเนเซีย ก็เรียกว่า ภาษามลายู แต่ชาวอินโดเนเซีย
บางส่วนโดยเฉพาะบนเกาะชวา ก็ยังไม่ยอมรับวา ภาษาอินโดเนเซีย มาจากภาษามลายู
ครั้งนี้จะกล่าวถึงการตีความคำว่า “มลายู”
ตามหลัก“ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” ในภาษามลายูเรียกว่า “Etnik”
ก่อนอื่นขอกล่าวถึงคำว่า “ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” หรือ
“Etnik”
ศาสตราจาร์ ดร. Koentjaraningrat ได้กล่าวไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า Manusia dan Kebudayaan di Indonesia มีความว่า
ชาติพันธุ์ เป็นหน่วยทางสังคมที่สามารถแยกแยะได้จากหน่วยอื่น
ๆ ตามรากเหง้าและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะภาษา กล่าวอีกนัยหนึ่งชาติพันธุ์คือกลุ่มมนุษย์ที่ถูกผูกมัดด้วยจิตสํานึกและอัตลักษณ์นี้มักจะเข้มแข็งขึ้นจากความเป็นเอกภาพของภาษา
ซึ่งจากความเห็นข้างต้นจะเห็นได้ว่าชาติพันธุ์ถูกกําหนดโดยการดํารงอยู่ของจิตสํานึก
กลุ่มการรับรู้ถึงความสามัคคีทางวัฒนธรรมและความคล้ายคลึงกันของต้นกําเนิด
ดร. Mohd. Hafid Effendy กล่าวไว้ในหนังสือชื่อว่า Teori dan Metode Kajian Budaya Etnik Madura กล่าวไว้ว่า Ethnic (ชาติพันธุ์) มาจากคำในภาษากรีก ว่า ethnos หมายถึงบางสิ่งที่รวมกัน เช่น ทหารหรือผึ้ง ดังนั้น
ชาติพันธุ์สะท้อนถึงอัตลักษณ์กลุ่มมนุษย์ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ
เริ่มจากพันธุกรรม ภาษา ศาสนา ไปจนถึงองค์ประกอบทางวัฒนธรรมอื่นๆ
ชาติพันธุ์คือกลุ่มทางสังคมที่มีเอกลักษณ์ร่วมกันตามองค์ประกอบบางประการ
เช่น ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา หรือต้นกำเนิดทางภูมิศาสตร์ สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์มักจะรู้สึกว่าพวกเขามีความคล้ายคลึงและมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกลุ่มของตน
ดังนั้นประเทศอินโดเนเซียเอง ที่มีประชากรราว 270 ล้านคน เมื่อแยกตาม “ชาติพันธุ์”
ก็จะทำให้เกิดการกระจายเป็นส่วนย่อยต่างๆ มีการสำรวจเมื่อปี (สำรวจปี 2010 ) คือ
ชาติพันธุ์ชวา 40.1 %
ชาติพันธุ์ซุนดา 15.5 %
ชาติพันธุ์มลายู 3.7 %
ชาติพันธุ์บาตัก 3.6 %
ชาติพันธุ์มาดูรา 3 %
ชาติพันธุ์เบอตาวี 2.9 %
ชาติพันธุ์มีนังกาเบา 2.7 %
ชาติพันธุ์บูกิส 2.7 %,
ชาติพันธุ์บันเต็น 2 %,
ชาติพันธุ์บันจาร์ 1.7 %
ชาติพันธุ์บาหลี 1.7 %
ชาติพันธุ์อาเจะห์ 1.4 %
ชาติพันธุ์ดายัก 1.4 %
ชาติพันธุ์ซาซัก 1.3 %
ชาติพันธุ์จีน 1.2 %
ชาติพันธุ์อื่นๆ 15 %
และประเทศอินโดเนเซีย เมื่อการตีความคำว่า “มลายู”
ตามหลัก “ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” แล้ว จากการสำรวจในปี 2010 ก็จะได้ประชากรมลายูในประเทศอินโดเนเซีย
จำนวน 8,753,791 คน
โดยแบ่งประชากรชาติพันธุ์มลายูที่ตั้งถิ่นฐานตามจังหวัดต่างๆของประเทศอินโดเนเซีย
ได้ดังนี้
จังหวัดสุมาตราใต้ 3,139,000 คน
จังหวัดเรียว 2,880,240 คน
จังหวัดกาลีมันตันตะวันตก 1,259,890 คน
จังหวัดบังกาเบอลีตง 936,000 คน
จังหวัดจัมบี 914,660 คน
จังหวัดหมู่เกาะเรียว 600,108 คน
จังหวัดสุมาตราเหนือ 582,100 คน
จังหวัดลัมปุง 269,240 คน
จังหวัดชวาตะวันตก 190,224 คน
กรุงจาการ์ตา 165,039 คน
จังหวัดเบ็งกูลู 125,120 คน
จังหวัดกาลีมันตันกลาง 87,222 คน
จังหวัดกาลีมันตันตะวันออก 84,468 คน
จังหวัดกาลีมันตันเหนือ 64,881 คน
นอกจากนั้น ในประเทศอินโดเนเซียยังมีชาวมลายูกลุ่มน้อยที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ และมีบางกลุ่มที่มีชาติพันธุ์ไม่ใช่มลายู แต่มีการรับวัฒนธรรมมลายู มาใช้ในชีวิตประจำวัน และยอมรับภาษามลายูเป็นภาษาประจำวัน เช่น
มลายูบูกิส เป็นชาวบูกิสที่ผสมผสานกับชาวมลายู มีถิ่นฐานอยู่ในเขตมัมปาวะห์ จังหวัดกาลีมันตันตะวันตก บริเวณเรียว-ลิงฆา จังหวัดหมู่เกาะเรียว
มลายูชวา
เป็นชาวชวาที่ผสมผสานกับชาวมลายู
มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองปาเล็มบัง จังหวัดสุมาตราใต้
มลายูโลโลอัน เป็นกลุ่มชาวมลายูที่มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่หนึ่งของจังหวัดบาหลี
มลายูมีนังกาเบา เป็นชาวมีนังกาเบาที่ผสมผสานกับชาวมลายู
มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองเซียะ จังหวัดเรียว
มลายูลอมบอก เมืองมาตาราม จังหวัดนูซาเต็งการาตะวันตก
มลายูตาเมียง เป็นกลุ่มชาวมลายูที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของในอำเภอตาเมียง จังหวัดอาเจะห์ดารุสสาลาม โดยอำเภอตาเมียง มีประชากรประมาณ 3 แสนคน ในอดีตมี 4 รัฐมลายูในสมัยอาณานิคมยุคฮอลันดาปกครองได้ผนวกอำเภอตาเมียง เข้ากับจังหวัดอาเจะห์ จนชาวมลายูอำเภภอตาเมียง บางครั้งก็เรียกว่า ชาวอาเจะห์ตาเมียง รัฐชาวมลายูมีอยู่หลายรัฐที่ถูกฮอลันดาผนวก เข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาเจะห์ เช่น รัฐการัง รัฐสุลต่านมูดาซือรูเวย์ ฯลฯ
มลายูมาลูกุ เป็นกลุ่มชาวมลายูที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะมาลูกุ
ชาวมลายูในประเทศมาเลเซีย
เมื่อแบ่งตามชาติพันธุ์แล้ว
จะได้สัดส่วนประชากรมาเลเซียดังนี้
ชนพื้นเมืองที่เรียกว่าภูมิบุตร หรือ Bumiputera 62.5 % ซึ่งประกอบด้วยชาวมลายู
ชาวโอรังอัสลี และชนพื้นเมืองอื่นๆ ที่เป็นชาวรัฐซาบะห์
และรัฐซาราวัคสำหรับชาวมลายูในสองรัฐ คือ รัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค ถือว่า
ชาวมลายูเป็นชนกลุ่มน้อยของทั้งสองรัฐ
ชาวจีน 20.6 %,
ชาวอินเดีย 6.2 %
ละอื่นๆ 0.9 %,
ในจำนวนประชากรมาเลเซีย จะมีผู้ตั้งถิ่นฐานถาวร แต่ไม่ใช่สัญชาติมาเลเซีย จำนวน 9.8 % ( ปี 2019)
ชาวมลายูในประเทศไทย หรือบางครั้งจะเรียกว่าชาวไทยเชื้อสายมลายู
หมายถึงชาวไทยซึ่งมีเชื้อสายมลายู มีกระจายทั่วไปในทางภาคใต้ของประเทศไทย
ประชากรใช้ส่วนใหญ่จะใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
และภาษามลายูถิ่นสตูล ส่วนภาคกลางเองก็มีมากในกรุงเทพฯ
จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี เลยไปถึงจังหวัดฉะเชิงเทราในตำบลศาลาแดง
อำเภอบางน้ำเปรี้ยวด้วย
เกาะคริสต์มาส หนึ่งในสองเกาะมลายูของประเทศออสเตรเลีย
สำหรับเกาะคริสต์มาส เป็นเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรอินเดีย
เป็นเกาะภายใต้การปกครองของประเทศออสเตรเลีย
โดยเป็นดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเองของประเทศออสเตรเลีย
เกาะคริสต์มาสอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของ Australian
Department of Transport and Regional Services เกาะคริสต์มาสตั้งอยู่ห่างจากเมืองเพิร์ท
รัฐออสเตรเลียตะวันตกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ราว 2,360 กิโลเมตร และห่างจากเกาะชวา
ประเทศอินโดเนเซียไปทางใต้ ราว 360 กิโลเมตร เกาะคริสต์มาสมีขนาดพื้นที่ 155
ตารางกิโลเมตร
ประชากรของเกาะคริสต์มาสมีประชากรประมาณ 2 พันกว่าคน ประชากรของเกาะคริสต์มาสจะประกอบด้วยชาวจีนกว่า
60 เปอร์เซ็นต์ ความเป็นมาของชื่อเกาะนั้น ด้วยกัปตันวิลเลี่ยม มัยนอร์ส (Captain William Mynors) กัปตันเรือเรือที่ชื่อว่า Royal Mary ของบริษัทอิสต์อินเดีย
ได้เดินทางมาถึงเกาะแห่งนี้ โดยไม่ได้แวะพัก เพียงผ่านไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม
1643 และได้ตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า เกาะคริสต์มาส
ต่อมาออสเตรเลียได้รับโอนอำนาจการปกครองเกาะคริสต์มาสจากอังกฤษ
โดยออสเตรเลียต้องจ่ายค่าชดใช้จำนวนหนึ่งของการเสียผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมแร่ฟอสเฟตให้แก่สิงคโปร์ เกาะคริสต์มาส แม้เป็นเพียงเกาะเล็กๆ
ในมหาสมุทรอินเดีย
มีประเทศออสเตรเลียเป็นเจ้าของ
แต่เกาะคริสต์มาสก็ถือว่าเป็นเกาะหนึ่งของชาวมลายู และเป็นเกาะหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแผนที่ภูมิภาคมลายู
เกาะโคโคส หนึ่งในสองเกาะมลายูแห่งประเทศออสเตรเลีย
สองเกาะของชาวมลายูที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศออสเตรเลียคือ
เกาะคริสต์มัส และอีกเกาะหนึ่ง ความจริงเป็นหมู่เกาะ แต่ว่ารู้จักกันในนามของเกาะ
นั้นคือเกาะโคโคส
ถ้าในอดีตเกาะคริสต์มัสและเกาะโคโคสไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอังกฤษ
ซึ่งในอดีตนั้น ถือว่าเป็นชาติมหาอำนาจ
เชื่อว่าในปัจจุบันทั้งสองเกาะคงจะอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอินโดเนเซียมากกว่า
ในบรรดาเกาะต่างๆที่อยู่ในหมู่เกาะโคโคสนั้น เกาะที่เป็นที่อยู่อาศัยของคน คือ เกาะเวสต์ (West Island) หรือชาวมลายูจะเรียกว่าเกาะยาว
(Pulau Panjang) มีความยาว 10 กิโลเมตร และมีความกว้าง ราว
ครึ่งกิโลเมตร เป็นเกาะที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานรัฐบาลออสเตรเลียตะวันตก
และสนามบิน ส่วนเกาะโฮม (Home Island) หรือ เกาะเซิลมา (Pulau
Selma) ก็จะเป็นที่อยู่อาศัยของคนมลายู สำหรับชาวมลายูในหมู่เกาะคโคสนั้น
ถือได้ว่าเป็นชาวมลายูที่มีเลือดผสมระหว่างกลุ่มที่มีบรรพบุรุษจากแหล่งที่แตกต่างกัน ปรากฎว่า ชาวมลายูเกาะโคโคส
มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเกาะบอร์เนียว
มาลายา สิงคโปร์ เกาะชวา และเกาะอื่นๆของอินโดเนเซีย ถูกนำไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะโคโคส โดยชาวอังกฤษ
ชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้
ชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้นั้น มีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างจากชาวเมรินาในประเทศมาดากัสการ์
ด้วยชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้อพยพไปยังทวีปอัฟริกาเมื่อกว่าสามร้อยปีที่ผ่านมา ชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้จะถูกเรียกว่าชาวมลายูแหลม
หรือ Cape Malay
พวกเขาส่วนใหญ่ถูกฮอลันดานำพาไปยังอัฟริกาใต้ แม้ว่าภาษามลายูของพวกเขาเหล่านี้เกือบจะสูญหายไป
แต่พวกเขายังคงใช้บางคำของภาษามลายูในชีวิตประจำวัน
พวกเขาจะพูดภาษาอัฟริกัน ( Afrikaan ) ในชีวิตประจำวัน โดยภาษาอัฟริกันนี้มีภาษาฮอลันดาเป็นหลัก และนำคำภาษาอักฤษ
และภาษามลายูเข้าไปใช้ในภาษาอัฟริกันและชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้นับถือศาสนาอิสลาม มีชาวมุสลิมในประเทศอัฟริกาใต้ประมาณ
เจ็ดแสนกว่าคน
ประกอบด้วยชาวมุสลิมเชื้อสายอินโด-เมารีเตียน (Indo-Mauritian) ประมาณ 4 หมื่นคน พูดภาษามอรีเซ็น( Morisyen), ชาวมุสลิมเชื้อสายซันซีบาร์
(Zanzibar) ประมาณ 1 พันคน พูดภาษาสวาฮิลี (Swahili),
ชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย-ปากีสถาน ประมาณ 170,000 คน
พูดภาษาอูร์ดู(Urdu), ชาวมุสลิมกลุ่มผิวสี (Coloured
Creole) ประมาณ 275,000 คน พูดภาษาออร์ลามส์(Oorlams) และชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู มีประมาณ 250,000 คน พูดภาษาอัฟริกันส์ (Afrikaans)
ซึ่งภาษาอัฟริกันส์เป็นภาษาที่เริ่มใช้ในศตวรรษที่
17 โดยมีภาษาดัชต์เป็นหลักและผสมด้วยคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ, มลายู,
ฝรั่งเศส, เยอรมัน, โปร์ตุเกส
และบางภาษาของอัฟริกา สำหรับชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้นั้นรู้จักกันในนามว่าชาวมลายูแหลม
หรือ Melayu Tanjung (The Cape Malay) ด้วยชาวมลายูกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แหลมกู๊ดโฮบ(The
Cape of Good Hope) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเคปทาวน์ (Cape
Town) ส่วนใหญ่ชุมชนชาวมลายูตั้งถิ่นฐานในเขตที่เรียกว่า Malay
Square หรือ Bo-Kaaap ของเมืองเคปทาวน์
นอกจากนั้นยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่คนในประเทศไทยอาจรู้น้อยมาก
คือ กลุ่มชาวมลายูศรีลังกา กลุ่มนี้ยังคงมีการใช้ภาษามลายูอยู่
สำหรับในประเทศศรีลังกานั้น ชาวมลายูยังคงยึดถืออัตลักษณ์ของชาวมลายูอยู่
แม้ว่าภาษามลายูของพวกเขาจะได้รับอิทธิพลของภาษาทมิฬ และสิงหล ประชากรของศรีลังกาที่มีเชื้อชาติมลายูนั้น
มีอยู่ประมาณ 62,000 คน
ชาวมลายูในศรีลังกามีประวัติภูมิหลังที่น่าสนใจจริง พวกเขาถูกฮอลันดานำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 18 และบางส่วนถูกอังกฤษนำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 19
ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวมลายูก็ได้อพยพไปยังศรีลังกาแล้ว ในหนังสือชื่อ “มหาวังศา” ( Mahawangsa)
ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาตร์เก่าแก่ของประเทศศรีลังกาก็มีการบันทึกว่า
ในสมัยกษัตริย์ที่ชื่อ กษัตริย์ Prakrama Bahu ในปี1268 มีกษัตริย์ชาวมลายูชื่อกษัตริย์จันทราภาณุ (Chandrabhanu) จากอาณาจักรตามพรลิงค์ ( Tambralinga
) ได้ไปโจมตีศรีลังกาเป็นจำนวน 2 ครั้ง
แม้แต่แม่ทัพของกษัตริย์ Prakrama Bahu เองก็เป็นชาวมลายูมีชื่อว่า
Melayu Rayer แต่ชาวมลายูเหล่านี้ถูกสังคมศรีลังกากลมกลืน
จนสิ้นอัตลักษณ์ ด้วยพวกเขานับถือศาสนาเฉกเช่นเดียวกันกับชาวศรีลังกา
ชาวมลายูศรีลังกา จะกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ
เช่น กรุงโคลอมโบ เมืองฮัมบาโตตา เมืองเบรูเวลา และกัลเล
ชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์
ผู้เขียนเคยนำนักศึกษาไปสัมผัสชุมชนชาวมลายูเมียนมาร์
ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเกาะสองและบริเวณใกล้เคียง จากการสัมผัสครั้งนั้น
ก็ได้รับรู้ว่า มีชุมชนชาวมลายูไม่น่อยกว่า 23 หมู่บ้าน และมีสถาบันปอเนาะสอนศาสนาอิสลามอยู่ถึง
10 ปอเนาะด้วยกัน
ต่อมาเมื่อชมรมชาวมลายูเมียนมาร์ทำการสำรวจอย่างละเอียด ปรากฏว่า มีชุมชนมลายูอาศัยอยูถึง
74 หมู่บ้าน
การใช้ภาษามลายูของชุมชนมลายูในเกาะสอง มีความคล่อง มีการรักษาอัตลักษณ์ด้านภาษา
และวัฒนธรรมมลายู ที่เข้มแข็งกว่าชาวมลายูในประเทศไทย
อ้างอิง:
นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน,
เอกสารประกอบการสอนวิชากลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, มอ. ปัตตานี
Ananta, Aris; Arifin, Evi Nurvidya;
Hasbullah, M Sairi; Handayani, Nur Budi; Pramono, Agus (2015). Demography
of Indonesia's Ethnicity. Institute of Southeast Asian Studies.
B. A. Hussainmiya,The Malay Identity in
Brunei Darussalam and Sri Lanka, Universiti Brunei Darussalam.
Koentjaraningkrat,Manusia dan Kebudayaan di
Indonesia,Penerbit Djambatan,1984.
Koentjaraningkrat,Pengantar Ilmu Antropologi,
Aksara Baru,1985.
Mengenal Lebih Dekat Praktik Adat Melayu
Bangka Belitung 2021
Melalatoa, M. Junus (1 Januari 1995). Ensiklopedi Suku Bangsa di Indonesia Jilid L-Z. Indonesia: Direktorat Jenderal Kebudayaan.
Wan Hashim Wan Teh, Rumpun Melayu Australia
Barat, UKM Press, 1999.
Wan Hashim Wan The dan Hanapi Dollah, Melayu
Cape di Afrika Selatan, Dewan Bahasa dan Pustaka, 2010.
Tiada ulasan:
Catat Ulasan