Selasa, 30 Julai 2024

การกำเนิดของหนังสือพิมพ์ในอินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

หนังสือพิมพ์ Bataviasche Nouvelles  ตุลาคม 1744

ความต้องการที่จะพิมพ์หนังสือพิมพ์ในอินโดเนเซีย หรือหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์  (Dutch East Indies) ในขณะนั้น จริงๆ แล้วมีมานานแล้ว แต่รัฐบาลของ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie) เจ้าอาณานิคมฮอลันดาที่ปกครองอินโดเนเซีย  ขัดขวางอยู่เสมอ หลังจากที่กุสตาฟ วิลเล็ม บารอน ฟาน อิมฮอฟฟ์ (Gustaaf Willem baron van Imhoff) เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ หรือ Governor-General จึงอนุญาตให้หนังสือพิมพ์ "Bataviasche Nouvelles en Politique Raisonnementen" ได้รับการตีพิมพ์ ซึ่ง"Bataviasche Nouvelles en Politique Raisonnementen" แปลว่า "ข่าวการเมืองและเหตุผลของบาตาเวีย" เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1744


เมื่ออังกฤษเข้าควบคุมหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรืออินโดเนเซียในปัจจุบัน ในปี 1811 และในปี พ.ศ. 1812 ก็ได้มีการพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อว่า  "Java Government Gazzete" ในปี 1829 ก็ได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ชื่อ "Bataviasche Courant" ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "Javasche Courant" ซึ่งตีพิมพ์สามครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งมีเนื้อหาอย่างเป็นทางการ ประกาศและข้อบังคับและการตัดสินใจของผู้ปกครองเจ้าอาณานิคม

ในปี 1851 ก็ได้พิมพ์หนังสือพิมพ์ชื่อว่า "De Locomotief" พิมพ์ในเมืองเซมารัง หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์ต่อการปกครองเจ้าอาณานิคมและมีอิทธิพลอย่างมาก  ในศตวรรษที่ 19 เพื่อแข่งขันกับหนังสือพิมพ์ภาษาดัตช์ ได้เกิดหนังสือพิมพ์ภาษามลายูและภาษาชวาขึ้น แม้ว่าบรรณาธิการจะยังเป็นชาวดัตช์ก็ตาม เช่น หนังสือพิมพ์ "Bintang Timoer" (สุราบายา 1850) หนังสือพิมพ์ "Bromartani" (สุราการ์ตา 1855) หนังสือพิมพ์"Bianglala" ( บาตาเวีย 1867) และ หนังสือพิมพ์ Berita Betawie (บาตาเวีย 1874)


ในปี 1907 หนังสือพิมพ์ "Medan Prijaji" ได้รับการตีพิมพ์ในเมืองบันดุง ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกของสื่อระดับชาติ เนื่องจากได้รับการตีพิมพ์โดยผู้ประกอบการชนพื้นเมืองเป็นครั้งแรก ได้แก่ นายตีร์โต อาธี โซร์โย (Tirto Adhi Soerjo) เมื่อญี่ปุ่นสามารถชนะเนเธอร์แลนด์และยึดครองอินโดเนเซียในที่สุดในปี 1942 นโยบายด้านสื่อก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์ทั้งหมดที่เป็นชาวดัชต์และชาวจีนไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ หน่วยงานทหารของญี่ปุ่นได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ของตนเองจำนวนหนึ่งแทน

ในเวลานั้นมีหนังสือพิมพ์อยู่ห้าฉบับ ได้แก่หนังสือพิมพ์ Jawa Shinbun ซึ่งตีพิมพ์ในเกาะชวา หนังสือพิมพ์ Boernoe Barat Shinbun ในเกาะกาลิมันตัน หนังสือพิมพ์ Celebes Shinbun ในเกาะสุลาเวสี หนังสือพิมพ์  Sumtra Shinbun ในเกาะสุมาตรา และ หนังสือพิมพ์ Ceram Shinbun ในเกาะเซรัม  ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 เกิดบวนการทางการเมืองจากกลุ่มชาตินิยม ศาสนานิยม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ และฝ่ายการทหาร


ในช่วงเวลานี้ เหตุการณ์สำคัญหลายประการในประวัติศาสตร์ของสื่อมวลชนอินโดเนเซียได้ถือกำเนิดขึ้น เช่น LKBN Antara หรือ Lembaga Kantor Berita Nasional Antara  (สำนักข่าวแห่งชาติอันตารา) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1937 สถานีวิทยุสาธารณรัฐอินโดเนเซีย หรือ RRI เมื่อวันที่ 11 กันยายน 1945 และองค์กร  Indonesian Journalist Association (Persatuan Wartawan Indonesia - PWI) ในปี 1946 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้บุกเบิกวันสื่อมวลชนแห่งชาติ ต่อมาก็เกิดสถานีโทรทัศน์สาธารณรัฐอินโดเนเซีย หรือ Televisi Republik Indonesia (TVRI) ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลก็เกิดเมื่อปี 1962 เช่นกัน


เดือนกันยายนถึงสิ้นปี 1945 สื่อมวลชนระดับชาติมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยมีการพิมพ์หนังสือพิมพ์ "Soeara Merdeka" ในเมืองบันดุง และหนังสือพิมพ์ "Berita Indonesia" ในกรุงจาการ์ตา รวมถึงหนังสือพิมพ์อื่นๆ อีกสองสามฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์ "Merdeka" หนังสือพิมพ์ "Independence" หนังสือพิมพ์ "Indonesian News Bulletin” หนังสือพิมพ์ "Warta Indonesia" และหนังสือพิมพ์ "The Voice of Free Indonesia"


หนังสือพิมพ์ Bataviasche Nouvelles en Politique Raisonnemente หรือมักเรียกสั้น ๆ ว่า Bataviasche Nouvelles เป็นหนังสือพิมพ์สมัยใหม่ฉบับแรกที่ตีพิมพ์ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ ปัจจุบันคืออินโดเนเซีย


หนังสือพิมพ์ภาษาดัตช์ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1744 ในเมืองบาตาเวีย ปัจจุบันคือจาการ์ตา ซึ่งหมายความว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์ประมาณ 136 ปีหลังจากการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ Avisa Relation หรือ Zeitung ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของโลก ตีพิมพ์ในเมือง Wolfenbüttel ประเทศเยอรมันในปี 1609


เป็นสิ่งตีพิมพ์ทีริเริ่มอนุญาตโดยผู้ว่าการกุสตาฟ วิลเล็ม บารอน ฟาน อิมฮอฟฟ์ (Gustaaf Willem baron van Imhoff) หนังสือพิมพ์ Bataviasche Nouvelles en Politique Raisonnemente หยุดพิมพ์ในปี 1746 ตามคำสั่งของ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie) ที่ไม่ต้องการเห็นสื่อมวลชนพัฒนาขึ้นในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์เป็นรายสัปดาห์ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าอาณานิคมภายใต้ผู้ว่าการกุสตาฟ วิลเล็ม บารอน ฟาน อิมฮอฟฟ์ (Gustaaf Willem baron van Imhoff) ที่มีหัวแนวคิด "เสรีนิยม" ซึ่งอนุญาตตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์  1745 แม้ว่าจะมีการยื่นใบอนุญาตสำหรับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ในเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1744 และได้รับอนุมัติในเกือบหนึ่งปีต่อมา คือ เดือนกุมภาพันธ์ 1745 แสดงให้เห็นผู้ว่าการกุสตาฟ วิลเล็ม บารอน ฟาน อิมฮอฟฟ์ (Gustaaf Willem baron van Imhoff) ไม่เต็มใจที่จะอนุญาตจริงๆ


อย่างไรก็ตาม สภา 17 หรือ De Heeren Zeventien ซึ่งสภานี้ประกอบด้วยผู้อำนวยการจำนวน 17 คนของ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie) ที่เป็นตัวแทนของ 17 จังหวัดที่แตกต่างกัน จะควบคุมดูแลเขตการปกครองของเจ้าอาณานิคม วางระเบียบการค้ายในฮินเดียตะวันออกของดัตช์ มีสำนักงานใหญ่อยู่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไม่ชอบหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เพราะถือว่าเป็นอันตรายยิ่ง เนื้อหาของหนังสือพิมพ์นี้ส่วนใหญ่เป็นกฎระเบียบและข่าวการเดินเรือที่สำคัญ การแต่งตั้งและการเลิกจ้างเจ้าหน้าที่ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie) ตลอดจนรายงานเหตุการณ์ต่างๆบนเกาะชวา เกาะสุมาตรา ศรีลังกา แหลมกู๊ดโฮป (อัฟริกาใต้) และประเทศอื่นๆ ที่ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie) ดำเนินธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1746 ผู้ว่าการกุสตาฟ วิลเล็ม บารอน ฟาน อิมฮอฟฟ์ (Gustaaf Willem baron van Imhoff) ได้เพิกถอนใบอนุญาตตีพิมพ์อีกครั้ง


เห็นได้ชัดว่าการห้ามหนังสือพิมพ์ Bataviasche Nouvelles มีสาเหตุมาจากความกลัวของ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie)  ว่าคู่แข่งจะได้รับประโยชน์จากข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ทัศนคตินี้เคยแสดงให้เห็นในปี 1712 หรือ 32 ปีก่อนวันเกิดของหนังสือพิมพ์ Bataviasche Nouvelles ในเวลานั้นมีความพยายามในบาตาเวียในการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรจุข่าวในประเทศ ข่าวเรือ และอื่นๆ แต่ล้มเหลวเนื่องจากการต่อต้านจาก VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie)  แม้ว่าหนังสือพิมพ์ Bataviaasche Nouvelles จะมีอายุเพียง 16 เดือนและยุติการตีพิมพ์ประมาณ 63 ปี 5 เดือน แต่ในที่สุดก็สามารถตีพิมพ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 1809 เมื่อปรากฏตัวครั้งที่สองมีขนาดเล็กกว่าและมีเพียงโฆษณาเท่านั้น ชาวมลายูและชาวพื้นเมืองเรียกว่า Surat Lelang หรือข่าวการประมูล ชาวดัตช์เรียกว่า  VenduNieuws ในระหว่างปี 1776-1809 เท่านั้นที่มีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์อีกฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์ Het VenduNieuwus (ข่าวการประมูล) แต่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไม่มี "ข้อมูลภายในประเทศ" และถูกเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดมาก ใบอนุญาตการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ ได้ให้แก่นาย L. Dominicus ซึ่งเป็นช่างพิมพ์ในเมืองบาตาเวีย เนื่องจากจำเป็นต้องมีการตีพิมพ์การประมูลที่จัดขึ้นโดย VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie)  โฆษณาการประมูล ของ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie)   ได้รับการเผยแพร่ฟรี ในขณะที่ผู้ลงโฆษณารายอื่นต้องจ่าย


ในช่วงต้นเดือนมกราคม ผู้ว่าการของ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie) ที่ชื่อว่า Herman Willem Daendels ได้ใช้กฎระเบียบพิเศษที่มี 19 มาตราเพื่อเก็บภาษี และกำหนดให้บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Bataviaasche Nouvelles ใช้หนังสือพิมพ์ให้เป็นประโยชน์แก่ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie) ใส่ผลประโยชน์ของรัฐบาลในหนังสือพิมพ์ของตน และหนึ่งใน 19 มาตราดังกล่าว คือ  ผู้ว่าการ Herman Willem Daendels ได้เปลี่ยนชื่อ Bataviaasche Nouvelles เป็น Bataviaaschecoloniale Courant


อ้างอิง

David T. Hill, The Press in New Order Indonesia, University of Western Australia.1994.


Dari pers Hindia Belanda hingga Pers Nasional Indonesia, https://www.antaranews.com/.


Skripsi Perkembangan Pers Dalam Kaitannya Dengan Perkembangan Politik Di Semarang Tahun 1912-1930, Universitas Negeri Semarang, 2007.


Perkembangan Pers di Indonesia dari Masa ke Masa. https://www.kompas.com

Isnin, 29 Julai 2024

หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่พิมพโดยชาวพื้นเมืองในสุมาตรา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe เป็นหนังสือพิมพ์รายวันในเมืองปาดัง ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 1911 หนังสือพิมพ์ฉบับนี้นำโดยนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) และจัดพิมพ์โดย Pertjetakan Orang Alam Minangkabau ในเขตปาซาฆาดัง (Pasa Gadang) เมืองปาดัง หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวว่าเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่พิมพ์โดยชาวอินโดเนเซียพื้นเมือง


หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe มีสี่หน้า โดยทั่วไปจะมีข่าวธุรกิจและการศึกษา นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาและเรื่องราวอื่นๆอีกด้วย ในตอนแรกหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe จะตีพิมพ์ทุกวันพุธและวันอาทิตย์ ในปี 1915 หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้รวมกิจการกับหนังสือพิมพ์ Soeara Ra'jat ซึ่งนำโดยดาโต๊ะมังกูตอ อาลาม (Datuk Mangkuto Alam) ซึ่งพิมพ์ในสถานที่พิมพ์เดียวกัน โดยยังคงใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จึงตีพิมพ์ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ วันศุกร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์


หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ประสบปัญหาหลังจากนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) เสียชีวิตในเดือนมิถุนายน 1921 โดยไม่ได้ตีพิมพ์เป็นรายวันอีกต่อไป แต่ตีพิมพ์ในวันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์แทน หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe หยุดตีพิมพ์ในปี 1926 หนังสือพิมพ์ Sinar Sumatra  เป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูของกลุ่มชาวจีนเปอรานักกัน ที่ตีพิมพ์ในเมืองปาดัง ตีพิมพ์ระหว่างปี 1905-1941 หรือปี 1942 ได้กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ไม่เคยกล่าวถึงเหตุผลการหยุดผลิตหนังสือพิมพ์


หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe มีส่วนสำคัญในการปลุกจิตสำนึกสังคมและมีอิทธิพลในโลกมลายูสมัยนั้น แม้ว่ากล่าวกันว่าเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน แต่ หนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe จะตีพิมพ์เพียงสัปดาห์ละสามครั้ง ได้แก่ วันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์


เมื่อหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe มีการขยายตัว เจริญเติบโต ทางนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) บรรราธิการหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ก็ได้รับการกดดันจากเจ้าอาณานิคมฮอลันดา ทางเจ้าอาณานิคมฮอลันดากล่าวว่า Jangan sampai ada pihak lain yang kuat secara kapital (อย่าทำให้ฝ่ายอื่นเข้มแข็งในเรื่องทุน)  จนนำมาการปลดนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja)


เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับกรณี หนังสือพิมพ์ Neratja เมื่อมีการปลดหรือลาออกของ นายฮัจญีอาฆุส  สาเล็ม (H. Agus Salim) ที่มีความขัดแย้งภายในหนังสือพิมพ์ โดยหนังสือพิมพ์ Neratja เริ่มตีพิมพ์ในปี 1917 โดยทุนเจ้าอาณานิคม นายฮัจญีอาฆุส  สาเล็ม (H. Agus Salim) ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จึงใช้หนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงขององค์กร Serikat Islam ต่อมาเกิดความขัดแย้ง นายฮัจญีอาฆุส  สาเล็ม (H. Agus Salim) จึงลาออกจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์

            นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja)

สำหรับนายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) เกิดใน เมืองโซโละ (Solok) สุมาตราตะวันตกในปี 1858- เสียชีวิตที่เมืองปาดังในปี 1921 เป็นนักข่าวชาวอินโดเนเซียและเป็นผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์ภาษามลายู เขายังเป็นบุคคลสำคัญตามจารีตประเพณีชาวมีนังกาเบา ที่โดดเด่นอีกด้วย ศาสตราจารย์ด้านกลุ่มชาติพันธุ์วิทยาชาวดัตช์ ชื่อ BJO Schrieke  เรียกว่านายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) ว่าเป็น "บิดาของนักข่าวภาษามลายู"


นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกสื่อมวลชนชาวพื้นเมือง  เขาเป็นผู้ก่อตั้งและตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาอินโดเนเซีย ขณะนั้นเรียกว่า ภาษามลายูหลายฉบับ ในปลายศตวรรษที่ 19 เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษาอินโดเนเซีย (ภาษามลายู) สองฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ Pelita Ketjil (ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1886) และหนังสือพิมพ์ Tjahaya Soematra (1897) ในปี 1901 นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) ได้ตีพิมพ์และเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ Warta Berita หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ฉบับแรกๆ ในอินโดเนเซียที่ใช้ภาษาอินโดเนเซีย ขณะนั้นเรียกว่า ภาษามลายู ซึ่งมีบรรณาธิการและจัดพิมพ์โดยชาวอินโดเนเซีย จากนั้นเขาก็เป็นบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ในเมืองปาดัง ในหนังสือพิมพ์เขียนว่า "หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ตีพิมพ์ในสื่อของชาวมีนังกาบาว" จากประโยคนี้ นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของชาวมีนังกาเบา ในการทำธุรกิจหนังสือพิมพ์และการพิมพ์ ซึ่งในขณะนั้นส่วนใหญ่ดำเนินการโดยชาวดัตช์ ในปี 1911 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe สำหรับผู้หญิงร่วมกับนางโรฮานา กุดดุส (Rohana Kudus)


นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja) เป็นบุคคลที่สนใจต่อความก้าวหน้าและชะตากรรมของสังคมและบ้านเมืองของเขา ดังนั้นด้วยความคิดริเริ่มของเขาในปี 1888 เขาได้จัดตั้งองค์กรทางสังคมขึ้นมาเรียกว่า  Medan Keramean โดยก่อตั้งขึ้น และในปี 1911 เขาได้ก่อตั้ง  Perserikatan Orang Alam Minangkerbau ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนพัฒนาวัฒนธรรมมีนังกาเบา ในฐานะบุคคลที่มีบทบาทตามขารีตประเพณีมีนังกาเบา เขามักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคคลต่างๆ เช่น Ahmad Khatib Al-Minangkabaw และ Abdullah Ahmad รวมทั้ง Abdul Karim Amrullah บิดาของนักการศาสนานามอุโฆษ Hamka และในตอนปลายปี 1911 นายมะห์ยุดดิน ดาโต๊ะซูตัน มหาราชา (Datuk Sutan Maharadja)  ได้ก่อตั้งโรงพิมพ์ชื่อโรงพิมพ์ Snelpersdrukkerij Orang Alam Minangkabau ซึ่งพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาอินโดเนเซีย ขณะนั้นเรียกว่าภาษามลายูหลายฉบับ


หอสมุดแห่งชาติ กรุงจาการ์ตาจัดเก็บหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ฉบับไมโครฟิล์มตั้งแต่ปี 1915 ถึง 1926


Suryadi, Perempuan Minang: Matriarchs yang Berlayar di Arus Deras, Padang Ekspres, 25 November 2008


Suryadi, Syair Sunur: Teks dan Konteks "Autobiografi" Seorang Ulama Minangkabau Abad ke-19, Citra Budaya & PPIM, Padang, 2004.


Yuliandre Darwis,Sejarah Perkembangan Pers Minangkabau (1859-1945), Jakarta: Gramedia,2013.


Wahyu Wibowo, Menuju jurnalisme beretika: peran bahasa, bisnis, dan politik di era mondial. Jakarta: Penerbit Buku Kompas,2009.

Isnin, 22 Julai 2024

Soenting Melajoe หนังสือพิมพ์สตรีภาษามลายูฉบับแรกในสุมาตรา เมื่อ 100 กว่าปีก่อน

โดย นิอับดุรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

หนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe หรือในการเขียนแบบปัจจุบันคือ Sunting Melayu เป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูที่ตีพิมพ์ในเมืองปาดัง สุมาตราตะวันตก จากปี 1912-1921 มีชื่อเต็มว่า Soenting Melajoe: soerat chabar perempoean di Alam Minang Kabau (Soenting Melajoe เป็นหนังสือพิมพ์เพื่อสตรีในดินแดนมีนังกาเบา) มีบรรณาธิการชื่อ รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านการศึกษาสตรียุคแรก และเป็นหนังสือพิมพ์สำหรับผู้หญิงฉบับแรกที่ตีพิมพ์ในสุมาตราตะวันตก


รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) เกิดเมื่อ 20 ธันวาคม 1884 เสียชีวิตเมื่อ 17 สิงหาคม 1972 เธอได้แต่งงานในปี 1908 ขณะมีอายุ 24 ปี กับนายอับดุลกุดดุส (Abdoel Koeddoes) เธอจึงรู้จักในนามของรูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) โดยนายอับดุลกุดดุส (Abdoel Koeddoes) เป็นผู้สนับสนุนภรรยาในการพัฒนาการศึกษาของสตรี

รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) 

รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) เป็นลูกสาวร่วมบิดากับนายซูตัน ซาห์รีร์ (Sutan Sjahrir) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินโดเนเซีย ระหว่างปี 1945-1947  และเธอเป็นลูกพี่ลูกน้องของอาฆุส สาลิม (Agus Salim) ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชที่มีชื่อเสียงของอินโดเนเซีย และเธอเป็นน้าสาวของนายคัยริล อันวาร์ (Chairil Anwar) นักกวีนามอุโฆษของอินโดเนเซีย


ในเดือนกุมภาพันธ์ 1911 รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) ตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียนฝึกสอนสำหรับผู้หญิง ชื่อว่า Kerajinan Amai Setia โดยเป็นโรงเรียนที่มุ่งเป้าไปที่การสอนงานฝีมือและทักษะสำหรับเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะ นอกเหนือจากหน้าที่ในบ้านทั่วไป เช่นเดียวกับการอ่านการเขียนภาษามลายูอักขระยาวีและอักขระละติน ในช่วงก่อตั้งโรงเรียน เธอเผชิญกับการต่อต้านจากแหล่งต่างๆ มากมายที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของสตรี และในที่สุดโรงเรียนที่เธอก่อตั้งก็รับนักเรียนได้ประมาณหกสิบคน

นาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja 

หนังสือพิมพ์  Soenting Melajoe เปิดตัวเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1912 โดยนาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja ปัญญาชนชาวมีนังกาเบา และเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe ซึ่งคิดว่าควรมีหนังสือพิมพ์แนวปฏิรูปมุ่งเป้าไปที่ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงในเมองปาดัง  ตอนนั้นมีหนังสือพิมพ์อิสระเพียงไม่กี่ฉบับที่พิมพ์โดยชาวอินโดเนเซียและมีเป้าหมายผู้อ่านที่เป็นสตรี เช่น หนังสือพิมพ์ Tiong Hoa Wi Sien Po ของ Lim Titie Nio ซึ่งเปิดตัวในปี 1906 หรือ Poetri Hindia ของ Tirto Adhi Soerjo เปิดตัวในปี 1908  โดยหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับพิมพ์ที่เมือง Buitenzorg หรือเมืองโบโฆร์ในปัจจุบัน จังหวัดชวาตะวันตก


นาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja ได้ยินเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการศึกษาของรูฮานา กุดดุส ผู้สร้างโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จและทันสมัยในเมืองโกตาฆาดัง (Kota Gadang) ใกล้เมืองบูกิตติงฆี


เมื่อเธอได้ติดต่อกับนาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja เขาก็ตกลงที่จะผลิตหนังสือพิมพ์สำหรับสตรี โดยมีเธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าบรรณาธิการ โดยมีลูกสาวของนาย Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja ที่ชื่อว่า Zoebaidah Ratna Djoewita จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของรูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) ทั้งสองคนยังคงเป็นบรรณาธิการร่วมในทศวรรษถัดมา แม้ว่ารูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) จะโดดเด่นกว่าก็ตาม เมื่อเปิดตัวหนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe ทางรูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) กล่าวว่า จะมุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงระดับการศึกษาของผู้หญิงอินโดเนเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่สามารถอ่านภาษาดัตช์ได้ และมีสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่เป็นภาษามลายูค่อนข้างน้อย

ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe  ได้กล่าวถึงประเด็นทางสังคมในยุคนั้น รวมถึงลัทธิอนุรักษนิยม การมีภรรยาหลายคน การหย่าร้าง และการศึกษาของเด็กผู้หญิง หนังสือพิมพ์ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในสมัยนั้น ที่ผู้มีส่วนสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง หนังสือพิมพ์ได้สร้างเวทีที่ค่อนข้างเปิดกว้างและเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ ผู้มีส่วนร่วมหลายคนเป็นภรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือขุนนาง ในที่สุด การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสมาคมการศึกษามากขึ้น เช่นเดียวกับที่รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) สร้างขึ้นในปี 1911 และนักเรียนจากโรงเรียนและชมรมที่อยู่ห่างไกลเหล่านั้นก็กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่ร่วมเขียนบทกวีและบทความให้กับหนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe  เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนผู้อ่านก็ขยายออกไปนอกจากสุมาตราตะวันตกไปยังเมืองบันดุง เมืองเมดาน เมืองเบงกูลู และส่วนอื่นๆ ของหมู่เกาะ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงจ้างคนเพื่อรายงานข่าวบางส่วนจากเมืองอื่นๆ โดยให้เป็นบรรณาธิการร่วม รวมถึงซีตีโนรมะห์ (Sitti Noermah) จากเมืองปาดัง และ อัมนะห์ อับดุลการิม (Amna bint Abdul Karim) จากเมืองเบ็งกูลู ในปี 1917 และซีตียาตียะห์ ปาซาร์ โยฮาร์ (Sitti Djatiah Pasar Djohar) จากเมืองตายูตานัม (Kayu Tanam) ในปี 1919


แม้จะได้รับความนิยมมาหลายสิบปี Soenting Melajoe ก็ประสบปัญหาในปี 1921 เนื่องจากถูกผูกติดอยู่กับการสนับสนุนของ Soetan Maharadja และหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe อีกฉบับของเขา ในเดือนมกราคม 1921 รูฮานา กุดดุส (Ruhana Kuddus) ลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ และ Mahyuddin Datuk Sutan Maharadja ได้แต่งตั้งลูกสาวของเขาที่ชื่อ Retna Tenoen เป็นบรรณาธิการคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหนังสือพิมพ์ Oetoesan Melajoe และหนังสือพิมพ์ Soenting Melajoe หยุดตีพิมพ์ในเดือนมกราคม 1921

Rabu, 17 Julai 2024

ภาษาอินโดเนเซีย มีรากเหง้ามาจากภาษามลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ภาษาอินโดเนเซียและภาษามลายูมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร กลุ่มวิชาการบางกลุ่มในอินโดเนเซียกล่าวว่าภาษาอินโดเนเซียไม่ได้มาจากภาษามลายู ในทางกลับกัน ก็มีคนคัดค้านที่มีการปฏิเสธความจริงที่ว่าภาษาอินโดนีเซียไม่ได้มาจากภาษามลายู แต่ยืนยันว่าภาษาอินโดนีเซียมาจากภาษามลายูแน่นอน ในที่นี่ผู้เขียนจะนำเสนอบทความเรื่อง "ภาษาอินโดเนเซียมาจากไหน" บทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงานการศึกษามัธยมต้น กระทรวงศึกษาธิการสาธารณรัฐอินโดเนเซีย หรือ Directorate of Junior High Schools, Directorate General of Early Childhood Education, Basic Education and Secondary Education, Ministry of Education, Culture, Research and Technology, Republic of Indonesia ซึ่งในเนื้อหาบทความ "ภาษาอินโดเนเซียมาจากไหน" มีดังนี้


ภาษาชาวอินโดเนเซียเป็นภาษาประจำชาติของประเทศอินโดเนเซีย เพื่อนนักเรียนมัธยมต้นทั้งหลาย อาจรู้จักภาษาอินโดเนเซียมาตั้งแต่เด็ก อย่างไรก็ตาม เพื่อนนักเรียนมัธยมต้นทั้งหลาย รู้ต้นกำเนิดของภาษาอินโดเนเซียหรือไม่? สำหรับในเดือนวรรณกรรมและภาษานี้ คณะกรรมการของโรงเรียนมัธยมต้นจะหารือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โดยย่อของภาษาอินโดเนเซียในฐานะภาษาประจำชาติ อ่านให้ดีนะครับ

ภาษาอินโดเนเซียเกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1928 ในขณะนั้น เยาวชนจากมุมต่างๆ ของหมู่เกาะมารวมตัวกันในการประชุมเยาวชนและให้คำมั่นสัญญา


(1) รวมเลือดเนื้อเป็นหนึ่ง เพื่อแผ่นดินอินโดเนเซีย


(2) เป็นชาติหนึ่งเดียว นั้นคือชาติอินโดเนเซีย และ


(3) เชิดชูภาษาแห่งความสามัคคี นั้นคือภาษาอินโดนีเซีย คำมั่นสัญญาของเยาวชนนี้เรียกว่าคำมั่นสัญญาเยาวชน (Sumpah Pemuda)


องค์ประกอบที่สามของคำมั่นสัญญาเยาวชนคือคำแถลงความมุ่งมั่นว่าภาษาอินโดเนเซีย เป็นภาษาแห่งความสามัคคีของชาติอินโดเนเซีย ในปี 1928 ภาษาอินโดเนเซียได้รับการรับรองว่าเป็นภาษาประจำชาติ


ภาษาอินโดเนเซียได้รับการประกาศให้เป็นภาษาประจำชาติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 1945 เนื่องจากในขณะนั้นรัฐธรรมนูญ 1945 ได้รับการรับรองเป็นรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รัฐธรรมนูญ ปี 1945 ระบุว่าภาษาประจำชาติเป็นภาษาอินโดเนเซีย (Bab XV, Pasal 36)


บทสรุปของการประชุมด้านภาษาที่เรียกว่า Kongres Bahasa Indonesia ครั้งที่ 2 ในปี 1954 ในเมืองเมดาน เกาะสุมาตราเหนือ รวมถึงผลสรุปข้ออื่นๆ อีกด้วย


ระบุว่าภาษาชาวอินโดเนเซียมาจากภาษามลายู

ภาษาอินโดเนเซียเติบโตและพัฒนามาจากภาษามลายู ตั้งแต่สมัยโบราณได้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาในการสื่อสาร (ภาษากลาง) ไม่เพียงแต่ในหมู่เกาะมลายูเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมดด้วย


ภาษามลายูเริ่มใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 หลักฐานที่ระบุว่ามีการใช้ภาษามลายูคือการค้นพบศิลาจารึกในเกอดุกันบูกิต (Kedukan Bukit) ปี 683 (เมืองปาเล็มบัง), ศิลาจารึกตาลังตูวอ (Talang Tuwo) ปี 684 (เมืองปาเล็มบัง), ศิลาจารึกโกตากาบูร์ (Kota Kapur) ปี 686 (เมืองบังกาตะวันตก) และศิลาจารึกการังบราฮี (Karang Brahi) ปี 688 (เมืองจัมบี) จารึกเขียนด้วยอักษรปรานาฆารี (Aksara Pranagari) ในภาษามลายูเก่า ภาษามลายูเก่าไม่ได้ใช้เฉพาะในสมัยศรีวิชัยเท่านั้น เพราะในชวากลาง (กันดาซูลี) พบศิลาจารึก ปี 832 ด้วย และในโบโกร์พบศิลาจารึก ปี 942 ซึ่งใช้ภาษามลยูด้วย


ในสมัยศรีวิชัย ภาษามลายูถูกใช้เป็นภาษาวัฒนธรรม ได้แก่ ภาษาตำราทางพุทธศาสนา ภาษามลายูยังใช้เป็นภาษาในการสื่อสารระหว่างชนเผ่าในหมู่เกาะและเป็นภาษาทางการค้าทั้งเป็นภาษาระหว่างชนเผ่าในหมู่เกาะและเป็นภาษาที่ใช้โดยพ่อค้าที่มาจากนอกหมู่เกาะมลายูอีกด้วย


ข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์จีน พระอี้จิ้ง (I-Tsing)  ซึ่งศึกษาพุทธศาสนาในศรีวิชัย กล่าวไว้ว่า ในศรีวิชัยมีภาษาหนึ่งเรียกว่า ภาษา Koen-louen (I-Tsing:63,159) ภาษา Kou-luen (I-Tsing:183) ภาษา K’ouen-louen (Ferrand, 1919) ภาษา Kw’enlun (Alisjahbana, 1971:1089) ภาษา Kun’lun (Parnikel, 1977:91) ภาษา K’un-lun (Prentice, 1078:19) ซึ่งใช้พร้อมกับภาษาสันสกฤต ความหมายของภาษา Kou-luen คือภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร (ภาษากลาง) ในหมู่เกาะมลายู ได้แก่ ภาษามลายู


การพัฒนาการและการขยายของภาษามลายูปรากฏชัดเจนมากขึ้นจากร่องรอยของอาณาจักรอิสลามที่ยังหลงเหลืออยู่ ทั้งในรูปของศิลาจารึก เช่น คำจารึกบนหลุมฝังศพในเมือง Minye Tujuh อาเจะห์ ปี 1380 ตลอดจนผลงานวรรณกรรม ( ศตวรรษที่ 16 และ ศตวรรษ 17) เช่น บทกวีประเภทซาอีร์ขของ ฮัมซะห์ ฟันซูริ ตำนานบรรดาราชาแห่งรัฐปาไซ  ประวัติศาสตร์มลายู หนังสือ Tajussalatin และหนังสือ Bustanussalatin


ภาษามลายูแพร่กระจายไปยังพื้นที่ห่างไกลของหมู่เกาะมลายูพร้อมกับการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในหมู่เกาะมลายู ชาวหมู่เกาะยอมรับภาษามลายูอย่างง่ายดายว่าเป็นภาษาในการสื่อสารระหว่างเกาะ ระหว่างชนเผ่า ระหว่างพ่อค้า ระหว่างประเทศ และระหว่างรัฐ เนื่องจากภาษามลายูไม่มีการจัดระดับของผู้พูด (ภาษาชวา มีการจัดระดับของผู้พูด ผู้น้อย ผู้มีอายุ คนทัวไป คนชนชั้นสูง จะใช้คำที่แตกต่างกัน แม้มีความหมายเดียวกัน)


ภาษามลายูเป็นภาษาพูดทั่วทุกแห่งในหมู่เกาะมลายู และมีการพัฒนาและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ภาษามลายูที่ใช้ในภูมิภาคหมู่เกาะได้รับอิทธิพลจากรูปแบบวัฒนธรรมของภูมิภาค ภาษามลายูรับคำศัพท์จากภาษาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาสันสกฤต ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาหรับ และภาษาทางยุโรป ในการพัฒนา ภาษามลายูมีรูปแบบและภาษาถิ่นที่หลากหลาย


การพัฒนาภาษามลายูในหมู่เกาะมลายูมีอิทธิพลและสร้างความรู้สึกเป็นพี่น้องและความสามัคคีของประเทศอินโดเนเซีย การสื่อสารระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นใช้ภาษามลายู เยาวชนชาวอินโดเนเซียที่เป็นสมาชิกของกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่างตั้งใจยกระดับภาษามลายูเป็นภาษาอินโดเนเซีย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภาษาแห่งความสามัคคีสำหรับชาติอินโดนีเซียทั้งหมด (Sumpah Pemuda 28 ตุลาคม 1928)

การตื่นตัวในระดับชาติได้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วของภาษาอินโดเนเซีย บทบาทของกิจกรรมทางการเมือง การค้า หนังสือพิมพ์และนิตยสารมีขนาดใหญ่มากในการปรับปรุงภาษาอินโดเนเซียให้ทันสมัย การประกาศเอกราชของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945 ได้ยืนยันจุดยืนและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของอินโดเนเซีย ในฐานะภาษาอินโดเนเซีย เป็นภาษาประจำชาติ ปัจจุบันภาษาอินโดเนเซียถูกใช้ในสังคมอินโดนีเซียหลายระดับ ทั้งในระดับกลางและระดับภูมิภาค


นั่นเป็นประวัติโดยย่อของการเดินทางของภาษาอินโดเนเซีย ซึ่งปัจจุบันได้รับการยืนยันว่าเป็นภาษาประจำชาติที่รวมชาติอินโดเนเซียทั้งหมดเข้าด้วยกัน เรามาร่วมกันจัดลำดับความสำคัญในการใช้ภาษาอินโดเนเซีย อนุรักษ์ภาษาในภูมิภาคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอันยาวนานของหมู่เกาะ และอย่าลืมที่จะศึกษาภาษาต่างประเทศด้วย


อ้างอิง

http://repositori.kemdikbud.go.id/3123/1/Masa%20masa%20awal%20bahasa%20indonesia.pdf


https://kantorbahasabengkulu.kemdikbud.go.id/sekilas-tentang-sejarah-bahasa-indonesia/ 





 

Jumaat, 12 Julai 2024

“มลายู” การตีความแบบ “ชาติพันธุ์” หรือ Ethnicity

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า การตีความคำว่า “มลายู” มีการตีความได้ 2 แบบ คือ

1. การตีความคำว่า “มลายู” ตามหลัก”ชนชาติ” หรือ “Race” หรือในภาษามลายูเรียกว่า “Ras” หรือว่า “Rumpun” เป็นการตีความอย่างกว้าง และ

2. การตีความคำว่า “มลายู” ตามหลัก “ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” ในภาษามลายูเรียกว่า “Etnik”


สำหรับการตีความคำว่า “มลายู” ตามหลัก”ชนชาติ” หรือ “Race” นั้นได้เขียนแล้วเมื่อคราวก่อน ดังนั้นในครั้งนี้ จะมากล่าวถึงการตีความคำว่า “มลายู” ตามหลัก”ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” ในภาษามลายูเรียกว่า “Etnik” ซึ่งเป็นการตีความอย่างแคบ  ด้วยคำว่า “มลายู” มี 2 สถานะ คือ ชนชาติ หรือ Ras และอีกสถานะหนึ่ง คือ ชาติพันธุ์ หรือ Etnik  ในชนชาติหนึ่งๆ จะมีส่วนย่อย คือ ชาติพันธุ์  เช่น ในชนชาติจีน ก็จะมีส่วนย่อย เป็น จีนฮกเกี้ยน จีนแต้จี๋ว จีนแขก และจีนอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกัน ในชนชาติมลายู ก็จะมีชาติพันธุ์มลายู ชาติพันธุ์มีนังกาเบา ชาติพันธุ์บูกิส และอื่นๆ  เพียงชนชาติมลายู มีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ด้วยบางชาติพันธุ์ ไม่ยอมรับว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชนชาติมลายู  สิ่งนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นกับมลายูเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็เกิดขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างกลุ่มชาติพันธุ์บาตักกาโร ก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์บาตักอื่นๆ เช่นชาติพันธุ์บาตักกาโร หรือกลุ่มชาติพันธุ์มันไดลิง ก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์บาตัก  สิ่งนี้อาจเกิดจากกระบวนการสร้างความแตกแยกก็เป็นไป 

แม้ในอดีตก่อนการจัดตั้งประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย ก็มีการยอมรับว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นหมู่กะมลายู หรือ Malay Archipelago ตามที่ นาย Alfred Russel Wallace  ได้เขียนหนังสือสำรวจหมู่กะมลายู ภายใต้ชื่อ Malay Archipelago โดยจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ปี 1898 และเมื่อครั้งมีการจัดตั้งองค์กร Maphilindo – Malaya-Phillipines-Indonesia ในสนธิสัญญาที่ยื่นให้องค์การสหประชาชาติ ก็บันทึกไว้ว่าเพื่อรวมตัวใน Malay Region งนั้น ถือได้ว่า ในส่วนของอินโดเนเซียก็ยอมรับในคำว่า Malay Region และปัจจุบันชาวอินโดเนเซียบางส่วน แม้แต่ระดับสูงบางคนของประเทศ ก็ไม่ยอมรับว่า ภาษาอินโดเนเซีย มาจากภาษามลายู แม้ว่า การประชุมด้านภาษาของอินโดเนเซีย ที่เรียกว่า  Kongres Bahasa Indonesia II ปี 1954 ที่เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ก็มีข้อสรุปว่า menyatakan bahwa bahasa Indonesia berasal dari bahasa Melayu (กล่าวได้ว่า ภาษาอินโดเนเซียมีรากเหง้ามาจากภาษามลายู) และมีหลักฐานหนังสือที่ใช้ในการเรียน การสอนในอดีตของอินโดเนเซีย ก็เรียกว่า ภาษามลายู แต่ชาวอินโดเนเซีย บางส่วนโดยเฉพาะบนเกาะชวา ก็ยังไม่ยอมรับวา ภาษาอินโดเนเซีย มาจากภาษามลายู


ครั้งนี้จะกล่าวถึงการตีความคำว่า “มลายู” ตามหลัก“ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” ในภาษามลายูเรียกว่า “Etnik” ก่อนอื่นขอกล่าวถึงคำว่า “ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” หรือ “Etnik”

ศาสตราจาร์ ดร. Koentjaraningrat ได้กล่าวไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า Manusia dan Kebudayaan di Indonesia มีความว่า


ชาติพันธุ์ เป็นหน่วยทางสังคมที่สามารถแยกแยะได้จากหน่วยอื่น ๆ ตามรากเหง้าและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะภาษา กล่าวอีกนัยหนึ่งชาติพันธุ์คือกลุ่มมนุษย์ที่ถูกผูกมัดด้วยจิตสํานึกและอัตลักษณ์นี้มักจะเข้มแข็งขึ้นจากความเป็นเอกภาพของภาษา ซึ่งจากความเห็นข้างต้นจะเห็นได้ว่าชาติพันธุ์ถูกกําหนดโดยการดํารงอยู่ของจิตสํานึก กลุ่มการรับรู้ถึงความสามัคคีทางวัฒนธรรมและความคล้ายคลึงกันของต้นกําเนิด

ดร. Mohd. Hafid Effendy กล่าวไว้ในหนังสือชื่อว่า Teori dan Metode Kajian Budaya Etnik Madura กล่าวไว้ว่า Ethnic (ชาติพันธุ์) มาจากคำในภาษากรีก ว่า ethnos หมายถึงบางสิ่งที่รวมกัน เช่น ทหารหรือผึ้ง ดังนั้น

ชาติพันธุ์สะท้อนถึงอัตลักษณ์กลุ่มมนุษย์ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ เริ่มจากพันธุกรรม ภาษา ศาสนา ไปจนถึงองค์ประกอบทางวัฒนธรรมอื่นๆ

ชาติพันธุ์คือกลุ่มทางสังคมที่มีเอกลักษณ์ร่วมกันตามองค์ประกอบบางประการ เช่น ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา หรือต้นกำเนิดทางภูมิศาสตร์ สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์มักจะรู้สึกว่าพวกเขามีความคล้ายคลึงและมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกลุ่มของตน


ดังนั้นประเทศอินโดเนเซียเอง ที่มีประชากรราว 270 ล้านคน เมื่อแยกตาม “ชาติพันธุ์” ก็จะทำให้เกิดการกระจายเป็นส่วนย่อยต่างๆ มีการสำรวจเมื่อปี (สำรวจปี 2010 ) คือ

ชาติพันธุ์ชวา       40.1 %

ชาติพันธุ์ซุนดา     15.5 %

ชาติพันธุ์มลายู      3.7 %

ชาติพันธุ์บาตัก      3.6 %

ชาติพันธุ์มาดูรา     3 %

ชาติพันธุ์เบอตาวี    2.9 %

ชาติพันธุ์มีนังกาเบา 2.7 %

ชาติพันธุ์บูกิส       2.7 %,

ชาติพันธุ์บันเต็น    2 %,

ชาติพันธุ์บันจาร์    1.7 %

ชาติพันธุ์บาหลี      1.7 %

ชาติพันธุ์อาเจะห์    1.4 %

ชาติพันธุ์ดายัก      1.4 %

ชาติพันธุ์ซาซัก      1.3 %

ชาติพันธุ์จีน         1.2 %

ชาติพันธุ์อื่นๆ        15 %


และประเทศอินโดเนเซีย เมื่อการตีความคำว่า “มลายู” ตามหลัก “ชาติพันธุ์” หรือ “Ethnicity” แล้ว จากการสำรวจในปี 2010 ก็จะได้ประชากรมลายูในประเทศอินโดเนเซีย จำนวน 8,753,791 คน


โดยแบ่งประชากรชาติพันธุ์มลายูที่ตั้งถิ่นฐานตามจังหวัดต่างๆของประเทศอินโดเนเซีย ได้ดังนี้

    จังหวัดสุมาตราใต้            3,139,000 คน

     จังหวัดเรียว                 2,880,240 คน

     จังหวัดกาลีมันตันตะวันตก 1,259,890 คน

     จังหวัดบังกาเบอลีตง          936,000 คน

     จังหวัดจัมบี                    914,660 คน

     จังหวัดหมู่เกาะเรียว          600,108 คน

     จังหวัดสุมาตราเหนือ          582,100 คน

     จังหวัดลัมปุง                  269,240 คน

     จังหวัดชวาตะวันตก           190,224 คน

     กรุงจาการ์ตา                  165,039 คน

     จังหวัดเบ็งกูลู                 125,120 คน

     จังหวัดกาลีมันตันกลาง         87,222 คน

     จังหวัดกาลีมันตันตะวันออก    84,468 คน

     จังหวัดกาลีมันตันเหนือ        64,881 คน


นอกจากนั้น ในประเทศอินโดเนเซียยังมีชาวมลายูกลุ่มน้อยที่อยู่ในสถานที่ต่างๆ และมีบางกลุ่มที่มีชาติพันธุ์ไม่ใช่มลายู แต่มีการรับวัฒนธรรมมลายู มาใช้ในชีวิตประจำวัน และยอมรับภาษามลายูเป็นภาษาประจำวัน เช่น


มลายูบูกิส       เป็นชาวบูกิสที่ผสมผสานกับชาวมลายู มีถิ่นฐานอยู่ในเขตมัมปาวะห์ จังหวัดกาลีมันตันตะวันตก บริเวณเรียว-ลิงฆา จังหวัดหมู่เกาะเรียว


มลายูชวา       เป็นชาวชวาที่ผสมผสานกับชาวมลายู มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองปาเล็มบัง  จังหวัดสุมาตราใต้   


มลายูโลโลอัน   เป็นกลุ่มชาวมลายูที่มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่หนึ่งของจังหวัดบาหลี


มลายูมีนังกาเบา   เป็นชาวมีนังกาเบาที่ผสมผสานกับชาวมลายู มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองเซียะ จังหวัดเรียว


มลายูลอมบอก     เมืองมาตาราม    จังหวัดนูซาเต็งการาตะวันตก


มลายูตาเมียง  เป็นกลุ่มชาวมลายูที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของในอำเภอตาเมียง จังหวัดอาเจะห์ดารุสสาลาม   โดยอำเภอตาเมียง มีประชากรประมาณ 3 แสนคน ในอดีตมี 4 รัฐมลายูในสมัยอาณานิคมยุคฮอลันดาปกครองได้ผนวกอำเภอตาเมียง เข้ากับจังหวัดอาเจะห์ จนชาวมลายูอำเภภอตาเมียง บางครั้งก็เรียกว่า ชาวอาเจะห์ตาเมียง  รัฐชาวมลายูมีอยู่หลายรัฐที่ถูกฮอลันดาผนวก เข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาเจะห์ เช่น รัฐการัง  รัฐสุลต่านมูดาซือรูเวย์ ฯลฯ


มลายูมาลูกุ       เป็นกลุ่มชาวมลายูที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะมาลูกุ


ชาวมลายูในประเทศมาเลเซีย

เมื่อแบ่งตามชาติพันธุ์แล้ว จะได้สัดส่วนประชากรมาเลเซียดังนี้


ชนพื้นเมืองที่เรียกว่าภูมิบุตร หรือ Bumiputera 62.5 % ซึ่งประกอบด้วยชาวมลายู ชาวโอรังอัสลี และชนพื้นเมืองอื่นๆ ที่เป็นชาวรัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัคสำหรับชาวมลายูในสองรัฐ คือ รัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค ถือว่า ชาวมลายูเป็นชนกลุ่มน้อยของทั้งสองรัฐ


ชาวจีน    20.6 %,

ชาวอินเดีย 6.2 %

ละอื่นๆ     0.9 %,


ในจำนวนประชากรมาเลเซีย จะมีผู้ตั้งถิ่นฐานถาวร แต่ไม่ใช่สัญชาติมาเลเซีย จำนวน 9.8 % ( ปี 2019)


ชาวมลายูในประเทศไทย หรือบางครั้งจะเรียกว่าชาวไทยเชื้อสายมลายู หมายถึงชาวไทยซึ่งมีเชื้อสายมลายู มีกระจายทั่วไปในทางภาคใต้ของประเทศไทย ประชากรใช้ส่วนใหญ่จะใช้ภาษามลายูถิ่นปัตตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) และภาษามลายูถิ่นสตูล  ส่วนภาคกลางเองก็มีมากในกรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี เลยไปถึงจังหวัดฉะเชิงเทราในตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยวด้วย

เกาะคริสต์มาส หนึ่งในสองเกาะมลายูของประเทศออสเตรเลีย

สำหรับเกาะคริสต์มาส เป็นเกาะเล็กๆ  ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นเกาะภายใต้การปกครองของประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเองของประเทศออสเตรเลีย เกาะคริสต์มาสอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของ Australian Department of Transport and Regional Services เกาะคริสต์มาสตั้งอยู่ห่างจากเมืองเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ราว 2,360 กิโลเมตร และห่างจากเกาะชวา ประเทศอินโดเนเซียไปทางใต้ ราว 360 กิโลเมตร เกาะคริสต์มาสมีขนาดพื้นที่ 155 ตารางกิโลเมตร  ประชากรของเกาะคริสต์มาสมีประชากรประมาณ 2 พันกว่าคน  ประชากรของเกาะคริสต์มาสจะประกอบด้วยชาวจีนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ความเป็นมาของชื่อเกาะนั้น  ด้วยกัปตันวิลเลี่ยม  มัยนอร์ส (Captain William Mynors) กัปตันเรือเรือที่ชื่อว่า Royal Mary ของบริษัทอิสต์อินเดีย ได้เดินทางมาถึงเกาะแห่งนี้ โดยไม่ได้แวะพัก เพียงผ่านไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 1643 และได้ตั้งชื่อเกาะแห่งนี้ว่า เกาะคริสต์มาส 


ต่อมาออสเตรเลียได้รับโอนอำนาจการปกครองเกาะคริสต์มาสจากอังกฤษ โดยออสเตรเลียต้องจ่ายค่าชดใช้จำนวนหนึ่งของการเสียผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมแร่ฟอสเฟตให้แก่สิงคโปร์  เกาะคริสต์มาส แม้เป็นเพียงเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรอินเดีย  มีประเทศออสเตรเลียเป็นเจ้าของ แต่เกาะคริสต์มาสก็ถือว่าเป็นเกาะหนึ่งของชาวมลายู  และเป็นเกาะหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแผนที่ภูมิภาคมลายู 


เกาะโคโคส หนึ่งในสองเกาะมลายูแห่งประเทศออสเตรเลีย

สองเกาะของชาวมลายูที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศออสเตรเลียคือ เกาะคริสต์มัส และอีกเกาะหนึ่ง ความจริงเป็นหมู่เกาะ แต่ว่ารู้จักกันในนามของเกาะ นั้นคือเกาะโคโคส  ถ้าในอดีตเกาะคริสต์มัสและเกาะโคโคสไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอังกฤษ ซึ่งในอดีตนั้น ถือว่าเป็นชาติมหาอำนาจ  เชื่อว่าในปัจจุบันทั้งสองเกาะคงจะอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอินโดเนเซียมากกว่า 


ในบรรดาเกาะต่างๆที่อยู่ในหมู่เกาะโคโคสนั้น  เกาะที่เป็นที่อยู่อาศัยของคน คือ เกาะเวสต์ (West Island) หรือชาวมลายูจะเรียกว่าเกาะยาว (Pulau Panjang) มีความยาว 10 กิโลเมตร และมีความกว้าง ราว ครึ่งกิโลเมตร  เป็นเกาะที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานรัฐบาลออสเตรเลียตะวันตก และสนามบิน ส่วนเกาะโฮม (Home Island) หรือ เกาะเซิลมา (Pulau Selma) ก็จะเป็นที่อยู่อาศัยของคนมลายู   สำหรับชาวมลายูในหมู่เกาะคโคสนั้น ถือได้ว่าเป็นชาวมลายูที่มีเลือดผสมระหว่างกลุ่มที่มีบรรพบุรุษจากแหล่งที่แตกต่างกัน  ปรากฎว่า ชาวมลายูเกาะโคโคส มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเกาะบอร์เนียว  มาลายา สิงคโปร์ เกาะชวา และเกาะอื่นๆของอินโดเนเซีย  ถูกนำไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะโคโคส โดยชาวอังกฤษ


ชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้

 ชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้นั้น  มีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างจากชาวเมรินาในประเทศมาดากัสการ์  ด้วยชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้อพยพไปยังทวีปอัฟริกาเมื่อกว่าสามร้อยปีที่ผ่านมา  ชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้จะถูกเรียกว่าชาวมลายูแหลม หรือ Cape Malay  พวกเขาส่วนใหญ่ถูกฮอลันดานำพาไปยังอัฟริกาใต้  แม้ว่าภาษามลายูของพวกเขาเหล่านี้เกือบจะสูญหายไป  แต่พวกเขายังคงใช้บางคำของภาษามลายูในชีวิตประจำวัน พวกเขาจะพูดภาษาอัฟริกัน ( Afrikaan ) ในชีวิตประจำวัน  โดยภาษาอัฟริกันนี้มีภาษาฮอลันดาเป็นหลัก  และนำคำภาษาอักฤษ  และภาษามลายูเข้าไปใช้ในภาษาอัฟริกันและชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้นับถือศาสนาอิสลาม  มีชาวมุสลิมในประเทศอัฟริกาใต้ประมาณ เจ็ดแสนกว่าคน  ประกอบด้วยชาวมุสลิมเชื้อสายอินโด-เมารีเตียน (Indo-Mauritian) ประมาณ 4 หมื่นคน พูดภาษามอรีเซ็น( Morisyen), ชาวมุสลิมเชื้อสายซันซีบาร์ (Zanzibar) ประมาณ 1 พันคน พูดภาษาสวาฮิลี (Swahili), ชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย-ปากีสถาน ประมาณ 170,000 คน พูดภาษาอูร์ดู(Urdu), ชาวมุสลิมกลุ่มผิวสี (Coloured Creole) ประมาณ 275,000 คน พูดภาษาออร์ลามส์(Oorlams) และชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู มีประมาณ 250,000 คน พูดภาษาอัฟริกันส์ (Afrikaans)  ซึ่งภาษาอัฟริกันส์เป็นภาษาที่เริ่มใช้ในศตวรรษที่ 17 โดยมีภาษาดัชต์เป็นหลักและผสมด้วยคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ, มลายู, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, โปร์ตุเกส และบางภาษาของอัฟริกา  สำหรับชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้นั้นรู้จักกันในนามว่าชาวมลายูแหลม หรือ Melayu Tanjung (The Cape Malay) ด้วยชาวมลายูกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แหลมกู๊ดโฮบ(The Cape of Good Hope) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ส่วนใหญ่ชุมชนชาวมลายูตั้งถิ่นฐานในเขตที่เรียกว่า Malay Square หรือ Bo-Kaaap ของเมืองเคปทาวน์ 


นอกจากนั้นยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่คนในประเทศไทยอาจรู้น้อยมาก คือ กลุ่มชาวมลายูศรีลังกา กลุ่มนี้ยังคงมีการใช้ภาษามลายูอยู่ สำหรับในประเทศศรีลังกานั้น ชาวมลายูยังคงยึดถืออัตลักษณ์ของชาวมลายูอยู่ แม้ว่าภาษามลายูของพวกเขาจะได้รับอิทธิพลของภาษาทมิฬ และสิงหล  ประชากรของศรีลังกาที่มีเชื้อชาติมลายูนั้น มีอยู่ประมาณ 62,000 คน  ชาวมลายูในศรีลังกามีประวัติภูมิหลังที่น่าสนใจจริง  พวกเขาถูกฮอลันดานำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 18 และบางส่วนถูกอังกฤษนำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 19 ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวมลายูก็ได้อพยพไปยังศรีลังกาแล้ว  ในหนังสือชื่อ “มหาวังศา” ( Mahawangsa) ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาตร์เก่าแก่ของประเทศศรีลังกาก็มีการบันทึกว่า ในสมัยกษัตริย์ที่ชื่อ กษัตริย์ Prakrama Bahu ในปี1268 มีกษัตริย์ชาวมลายูชื่อกษัตริย์จันทราภาณุ (Chandrabhanu) จากอาณาจักรตามพรลิงค์  ( Tambralinga ) ได้ไปโจมตีศรีลังกาเป็นจำนวน 2 ครั้ง แม้แต่แม่ทัพของกษัตริย์  Prakrama  Bahu เองก็เป็นชาวมลายูมีชื่อว่า Melayu Rayer แต่ชาวมลายูเหล่านี้ถูกสังคมศรีลังกากลมกลืน จนสิ้นอัตลักษณ์ ด้วยพวกเขานับถือศาสนาเฉกเช่นเดียวกันกับชาวศรีลังกา


ชาวมลายูศรีลังกา จะกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ เช่น กรุงโคลอมโบ เมืองฮัมบาโตตา เมืองเบรูเวลา และกัลเล


ชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์

ผู้เขียนเคยนำนักศึกษาไปสัมผัสชุมชนชาวมลายูเมียนมาร์ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเกาะสองและบริเวณใกล้เคียง จากการสัมผัสครั้งนั้น ก็ได้รับรู้ว่า มีชุมชนชาวมลายูไม่น่อยกว่า 23 หมู่บ้าน และมีสถาบันปอเนาะสอนศาสนาอิสลามอยู่ถึง 10 ปอเนาะด้วยกัน ต่อมาเมื่อชมรมชาวมลายูเมียนมาร์ทำการสำรวจอย่างละเอียด ปรากฏว่า มีชุมชนมลายูอาศัยอยูถึง 74 หมู่บ้าน  การใช้ภาษามลายูของชุมชนมลายูในเกาะสอง มีความคล่อง มีการรักษาอัตลักษณ์ด้านภาษา และวัฒนธรรมมลายู ที่เข้มแข็งกว่าชาวมลายูในประเทศไทย


อ้างอิง:

นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน, เอกสารประกอบการสอนวิชากลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, มอ. ปัตตานี


Ananta, Aris; Arifin, Evi Nurvidya; Hasbullah, M Sairi; Handayani, Nur Budi; Pramono, Agus (2015). Demography of Indonesia's Ethnicity. Institute of Southeast Asian Studies.


B. A. Hussainmiya,The Malay Identity in Brunei Darussalam and Sri Lanka, Universiti Brunei Darussalam.


Koentjaraningkrat,Manusia dan Kebudayaan di Indonesia,Penerbit Djambatan,1984.


Koentjaraningkrat,Pengantar Ilmu Antropologi, Aksara Baru,1985.


Mengenal Lebih Dekat Praktik Adat Melayu Bangka Belitung 2021


Melalatoa, M. Junus (1 Januari 1995). Ensiklopedi Suku Bangsa di Indonesia Jilid L-Z. Indonesia: Direktorat Jenderal Kebudayaan.


Wan Hashim Wan Teh, Rumpun Melayu Australia Barat, UKM Press, 1999.


Wan Hashim Wan The dan Hanapi Dollah, Melayu Cape di Afrika Selatan, Dewan Bahasa dan Pustaka, 2010.