โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan
มัสยิดวาดิลฮุสเซ็น ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ อยู่ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มัสยิดแห่งนี้ถือว่าเป็นมัสยิดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งที่พบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส แม้ว่าจะไม่มีบันทึกเวลาการก่อสร้างมัสยิด แต่เชื่อว่ามัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดที่เก่าแก่และมีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคมลายู (Nusantara) อายุของมัสยิดแห่งนี้ นับว่าเป็นการยากที่จะคำนวญอายุที่แท้จริง มีทั้งที่กล่าวว่า 380 ปี ซึ่งจริงๆแล้วอายุนั้นอาจจะไม่ถึงก็ได้ เพราะมีข้อสงสัยและยังหาข้อพิสูจน์ยังไม่ได้ ผู้เขียนเองเป็นลูกหลานชั้นที่ 7 ของท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี ผู้ก่อสร้างมัสยิด (ซึ่งจริงๆผู้ก่อสร้างต้องมีหลายคนอยู่แล้ว ทั้งชาวบ้าน นายช่าง บรรดาผู้นำ หรือผู้ที่ได้รับการนับถือมักสั่ง หรือ ชี้นิ้วอย่างเดียว แต่ไม่รู้ทำไม พอมีการบันทึกทีไร ชื่อผู้สร้างมักเป็นชื่อเดียวๆของผู้ใดคนหนึ่ง) จากที่ผู้เขียนได้วิ่งไป วิ่งมานับครั้งไม่ถ้วน พูดคุย สัมภาษณ์ บันทึก คำพูดคุยของฮัจญี อับดุลฮามิด หรือรู้จักในนามของปะดอดูกู จากบ้านดูกู แป๊ะบุญ หรืออำเภอบาเจาะ ได้กล่าวว่ามัสยิดตะโละมาเนาะสร้างโดยบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ วันฮุสเซ็น ซานาวี นักการศาสนาผู้ท่องจำอัล-กุรอ่านทั้งเล่มแห่งบ้านสะนอ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี วันฮุสเซ็นเป็นพี่น้องปู่ของนักการศาสนาที่มีชื่อเสียงของปัตตานีที่มีชื่อว่า เชคดาวุด อัล-ฟาตานี วันฮุสเซ็น ถือว่าเป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกบ้านตะโละมาเนาะ
ถ้าดูอย่างผิวเผิน ไม่ว่าดูตัวจริงหรือรูปถ่าย สถาปัตยกรรมและโครงสร้างอาคารมัสยิดเก่าแก่แห่งนี้ มีส่วนคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมและโครงสร้างของมัสยิดกำปงลาอุต ซึ่งอายุของมัสยิดแห่งนั้นก็ไม่รู้แน่ชัด ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทั้งสองมัสยิดนี้มีความเกี่ยวพันกัน หรืออย่างน้อยทั้งสองมัสยิดนี้ก่อสร้างในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน จนกระทั่งรูปแบบสถาปัตยกรรมมีส่วนคล้ายกันมาก บ้านตะโละมาเนาะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาบูโด ในจังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็นเทือกเขาใหญ่และสำคัญ เริ่มจากบ้านต้นไทรทางด้านทิศเหนือตั้งทอดยาว จรดถึงยี่งอทางด้านทิศใต้ ส่วนทางทิศตะวันออกนั้นเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ สำหรับทิศตะวันตกเป็นภูเขาแห่งเทือกเขาบูโด
กลางหมู่บ้านตะโละมาเนาะมีธารน้ำสายหนึ่งไหลมาจากภูเขาลงสู่ไร่นา ที่ตั้งมัสยิดและบรรดาบ้านเรือนตั้งอยู่ด้านเหนือของธารน้ำ ส่วนด้านใต้ของธารน้ำเป็นบริเวณสุสานที่กว้างปราศจากพุ่มไม้ ชื่อมัสยิดเชื่อว่ามาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง จากการสอบถามชาวบ้านได้ความว่าในบริเวณสายธารนั้นมีต้นไม้ที่ชาวบ้านเรียกว่าต้นมาเนาะ ข้าพเจ้าเชื่อว่าตะโละมาเนาะน่าจะมาจากชื่อต้นไม้(ต้นมาเนาะ)มากกว่าที่จะมาจากคำว่ามาเนาะที่เป็นคำมลายูโบราณที่แปลว่านก หรือ ไก่ ปัจจุบัน คำว่ามาเนาะ (manok)ที่แปลว่า ไก่ ยังคงมีการใช้อยู่ เช่นในภาษาตากาล๊อก (ฟิลิปปินส์), ภาษาบายาว (bajau)ในรัฐซาบะห์ รวมทั้งชาวมอแกนในแถบจังหวัดอันดามันของไทยก็ใช้คำนี้
สำหรับชื่อมัสยิดนี้ไม่เป็นที่ปรากฎว่ามีการใช้ชื่อ มัสยิดวาดิลฮุสเซ็นตั้งแต่เมื่อไร ผู้เขียนเคยค้นเอกสารเก่าๆบนที่ว่าการอำเภอก็ปรากฎว่าพบคำว่ามัสยิดตะโละมาเนาะ หรือแม้ว่า Tan Sri Mubin Sheppard ในหนังสือที่ชื่อว่า Taman Indera พิมพ์ปี 1972 ซึ่งเขาเดินทางมาที่มัสยิดแห่งนี้ถึงสองครั้ง ในหนังสือดังกล่าวก็ไม่ปรากฎว่าเขียนชื่อมัสยิดวาดีฮุสเซ็น จะมีก็แต่มัสยิดตะโละมาเนาะ แถมมี footnote เขียนว่ามัสยิดแห่งนี้มีอายุประมาณ 200 ปี
ถึงแม้ว่ามัสยิดนี้จะเล็ก (เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดามัสยิดสมัยปัจจุบัน) แต่เสาและไม้โครงที่ใหญ่และมองแล้วไม่สมดุลกับความกว้างและความยาวของมัสยิด ไม้ทั้งหมดเป็นไม้ตะเคียนที่ได้จากภูเขาบูโด ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณนั้นไม่เหล่านี้ไม่ได้ใช้เลื่อย แต่ทำให้เรียบโดยใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งที่เรียกว่าขวานเล็ก (Beliung) เกือบทั้งหมดของอาคารมัสยิดไมใช่ตะปู สำหรับบริเวณที่ต้องใช้ตะปู ตะปูที่ใช้เป็นตะปูที่ผลิตเองโดยช่างตีเหล็กในพื้นที่จากคำบอกเล่าของปะดอดูกู เป็นเวลา 100 ปี ที่สร้างมัสยิดนี้คงใช้หลังคามุงจากเฉกเช่นเดียวกันกับบ้านในอดีต ภายหลังเมื่อมีอิฐสงขลา หลังคามุงจากจึงถูกแทนที่ หลังคาจำเป็นต้องใช้เพราะการใช้อิฐสงขลา หลังคามุงจากจึงถูกแทนที่ หลังจากจำเป็นต้องใช้เพราะการใช้อิฐสงขลานี้ ซึ่งทำมาจากปูนผสมกับน้ำตาลมะพร้าว และยางมะตอย ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นซีเมนต์ดังเช่นปัจจุบันนี้ เมื่อปี 1997/98 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่มาเลเซียได้ทำการศึกษาสถาปัตยกรรมของมัสยิดแห่งนี้เป็นเวลา 1 เดือน โดยมีผู้เขียนเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว จากการศึกษาครั้งนั้น มีการค้นพบการสลักชื่อผู้แกะสลักดอกไม้ประดับมัสยิด
ก่อนที่มีการบุกบิกเป็นหมู่บ้าน ตะโบะมาเนาะเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เป็นที่ล่ากวางและสัตว์อื่น ๆ ชาวบ้านในท้องถิ่นที่ได้พบมากล่าวถึงเรื่องราวที่สนุกสนานในการล่าสัตว์ของบรรพบุรุษของพวกเขา ได้เล่าว่ามีกวางจำนวนมากในป่าเทือกเขาบูโดในขณะที่ล่านั้น บรรดาสัตว์เหล่านี้บางครั้งวิ่งหนไปใต้ถุนมัสยิด จนถุงปัจจุบัน (ดูภาพ) นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงสิ่งของซึ่งเป็นสมบัติของมัสยิดคัมภีร์อัล-กุรอ่านเขียนด้วยมือ 7 เล่ม ตำราศาสนาเก่าซึ่งเขียนด้วยมือเช่นกัน (หนังสือต้นฉบับ), ขวานเล็ก, กระทะใหญ่ 1 ใบ สามารถหุงข้าวให้บรรดาแขกกินได้ถึง 300 คนและอื่น ๆ อีก นอกเหนือจากขวานเล็กที่สรรพสิ่งมีชีวิตไม่อาจทำลายได้สมบัติทั้งหมดของมัสยิดได้เกิดความเสียหายไปแล้ว คัมภีร์อัล-กุรอ่านและบรรดาตำราศาสนาถูกสภาพสิ่งแวดล้อมทำหายไป และบางเล่มได้หายไป ส่วนกระทะใหญ่ที่ถูกเก็บรักษาไว้ใต้ถุนมัสยิดเกิดเป็นรูรั่ว และต่อมาเกิดแตกร้าวเป็นชิ้น ๆ จนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป นับตั้งแต่กระทะใหญ่ของมัสยิดเกิดความเสียหาย เราไม่เคยเห็นกระทะใหญ่ขนาดเท่ากระทะใบนั้นอีกเลย” ชาวบ้านคนหนึ่งได้กล่าวไว้ เขาได้บอกว่ากระทะดังกล่าวสำหรับใช้ในการทำพิธีสำคัญ ๆ ทางศาสนาที่มัสยิด
พื้นที่บริเวณมัสยิดเคยเป็นที่พักอาศัยของบรรดานักศึกษาปอเนาะ ในสมัยที่ฮัจญีอับดุกาเดร์ เป็นอิหม่ามมัสยิดพร้อมทั้งเป็นโต๊ะครูปอเนาะ เขาเป็นหนึ่งในบรรดานักปราชญ์ศาสนาปัตตานี ถึงแม้ว่าไม่มีชื่อเสียงมากนัก ซึ่งเคยทำการสอนศาสนาที่นครมักกะห์เป็นเวลาถึง 20 ปีก่อนกลับมายังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปอเนาะแห่งนี้มีอายุได้ไม่นานนัก บทบาทของปอเนาะแห่งนี้อาจมีน้อยกว่าปอเนาะบางแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้มัสยิดตะโละมาเนาะไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก บางคนอาจไม่เห็นความสำคัญด้วยซ้ำไป การสร้างชื่อเสียง หรือการเผยแพร่ชื่อเสียงของมัสยิดแห่งนี้ แม้ผู้เริ่มต้นคงมีความต้องการใช้กระแสทางการเมืองเพื่อสนับสนุนตนเองในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของจังหวัดนราธิวาส แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ถ้านายเสนีย์ มะดากะกุล อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไม่ทำการเผยแพร่ชื่อเสียงมัสยิดแห่งนี้โดยการจัดงานครบรอบ 350 ปี (ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับอายุดังกล่าว แต่เชื่อว่าการทำให้อายุแก่กว่าความเป็นจริง ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างความขลังให้กับมัสยิด) วันนี้ผู้คนก็อาจยังไม่รู้จักมัสยิดแห่งนี้ ปัจจุบันมีการจำลองมัสยิดตะโละมาเนาะเก็บไว้ในพิธภัณฑ์อิสลามในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
Tiada ulasan:
Catat Ulasan