Rabu, 7 Ogos 2024

หนังสือพิมพ์ Selompret Melayoe หนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับแรกของชวาตะวันออก อินโดเนเซีย

 โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ครั้งนี้ขอเขียนถึงหนังสืออีกฉบับของอินโดเนเซีย สมัยอินโดเนเซียยังไม่ได้รับเอกราชจากฮอลันดา ยังรู้จักในนามของอินเดียตะวันออกของดัตช์ หรือ Netherlands East Indies เป็นหนังสือพิมพ์เมื่อ 160 ปีก่อน หนังสือพิมพ์ดังกล่าวชื่อว่า หนังสือพิมพ์ Selompret Melayoe ในอดีตของอินโดเนเซีย คำว่า Melayoe หรือ มลายู ยังเป็นที่ยอมรับของอินโดเนเซีย

หนังสือพิมพ์ Selompret Melayoe ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อหนังสือพิมพ์ Slompret Melajoe แปลว่าทรัมเป็ตมลายู น่าจะหมายถึงการกระจายข่าวของมลายู เป็นหนังสือพิมพ์ของอินโดเนเซีย หรือ Netherlands East Indies (อินเดียตะวันออกของดัตช์) สมัยตกอยู่ภายใต้การปกครองของฮอลันดา หนังสือพิมพ์ Selompret Melayoe ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1860 จัดพิมพ์โดย GCT van Dorp โดยมีบรรณาธิการคือ นาย D. Appel ในตอนแรกเริ่มหนังสือพิมพ์ Selompret Melayoe  ค่อนข้างจะระมัดระวังในการเสนอข่าว แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1900 โดยในช่วงนั้นสถานการณ์ได้เปลี่ยนได้ในทางที่ดีขึ้น หนังสือพิมพ์ Selompret Melayoe เริ่มเข้าสู่การเสนอข่าวทางการเมือง แม้ว่าจะยังเต็มไปด้วยการเสนอข่าวธุรกิจก็ตาม การเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ Selompret กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์ธุรกิจภาษามลายูใน Netherlands East Indies (อินเดียตะวันออกของดัตช์)

หลังจากปี 1875 หนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe มีคำขวัญว่า "Soerat Kabar Basa Melajoe" หรือ  “หนังสือพิมพ์ภาษามลายู” จะมีการเสนอข่าวเกี่ยวกับข่าวการประมูลข่าว ข่าวที่มาจากแหล่งต่างๆ ข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้นำท้องถิ่น ข่าวสารจากหน่วยงานทหารและพลเรือน ข่าวสารจากภูมิภาคต่างๆ และคอลัมน์ "Hikayat" หรือคอลัมน์ “ตำนาน” มีการแปลตำนานต่างๆ มีคอลัมน์ "Kabar Kiriman" เป็นเวทีสําหรับผู้อ่านจากหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อระบายเกี่ยวกับความยากลําบากในภูมิภาค ความหลากหลายของคอลัมน์ ทำให้การตีพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็น 400-600 เล่ม ในปี 1881 Selompret Melajoe ได้มีการตีพิมพ์ทุกวันพุธและวันเสาร์ จากนั้นจึงเปลี่ยนคำขวัญว่า "Soerat Kabar dan Advertentie" หรือ “หนังสือพิมพ์และการโฆษณา”  ในปี 1891  นาย WNJG Claasz กลายเป็นบรรณาธิการ และในปี 1902 นาย JPP Halkema เป็นบรรณาธิการ และหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ทุกวันอังคาร พฤหัสบดี เสาร์ โดยมีฉบับละ 4 หน้า


การเคลื่อนไหวของแนวคิดชาตินิยม ทําให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe ลดลง จนทำให้ได้รับผลกระทบในการตีพิมพ์ และปี 1920 หนังสือ Selompret Melajoe จึงหยุดการตีพิมพ์

หนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe มีการเสนอขาวที่หลากหลาย  ตัวอย่างหนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe ฉบับ 5 มิถุนายน 1888 มีการเสนอข่าวต่างๆ เช่น


ข่าวจากเมืองอัมบน บนเกาะมาลูกุ ในพื้นที่ Wetter, Letti, Moa, Leiker, Kisser, และ Roma ผู้คนจำนวนมากกำลังปลูกข้าวโพด ข้าว และพืชต่างๆ ในเมืองบันดา (เกาะบันดา) มีการปลูกต้นจันทน์เทศ ซึ่งอุดมสมบูรณ์ ราคาข้าวในเมืองอัมบนสูงถึง 7-8 กิลเดอร์ และส่วนข้าวโพด 2-3 กิลเดอร์ต่อ1 ปีกุล (62.5  กิโลกรัม)


ขณะเดียวกันจากเกาะบาหลีและเกาะลอมบอก มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1888  เกิดแผ่นดินไหว หรือในภาษาชวา เรียกว่า ลินดู (Lindu) ถึง 10 ครั้งต่อวัน แต่ไม่ใหญ่เกินไป และไม่ทำให้ภูเขาไฟบาตูร์ เกิดการปะทุขึ้น


ข่าวจากอำเภอเกอกาลงกัน (Pekalongan) โดยเฉพาะเขตเกอเซสซี เขตสราฆี (Sragi) ระบุว่าต้นข้าวประมาณ 1,739 เฮกตาร์ได้รับผลกระทบจากศัตรูพืช เป็นลงชนิดหนึ่งที่ชาวชวาเรียกว่า Walangsangit ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก


จากเมืองยอกยาการ์ตา ในหมู่บ้านเกอตันดัน (Ketandan) มีชายคนหนึ่งชื่อ Redjodikromo มีสินค้าในรูปของผ้าและแหวนมูลค่า 32.35 กิลเดอร์ และสัญญาว่าจะขายให้กับผู้หญิงชื่อนาง Tidjem  ซึ่งมีลักษณะทีฉ้อโกง ตำรวจได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาทั้งๆ ที่ยังไม่ได้สอบสวนเรื่องนี้ จึงขอเงิน 2.50 กิลเดอร์จากโจทก์ แถมตำรวจยังขอเงินสด 1.25 กิลเดอร์จากนาง Tidjem  ซึ่งตอนนั้นมีเงินแค่ 50 เซ็นต์ ขอเวลาหนึ่งวัน ตำรวจไม่ยอมรับ แต่ยืนกรานขอเงินสด 1.25 กิลเดอร์


อีกข่าวหนึ่งรายงานว่า นาย Brodjodimedjo เป็นชาวชวาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ Kroya, Cilacap เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1888 เขามาที่เมืองยอกยาการ์ตา เพื่อขายข้าวและถั่วเหลืองให้กับชายชาวจีนชื่อนาย Oei Ma Djiauw หลังจากตกลงเรื่องราคาเสร็จ นาย Brodjodimedjo นำถั่วเหลืองมาเพียง 21 ปีกุล (  1,312.5 กิโลกรัม) ในราคา 84 กิลเดอร์ จากนั้นเขาก็ยืม 566 กิลเดอร์จากจีน โดยสัญญาว่าจะส่งถั่วเหลืองเพิ่มในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ชาวจีนรอมานานแล้วและสินค้าก็ไม่เคยมาถึง เขาไปที่ Kroya, Cilacap เพื่อค้นหานาย Brodjodimedjo แต่มีรายงานว่า นาย Brodjodimedjo หายไปที่ไหนสักแห่ง

ด้วยผู้เขียนเคยเดินทางไปยังหมูเกาะบันดา จึงได้เห็นร่องรอยของฮอลันดาบนหมู่เกาะบันดา ไม่ว่าป้อมปราการ อาคารสถานที่ต่างๆ จึงขอแทรกเรื่องที่หนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe รายงานถึงหมู่เกาะบันดา หมู่เกาะที่เคยมีความสำคัญในการปกครองของฮอลันดาต่ออินโดเนเซียในขณะนั้น


นาย Frial Ramadhan Supratman ซึ่งวิจัยเรื่องการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์  Selompret Melajoe ต่อหมู่เกาะบันดา ในหัวข้อ Penulusuran Informasi Kepulauan Banda Dalamt Surat kabar Selompret Malajoe กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับแรกที่ตีพิมพ์ในอินเดียตะวันออกของดัตช์ หรือ อินดเนเซีย แต่ยังมีหนังสือพิมพ์อื่น เช่น หนังสือพิมพ์ Soerat Kabar Bahasa Melaijoe พิมพ์ในปี 1856 ซึ่งหนังสือพิมพ์ Soerat Kabar Bahasa Melaijoe ตีพิมพ์โดย e. Fuhri ที่เมืองสุราบายา นอกจากนั้นยังมีหนังสือพิมพ์ภาษามลายู คือหนังสือพิมพ์ Bintang Oetara และ หนังสือพิมพ์ Soerat Chabar Betawie


หนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe แม้จะตีพิมพ์ในชวาตะวันออก แต่มีการเสนอข่าว นอกเกาะชวา เช่นข่าวบนเกาะสุมาตรา เกาะกาลีมันตัน เกาะมาลูกุ แม้แต่เกาะปาปัว


การเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe ที่มีต่อหมู่เกาะบันดา จังหวัดหมู่เกาะมาลูกุ ซึ่งขณะนั้นหมู่เกาะบันดา มีความสำคัญต่อฮอลันดา และเป็นจุดยุทธศาสตร์ของฮอลันดา หมู่เกาะบันดาเป็นหมู่เกาะที่ผลิตจันทน์เทศ คนจากนอกหมู่เกาะบันดา เช่น ชาวชวา และชาวมลายู จะนำเสื้อผ้าไปขาย และจะนำจันทน์เทศกลับไป หนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe ฉบับ 1  มิถุนายน 1878 รายงานถึงผู้ที่ตั้งถิ่นฐานบนหมู่เกาะบันดาว่า มีชาวชวา ชาวมากัสซาร์ ชาวมันดาร์ ชาวอาหรับ ชาวจีน และอื่นๆ หนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe ยังรายงานถึงการนำศิลปะการแสดงจากเกาะชวา มายังหมู่เกาะบันดา


ส่วนเพื่อนผู้เขียนอีกคน เช่น Dr. Suryadi อาจารย์ชาวอินโดเนเซีย ที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยไลเด้น เนเธอร์แลนด์ ได้เขียนบทความลงบล็อกของตนเองในหัวข้อว่า Dari “Selompret Malajoe” Sampai “Slompret Melayoe” (จากชื่อ Selompret Malajoe ถึงชื่อ Sampai “Slompret Melayoe) ได้เขียนถึงหนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe ว่ามีการเปลี่ยนชื่อถึง 4 ครั้ง โดยกล่าวว่า แม้ว่า ดร. Ahmat Adam ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกชื่อ The Vernacular Press and the Emergence of Modern Indonesia Consciousness (1855-1913) จากสถาบัน SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอน และในหนังสือ The vernacular press and the emergence of modern Indonesian consciousness (1855-1913) พิมพ์โดย Cornell University จะกล่าวว่า มีการเปลี่ยนชื่อแค่ 3 ครั้ง โดย Dr. Suryadi  กล่าวว่า ที่มีการเปลี่ยนชื่อถึง 4 ครั้งคือ

1. Selompret Malajoe

2. Selompret Melajoe

3. Selompret Melaijoe

4. Slompret Melayoe


Dr. Suryadi กล่าวเพิ่มเติมว่า ในศตวรรษที่ 19 เป็นเรื่องปกติของหนังสือพิมพ์คนพิ้นเมืองที่มีการเปลี่ยนชื่อให้เข้ากับการสะกดอักษรในยุคนั้นๆ เช่น คำว่า ตะวันออก หรือ Timur ในชื่อหนังสือพิมพ์ยุคนั้น จะมีการใช้ ทั้ง “Timoor” ในหลายหนังสือพิมพ์ ต่อมาเปลี่ยนเป็น  “Timor” หรือคำว่า เมืองสุราบายา ที่เขียนวา Surabaya ก็จะเขียนว่า “Soerabaija” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “Soerabaia” ซึ่งขณะนั้น ยังไม่มีการกำหนดการสะกดอักษรแบบมาตราฐาน  แต่สามารถกล่าวได้ว่าหนังสือพิมพ์ Selompret Melajoe เป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับแรกของชวาตะวันออก


อ้างอิง :

Ahmat Adam, Thesis Phd The Vernacular Press and the Emergence of Modern Indonesia Consciousness (1855-1913), SOAS


Ahmat Adam, The vernacular press and the emergence of modern Indonesian consciousness (1855-1913). Ithaca, N.Y. Southeast Asia Program, Cornell University.


Frial Ramadhan Supratman, Penulusuran Informasi Kepulauan Banda Dalamt Surat kabar Selompret Malajoe Koleksi Perpustakaan Nasional RI, Tadwin:Jurnal Ilmu Perpustakaan dan Informasi Vol. 4 No. 1 (2023): jurnal Uiniversitas Islam Negeri (UIN) Radenfatah Palembang,


Eti Kurniasih, SLOMPRET MELAYOE 5 Juni 1888,Monumen Pers Nasional, https://mpn.kominfo.go.id/


Suryadi (Dr.), Dari “Selompret Malajoe” Sampai “Slompret Melayoe”, https://niadilova.wordpress.com/


Yamamoto, Nobuto (2019). Censorship in colonial Indonesia, 1901-1942. Leiden: Brill.

 

Tiada ulasan: