Rabu, 19 September 2007

Nagarakertagama เอกสารที่นักวิชาการมักอ้าง แต่ไม่เคยรู้จัก

โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan

ชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักรู้จักประวัติศาสตร์ปาตานี ซึ่งหมายถึงประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยการโยงถึงอาณาจักรลังกาสุกะ หลักฐานถึงการคงอยู่ของอาณาจักรลังกาสุกะ สามารถพบได้บริเวณเมืองเก่ายะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
  นักวิชาการหรือนักประวัติศาสตร์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติชาติ เมื่อเขียนถึงประวัติศาสตร์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักอ้างกล่าวถึงเอกสาร หรือหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเขียนมาเกือบ 700 ปีแล้ว หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า Nagarakertagama ผู้แต่งหนังสือบทกวีเล่มนี้มีชื่อว่า mpu Prapañca ขณะที่แต่งนั้นเขายังไม่ได้มีคำนำหน้าว่า mpu พ่อของเขามีชื่อว่า mpu Nadendra มีตำแหน่งเป็น Dharmâdhyaksa ring Kasogatan, หรือผู้นำด้านกิจการศาสนาพุทธ

ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ นาย J.L.A. Brandes นักวรรณกรรชวาชาวฮอลันดา ได้เก็บไว้ ภายหลังจากติดตามกองทัพเจ้าอาณานิคมฮอลันดา KNIL บุกโจมตีราชวังของกษัตริย์แห่งเกาะลอมบ๊อก เมื่อปี 1894 โดยนาย J.L.A. Brandes สามารถเก็บเอกสารได้ก่อนที่กองทัพฮอลันดาจะทำการเผาราชวังและเอกสารต่างๆที่อยู่ในห้องสมุดของราชวัง ต่อมาหนังสือเล่มนี้เก็บไว้ในหมวด ลอมบ๊อก รหัสเลขที่ L Or 5.023 ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยไลเด็น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อมาเมื่อพระราชินีจูเลียน่า กษัตริย์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ เดินทางมาเยี่ยมประเทศอินโดเนเซียในปี 1973 จึงได้มีการมอบแก่ประเทศอินโดเนเซีย ปัจจุบันเก็บไว้ที่ หอสมุดแห่งชาติ สาธารณรัฐอินโดเนเซีย มีเลขรหัสที่ NB 9
เขียนหนังสือที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับการปกครองรัฐ โดยเฉพาะบรรยายถึงความรุ่งเรื่องของอาณาจักรมาชาปาหิต โดยหนังสือ Nagarakertagama ได้บรรยายถึงอาณาเขตของอาณาจักรปาชาปาหิตที่มีอาณาบริเวณกินเนื้อที่ถึงแหลมมลายู โดยปรากฏความบันทึกใน Nagarakertagana ดังนี้

Ikang Sakahawan Pahang Pramuka tang Hujung Medini
ri Langkasuka len ri Saimwang, i Kalaten I terengganu, Nacor,
Pakamuar, Dungun Sri Tumasik ri Sanghyang, Klang,
Keda, Jere, Niran Sanusa Pupul.

แปลเป็นภาษามลายูปัจจุบันได้ดังนี้

Walau bagaimanapun Pahang, Hujung Medini (Johor),
Langkasuka(patani), Saimwang, kelantan, Terengganu, Nacor,
Paka, Muar, Dungun, Tumasik, Sanghyang, Klang, Kedah, Jerai,
Niran Semuanya berkumpul dalam satu Nusantara
(Slametmuljana , 1953 : 16)

ตามที่นักวิชาการต่างๆทั้งในประเทศไทย รวมทั้งมาเลเซียมักกล่าวว่าอาณาจักรลังกาสุกะกินอาณาเขตตั้งแต่เคดะห์ จนถึงปาตานี โดยเฉพาะนักวิชาการที่มาจากรัฐเคดะห์ก็จะเป็นการสร้างความชอบธรรมในการอ้างลังกาสุกะของรัฐเคดะห์ สังเกตุจากหนังสือ Nagarakertagama จะแยกออกจากกันระหว่างลังกาสุกะกับเคดะห์ ซึ่งหลักฐานจากเอกสารโบราณนี้สามารถแสดงให้เห็นว่าลังกาสุกะกับเคดะห์เป็นคนละส่วนกัน ไม่ใช่ดินแดนเดียวกัน

H.M. Yamin ได้กล่าวถึง Nagarakertagama ว่าหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดย Prapanca เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 1365 นับว่าเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งเป็นหลักฐานอ้างอิงเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของอาณาจักรมาชาปาหิต

หนังสือ Nagarakertagama เล่มนี้รู้จักในนาม Kekawin Nagarakertagama คำว่า kekawin นั้นหมายถึงรูปแบบของบทกวี หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 98 บาท ซึ่งมีดังต่อไปนี้

· ตอน 1 (มี 1 บท)
เริ่มด้วยเกี่ยวกับปรัชญาของ Prapanca และวัตถุประสงค์ของการเขียนหนังสือ Nagarakertagama
· ตอน 2 (มี 11 บท)
ว่าด้วยโครงสร้างศูนย์อำนาจการปกครองของอาณาจักรมาชาปาหิต
· ตอน 3(มี 3 บท)
ว่าด้วยดินแดน Nusantara และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งอาณาจักรมาชาปาหิตมีอำนาจในดินแดนนั้น
· ตอน 4 (มี 11 บท)
ว่าด้วยการเผยแพร่และพิทักษ์ศาสนาศิวะ (ฮินดู) และพุทธในดินแดน Nusantara
· ตอน 5 (มี 3 บท)
ว่าด้วยโครงสร้างการปกครองภายในอาณาจักรมาชาปาหิต
· ตอน 6 (มี 28 บท)
ว่าด้วยการเดินทางของกษัตริย์ Hayam Wuruk ไปยังดินแดนขาวตะวันออกและชาวกลาง
· ตอน 7 (มี 21 บท)
ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของรัฐสิงหาสารี (Singasari) – มาชาปาหิต นับตั้งแต่เกน อาระ (Ken Arok) จนถึงฆายะห์มาดา (Gajah Mada) และมีการกล่าวถึงเกี่ยวกับกษัตริย์ Hayam Wuruk
· ตอน 8 (มี 14 บท)
ว่าด้วยการเฉลิมฉลองผู้ทำรัฐ และเฉลิมฉลองพิธีกรรมในอาณาจักรมาชาปาหิต
· ตอน 9 (มี 1 บท)
ว่าด้วยเกี่ยวกับการป้องกันรัฐจากข้าศึก
· ตอน 10 (มี 5 บท)
ว่าด้วยการจบเรื่องทั้งหมด

ครับ ทั้งหมดนี้คือเนื้อหาของหนังสือเล้มนั้น เมื่อเราๆ ท่านๆ จะอ้างหนังสือเล่มนี้โยงถึงประวัติศาสตร์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังว่าคงจะอ้างด้วยรู้ความเป็นมา และเนื้อหาที่มีอยู่ในหนังสือเล่มนั้นบ้าง

Tiada ulasan: