Isnin, 29 Januari 2024

รัฐฆังฆาเนอฆารา (Gangga Negara) หนึ่งในรัฐที่เก่าแก่ของชาวมลายูในแหลมมลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ครั้งนี้เรามาทำความรู้จักถึงรัฐเก่าแก่รัฐหนึ่งในแหลมมลายู รัฐนั้นคือรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ซึ่งเคยมีศูนย์อำนาจอยู่บริเวณเมืองเบอรัวส์ รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ด้วยรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara)  เป็นรัฐที่สูญสลาย แทบที่จะไม่มีร่องรอย ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่ชาวมาเลเซีย มักไม่สนใจ ผู้เขียนเอง ก็แทบที่จะไม่รู้จักรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara)  แต่เมื่อครั้งต้องสอนในวิชาอารยธรรมมลายู ให้แก่นักศึกษาสาขาวิชามลายูศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยเขตปัตตานี จึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับอารยธรรมมลายูในส่วนของมาเลเซีย จึงสะดุดกับคำว่า รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) จึงต้องค้นคว้าในเรื่องรัฐดังกล่าว  ในครั้งนี้เราจึงมาทำความรู้จักกับรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) กันนะครับ

พระพุทธรูปสมัยศตวรรษที่ 6 (ซ้าย) ที่พบในเมืองอิโปห์ รัฐเปรัค  รูปปั้นครูบาอาจารย์ชาวฮินดูสมัยศตวรรษที่ 9 (ขวา) ค้นพบที่บ้านยาลอง รัฐเปรัค


รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) เป็นอาณาจักรกึ่งตำนานของชาวมลายู-ฮินดู ที่ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารมลายู ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมืองเบอรัวส์ เมืองมันจุง ในรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย โดยหนึ่งในเจ้าเมืองรัฐฆังฆาเนอการา มีชื่อว่าราชาชาห์โยฮัน รัฐฆังฆาเนอการา เป็นรัฐในตำนาน ซึ่งในปัจจุบันค่อนข้างลำบากในการค้นหาแหล่งที่ตั้ง และวัตถุหลักฐาน นักวิจัยเกี่ยวกับรัฐฆังฆาเนอการา เชื่อว่ารัฐนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเบอรัวส และพังทลายลงหลังจากการโจมตีโดยกษัตริย์ราเชนดรา โชลาที่ 1 แห่งรัฐทมิฬ ในประเทศอินเดีย ในระหว่างปี 1025 ถึง 1026 พงศาวดารมลายูฉบับหนึ่งคือ ฮิกายัต เมรง มหาวังสา (Hikayat Merong Mahawangsa) หรือที่รู้จักในชื่อ พงศาวดารรัฐเคอดะห์ กล่าวถึงรัฐฆังฆาเนอการา ว่าก่อตั้งโดยบุตรชายของราชาเมรง มหาวังสา ที่ชื่อว่า ราชาฆันจี ซาร์ยูนา (Ganji Sarjuna) แห่งรัฐเคอดะห์ ซึ่งถูกกล่าวว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าซูการ์ไนน์ หรือ กษัตริย์ Alexander the Great ซึ่งนักวิชาการส่วนหนึ่งกล่าวว่า กษัตริย์ Alexander the Great จะเป็นคนละคนกับกษัตริย์ Alexander the Great ที่ชาวตะวันตกเข้าใจกัน

                        พระพุทธรูป ในศตวรรษที่ 8-9 พบที่บีโดร์, รัฐเปรัค

ดร. ออสมาน ยาติม และดร. นิฮัสซันสุไฮมี บินนิอับดุลราห์มาน จากหนังสือ ชื่อว่า Beruas: kerajaan Melayu kuno di Perak (เบอรัวส์ : รัฐมลายูโบราณในรัฐเปรัค) กล่าวว่า การศึกษาถึงเมืองเบอรัวส์ คนแรกที่ทำการศึกษา สำรวจ คือ พันเอกเจมส์ โลว์ (Col. Jams Low) ในปี 1840 ได้กล่าวว่า ยุครัฐฆังฆาเนอการา หรือรัฐเบอรัวส์ นั้นมีแน่นอน แต่ยากที่จะชี้จุดว่า มีศูนย์อำนาจอยู่ตรงไหน ในศตวรรษต่อมา ทาง Horace Geoffrey หรือ H. G. Quaritch-Wales ในปี 1940  โดย H. G. Quaritch-Wales นี้เคยเป็นที่ปรึกษาของราชกาลที่ 6 และราชกาลที่ 7 ระหว่างปี 1924 ถึงปี 1928 นาย H. G. Quaritch-Wales ได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่ทาง พันเอกเจมส์ โลว์ (Col. Jams Low) ได้เคยเดินทางไปสำรวจ ทาง  H. G. Quaritch-Wales มีความเห็นสอดคล้องกับ พันเอกเจมส์ โลว์ (Col. Jams Low)  การสำรวจของทาง  H. G. Quaritch-Wales ได้พบหลักฐานวัตถุทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของรัฐเบอรัวส์


ในหนังสือข้างต้นของดร. ออสมาน ยาติม และดร. นิฮัสซันสุไฮมี บินนิอับดุลราห์มาน ได้กล่าวชื่อของรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ว่า คำว่า ฆังฆา สันนิฐานว่า มาจากชื่อแม่น้ำ คือ แม่น้ำ Ganges ในประเทศอินเดีย  ส่วน Negara มาจากคำว่า นคร ดังนั้น รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) จึงสื่อถึงนครรัฐที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ  แต่ผู้เขียนมีข้อสงสัยว่า ข้อสันนิฐานดังกล่าว น่าจะไม่สอดคล้องกับพงศาวดารมลายู หรือ Sejarah Melayu ที่กล่าวว่า รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ตั้งอยู่บนที่สูง


ต่อมาในปี 1986 ในหนังสือพิมพ์มาเลเซีย มีการลงข่าวถึงรัฐเบอรัวส์ หรือ รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ทุกวัน ด้วยมีการพบวัตถุโบราณ และทำให้รัฐเบอรัวส์ กลับมาเป็นที่สนใจของชาวมาเลเซียอีกครั้ง   รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) เป็นรัฐที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 2 หรืออาจก่อนหน้านั้น


ในพงศาวดารมลายู หรือ Sejarah Melayu ได้กล่าวถึงรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ว่า


“....setelah beberapa lamanya, maka Raja Suran pun sampailah kepada sebuah negeri, Gangga Negara namanya. Raja Gangga Shah Johan nama rajanya. Adapun negeri itu di atas bukit.  Dipandang dari hadapan terlalu tinggi, dan dari belakang rendah juga. Ada sekarang kotanya di darat Dinding. Ke sana Perak sedikit”


 แปลว่า

“....ในเวลาไม่นาน กษัตริย์สุรันก็มาถึงรัฐหนึ่ง รัฐมีชื่อว่า รัฐฆังฆาเนอการา

เจ้าเมืองมีชื่อว่า ราชาฆังฆาชาห์ โยฮัน มีเมือง(ศูนย์อำนาจ)ตั้งอยู่บนเนินเขา มองจากด้านหน้าสูงชัน และจากดูด้านหลังต่ำ ขณะนี้มีเมืองอยู่บนฝั่งดินดิง ไปข้างรัฐเปรัคนิดหนึ่ง”

นายฮัจญีอับดุลฮามิด ซัมบุรี (Haji Abdul Hamid Zamburi) ได้ทำการศึกษา โดยศึกษาหนังสือที่เขียนโดยปาโตเลมี (Ptolemy) หนังสือชื่อว่า Geographike Huphegesis ที่เขียนประมาณปี 150 ในหนังสือดังกล่าวมีการกล่าวถึงสถานที่ชื่อว่า Coconagara ซึ่งตั้งอยู่ใน Avrea Cheronesvs (คาบสมุทรสุวรรณภูมิ ที่หมายถึงแหลมมลายู) ในทางหลักวิชาสัทศาสตร์ การออกเสียงของ Coconagara ดูเหมือนจะคล้ายกับการออกเสียงของ Ganga Negara นายยอร์ช เซเดส (George Cœdès) เชื่อว่า Coconagara ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดินดิง ในขณะที่พันเอกเจมส์ โลว์ (Col. Jams Low) มีความเห็นว่า ตั้งอยู่บนแม่น้ำดินดิง และ เบอรัวส์ หากคำกล่าวของทั้งสองถูกต้อง แสดงว่าอารยธรรมมลายูในเบอรัวส์ดำรงอยู่อย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ซึ่งหมายถึงปีที่ปโตเลมีเขียน


ตามพงศาวดารมลายูที่ชื่อว่า ฮิกายัต เมรง มหาวังสา (Hikayat Merong Mahawangsa)  รัฐฆังฆาเนอการา(Gangga Negara) ตั้งโดยราชา ฆีนจี ซาร์ยูนา (Raja Ganji Sarjuna) บุตรชายของเมรง มหาวังสา รัฐแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ เบอรัวส์ ทางใต้ของฆูนุงบูบู (Gunung Bubu) ไปทางตะวันออกของบูกิตเซอฆารี (Bukit Segari) และตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดินดิง รัฐนี้ยังรวมถึงพื้นที่ของปังกาลัน (อิโปะห์) หรือ Pengkalan (Ipoh) หุบเขากินตา (Kinta Valley) บีโดร์ (Bidor) ตันหยงรัมบุตัน (Tanjung Rambutan)  และสุไหงซีปุต (Sungai Siput)


ชื่อรัฐฆังฆาเนอการา(Gangga Negara) หายไป ชื่อรัฐเบอรัวส์ (Beruas) เข้ามาแทนที่   รัฐเบอรัวส์ เป็นที่รับรู้ในศตวรรษที่ 15  ในพงศาวดารมลายู หรือ Sejarah Melayu เช่นกัน ได้กล่าวถึงรัฐเบอรัวส์ ว่า เมื่อครั้งรัฐเบอรัวส์ มีความขัดแย้งกับรัฐมันจุง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงรัฐเบอรัวส์  เจ้าเมืองเบอรัวส์ได้เดินทางไปยังรัฐมะละกา และขอความช่วยเหลือจากรัฐมะละกา ทางสุลต่านมาห์มุดชาห์ แห่งรัฐมะละกา (1488-1511) ได้มอบยศเป็น Tun Aria Bija Diraja และส่งกำลังไปช่วยรัฐเบอรัวส์ปราบรัฐมันจุง จนรัฐมันจุงพ่ายแพ้ จนรัฐมันจุง ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมะละกา โดยมีรัฐเบอรัวส์เป็นผู้ดูแล



นายยาลิล   มีรัน (Jalil Miran) ได้เขียนบทความชื่อว่า Sultan Malik al Mansur Dari Aceh Kuasai Kerajaan Bruas (สุลต่านมาลิกุล มันซูร์ จากอาเจะห์ สู่อำนาจรัฐเบอรัวส์) เขากล่าวว่า บุตรของสุลต่านอาเจะห์ ที่ถูกขับไล่ออกจากวังในอาเจะห์ โดยพี่ชายผู้เป็นสุลต่านได้ขับไล่น้องชาย เพราะน้องชายนำนางในราชสำนักของสุลต่านมาเป็นเมีย ในขณะที่พี่ชายผู้เป็นสุลต่านไม่อยู่ สุลต่านโกรธจึงขับไล่น้องชาย ฝ่ายน้องชายจึงได้เดินทางมาสร้างเมืองที่เบอรัวส์ ขณะที่เดินทางถึง จึงก็พิงตัวที่ต้นเบอรัวส์ ทางขุนนางที่ติดตามมาจากอาเจะห์ ได้บอกว่า ต้นไม้ที่บุตรชายสุลต่านอาเจะห์พิงนั้น เรียกว่า ต้นเบอรัวส์  ดังนั้นบุตรชายสุลต่านอาเจะห์ จึงประกาศว่า เราจะเรียกเมืองที่สร้างนี้มาเมืองเบอรัวส์

นายยาลิล   มีรัน (Jalil Miran) ได้กล่าวเพิ่มเติมในบทความของเขาว่าการที่รัฐเบอรัวส์สร้างโดยชาวอาเจะห์ ทำให้บริเวณดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยสุสานที่ใช้หินปักหลักที่เรียกว่าหินแนซันบาตูอาเจะห์  ในหนังสือของอาเจะห์ กล่าวว่า สุลต่านอาเจะห์ที่ชื่อว่าสุลต่านมาหมุด อัซ-ซาฮีร์ (Sultan Mahmud Az zahir) ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี 1455-1477 ได้ขับไล่น้องชาย   โดยน้องชายได้มาถึงเบอรัวส์ในปี 1456



นายฮุสซัยน์  มาหมุด (Hussain bin Mahmud) ได้เขียนบทความเรื่อง The Ancient Kingdom of Bruas เขากล่าวว่า คำว่า Beruas เป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง ที่มีเป็นจำนวนมากบริเวณเมืองเบอรัวส์    จากประวัติศาสตร์มุขปาฐะของชาวบ้าน ก็ได้ความว่า เดิมบริเวณเมืองเบอรัวส์ในปัจจุบันนี้ จะตั้งอยู่บริเวณที่ชื่อว่า  Pengkalan Baru คนทั่วใหญ่เรียกบริเวณนั้นว่า Belukar Sambang  และนายราชาซาบารุดดิน อับดุลลอฮ (Raja Sabaruddin Abdullah) ได้เขียนบทความเรื่อง Peninggalan Sejarah di Beruas กล่าวว่า ชื่อของ Belukar Sambang อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ด้วยบริเวณนั้นเต็มไปด้วยต้น Beruas บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า Beruas


อ้างอิง

Hussain bin Mahmud, The Ancient Kingdom of Bruas, Malaysia in History, Jilid 13 Bahagian 1, 1970.


Jalil Miran, Sultan Malik al Mansur Dari Aceh Kuasai Kerajaan Bruas, Variasari, Bilangan 61, Julai, 1986.


Othman bin Mohd. Yatim; Nik Hassan Shuhaimi bin Nik Abd.Beruas: kerajaan Melayu kuno di Perak,Persatuan Muzium Malaysia, Muzium Negara, Kuala Lumpur,1994.


Raja Sabaruddin Abdullah,Peninggalan Sejarah di Beruas,Berita Harian,9 Ogos 1986


Sejarah Melayu ฉบับ  William Girdlestone Shellabear พิมพ์ปี 1967



Tiada ulasan: