Isnin, 29 Julai 2024

หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่พิมพโดยชาวพื้นเมืองในสุมาตรา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe เป็นหนังสือพิมพ์รายวันในเมืองปาดัง ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 1911 หนังสือพิมพ์ฉบับนี้นำโดยนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) และจัดพิมพ์โดย Pertjetakan Orang Alam Minangkabau ในเขตปาซาฆาดัง (Pasa Gadang) เมืองปาดัง หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่พิมพ์โดยชาวอินโดเนเซียพื้นเมือง


หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe มีสี่หน้า โดยทั่วไปจะมีข่าวธุรกิจและการศึกษา นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาและเรื่องราวอื่นๆอีกด้วย ในตอนแรกหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe จะตีพิมพ์ทุกวันพุธและวันอาทิตย์ ในปี 1915 หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้รวมกิจการกับหนังสือพิมพ์ Soeara Ra'jat ซึ่งนำโดยดาโต๊ะมังกูตอ อาลาม (Datuk Mangkuto Alam) ซึ่งพิมพ์ในสถานที่พิมพ์เดียวกัน โดยยังคงใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จึงตีพิมพ์ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ วันศุกร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์


หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ประสบปัญหาหลังจากนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) เสียชีวิตในเดือนมิถุนายน 1921 โดยไม่ได้ตีพิมพ์เป็นรายวันอีกต่อไป แต่ตีพิมพ์ในวันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์แทน หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe หยุดตีพิมพ์ในปี 1926 หนังสือพิมพ์ Sinar Sumatra  เป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูของกลุ่มชาวจีนเปอรานักกัน ที่ตีพิมพ์ในเมืองปาดัง ตีพิมพ์ระหว่างปี 1905-1941 หรือปี 1942 ได้กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ไม่เคยกล่าวถึงเหตุผลการหยุดผลิตหนังสือพิมพ์


หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe มีส่วนสำคัญในการปลุกจิตสำนึกสังคมและมีอิทธิพลในโลกมลายูสมัยนั้น แม้ว่ากล่าวกันว่าเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน แต่ หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe จะตีพิมพ์เพียงสัปดาห์ละสามครั้ง ได้แก่ วันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์


เมื่อหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe มีการขยายตัว เจริญเติบโต ทางนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) บรรราธิการหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ก็ได้รับการกดดันจากเจ้าอาณานิคมฮอลันดา ทางเจ้าอาณานิคมฮอลันดากล่าวว่า Jangan sampai ada pihak lain yang kuat secara kapital (อย่าทำให้ฝ่ายอื่นเข้มแข็งในเรื่องทุน)  จนนำมาการปลดนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja)


เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับกรณี หนังสือพิมพ์ Neratja เมื่อมีการปลดหรือลาออกของ นายฮัจญีอาฆุส  สาเล็ม (H. Agus Salim) ที่มีความขัดแย้งภายในหนังสือพิมพ์ โดยหนังสือพิมพ์ Neratja เริ่มตีพิมพ์ในปี 1917 โดยทุนเจ้าอาณานิคม นายฮัจญีอาฆุส  สาเล็ม (H. Agus Salim) ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จึงใช้หนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงขององค์กร Serikat Islam ต่อมาเกิดความขัดแย้ง นายฮัจญีอาฆุส  สาเล็ม (H. Agus Salim) จึงลาออกจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์

            นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja)

สำหรับนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) เกิดใน เมืองโซโละ (Solok) สุมาตราตะวันตกในปี 1858- เสียชีวิตที่เมืองปาดังในปี 1921 เป็นนักข่าวชาวอินโดเนเซียและเป็นผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์ภาษามลายู เขายังเป็นบุคคลสำคัญตามจารีตประเพณีชาวมีนังกาเบา ที่โดดเด่นอีกด้วย ศาสตราจารย์ด้านกลุ่มชาติพันธุ์วิทยาชาวดัตช์ ชื่อ BJO Schrieke  เรียกว่านายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) ว่าเป็น "บิดาของนักข่าวภาษามลายู"


นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกสื่อมวลชนชาวพื้นเมือง  เขาเป็นผู้ก่อตั้งและตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาอินโดเนเซีย ขณะนั้นเรียกว่า ภาษามลายูหลายฉบับ ในปลายศตวรรษที่ 19 เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอินโดเนเซีย (ภาษามลายู) สองฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ Pelita Ketjil (ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1886) และหนังสือพิมพ์ Tjahaya Soematra (1897) ในปี 1901 นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) ได้ตีพิมพ์และเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ Warta Berita หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ฉบับแรกๆ ในอินโดเนเซียที่ใช้ภาษาอินโดเนเซีย ขณะนั้นเรียกว่า ภาษามลายู ซึ่งมีบรรณาธิการและจัดพิมพ์โดยชาวอินโดเนเซีย จากนั้นเขาก็เป็นบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ในเมืองปาดัง ในหนังสือพิมพ์เขียนว่า "หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์ในสื่อของชาวมีนังกาบาว" จากประโยคนี้ นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของชาวมีนังกาเบา ในการทำธุรกิจหนังสือพิมพ์และการพิมพ์ ซึ่งในขณะนั้นส่วนใหญ่ดำเนินการโดยชาวดัตช์ ในปี 1911 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe สำหรับผู้หญิงร่วมกับนางโรฮานา กุดดุส (Rohana Kudus)


นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) เป็นบุคคลที่สนใจต่อความก้าวหน้าและชะตากรรมของสังคมและบ้านเมืองของเขา ดังนั้นด้วยความคิดริเริ่มของเขาในปี 1888 เขาได้จัดตั้งองค์กรทางสังคมขึ้นมาเรียกว่า  Medan Keramean โดยก่อตั้งขึ้น และในปี 1911 เขาได้ก่อตั้ง  Perserikatan Orang Alam Minangkerbau ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนพัฒนาวัฒนธรรมมีนังกาเบา ในฐานะบุคคลที่มีบทบาทตามขารีตประเพณีมีนังกาเบา เขามักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลต่างๆ เช่น Ahmad Khatib Al-Minangkabaw และ Abdullah Ahmad รวมทั้ง Abdul Karim Amrullah บิดาของนักการศาสนานามอุโฆษ Hamka และในตอนปลายปี 1911 นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja)  ได้ก่อตั้งโรงพิมพ์ชื่อโรงพิมพ์ Snelpersdrukkerij Orang Alam Minangkabau ซึ่งพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาอินโดเนเซีย ขณะนั้นเรียกว่าภาษามลายูหลายฉบับ


หอสมุดแห่งชาติ กรุงจาการ์ตาจัดเก็บหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ฉบับไมโครฟิล์มตั้งแต่ปี 1915 ถึง 1926


Suryadi, Perempuan Minang: Matriarchs yang Berlayar di Arus Deras, Padang Ekspres, 25 November 2008


Suryadi, Syair Sunur: Teks dan Konteks "Autobiografi" Seorang Ulama Minangkabau Abad ke-19, Citra Budaya & PPIM, Padang, 2004.


Yuliandre Darwis,Sejarah Perkembangan Pers Minangkabau (1859-1945), Jakarta: Gramedia,2013.


Wahyu Wibowo, Menuju jurnalisme beretika: peran bahasa, bisnis, dan politik di era mondial. Jakarta: Penerbit Buku Kompas,2009.

Tiada ulasan: