Selasa, 21 November 2023

ประวัติศาสตร์จังหวัดสตูล และกูโบร์เจ้าเมืองสตูล

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

แผนที่รัฐเคดะห์ในปี 1862

จังหวัดสตูล เป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนภภาคใต้ เป็นจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจ เดิมผู้เขียนรู้สึกเฉยๆกับจังหวัดสตูล ด้วยผู้เขียนมีแต่เพื่อนชาวสตูลที่เรียนมาด้วยกันที่กรุงเทพฯ แต่ผู้เขียนไม่เคยเดินทางสัมผัสจังหวัดสตูลเลย แต่ต่อมาผู้ขียนไม่เดินทางไปสัมผัสจังหวัด และศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับจังหวัดสตูล ทำให้ผู้เขียนสนใจจังหวัดสตูล ในครั้งนี้จึงขอเสนอเกี่ยวกับจังหวัดสตูล โดยนำประวัติจังหวดสตูลที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลนำมาจากหลายหลายแหล่ง


ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูลในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา และในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ ณ ที่ใด สันนิษฐานว่าในสมัยนั้น ไม่มีเมืองสตูล คงมีแต่หมู่บ้านเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบชายฝั่งทะเล


ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งอยู่ในเขตเมืองไทรบุรี ฉะนั้นประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเมืองไทรบุรี ดังปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่  2 ว่า "ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแตกแยกกันเป็นสองพวก คือ พวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพวกพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราช พวกเมืองสตูลคงจะมาฟังบังคับบัญชาสนิทสนมข้างเมืองนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทร แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้เพียง 2 ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูล ต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ของพระอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูลและฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น"

เรื่องเกี่ยวกับเมืองสตูลยังปรากฎในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา แต่ข้อความที่ปรากฎบางตอนเกี่ยวกับชื่อผู้ว่าราชการเมืองสตูล ไม่ตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ประวัติเกี่ยวกับเมืองสตูลในการจัดรูปแบบการปกครองเมือง ตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลว่า ในปี 1897 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษาเมืองไทรบรี เมืองเปอร์ลิส และเมืองสตูลเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า "มณฑลไทรบุรี" โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาไทรบุรีรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (เต็งกูอับดุลฮามิด) เป็นข้าราชการเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี เมืองสตูลได้แยกจากเมืองไทรบุรีอย่างเด็ดขาด ตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษเรื่องปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ร.ศ.127  (1909) จากหนังสือสัญญานี้ยังผลให้ไทรบุรีและเปอร์ลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนสตูลเป็นของไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน


เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จแล้ว ได้มีพระราชโองการโปรดให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ร.ศ. 128 (1910)


ในปี 1932 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมืองสตูลก็มีฐานะยกเป็นจังหวัดหนึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมา จนถึงกระทั่งทุกวันนี้


คำว่า"สตูล" มาจากคำภาษามลายูว่า "สโตย" แปลว่ากระท้อน อันเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่เมืองนี้ ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งสมญานามเป็นภาษามลายูว่า "นครสโตยมำบังสการา (Negeri Setoi Mambang Segara) "


จังหวัดสตูล แม้จะอยู่รวมกับไทรบุรีในระยะเริ่มแรกก็ตาม แต่จังหวัดสตูลก็เป็นจังหวัดที่มีดินแดนรวมอยู่ในประเทศไทยตลอดมา ระยะแรก ๆ จังหวัดสตูล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 อำเภอ กับ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอมำบัง อำเภอทุ่งหว้า และกิ่งอำเภอละงู ซึ่งอยู่ในการปกครองของอำเภอทุ่งหว้า ต่อมาปี 1939 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมำบังเป็นอำเภอเมืองสตูล สำหรับอำเภอทุ่งหว้า ซึ่งในสมัยก่อนนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก มีเรือกลไฟจากต่างประเทศติดต่อ ไปมาค้าขายและรับส่งสินค้าเป็นประจำ สินค้าสำคัญของอำเภอทุ่งหว้า คือ "พริกไทย" เป็นที่รู้จักเรียกตามกันในหมู่ชาวต่างประเทศว่า"อำเภอสุไหงอุเปะ "


ต่อมาเมื่อประมาณปี 1914 การปลูกพริกไทยของอำเภอทุ่งหว้าได้ลดปริมาณลง ชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำการค้าขายต่างพากันอพยพกลับไปยังต่างประเทศ ราษฎรในท้องที่ก็พากันอพยพไปหาทำเลทำมาหากินในท้องที่อื่นกันมาก โดยเฉพาะได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่กิ่งอำเภอละงูมากขึ้น ทำให้ท้องที่กิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้นอย่างรวมเร็ว และในทางกลับกัน ทำให้อำเภอทุ่งหว้าซบเซาลง


ครั้งถึง 1930 ทางราชการพิจารณาเห็นว่ากิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้น มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าอำเภอทุ่งหว้า จึงได้ประกาศยกฐานกิ่งอำเภอละงูเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอละงู และยุบอำเภอทุ่งหว้าเดิมเป็นกิ่งอำเภอทุ่งหว้า เรียกว่า กิ่งอำเภอทุ่งหว้า ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอละงู ต่อมาในปี 1973 กิ่งอำเภอทุ่งหว้าจึงได้รับสถานะเดิมกลับคืนมาเป็นอำเภอทุ่งหว้า


ปัจจุบันจังหวัดสตูล แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ

1. อำเภอเมืองสตูล 

2. อำเภอละงู

3. อำเภอควนกาหลง

4. อำเภอทุ่งหว้า

5. อำเภอควนโดน

6. อำเภอท่าแพ

7.อำเภอมะนัง


กูโบร์ อัล-มัรฮูม ตนกูมูฮำหมัด อากิบ สนูบุตร

กูโบร์โต๊ะมัรฮูม หรือชื่อที่เรียกว่ากูโบร์โต๊ะมาโหม เป็นชื่อที่ปรากฏในหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง สต0225 และสต0226 ส่วนทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล ซึ่งคัดลอกมาจากทะเบียนที่ดินสงวนแปลงลำดับที่ 78 นำขึ้นทะเบียนเมื่อครั้งจังหวัดสตูล ขึ้นต่อมณฑลนครศรีธรรมราชนั้นบันทึกชื่อว่า “เปลวโต๊ะมาโหม” (ที่ถูกต้องต้องเขียนว่า “เปรว” ซึ่งเป็นภาษาปักษ์ใต้หมายถึงป่าช้า) แต่ในปัจจุบันกูโบร์แห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อสุสานเจ้าเมืองสตูล หรือกูโบร์ อัล-มัรฮูม ตนกูมูฮำหมัด อากิบ สนูบุตร

กูโบร์แห่งนี้ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสตูลระหว่าง 1839 – 1876 สั่งให้สร้างขึ้นสำหรับฝังศพเจ้าเมือง และราษฎร โดยในครั้งนั้นได้มอบหมายให้หวันอุหมาก (หวันอุมาร์) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง


ที่ตั้งของกูโบร์ อัล-มัรฮูม ตนกูมูฮำหมัด อากิบ สนูบุตร

ตั้งอยู่ที่ถนนสตูลธานี 7 (สนูบุตรอุทิศ) ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล

 

การจัดสรรพื้นที่ใช้งานภายในกูโบร์

ภายในกูโบร์แห่งนี้มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12 ไร่ 1 งาน 6.4 ตารางวา การแบ่งสัดส่วนที่ฝังศพออกเป็นสองส่วนคือ


1. พื้นที่ฝังศพเจ้าเมืองสตูลและญาติวงศ์ในสายสกุลสนูบุตร เป็นพื้นที่ซึ่งแยกไว้เป็นการเฉพาะมีแผนผังบริเวณเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 20.30 เมตร ยาว 23.70 เมตร ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ภายในกูโบร์ใหญ่ โดยมีกำแพงก่ออิฐดินเผาสอปูนและฉาบปูนล้อมรอบ มีประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ พื้นที่ส่วนนี้มีเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 32.7 ตารางวา


2. พื้นที่สำหรับฝังศพราษฎร มีเนื้อที่ประมาณ 11  ไร่ 3 งาน 73.70 ตารางวา เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของ กูโบร์แห่งนี้ โดยถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและมีกำแพงล้อมรอบบริเวณกูโบร์ทั้งหมดไว้อีกชั้นหนึ่ง และส่วนที่ 2 อยู่ทางด้านทิศตะวันตกโดยมีถนนเรืองฤทธิ์จรูญแบ่งพื้นที่ทั้งสองส่วนนี้ออกจากกัน


สกุล “สนูบุตร”

สกุลสนูบุตร นับเป็นวงศ์สกุลที่สืบเชื้อสายเนื่องมาจากเชื้อสายของสุลต่านแห่งเคดะห์ (Kedah) ประเทศมาเลเซีย โดยนับถือว่าพระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) บุตรชายของพระยาไทรบุรี (สุลต่านอับดุลละห์ มูการามชาห์) และเป็นน้องชายของเจ้าพระยาไทรบุรีปาเงรัน (สุลต่านอะหมัดตายุดดิน ฮาลิม ชาห์ที่ 2) เป็นต้นสายสกุล โดยมีเชื้อสายได้ปกครองมูเก็มสโตย ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นเมืองสตูลสืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนี้


พระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) มูเก็มสโตย 1813-1815

พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) เมืองสตูล 1839-1876

พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) เมืองสตูล 1876-1884

พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) เมืองสตูล 1884-1897


ขอรับพระราชทานนามสกุล

เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 พระพิไสยสิทธิสงคราม(ตนกูมะหะหมัด) ต่อมาคือพระพิมลสัตยาลักษณ์ กรมการพิเศษเมืองสตูล ผู้เป็นบุตรของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ได้ขอพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานนามสกุลตามประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่  53 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 33 หน้า 1023 วันที่ 23 กรกฎาคม 1916 ว่า “สะนุบุตร” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Sanuputra”


พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) เจ้าเมืองสตูลคนที่ 1 (1839-1875) ตนกูมูฮำหมัดอากิบเกิดที่เมืองไทรบุรีหรือรัฐเคดะห์ (Kedah) ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นบุตรของพระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) รายามูดาแห่งรัฐเคดะห์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสุลต่านหรือเจ้าเมืองรัฐเคดะห์ คือ ตนกูอับดุลละห์ มูการามชาห์ พระยาไทรบุรี  โดยพระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) บิดาของตนกูมูฮำหมัดอากิบ เคยเป็นผู้ปกครองท้องที่มูเก็มสโตยมาก่อน แต่ในช่วงเวลานั้นมีสถานะเป็นเพียงท้องที่ตำบลหนึ่งของเมืองไทรบุรี ภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์กบฏไทรบุรีถึงสองครั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   มูเก็มสโตยได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเมื่อปี 1839 ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตนกูมูฮำหมัดอากิบขึ้นเป็นพระยาอภัยนุราช ถือเป็นเจ้าเมืองสตูลคนแรก และได้ปกครองเมืองสตูลไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5


ในปี 1876 พระยาอภัยนุราช ได้กราบบังคมทูลทูลลาออกจากราชการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาต และเลื่อนให้เป็นจางวางเมืองสตูลที่ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ มหินทราธิรายานุวัตร ศรีสกลรัฐมหาปธานาธิการ ไพศาลสุนทรจริต สยามพิชิตภักดี จางวางเมืองสตูล พระราชทานเครื่องยศพานทอง และต่อมาได้ถึงแก่อนิจกรรมในปีเดียวกันนั้น


                     หลุมฝังศพพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ)

ร่างของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) ถูกนำไปไปฝัง ณ กูโบร์อัลมาร์ฮูม เหนือหลุมฝังศพของท่านก่อเป็นแท่นก่ออิฐถือปูนขนาดยาว 3.07 เมตร กว้าง 1.52 เมตร สูง 1.35 เมตร ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้


พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) เจ้าเมืองสตูลคนที่ 2 (1876-1884)

พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) เป็นบุตรคนโตของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองสตูลในราชทินนาม "พระปักษาวาสะวารณินทร์" จนกระทั่งปี 1876 พระยาอภัยนุราชฯ (ตนกูมูฮำหมัดอากิบ) ผู้เป็นบิดากราบบังคมทูลลาออกจากราชการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็น พระยาอภัยนุราช ชาติรายาภักดี ศรีอินดาราวิยาหยา พระยาสตูน พระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ถึงแก่อนิจกรรมในปี 1884 มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 6 คน

                          หลุมฝังศพพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล)

ร่างของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล) ถูกนำไปไปฝัง ณ กูโบร์โต๊ะมาโหม เหนือหลุมฝังศพของท่านก่อเป็นแท่นก่ออิฐถือปูนขนาดยาว 2.52 เมตร กว้าง 0.98 เมตร สูง 1.07 เมตร ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ และลายเลขาคณิต


พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) เจ้าเมืองสตูลคนที่ 3 (1884-1897)

พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) เป็นบุตรชายคนโตของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอิสมาแอล)  ก่อนบิดาถึงแก่อนิจกรรมนั้น รับราชการเป็นผู้ช่วยราชการเมืองสตูลที่ พระปักษาวาสะวารณินทร เมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรมใน 1884 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็น พระยาอภัยนุราช ชาติรายาภักดีศรีอินดาราวิยาหยา ผู้ว่าราชการเมืองสตูล


ต่อมาในปี 1895 พระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) มีอาการป่วยจนไม่สามารถบริหารราชการได้ เจ้าพระยาไทรบุรีจึงแต่งตั้งกูเด็นบิน กูแมะ ข้าราชการฝ่ายปกครองของเมืองไทรบุรี มาเป็นผู้ช่วยราชการเมืองสตูล เพื่อช่วยประคับประคองการบริหารราชการ พระยาอภัยนุราช(ตนกูอับดุลเราะห์มาน) ถึงแก่อนิจกรรมในปี 1897 และไม่มีบุตรสืบทายาทเป็นเจ้าเมืองสตูล


                     หลุมฝังศพพระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน)

ร่างของพระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) ถูกนำไปไปฝัง ณ กูโบร์โต๊ะมาโหม เหนือหลุมฝังศพของท่านก่อเป็นแท่นก่ออิฐถือปูนขนาดยาว 2.55 เมตร กว้าง 1.00 เมตร สูง 0.80 เมตร


อ้างอิง

กูโบร์โต๊ะมาโหม สุสานเจ้าเมืองสตูลสายสกุลสนูบุตรและชาวเมืองสตูล, สำนักศิลปากร ที่ 11 สงขลา, https://www.finearts.go.th/fad11


วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสตูล,

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ


ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล, https://www.satun.go.th/content/history_province

Tiada ulasan: