Sabtu, 6 Julai 2024

ราชาอาลีฮัจญี นักกวี นักประวัติศาสตร์ชาวมลายูแห่งหมู่เกาะเรียว นามอุโฆษของโลกมลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ผู้เขียน พร้อมลูกชาย นายนิฮัสซันฮามีดีปุตรา สมัยยังเด็ก และอาจารย์ซาวาวี ปะดาอามีน อาจารย์ประจำสาขาวิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ. ปัตตานี ได้เคยเดินทางเข้าร่วมสัมมนาทางมุขฐานะ หรือ Oral Tradition ซึ่งจัดโดยสมาคม Assosiasi Tradisi Lisan หรือ Indonesia Oral Tradition Association และเมื่อมีเวลาช่วงว่างจากการสัมมนา คือ เมื่อทางเจ้าภาพแจ้งว่าจะมีการนำผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มาจากต่างถิ่น ได้สัมผัสเกาะเปอญืองัต (pulau Penyengat) เกาะที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเกาะบินตัน (Pulau Bintan) ที่ตั้งของเมืองตันหยงปีนัง (Tanjungpinang) เมืองเอกของจังหวัดหมู่เกาะเรียว อินโดเนเซีย เกาะเปอญืองัต (Pulau Penyengat) เคยเป็นหนึ่งในศูนย์อำนาจของอดีตอาณาจักรลิงฆ-เรียว


ในการสัมมนาครั้งนั้น ปรากฎว่าเจ้าภาพไม่ได้พาผู้ร่วมสัมมนาไปสัมผัสเกาะเปอญืองัต (pulau Penyengat) แต่อย่างใด ดังนั้นผู้เขียน ลูกน้อย และอาจารย์ซาวาวี ปะดาอามีน จึงใช้เวลาที่ว่างนั้น ได้เดินทางไปยังเกาะเกาะเปอญืองัต (pulau Penyengat) และได้เช่ารถจักรยานยนต์ เพื่อเดินทางไปเยี่ยมสถานที่ต่างๆ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หนึ่งในสถานที่สำคัญหนึ่ง ที่จะต้องเดินทางไปเยี่ยมคือ กูโบร์ของราชาอาลีฮัจญี นักกวี นักประวัติศาตร์ ผู้ที่เขียนกลอนที่เรียกว่า Gurindam โดยกลอน Gurindam ที่ราชาอาลีฮัจญีมีชื่อว่า Gurindam Duabelas ซึ่งถือเป็นบทกลอนที่มีชื่อเสียงของโลกมลายู  การเดินทางเพื่อเยี่ยมกูโบร์ของราชาอาลีฮัจญี นอกจากเพื่อประสบการณ์ชีวิตแล้ว ยังสามารถใช้ในการเรียนการสอนสำหรับสาขาวิชามลายูศึกษา นอกจากเพื่อการเรียนการสอนด้านวรรณกรรมมลายูแล้ว ยังสามารถบอกเล่าแก่นักศึกษาว่า บรรดาผุ้สอนด้านวรรณกรรมมลายู ก็เคยไปเยี่ยมกูโบร์ของบุคคลนั้นอีกด้วย 

ครั้งนี้จึงขอแนะนำนักกวี นักประวัติศาสตร์นามอุโฆษแห่งหมู่เกาะเรียว

ราชาอาลีฮัจญี บินราชาฮัจญีอาหมัด (Raja Ali Haji bin Raja Haji Ahmadหรือที่รู้จักกันในชื่อนามปากการาชาอาลีฮัจญี (Raja Ali Haji) ท่านเกิดบนเกาะปือญืองัต (Pulau Penyengat) จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประมาณปี 1808 และเสียชีวิตบนเกาะปือญืองัต (Pulau Penyengat) ประมาณปี 1873 ) ท่านเป็นนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และนักกวีแห่งศตวรรษที่ 19 เป็นคนเชื้อสายบูกิส-มลายู  เกาะปือญืองัต (Pulau Penyengat) เป็นเกาะที่ชาวบูกิสตั้งถิ่นฐานอยู่ เป็นชาวบูกิสที่รับจารีตประเพณีขงชาวมลายู จึงเรียกว่าชาวบูกิส-มลายู ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยถาม ดร. อาหมัด ดะห์ลัน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองบาตัม เกาะที่อยู่ตรงข้ามสิงคโปร์ว่า ท่านเป็นชาวอะไร หมายถึง ชาวมลายู ชาวบูกิส หรือชนเผ่าอื่นๆ ก็ได้รับคำตอบว่า เขาเป็นชาวบูกิส-มลายู และอธิบายเพิ่มเติมว่า ชาวบูกิส-มลายู คือ เป็นชาวบูกิสที่รับจารีตประเพณีขงชาวมลายู สำหรับราชาอาลีฮัจญี  ท่านมีชื่อเสียงในฐานะผู้บันทึกหลักไวยากรณ์ภาษามลายู ชื่อหนังสือว่า Pedoman Bahasa หนังสือที่กลายเป็นภาษามลายูมาตรฐาน ซึ่งภาษามลายูมาตรฐาน นี้ถูกกำหนดโดยสมัชชาเยาวชนอินโดเนเซีย (Kongres Pemuda Indonesia) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1928 กำหนดให้เป็นภาษาประจำชาติอินโดเนเซีย ราชาอาลีฮัจญี  เป็นมีศักดิ์เป็นหลานปู่ของราชาฮัจญีฟีซิบิลลิลละห์ (Raja Haji Fisabilillah) ผู้เป็นอุปราช หรือ Yang Dipertuan Muda IV แห่งอาณาจักรเรียว-ลิงฆา และสุลต่าน Lingga-Riau และราชาอาลีฮัจญี  ยังเป็นขุนนางเชื้อสายบูกิสอีกด้วย



ผลงานของราชาอาลีฮัจญี 

ท่านเขียนบทกวีที่ชื่อว่า  Gurindam Dua Belas (1847) กลายเป็นวรรณกรรมใหม่ในสมัยของเขา บทกวี Gurindam Dua Belas เป็นหนึ่งในผลงานวรรณกรรมที่ยอดเยี่ยมของอินโดเนเซีย งานนี้รวมอยู่ในประเภทบทกวี Gurindam ซึ่งเป็นกวีนิพนธ์คลาสสิกภาษามลายูประเภทหนึ่ง

บทกวี Gurindam Dua Belas เขียนและเสร็จบนเกาะปือญืองัต (Pulau Penyengat) เมื่อวันที่ 23 เดือนระยับ ฮิจเราะห์ศักกราช 1264 หรือตรงกับปี 1847 เมื่อราชาอาลีฮัจญี  มีอายุ 38 ปี

หนังสือ Tuhfat al-Nafis (ของขวัญล้ำค่า) เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนโดย ราชาอาลีฮัจญี  หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเมื่อปี 1885 ด้วยภาษามลายูอักขระยาวี หนังสือเล่มนี้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 และ 19 ในรัฐมลายูต่างๆ  มีต้นฉบับ 4 ฉบับของหนังสือ Tuhfat al-Nafis ที่เป็นที่รู้จัก ต้นฉบับที่คัดลอกในปี 1890 ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1923 ในวารสารJournal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society, London

หนังสือ Tuhfat al-Nafis เริ่มต้นด้วยบทสรุปที่นำมาจากหนังสือ Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มลายู) จากนั้นเล่ารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐโยโฮร์-เรียว บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ที่เกิดขึ้นในหลายรัฐของมลายู เหตุการณ์บางส่วนที่บันทึกไว้ในหนังสือ ได้แก่ การสถาปนารัฐตรังกานู การสังหารสุลต่านมะห์มุด ชาห์ที่ 2 แห่งรัฐโยโฮร์ และการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างบูกิสกับสุลต่านรัฐโยโฮร์ บุคคลสำคัญในหนังสือ Tuhfat al-Nafis คือเชื้อสายเจ้าของชาวบูกิส ผู้ซึ่งมีทักษะทางการทหารและการทูตสามารถบรรลุตำแหน่งสำคัญในรัฐเรียว รับสลังงอร์ รัฐซัมบาส และรัฐมาตัน-ซูกาดานา


หนังสือชื่อว่า Kitab Pengetahuan Bahasa (ตำราความรู้เรื่องภาษา) แต่ไม่แล้วเสร็จ เป็นพจนานุกรมภาษามลายูเรียว-ลิงฆา ซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษามลายูเรียว-ลิงฆา


หนังสือ Salasilah Melayu dan Bugis (ประวัติศาสตร์มลายูและบูกิส) เป็นผลงานที่เขียนโดยราชาอาลีฮัจญี เชื่อกันว่าเขียนขึ้นในปี 1890 หนังสือเล่มนี้บรรยายถึงเจ้าผู้ครองเชื้อสายบูกิส ความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้พวกเขาถูกลดอำนาจทางการเมืองในรัฐจารีตนิยม และในหมู่เกาะเรียว หนังสือ Salasilah Melayu dan Bugis มีความสำคัญให้เห็นถึงมุมมองของบทบาทชาวบูกิสในประวัติศาสตร์มลายู


นอกจากนี้เขายังเขียนบทกวีที่เรียกว่า ซาอีร์ (Syair) เช่น Syair Siti Shianah Syair Suluh Pegawai Syair Hukum Nikah และ Syair Sultan Abdul Muluk ราชาอาลีฮัจญี ยังเขียนหนังสือ Mukaddimah fi Intizam (กฎหมายและการเมือง) นอกจากนั้นราชาอาลีฮัจญี ยังทำงานเป็นที่ปรึกษาของราชสำนักเรียว-ลิงฆาอีกด้วย เขาได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดเนเซียให้เป็นวีรบุรุษของชาติเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2004

Universitas Maritim Raja Ali Haji

มีมหาวิทยาลัย 2 แห่งที่นำชื่อราชาอาลีฮัจญี มาเป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ในจังหวัดหมู่เกาะเรียว มีมหาวิทยาลัยเอกชนที่จังหวัดเป็นเจ้าของ มีชื่อว่า มหาวิทยาลัยสมุทรรัฐราชาอาลีฮัจญี หรือ Universitas Maritim Raja Ali Haji และในจังหวัดเรียว บนเกาะสุมาตรา ทางจังหวัดเรียว มีการจัดตั้งมูลนิธิ ชื่อว่า มูลนิธิราชาอาลีฮัจญี และมูลนิธิราชาอาลีฮัจญี ได้จัดตั้งมาวิทยาลัยเอกชน ที่ถือว่าจังหวัดเป็นเจ้าของ มหาวิทยาลัยชื่อว่า มหาวิทยาลัยลันจังกูนิง (Universitas Lancang Kuning)


Tiada ulasan: