Isnin, 1 Ogos 2022

การเดินทางของหนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานี (ปาตานี) ของนายอาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี ฉบับแปลภาษาไทย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

สมัยที่ ผศ. ดร. พีรยศ  ราฮิมมูลา เป็นผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไป ที่สนใจในการแปลหนังสือ หรือเอกสารเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต้นฉบับเป็นภาษาต่างประเทศ ผู้เขียนมีหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีจำนวนหนึ่ง ที่เป็นภาษามลายู ดังนั้นจึงเสนอโครงการแปลเข้าร่วม และดีใจยิ่งที่ได้รับการอนุมัติจากสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หนังสือที่เสนอขอแปลคือ หนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานี (ปาตานี) ของนายอาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี

นายอาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี อดีตบรรณาธิการนิตยสารเปองาซุห์ รัฐกลันตัน มาเลเซีย เป็นนิตยสารที่มีชื่อเสียงอยู่ในวงการนักวิชาการ นักศาสนาของรัฐกลันตัน มาเลเซีย และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่นก่อนๆจะรู้จักดี  ปัจจุบันนายอาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี เป็นนักเขียนรับเชิญของคณะกรรมการอิสลามและจารีตประเพณีมลายูแห่งรัฐกลันตัน น่าจะตั้งแต่สมัย ดร.นิอัซลัน อับดุลฮาดี เป็นผู้นำของคณะกรรมการอิสลามและจารีตประเพณีมลายูแห่งรัฐกลันตัน หนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นหนังสือที่อ่านเข้าใจง่าย ด้วยเป็นหนังสือสำหรับคนทั่วไป มากกว่าจะเป็นหนังสือเชิงวิชาการ

หนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานีเล่มนี้ ดำเนินการแปลโดย สถาบันสมุทรัฐฯ มอ. ปัตตานี พิมพ์ครั้งแรกในสมัย ผศ. ดร. พีรยศ ราฮิมมูลา เป็นผู้อำนวยการสถาบัน และพิมพ์ครั้งที่สองในสมัย ผศ. ดร. วรวิทย์  บารู เป็นผู้อำนวยการสถาบัน สำหรับพิมพ์ครั้งที่สอง ได้รับงบประมาณการพิมพ์จากกระทรวงยุติธรรม ยุค นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม  สำหรับชื่อหนังสือนั้น ระหว่างคำว่า ปัตตานีกับปาตานี จะใช้อะไรกัน ตอนแรกจะใช้คำว่า ปาตานี ตามภาษามลายูว่า Patani แต่คงต้องอธิบายคำว่า ปาตานี และคำว่าปาตานียังไม่เป็นที่นิยมในหมู่บางกลุ่ม น่าจะยังไม่เกิดกระแสการต่อสู้ระหว่างกันกับการใช้คำว่า ปัตตานี ปาตานี ฟาฏอนี และเห็นว่า หนังสือของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คุณ อ. บางนรา ก็ใช้คำว่า ปัตตานีอดีตและปัจจุบัน (2519) และปัตตานีในอดีต ซึ่งเป็นภาคแรกของปัตตานีอดีตและปัจจุบัน (2523) ดังนั้นจึงใช้คำว่า ปัตตานี แม้จะหมายถึง ปาตานี มากกว่าที่จะหมายถึงจังหวัดปัตตานี

จุดอ่อนของหนังสือฉบับแปลภาษาไทยเล่มนี้ ทั้งพิมพ์ครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง คือ การขาดการตรวจทานภาษาและการพิมพ์ การคัดเกลาภาษา การพิมพ์ผิด ซึ่งในการพิมพ์ครั้งต่อไปจะต้องแก้ไขสิ่งที่กล่าวข้างต้น แม้ว่าการตอบรับค่อนข้างจะดี ด้วยไม่ขาย แจกฟรี จึงหมดภายในเวลาไม่นาน ผศ. ดร. วรวิทย์  บารู เคยเสนอให้พิมพ์อีกครั้ง แต่เป็นการเรียบเรียงมากกว่าจะเป็นการแปล ด้วยสามารถเพิ่มเติม แก้ไขเนื้อหา เพิ่มหลักฐานใหม่ๆ จะทำให้หนังสือมีความสมบูรณ์มากขึ้น จุดประสงค์ของการแปลหนังสือเล่มนี้ ผศ. ดร. พีรยศ  ราฮิมมูลา กล่าวว่า เพื่อเปิดอีกมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ครั้งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า พิมพ์เผยแพร่ไปเลย ยิ่งปิด คนก็ยิ่งอยากรู้ เปิดไปเลย สุดท้ายก็ไม่มีคนอยากรู้


Tiada ulasan: