โดยนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ช่วงนี้เป็นช่วงสอบของนักศึกษารามคำแหง
เลยถูกครอบครัวให้มาเป็นเพื่อนลูกชายที่เพิ่งสมัครเรียนเทอม 2 ของสาขาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้จะเคยมาตอนเด็กๆ แต่พอโตมาเรียกได้มาไม่เคยมาเลย
จึงต้องมาเป็นเพื่อน
หลังจากที่เรียนมาในสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มนร.
ทางครอบครังเห็นว่า ต้องสร้างเด็กให้แกร่งขึ้นมากกว่าที่จะเรียนอยู่ในพื้นที่
จึงตกลงให้มาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ให้กลับมาอ่านหนังสืออยู่ที่บ้านนราธิวาส
ช่วยดูแลผู้เขียนด้วยผู้เขียนมีปัญหาสุขภาพ จากเป็นโรคเส้นสมองตีบ เมื่อการสอบเทอม
2 นี้เป็นครั้งแรกที่ลูกชายต้องมาสอบ
ทางครอบครัวจึงให้ผู้เขียนมาเป็นเพื่อน การมาสัมผัสรามคำแหงของผู้เขียนครั้งนี้ ทำให้นึกถึงอดีตของผู้เขียนในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง
มหาวิทยาลับรามคำแหงไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ และในประเทศไทย
แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ให้ประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะประสบการณ์จากกิจกรรมนักศึกษา
ประสบการณ์การสร้างเครือข่าย
ซึ่งเครือข่ายเหล่านั้นนับตั้งแต่ในสมัยมหาวิทยาลัยยังคงใช้ได้จนถึงปัจจุบัน และสองสามปีสุดท้ายก่อนจบ ผู้เขียนก็ได้พักที่บ้านของคุณพิศูจน์
หะยีดิน นักการทูตจากกระทรวงต่างประเทศที่ชำนาญด้านตะวันออกกลาง ด้วยจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งไคโร
ประเทศอิยิปต์ ท่านเป็นลูกศิษย์ของนายโคฟี อานัน เลขาธิการสหประชาชาติ คุณพิศูจน์ หะยีดิน เคยเป็นกงสุลใหญ่ของไทย
ประจำเมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เคยเป็นกงสุลใหญ่ของไทย ประจำเมืองเจดดะห์
ซาอุดีอาราเบีย เคยเป็นอุปทูตไทยประจำประเทศโอมาน
และตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีต่างประเทศในสมัย ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์
เป็น รัฐมนตรีต่างประเทศ ด้วยได้อาศัยคุณพิศูจน์ หะยีดิน ทำให้ได้รับอิทธิพลโดยไม่รู้ตัว
ได้เรื่องรู้เรื่องการต่างประทศทั้งจากหนังสือ จากพูดคุย และได้พบปะเพื่อนนักศึกษาจากต่างประเทศ
ทำให้ในการทำกิจกรรมนักศึกษา จะทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบด้านต่างประเทศไปด้วย
มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นเป้าหมายเดียวของพวกเราที่มาจากสามจังหวัดชายแดนใต้
ในฐานะที่จะเป็นบ้านของพวกเราทั้งที่สอบเอนทรานส์เข้ามหาวิทยาลัยรัฐไม่ติดและไม่ได้สอบเอนทรานส์
สำหรับผู้เขียนอยู่ในประเภทหลังคือไม่ได้สอบเอนทรานส์ ด้วยคิดว่าถึงจะสอบเอนทรานส์ ก็คงสอบเอนทรานส์ เข้ามหาวิทยาลัยใดๆไม่ได้ ทั้งที่คุณพ่อมักพูดเสมอถึงท่านปรีดี พรหมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
หรือในปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงจะเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้
แต่มักเข้าร่วมงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสมอ จากงานเสวนา ร่วมทั้งงานของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
และสมาพันธ์นักศึกษาเอเชีย หรือ Asian Student Association (ASA) และในเวลาต่อมา
ลูกสาวก็สามารถเข้าศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบออกมาเป็นนักโปรแกรมเมอร์ของบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
ถึงตัวเองจะไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีคนในครอบครัวเข้าเรียนแล้ว
ครั้งแรกที่รู้จักชื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ในสมัยผู้เขียนเรียนมัธยมปลายที่กรุงเทพฯ ได้เดินทางไปดูมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ซึ่งมีเพื่อนรุ่นพี่ นายซอลและห์ ชาวอำเภอเดียวกันกับผู้เขียนเรียนอยู่
ในสมัยที่ถนนหน้ามหาวิทยาลัยยังเป็นดินแดง อยู่ระหว่างสร้างถนนลาดยาง และเมื่อผู้เขียนเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผู้เขียนได้รู้จักสองนักกิจกรรมนักศึกษาที่มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ
คุณมันโซร์ สาและ
ซึ่งเป็นคนอำเภอเดียวกันกับผู้เขียน และอีกคนคือ คุณณรงค์ ดูดิง เป็นชาวจังหวัดยะลา
เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา พรรคประชาธิปัตย์
ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เขียนค่อนข้างจะสนใจกิจกรรม จนเรียกว่าเป็นนักกิจกรรม บ้ากิจกรรมจนเสพติดขึ้นสมอง ทุกวันจะต้องมาที่ตึกกิจกรรมนักศึกษา ตึกที่นักศึกษาเรียกว่าตึกแสง เพื่อรำลึกถึงนายแสง รุ่งนิรันดรกุล นักศึกษารามคำแหงที่เป็น 1 ใน 9 นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถูกลบชื่อ นักเขียนหนังสือการเมือง ภายหลังถูกฆ่าเสียชีวิต ชื่อนี้ไม่ใช้ชื่อที่เป็นทางการของตึกกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัย พอเปลี่ยนยุคสมัย คำว่า ตึกแสงก็คงจะไม่มี เสียดายไม่ได้ถามนักศึกษา ผู้เขียนต้องตกใจ ประหลาดใจเมื่อเดินไปตามชมรมต่างๆบนชั้นสาม ชั้นสี่ แทบจะร้าง ไม่มีนักศึกษามาทำกิจกรรม กะจะให้ลูกชายสมัครเป็นสมาชิกชมรมการตลาด สอบถามนักศึกษาได้ความว่า ตั้งแต่หลังโควิด 19 นักศึกษามาทำกิจกรรมน้อยลง เดินแวะเข้าชมรมนักศึกษามุสลิมรามคำแหง ก็นั่งคุยกับน้องๆ น่าจะเรียกรุ่นลูกๆมากกว่า ก็ได้ความว่า โครงการของชมรมมุสลิมมีลดลง ถามว่า มีโครงการพิมพ์หนังสือศาสนาไหม เพราะในสมัยก่อนจะมีการพิมพ์หนังสือศาสนาเพื่อแจกจ่าย นอกจากเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ศาสนาแล้ว ยังสร้างชื่อให้ชมรมมุสลิมอีกด้วย บอกน้องนักศึกษาว่า ผู้เขียนเคยรับตำแหน่งเป็นกรรมการกลางชมรมมุสลิม ซึ่งตำแหน่งนี้มี 3 คน ทำหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมฝ่ายวิชาการ กรรมการกลางชมรมมุสลิมรุ่นเดียวกันกับผู้เขียน มีนายนกเอี้ยง หรือ นายมูฮัมหมัด ส่าเหล็ม นักเขียนบทกวีชื่อดัง นายฮารุน ยีหมัด นักวิชาการมุสลิมชื่อดัง มีกรรมการที่พอจำเ เช่น นายสมาน งามโขนง นักจัดรายการวิทยุมุสลิมชื่อดัง ข้อดีของชมรมนักศึกษามุสลิม จะเป็นที่หลอมรวมของนักศึกษามุสลิมจากกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งมาจากจังหวัดต่างๆ ข้อดีของการร่วมกิจกรรมกับชมรมนักศึกษามุสลิม ทำให้มีเพื่อนมุสลิมจากสถานที่ต่างๆ ไม่จำกัดอยู่เพียงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้เขียนมีถิ่นฐานกำเนิด ซึ่งสิ่งนี้มีส่วนทำให้ลดดีกรีความเป็นภูมิภาคนิยม
เมื่อผู้เขียนลงมาจากชมรมนักศึกษามุสลิม ชั้นสามตึกกิจกรรมนักศึกษา มายังชั้นสอง เจอป้ายทำเนียบรายชื่อประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง อ่านชื่อก็รู้จักหลายคน เช่น นายแวมาหะมะ จินาแว ชาวอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาส เขตอำเภอยี่งอ ผู้เขียนเคยเป็นสมาชิกสภานักศึกษา พรรคนักศึกษา 7 คณะ ปัจจุบันพรรคนักศึกษานี้น่าจะสลายไปแล้ว ซึ่งเป็นพรรคนักศึกษาที่ชนะเลือกตั้งมาหลายสมัย นอกจากเป็นสมาชิกสภานักศึกษาแล้ว ยังมาทำรับตำแหน่งเป็นฝ่ายวิชาการของสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง การที่ต้องมารับตำแหน่งฝ่ายวิชาการ ทำให้ผู้เขียนต้องตัดหนังสือพิมพ์ หรือที่เรียกว่า clipping เกือบจะทุกวัน ตัดข่าวต่างๆ บทความสำคัญ ทำมาเป็นเวลานาน จนทำให้การตัดหนังสือติดจนเป็นนิสัยถึงปัจจุบัน เจอข่าว เจอบทความดีๆ เป็นต้องตัดเป็น clipping ด้วยสมาชิกสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง(สมร.) กับองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) มาจากพรรคเดียวกัน ทำให้มีเพื่อนที่สนิทจนถึงปัจจุบันหลายคน หลายคนก็ห่างเหินไม่พบกันเคย แต่ก็ติดตามข่าวคราวเสมอ เช่น สายองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) มีนายเทพไท เสนพงศ์ นักการเมืองอดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช เจ้าของสายล่อฟ้า นายสุพจ จริงจิต รองนายก อศ.มร. เคยเป็นนักข่าวเครือผู้จัดการของคุณสุทธิ ลิ้มทองกุล อีกคนคือนายบุญเลิศ กิตติธรกุล อดีตนายก อศ.มร. ปัจจุบันผู้บริหารโรงแรมหนึ่ง น่าจะของครอบครัวบนเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ นายสมเสือ สุวรรณนิมิตร ผู้มาในโควต้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รับหน้าที่เป็นฝ่ายสวัดิการ เมื่อมหาวิทยาลัยมีการแจกจ่ายโต๊ะให้นักศึกษา นายสมเสือ สุวรรณนิมิตรรก็รับผิดชอบแจกโต๊ะ โต๊ะส่วนหนึ่งก็แจกให้นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนสายสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง(สมร.) มีนายละม้าย แสนขวัญแก้ว อดีตประธานสภานักศึกษา เคยเป็นอดีตสมาชิกสภาจังหวัด หรือ สจ. เขตอำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช และอดีตรองนายก อบจ. นครศรีธรรมราช นายประจักษ์ มะวงศ์สา อดีตรองประธานสภา เป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ซึ่งผู้เขียนเคยเป็นคอลัมนิสต์อิสระให้ โดยเขียนข่าวต่างประเทศ นายสมชาย เมฆาอภิรักษ์ อดีตรองนายกเทศมนตรีนครสงขลา ที่จำอีกคนที่เป็นอดีตสมาชิกสถานักศึกษา นักพูดคนหนึ่ง คือ นายคราศรี ปัจจุบันเป็นทนายความแห่งจังหวัดสุรินทร์
สิ่งหนึ่งที่นายสมเสือ สุวรรณนิมิตร ฝ่ายสวัสดิการ อศ.มร.
ยังจำจนถึงปัจจุบัน คือ ในสมัยที่นายเบนิกโน อากีโน จูเนียร์ (ค.ศ. 1932—1983)
หรือ นินอย อากีโน อดีตวุฒิสมาชิก ผู้นำฝ่ายค้านของฟิลิปปินส์ ผู้เป็นสามีของนางคอราซอน
อากี อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ถูกลอบสังหารที่สนามบินในปี ค.ศ. 1983 ผู้เขียนได้ร่วมกันร่างโทรเลขประณามการสังหารดังกล่าว
โดยฉบับหนึ่งส่งถึงประธานาธิบดีฟอร์ดินัน มาร์คอส และอีกฉบับหนึ่งส่งถึงนายพล ฟาเบียน
แวร์ (Fabian Crisologo Ver) ผู้นำการทหารของฟิลิปปินส์ โดยผู้เขียนน่าจะกับนายสมเสือ สุวรรณนิมิตร ได้ไปส่งโทรเลขที่ไปรษณีย์รามคำแหง
ผู้เขียนได้เก็บรักษาใบส่งโทรเลขข้างต้น
พร้อมตัดเก็บข่าวที่ออกในข่าวรามคำแหงเป็นเวลาหลายสิบปีจนปัจจุบันไม่รู้หายไปไหน
เป็นการส่งโทรเลขประนามประธานาธิบดีฟอร์ดินัน มาร์คอสในนามขององค์การนักศึกษา (อศ.มร.) และสภานักศึกษา (สมร.) รู้ว่าส่งโทรเลขไปแล้ว
ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์
การร่วมกิจกรรมกับองค์การนักศึกษา (อศ.มร.) และสภานักศึกษา (สมร.) ทำให้ได้รับประสบการณ์มากมาย และสามารถนำประสบการณ์และประยุคใช้ในอนาคต ซึ่งเมื่อผู้เขียนมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เขียนก็นำประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นประโยชน์ ในครั้งหนึ่งคณะกรรมการสภานักศึกษาได้มีการประชุม แนะว่าจะมีรุ่นพี่มาเป็นที่ปรึกษาสภานักศึกษา (สมร.) เป็นสองนักศึกษารามคำแหงที่เพิ่งออกจากป่า ภายหลังจากป่าแตก คนแรกคือ คุณสมคาด สืบตะกูล ส่วนคนที่สองคือ คุณพินิจ จารุสมบัติ สำหรับคุณพินิจ จารุสมบัติ เข้าทำงานช่วยคุณบุญชู โรจนเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ได้รับการยกย่องให้เป็น "ซาร์เศรษฐกิจ" มีใครคนหนึ่ง หรือผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจ ถามตรงไปว่า พี่ครับ ทำไมพี่ทำงานกับนายทุน คำตอบที่ได้รับคือ ยังก้องอยู่ในหูผู้เขียนจนถึงปัจจุบัน คำตอบทำนอง นายบุญชู โรจนเสถียร เป็นนายทุนที่จะช่วยคนจน ภายหลังคุณพินิจ จารุสมบัติ เคยเป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สุจินดา คราประยูร) อดีตหัวหน้าพรรคเสรีธรรม ปัจจุบันเป็นแกนนำกลุ่มวังพญานาค พรรคชาติพัฒนา ส่วนคุณสมคาด สืบตระกูล ภายหลังเคยเป็นอดีตเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. ยุคนายพิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเขายังเคยเป็นส.ว. อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมนักศึกษาในช่วงท้ายๆ
เมื่อนักกิจกรรมนักศึกษาจากทั้งองค์การนักศึกษา (อศ.มร.) และสภานักศึกษา (สมร.)
จะใกล้หมดวาระ พวกเราก็เอาโต๊ะที่ได้รับแจกจากนายสมเสือ
สุวรรณนิมิตร มาตั้งเป็นโต๊ะซุ้มตัวเอง ในที่ประชุมก็มติใช้ชื่อว่า
องค์การนักศึกษาเสรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้เขียนเสนอใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Ramkhamhaeng
University Free Student Union และที่โต๊ะเสนอสลักชื่อว่า Old
Activist เพื่อแสดงว่า พวกเราเป็นนักกิจกรรมเก่าที่มาจากองค์การนักศึกษา
(อศ.มร.) และสภานักศึกษา (สมร.) เมื่อเวลาแต่ละคนแยกย้ายกันจบ ก็คิดว่า
โต๊ะที่สลักคำว่า Old Activist ถ้ายังอยู่ที่เดิม
ต่อไปไม่รู้ว่าใครต่อใครจะเป็นเจ้าของ จึงนำมาไว้ที่โต๊ะซุ้มของกลุ่ม PNY เพราะต่อไปก็จะเป็นของกลุ่ม PNY ตลอดไป
โต๊ะนี้อยู่กับกลุ่ม PNY เป็นสิบๆปี เพิ่งจะเมื่อไม่นานมานี้
ที่มหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุง จัดทำโต๊ะถาวรแบบไม่สามารถยกไปไหนได้ ส่วนโต๊ะที่สลักคำว่า
Old Activist ก็ได้โละทิ้ง เสียดายถ้ารู้ว่าถูกทิ้งไว้มุมไหน
หรือเอาไปขายแล้ว ไม่งั้นจะยอมเสียค่าขนส่งขนกลับมายังจังหวัดนราธิวาส เก็บไว้เป็นที่ระลึก
ในสมัยทำกิจกรรมกับองค์การนักศึกษา (อศ.มร.) และสภานักศึกษา (สมร.) ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับองค์การนักศึกษา 17 สถาบัน ต่อมาเปลี่ยนเป็นสหพันธ์นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ Students Union of Thailand และได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 4 ของ Asian Students Association ซึ่งเป็นองค์กรร่วมขององค์กรนักศึกษาจากประเทศต่างๆในเอเชีย มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ฮ่องกง และในการพูดคุยวงในของกลุ่มนักศึกษาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบวงใหญ่ไม่ทราบ เสนอให้มีการวมตัวให้แน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมาลายา นายอิสมาแอล ซับรี ยะกุ๊บ เสนอให้มีการจัดตั้งองค์การนักศึกษามลายูจากประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในภายหลังนายอิสมาแอล ซับรี ยะกุ๊บ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของประเทศมาเลเซีย ส่วนมหาวิทยาลัยมาลายาที่เขาศึกษา ในภายหลังผู้เขียนก็กลายเป็นศิษย์เก่าคนหนึ่ง และใช้เครือข่ายศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมาลายาในการทำกิจกรรมช่วงที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
หลังจากเดินสัมผัสตึกกิจกรรมแล้ว ก็ลงไปสัมผัสกลุ่มนักศึกษาชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกว่า กลุ่ม PNY ได้พบคุยกับรุ่นน้อง รุ่นลูก มีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งครั้งก่อนถามผู้เขียนว่า ในสมัยที่เรียนเคยรับผิดชอบตำแหน่งอะไรบ้างในกลุ่ม PNY เออ... ผู้เขียน หัวเราะในใจ แล้วตอบว่า ไม่เคย ไม่มีจริงๆด้วย เพราะครั้งที่นายมะ จินาแว เป็นประธานกลุ่ม PNY ในการพูดคุยวงในครั้งนั้นเมื่อนายมะ จินาแว ชนะเลือกตั้ง มีการเสนอชื่อคนที่จะมาเป็นกรรมการกลุ่ม PNY จำได้ว่า ผู้เขียนจะเป็นคนที่เสนอใครต่อใครหลายคนมาเป็นกรรมการกลุ่ม PNY มากกว่าที่จะเสนอตัวเอง และปฎิเสธเมื่อถูกเพื่อนเสนอชื่อให้เข้าร่วมเป็นกรรมการกลุ่ม PNY จนมีเรื่องตลกเมื่อใครคนหนึ่งในกลุ่ม PNY บอกว่า ผู้เขียนอกหักที่ไม่ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลุ่ม PNY การเลือกประธานกลุ่ม PNY ยุคนั้น ถือว่าดุเดือดมาก เมื่อกลุ่ม PNY แตกออกเป็น 2 ขั้วใหญ่ ส่งผู้สมัครลงชิงเป็นประธานกลุ่ม PNY คือ กลุ่มหนึ่งส่งในนามพรรคมาตุภูมิ หรือ Parti Pusaka ส่วนผู้เขียนกับนายมะ จินาแว ก็ตั้งทีมขึ้นมาใช้ชื่อว่า แนวร่วมนักศึกษาชายแดนภาคใต้ ในขณะที่จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างการเลือกตั้งมากขึ้น นายเสรี นักศึกษาจากตำบลบูกิ๊ต ขณะนั้นยังอยู่ในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ก็ติดป้ายกระดาษที่โต๊ะกลุ่ม PNY ว่ากลุ่มของเขาก็พร้อมลงเลือกตั้งเป็นประธานกลุ่ม PNY ในนามกลุ่มกิบลัต ผู้เขียนเห็นช่องทางที่ดี จึงเสนอทั้งแนวร่วมนักศึกษาชายแดนภาคใต้และกลุ่มกิบลัต มารวมกันเป็นแนวร่วมกิบลัต นับแต่นั้นทางกลุ่มมาตุภูมิกับกลุ่มแนวร่วมกิบลัตก็หาเสียงกันอย่างดุเดือด ในขณะใกล้หมดเวลาปิดการลงคะแนน ทางนายสมเสือ สุวรรณนิมิตรวิ่งมาบอกว่า เขาลงคะแนนผิด โดยลงคะแนนให้อีกกลุ่ม จึงบอกให้นายสมเสือ สุวรรณนิมิตรไปหานักศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มา ถ้าลงคะแนนผิด 1 คะแนน ก็ให้ไปหานักศึกษามาลงคะแนน 2 คน เพื่อเสียง 1 คะแนนจะไปลบที่ลงคะแนนผิด และอีก 1 คะแนนจะได้มาเพิ่มให้แก่คะแนนแก่กลุ่มแนวร่วมกิบลัต ซึ่งก็ได้ผลเมื่อนายมะ จินาแว ชนะเลือกตั้งเป็นประธานกลุ่ม PNY ด้วยคะแนน 141 คะแนน ต่อ 140 คะแนน และภายหลังนายมะ จินาแว เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาส เขตอำเภอยี่งอ กิจกรรมนักศึกษาของกลุ่ม PNY ก็จะเป็นแนวเน้นการเมือง มีลักษณะภูมิภาคนิยม ส่วนในปัจจุบัน ไม่ทราบเพราะไม่ได้พูดคุย แต่เชื่อว่า สิ่งที่ผู้เขียนและเพื่อนทำในสมัย 40 ปี มันช่างไกลมาก ไม่อาจเทียบกับความคิดของนักศึกษาจากจังวัดชายแดนภาคใต้ในยุคปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือเมื่อช่วงสำเร็จการศึกษาสักปีสองปี ผู้เขียน นายอุเซ็ง มาหะมะ (ฮุสเซ็น บ้านทอน) และนายกอเซ็ม บูเกะบากง ได้ร่วมเดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ด้วยได้รู้จักเลขานุการของนายดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีเยาวชนและการกีฬาของประเทศมาเลเซีย ภายหลังเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จากการพูดคุยที่กระทรวงเยาวชนและการกีฬามาเลเซีย พวกเราจะขอนำเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปฝึกงานระยะสั้นในโรงงานของประเทศมาเลเซีย โดยความช่วยเหลือของกระทรวงเยาวชนและการกีฬามาเลเซีย เช่นโรงงานผลิตซ๊อสมะเขือเทศ และอื่นๆ หลังจากเยาวชนเหล่านั้นกลับมายังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกพืขการเกษตรป้อนโรงงานที่เคยไปฝึกงาน ความคิดดีมาก และดีมากสำหรับคนจบการศึกษาใหม่ๆ แต่มันเด็กเกินไปที่จะทำโครงการดังกล่าว จึงเป็นท่าดีที่เลว ไม่เหมาะสำหรับเด็กน้อย ไร้เดียงสาอย่างพวกเรา แม้จะไม่สำเร็จ แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความคิดก้าวไกลของเด็กเพิ่งจบการศึกษา เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันไม่ทราบ เพราะไม่เคยคุยเรื่องการทำงานใดๆในอนาคตของพวกเขา สิ่งที่เขียนมาเป็นเกล็ดเล็กๆ ประสบการณ์ท่ได้รับจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
Tiada ulasan:
Catat Ulasan