Jumaat, 26 Februari 2021

บางนรา เข้าใจผิดกลายเป็นที่มาของ บางนาค

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

จังหวัดนราธิวาส ยังมีสิ่งที่เป็นความเข้าใจผิดของผู้คนอีกมากมาย  นั้นคือคำว่าบางนรา  ความจริงแล้วคำว่า“นรา”นั้นมาจากคำว่ามโนราห์หรือมะโนรา  แต่ต่อมาคำว่ามโนราห์ หรือภาษามลายูท้องถิ่นเรียกว่า มโนรอ/มโนฤอ  ได้เรียกให้สั้นลงกลายเป็นนอฤอ หรือ นาฤอ  ซึ่งผู้เขียนเคยเข้าประชุมเกี่ยวกับวัฒนธรรมเมื่อไม่กี่ปีก่อน  ที่ห้องประชุมศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนราธิวาส  เป็นการประชุมระดับจังหวัดเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9  ซึ่งผู้เข้าประชุมท่านอาวุโสท่านหนึ่ง  ผู้เขียนจำชื่อไม่ได้  แต่รู้ว่าท่านเคยเป็นศึกษาธิการอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  ท่านได้กล่าวในที่ประชุมครั้งนั้นว่า  ชื่อบางนรานั้นมาจากชื่อ บางมโนราห์  ชาวมลายูท้องถิ่นในจังหวัดนราธิวาสเรียกว่า นอฤอ  แต่ปรากฏว่าในอดีตมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ เป็นข้าราชการที่มาจากภาคใต้ตอนบนเกิดความเข้าใจผิด  นึกว่า นาฤอ คือ นาฆอ  ซึ่ง นาฆอ (Naga)นั้นคือ นาค  ดังนั้นคำว่า บางนรา  กลายเป็นบางนาค  


เป็นเรื่องตลกที่หัวเราะไม่ออก

เขียนโดย อ. บางนรา นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

มีชื่อบ้านชื่อเมืองหลายแห่งที่แสดงถึงปัญหาหรือความคิดของคนที่ตั้งชื่อ   ที่ชาวบ้านเห็นแล้วหัวเราะไม่ออก  เช่น  ยะลา  เดิมชื่อยาลอ  ตัวเมืองยาลอจริง ๆ คือที่บ้านยาลอปัจจุบัน  ในตัวเมืองปัจจุบันนี้เดิมชื่อนีบง  ชาวบ้านที่มีอายุเวลาจะไปยะลาเขาจะพูดว่า  ไปนีบง

 

ส่วนเมืองนราธิวาส  เมื่อ  200  ปีมานี้  เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ที่ไม่มีชื่อ  ผู้คนเรียกแถว ๆ ปากน้ำบางนราว่า  กวาลอ  ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า  กัวลา  (kuala)  แปลว่า  ปากน้ำ

เดี๋ยวนี้ผู้คนแถบต้นน้ำของแม่น้ำบางนรา  แม้คนมีอายุแถวตันหยงมัส  ดูซงญอ  ฯลฯ  เวลาจะไปเมืองนราธิวาส  บางทีเขาพูดว่า  ไปกอลอ  ซึ่งเพี้ยนมาจาก  กัวลอ  นั้นเอง

ชาวประมงในอดีตที่อยู่ตามชายหาดฝั่งอ่าวไทย  ไม่ว่าในจังหวัดปัตตานี  นราธิวาส  จนเลยไปถึงกลันตัน  ตรับกานู  ปาหัง  ฯลฯ  มักจะมีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งคือ  “ปูญอ  ปาตา”  (puja  pantai)  แปลว่า  บูชาชายหาด  เขาจะทำกันปีละครั้ง  หรือ  2-3  ปีต่อครั้ง  พวกเขามีความเชื่อว่า  ถ้าไม่ทำจะมีภัยต่าง ๆ เกิดขึ้นกับพวกเขา

 

ที่ปากน้ำบางนราก็เช่นกัน  เวลามีงาน  ปูญอปาตา  จะมีการเชือดควายเผือก  แล้วเอาหนังยัดสิ่งเบา ๆ แล้วปล่อยลงทะเล  และมีการละเล่นต่าง ๆ แสดงเป็นเวลาหลายวันที่ขาดไม่ได้ก็คือ  มะโนรา

 

มะโนรา  (manora)  ภาษามลายูถิ่นจะพูดออกเสียงเป็น  มะนอฤอ  หรือ  นอฤอ  (ตัว  ฤ  ผู้เขียนขอใช้แทนตัวที่ออกเสียงคล้าย  ในภาษาฝรั่งเศสในคำว่า  Paris)  แล้วกลายเป็น  “นาฤอ”

“กวาลอ  นอฤอ”  ที่แปลว่า  ปากน้ำมะโนรา  จึงเป็นที่มาของคำว่า  นาฤอ  ต่อมามีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง  คงได้ยินชาวบ้านพูดว่า  นาฤอ…นาฤอ  เสียงพูดคล้ายกับคำว่า  นาฆอ  (naga)  ที่แปลว่า  นาค  ท่านผู้นั้นจึงเปลี่ยนชื่อจาก  นาฤอ  ที่เพี้ยนมาจากคำว่า  มโนรา  ซึ่งเป็นชื่อการละเล่นชนิดหนึ่ง  มาเป็น  “นาค”  ซึ่งเป็นชื่อสัตว์ในนิยาย  และกลายเป็นบางนาค  กวาลอ  นอฤอ  ที่แปลว่า  ปากน้ำมะโนรา  จึงกลายบางนาค  จนทุกวันนี้

 

Tiada ulasan: