Selasa, 16 Januari 2024

ปัตตานีในศตวรรษที่ 17

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ในการเขียนถึงปัตตานี หรือ ปาตานีในศตวรรษที่ 17 ครั้งนี้ ขอนำงานเขียนของคุณอาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี ซึ่งใช้ชื่อหนังสือว่า Pengantar Sejarah Patani ซึ่งผู้เขียนได้แปลเป็นเล่มในภาษาไทย ใช้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์ปัตตานี งบประมาณการแปลโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และงบประมาณการจัดพิมพ์โดยสำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม เนื้อหางานเขียนของคุณอาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี มีดังนี้


ถึงแม้ว่าปัญหาเรื้อรังด้วยเกิดสงครามหลายครั้งกับสยาม  แต่ก็มีปัญหาวิกฤตการณ์ภายในเกี่ยวกับดาตูแห่งกลันตัน ถึงอย่างไรก็ดี ปัตตานีในศตวรรษที่  17  นั้นเป็นรัฐหนึ่งที่มีอำนาจมาก  มีอิทธิพล เจริญรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์ ตลอดทั้งศตวรรษนี้คนตะวันตกได้เดินทางสู่โลกตะวันออก ทำการติดต่อทางการค้ากับพวกเขาและยังยึดครองพวกเขาอีกด้วย มะละกาถูกโปรตุเกสยึดครอง ราวต้น ค.ศ. 1511  ติดตามด้วยฮอลันดาใน ค.ศ.  1641  มะนิลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของสเปนในปี  ค.ศ.  1571  และฮอลันดายึดครองซุนดา กือลาปา (Sunda Kelapa)  ต่อมาพวกเขาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบาตาเวีย  ในปี ค.ศ.  1619  ในเรื่องนี้อังกฤษค่อนข้างช้ามาก

การหลุดพ้นการกระทำอันชั่วร้ายของชาติตะวันตกเหล่านี้ ปัตตานีกลายเป็นรัฐอุดมสมบูรณ์  เพราะการเดินทางมาของพวกเขา  ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกว้างขวางขึ้นส่วนการแข่งขันทางการค้าระหว่างพวกเขากันเองได้ทำให้มีผลกำไรเข้ามาอย่างท่วมท้น  มีบันทึกจำนวนมากที่ได้ค้นพบที่กล่าวถึงปัตตานีในราวศตวรรษนี้  นักเขียนชาวฮอลันดา ผู้หนึ่งที่เดินทางไปถึงปัตตานีในด้านศตวรรษที่  17  มีชื่อว่า  แวนเนค (Van  Neck) ได้กล่าวชมเชยการปกครองของราชินีฮีเยา ดังคำเขียนของเขา  :


พระนางได้ขึ้นครองราชย์ด้วยความสงบสุข  พร้อมกับบรรดาขุนนางของพระนาง (ผู้ซึ่งพวกเขาเรียกว่าเสนาบดี-Menteri) เป็นเวลาประมาณ 13 หรือ 15 ปี มวลประชาราษฎร์ของพระองค์ต่างชื่นชมการปกครองของพระองค์ว่าดีกว่ากษัตริย์องค์ที่ผ่านมา เช่น อาหารการกินมีราคาถูกมา ซึ่งในสมัยกษัตริย์องค์ก่อนราคาแพงกว่าตั้งครึ่งหนึ่งอันเป็นผลมาจากการวางกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด[1]


นักเขียนชาวฮอลันดาอีกผู้หนึ่งที่ชื่อว่า  จอห์น นิยูฮอฟฟ์ (John Nieuhoff) ที่ได้เดินทางมายังปัตตานีในปี  ค.ศ.  1660  ได้กล่าวถึงรัฐปัตตานีในสมัยนั้นว่ามีชายแดนติดต่อกับปาหังทางด้านทิศใต้และติดต่อกับนครศรีธรรมราชในด้านทิศเหนือ[2]   เขายังได้กล่าวอีกว่า “นครศรีธรรมราชในเวลานั้นได้รวมเป็นหนึ่งกับสยาม ดังเช่นประเทศรัฐแห่งหนึ่ง” ชื่อของปัตตานีได้นำมาจากชื่อตัวเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่  756  องศาและตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากทะเล  ประชากรปัตตานีได้มีการจินตนาภาพว่ามีจำนวนมากจนกระทั่งสามารถระดมกองทัพได้ถึง 180,000 คนในสนามสงคราม  ส่วนที่ตัวเมืองปัตตานีและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นมีกำลังทหารอยู่ถึง  10,000  คน[3]

ก่อนหน้าจอห์น นิยูฮอฟฟ์ (John Nieuhoff) ไม่นาน มีกัปตันชนชาติอังกฤษที่เดินทางมาเยียนปัตตานีในสมัยราชินีกูนิง มีชื่อว่า อเลกซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) ได้เขียนด้วยความรู้สึกและจินตนาการที่ใกล้เคียงกัน เขากล่าวไว้ว่า :  “ประชากรทั้งหมดในรัฐปัตตานีในสมัยนั้นมีการคำนวณจำนวนผู้ชาย (ไม่ได้รวมผู้หญิงไว้ด้วย)  ตั้งแต่อายุ  16  ปี จนถึง  60  ปี มีจำนวนถึง  150,000  คน ประชากรในตัวเมืองปัตตานีก็มีเป็นจำนวนมาก  จนกระทั่งกลายเป็นเมืองที่ใหญ่พร้อม  บ้านที่ปลูกใกล้ชิดเป็นจำนวนมาก  นั้นคือเริ่มตั้งแต่ประตูพระราชวังจนถึงหมู่บ้านบานา บ้านไม่ได้ขาดตอนเลย  แม้นว่ามีแมวตัวหนึ่งเดินอยู่บนหลังคาบ้านเหล่านั้น  เริ่มจากราชวังจนถึงปลายสุดของตัวเมือง แมวสามารถเดินได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องลงสู่พื้นดิน[4]

เกี่ยวกับการค้าขายที่ท่าเทียบเรือปัตตานี จอห์น นิยูฮอฟฟ์ (John Nieuhoff) ได้กล่าวไว้ว่ารัฐปัตตานีในสมัยนั้นมีอำนาจทางด้านเรือสินค้ามากกว่ารัฐโยโฮร์และรัฐปาหัง หรือรัฐอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับรัฐปัตตานี[5]   โกดินโฮ  เดอ  เอรีเดีย (Godinho  de  Eredia)  ชาวโปรตุเกสคนหนึ่งผู้เกิดที่มะละกา ได้กล่าวถึงปัตตานีว่าเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งและเป็นเมืองเอกสำหรับคนมลายูในสมัยนั้น (ศตวรรษที่  17)  ส่วนนักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า  นิโคลัส แกร์วัยเซ่ (Nicholas Gervaise) ผู้ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมปัตตานีในช่วงปีทศวรรษที่  1680  ได้กล่าวว่า “ปัตตานีไม่ได้กว้างไปกว่าสามรัฐอื่น (รัฐโยโฮร์, รัฐจัมบีและรัฐเคดะห์) แต่ปัตตานีมีชื่อเสียงกว่าและเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติของตนเองและการบริหารภายในรัฐ 


การส่งสินค้าของปัตตานีในสมัยนั้น[6]   นอกจากนั้นมีเกลือ, การปศุสัตว์ เช่น วัว และไก่ เครื่องเทศ ของป่า เช่นไม้หอม (Santalum albun) สีขาวและสีเหลือง หนังสัตว์ เขาสัตว์ งาช้าง และอื่น ๆ อีก ส่วนการนำสินค้าเข้าของปัตตานีรวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาและผ้ามาจากจีนและญี่ปุ่น  ฝ้ายและอบเชย จากจัมปาและกัมพูชาการะบูรและอัญมณีจากบอร์เนียวจันทน์เทศและก้านพลูจากอัมบอนและอื่น ๆ เมื่อดูรายชื่อเหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนว่าการค้าขายของปัตตานีในสมัยศตวรรษที่  17  ไม่เพียงการมีส่วนร่วมของบรรดารัฐในภูมิภาคมลายูเท่านั้น แต่ยังมีบรรดารัฐในเอเชียอื่น รวมทั้งอันนาม (เวียดนาม), พะโค (พม่า) และบังคลา


ถึงแม้ว่าปลายศตวรรษที่  17  ปัตตานีเริ่มสูญเสียยุคทองของตนเอง ความเข้มแข็งทางการเมืองและวิธีการดึงให้ท่าเทียบเรือของตนเองให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญในภูมิภาคนี้  มีสภาพที่มืดมัวและสลัว สถานที่และสถานภาพของปัตตานีถูกผู้อื่นแทนที่และบรรดาพ่อค้าเริ่มย้ายไปยังที่นั้นราวปลายศตวรรษที่  17  นี้ ปัตตานีถูกท้าทายอย่างหนักจากศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ อย่างเช่น โยโฮร์, อาเจะห์, และบันเตน แล้วก็มะละกา และปัตตาเวียภายใต้อำนาจของฮอลันดา  ผลจากการนี้ทำให้ท่าเทียบเรือปัตตานีเงียบเหงาและถูกทิ้งร้างไป


ดังที่เป็นรัฐทางทะเล เศรษฐกิจปัตตานีผูกพันอยู่กับการค้าขายความเสื่อมลงของปัตตานีในด้านการค้าขายได้ทำให้เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของปัตตานีในปลายศตวรรษที่  17  เริ่มช้าลงและตกลงมา ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่  18  ท่าเทียบเรือปัตตานีสามารถรักษาสภาพเป็นเพียงท่าเทียบเรือหนึ่งในการค้าขายของท้องถิ่นเท่านั้น ด้วยความเสื่อมลงเช่นนี้ ต่อมาได้เพิ่มปัจจัยทางการเมืองภายในรัฐที่ไม่มั่นคง และการโจมตีจากสยามที่ไม่หยุดยั้งต่อปัตตานี ทำให้ปัตตานีในศตวรรษที่  18  เป็นเพียงรัฐของนักการเกษตร (Petani) หรือการเกษตรกรรม (Pertanian) ที่ยากจนและสูญเขี้ยวเล็บทางการเมืองและอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่ปัตตานีเองเคยมีอยู่



[1] ดู  เอ.ทิว และดี.เค วัยแอต, ตำนานปัตตานี, มาร์ตีนุส  นิจฮอฟฟ์, กรุงเฮก 1970, หน้า  242

[2] ชายแดนดังที่กล่าวมานี้ประกอบด้วยบรรดารัฐต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น ตรังกานู, กลันตัน, ปัตตานีเดิม, สงขลาและพัทลุง มโนภาพที่กล่าวมานี้ตรงกับบันทึกประวัติศาสตร์กลันตันที่ได้กล่าวไว้ว่ากลางศตวรรษที่  17  บรรดารัฐทั้งหมดเหล่านี้รวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อ “รัฐปัตตานีใหญ่” ปกครองโดยราชาซักตีที่  1 (ดูแผนที่)

[3] เจ.เจ.ซีฮัน “ผู้มาเยี่ยมแหลมมลายูในศตวรรษที่  17”  ในวารสาร JIMBRAS  เล่มที่  12  ส่วนที่  2  (คัดลอกจากนากูลา, อ้างแล้ว,หน้า 20)

[4] อิบราฮิม  ซุกรี  ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี ปาเสร์ปูเตะห์ ไม่มีวันเดือนปีพิมพ์ หน้า77

[5] เจ.เจ.ซีฮัน “ผู้มาเยี่ยมแหลมมลายูในศตวรรษที่  17”  ในวารสาร JIMBRAS  เล่มที่  12  ส่วนที่  2  (คัดลอกจากนากูลา, อ้างแล้ว,หน้า 20)

[6] นิโคลัส แกร์วัยเซ่, Historie Naturelle et Politique du Rayaume de Siam พิมพ์ครั้งที่  2 ปารีน1960  หน้า 316-317 (คัดลอกจากมูฮัมหมัดยูซูฟ อาริม, ประวัติศาสตร์มลายูในภูมิภาคมลายู (Persejarahan Melayu Nusantara) บริษัทเทคส์ พัลลิชชิ่ง จำกัด, กัวลาลัมเปอร์, 1988 หน้า 302

Tiada ulasan: