Jumaat, 29 Januari 2021

ความสัมพันธ์ระหว่าจังหวัดนราธิวาสกับรัฐกลันตัน มาเลเซีย กรณีเมืองระแงะกับรัฐกลันตัน

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ด้วยจังหวัดนราธิวาส มีชายแดนติดกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ดังนั้นในทางประวัติศาสตร์ทั้งจังหวัดนราธิวาสและรัฐกลันตัน ย่อมมีความสัมพันธ์กันทั้งในระดับประชาชนและระดับผู้นำ จังหวัดนราธิวาส ในอดีตนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของเมืองระแงะ ซึ่งต่อมาเมืองระแงะ ได้เล็กลง จนต่อมามีสภาพเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส

 

ในที่นี่ผู้เขียนจึงขอเสนอถึงความสัมพันธ์ระหว่าเมืองระแงะในอดีตกับรัฐกลันตัน  มาเลเซีย โดยนำเนื้อหาตอนหนึ่งที่ผู้เขียนได้เขียนในหนังสือชื่อว่า “ประวัติศาสตร์จังหวัดนราธิวาส” เป็นงานชุดโครงการสืบค้นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส

 

งานเขียนข้างต้นได้เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่าเมืองระแงะในอดีตกับรัฐกลันตัน  มาเลเซีย ดังนี้

 

จังหวัดนราธิวาสนั้นประกอบด้วยอาณาบริเวณในอดีต เช่นเมืองระแงะ  เมืองสายบุรี   บางส่วนของเมืองกลันตัน  บางส่วนของเมืองรามันห์ ดังนั้นจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะเมืองระแงะ ที่มีชายแดนติดกับรัฐกลันตัน จึงมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับเมืองกลันตัน

 

เมืองระแงะเพิ่งปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อปัตตานีถูกแบ่งออกเป็น  7  หัวเมือง  ถึงอย่างไรก็ตาม  เมืองระแงะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่มีในบันทึกของไทย แต่กลับมีอยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ของรัฐกลันตัน โดยในปี 1755 (พ.ศ. 2298)  เมืองระแงะกับเมืองรามันห์กลับมีชื่อปรากฎในประวัติศาสตร์ของกลันตัน

 

ระแงะ  เป็นคำภาษามลายู  เพี้ยนจากคำว่า  Legeh  หมายถึง  บริเวณโดยปกติเป็นที่สูง และที่แยกต้นน้ำสองสายหรือมากกว่า  และในอีกข้อมูลหนึ่งคำว่า legeh ยังหมายถึงชื่อต้นไม้ป่าชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวคนอัสลีรู้จักในต้นมืที่ใช้ในการทำยาเสน่ห์  สำหรับในประวัติศาสตร์ของเมืองกลันตันนั้นระบุว่า  สุลต่านรัฐกลันตันนั้นสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองปัตตานี  เจ้าเมืองกลันตันบางท่าน  มีฐานะเป็นพ่อตา  น้องเขย  และบุตรเขยของเจ้าเมืองระแงะ  เจ้าเมืองกลันตันบางท่าน  ทางเจ้าเมืองระแงะเป็นผู้แต่งตั้งในบางสมัย เช่น  ตอนที่พวกลูกหลานเจ้าเมืองกลันตันขัดแย้งกันในเรื่องผู้สืบแทนเจ้าเมือง  มีอยู่ท่านหนึ่งมาหลบภัยอยู่ที่บางนรา  คือลงเยนัล (Long Jenal)

 

ในปี 1721(พ.ศ. 2264)  เจ้าเมืองกลันตันที่มีนามว่า  ราชาอุมาร์  (Raja  Umar)  สิ้นชีวิตด้วยโรคชรา  ลงบาฮาร์  ลูกเขยของท่านได้รับเลือกเป็นเจ้าเมืองกลันตัน

ลงสุลัยมาน  บุตรลงบาฮาร์ผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตันคนใหม่   มีบุตรี  2  คน  กับบุตรชายอีก  1  คน  มีนามว่า  ตวนเดวี  ตวนกึมบัง  และลงยูนุส  ตามลำดับ

 

ตวนเดวีบุตรีคนโตของลงสุลัยมาน  ได้แต่งงานกับเจ้าเมืองระแงะ ผู้มีชื่อว่าลงดือราห์มัน (Long  Derahman)   ลงบาฮาร์ผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตัน  สิ้นชีวิตในปี 1733 (พ.ศ. 2276) ด้วยโรคชรา  หลังจากปกครองเมืองกลันตัน  13  ปี  ลงสุลัยมานเป็นเจ้าเมืองกลันตันแทนบิดาที่เสียชีวิต


ในปี 1756 (พ.ศ. 2299)  เกิดการนองเลือดในวังกลันตัน  โดยลงดือรามันเจ้าเมืองระแงะ   ซึ่งเป็นบุตรเขยลงสุลัยมานผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตัน  ได้แทงพ่อตาของตัวเองคือ  ลงสุลัยมานผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตัน จนเสียชีวิต ลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะ  จึงแต่งตั้งลูกพี่ลูกน้องของลงสุลัยมานเป็นเจ้าเมืองกลันตัน  ที่ชื่อลงปันดัก  (Long  Pandak)  บุตรตวนสุหลง  เป็นเจ้าเมืองกลันตัน  และลปันดัก  ผู้เป็นเจ้าเมืองกลันตันคนใหม่ เป็นบุตรเขยของลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะ  โดยได้พำนักอยู่ที่วังกูบังลาบู  (Kota  Kubang  Labu)

 

วังกูบังลาบู  ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านปาเซร์เปอกัน (Pasir  Pekan)  สร้างประมาณ ปี 1702 (พ.ศ. 2245)  โดยต่วนสุหลง  บิดาของลงปันดัก ผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน ก่อนหน้านี้หนึ่งปี  วังและตำหนักสนิง  (Sening)  ตั้งอยู่ใกล้บ้านยึมบัล  (Jembal)  สร้างโดยลงบือซาร์ หรือลงบาฮาร์ (Long  Besar/Long  Bahar)  ซึ่งสืบเชื้อสายจากปัตตานี

 

ในปี 1719 (พ.ศ. 2262)  ลงบือซาร์ได้รับแต่งตั้งเป็นสุลต่านเมืองกลันตัน มีศูนย์อำนาจอยู่ที่ยึมบัล  ท่านสิ้นชีวิตในปี 1733 (พ.ศ. 2276)  หลังจากนั้นลงสุลัยมาน  ได้รับแต่งตั้งเป็นสุลต่านแทนบิดา  และต่อมาถูกเจ้าเมืองระแงะ  (ลงดือรามัน)  แทงจนสิ้นชีวิตดังได้กล่าวมาแล้ว

 

ในปี 1754 (พ.ศ. 2297)  เกิดการนองเลือดในวังกูบังลาบูอีกครั้งหนึ่งโดยสาเหตุจากความหึงหวง  กล่าวคือ  ลงยะอ์ฟาร์  หรือลงกาฟาร์  (Long  Jakfar/Long  Gafar)  บุตรเจ้าเมืองรามัน  ได้ไปเยือนเมืองกลันตัน  อึงกูตือเงาะห์  (Engku Tengah/Engku  Mas)  ราชินีของลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน  ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของลงกาฟาร์ได้เห็นผ้าคาดเอวของหลงกาฟาร์มีลวดลายสวยงามมาก  จึงขอยืมเป็นตัวอย่างในการทอผ้าเพื่อให้สามีซึ่งเป็นสุลต่านเมืองกลันตันได้ใช้ผ้าคาดเอวสวยงามบ้าง  เมื่อลงกาฟาร์กลับเมืองรามันก็ไม่ได้ขอคืนผ้าดังกล่าว 

 

เมื่อลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน เห็นผ้าคาดเอวดังกล่าวแขวนอยู่ในห้องเลยคิดว่า  ลงกาฟาร์คงมีความสัมพันธ์ลับกับภรรยาของตน  จึงแทงภรรยาของตนทันทีโดยไม่ได้สืบสวนแต่อย่างใด  อึงกูมัส  หรืออึงกูตือเงาะห์สิ้นชีวิตทันที  แล้วลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน ได้เอาศพของอังกูมัสผูกบนช้าง  “นังมาลา”  ด้วยผ้าคาดเอวของหลงกาฟาร์  และส่งกลับไปยังเมืองระแงะ  เมื่อลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะ  เห็นศพลูกสาวของตนถูกมัดอยู่บนหลังช้างนังมาลา  ซึ่งเป็นช้างที่ตนมอบเป็นของขวัญวันแต่งงานบุตรีของตนกับลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน  หลังจากเสร็จพิธีฝังศพเรียบร้อยแล้ว 

 

ทั้งลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะและลงกาฟาร์  จึงนำกองกำลังไปตีวังกูบังลาบู  ลงปันดักผู้เป็นสุลต่านเมืองกลันตัน ถูกลงดือรามันผู้เป็นเจ้าเมืองระแงะแทงด้วยกริชถึงแก่ชีวิต  แล้วแต่งตั้งลงมูฮัมมัด  น้องชายของลงปันดักเป็นสุลต่านเมืองกลันตันคนใหม่ ในปี 1758 (พ.ศ. 2301)


การที่เจ้าเมืองระแงะแต่งตั้งลงมูฮัมมัดเป็นสุลต่านเมืองกลันตัน  เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายในเมืองกลันตันในเวลาต่อมา  กล่าวคือ  ลงสุลัยมานผู้ป็นสุลต่านเมืองกลันตันคนก่อน   มีบุตรชายคนหนึ่งมีนามว่า  ลงยูนุส  บรรดาญาติพี่น้องเห็นว่า  คนที่สมควรเป็นสุลต่านกลันตันนั้นคือลงยูนุส  แต่เจ้าเมืองระแงะไม่ยอมฟังเสียง  จึงแต่งตั้งลงมูฮัมมัดเป็นสุลต่านเมืองกลันตัน  ฝ่ายญาติพี่น้องก็ยอมแบบไม่เต็มใจนัก  อีกอย่างหนึ่งขณะนั้นหลงยูนุสอายุยังน้อย  โอกาสที่ลงยูนุสจะเป็นเจ้าเมืองนั้นยังมีอีกมาก 

 

ซึ่งเหตุการณ์ณ์ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองระแงะในอดีตกับเมืองกลันตันในอดีตเป็นความสัมพันธ์ทั้งในระดับผู้ปกครอง  รวมทั้งความสัมพันธ์ในระดับประชาชนทั่วไปก็คงมีเฉกเช่นเดียวกัน

Tiada ulasan: