Isnin, 29 April 2024

เซอร์เจมส์ บรูค ราชาผิวขาวคนแรกของรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

เรามาทำความรู้จักกับเซอร์เจมส์  บรูค  ผู้ได้ชื่อว่าเป็นราชาผิวขาว (White Rajah) คนแรกของรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย เขามีชื่อเต็มว่า James Bertram Lionel Brooke เกิดเมื่อ 29 เมษายน 1803 เสียชีวิตเมื่อ 11 มิถุนายน1867 เขาเกิดในอินเดีย ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางผู้หญิงในบ้านของครอบครัว เขาเป็นบุตรของนายโธมัส  บรูค ( Thomas Brooke) และนางแอนนา มาเรีย  บรูค (Anna Maria Brooke) บิดาของเขาเป็นผู้พิพากษาของแบงคอล อินเดีย


การเริ่มต้นในรัฐซาราวัค

ในปี 1835 บิดาของเขาเสียชีวิต และทิ้งมรดกให้เขาเป็นจำนวน £30,000  นายเจมส์  บรูค ได้นำเงินจำนวนนั้นไปซื้อเรือเดินทะเล ชื่อว่า Royalist ในปี 1838 เขาได้เดินเรือไปยังเกาะบอร์เนียว และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เขาได้เดินทางไปยังเมืองกูจิง และได้รับรู้ว่า ชนเผ่าดายักของรัฐซาราวัค ได้ก่อกบถต่อต้านสุลต่านแห่งรัฐบรูไน   เซอร์เจมส์  บรูค ได้ช่วยเหลือราชามูดาฮาชิม ผู้เป็นน้าของสุลต่านแห่งรัฐบรูไน และเป็นราชามูดา (อุปราช) ของสุลต่านแห่งรัฐบรูไน รวมทั้งเป็นผู้ปกครองดินแดนรัฐซาราวัค ในการปราบกบถ และเมื่อสามารถปราบกบถชนเผ่าดายักได้แล้ว


ราชามูดาฮาชิม ได้ตอบแทนเซอร์เจมส์ บรูค โดยมอบตำแหน่งเป็นราชาแห่งซาราวัคในปี 1841 ต่อมาตำแหน่งดังกล่าวได้รับการยอมรับจากสุลต่านแห่งรัฐบรูไน กลายเป็นราชาผิวขาวแห่งรัฐซาราวัค   มีข้อมูลบางด้านกล่าวว่า เซอร์เจมส์ บรูค ได้ให้การสนับสนุนการก่อกบถอย่างลับๆ มีการเห็นเซอร์เจมส์ บรูค พบกับกลุ่มก่อกบถ


ต้นเหตุการณ์ก่อกบถในรัฐซาราวัค

ในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐซาราวัคได้บันทึกว่า  ในปี 1836 สุลต่านอุมาร์ อาลี ไซฟุดดิน ที่ 2 แห่งรัฐบรูไน ได้ส่งขุนนางเชื้อพระวงศ์ของพระองค์ที่ชื่อว่าปาเงรันมะห์โกตา (Pangeran Mahkota)  พร้อมกับผู้ติดตาม ไปยังรัฐซาราวัค  ตอนที่ปาเงรันมะห์โกตาปกครองรัฐซาราวัคนั้น เขาปกครองด้วยความอยุติธรรม กลุ่มขุนนางจากรัฐบรูไนเหล่านี้ได้มีการเอาข้าวสาร ปลา รังนก และสิ่งของจากชาวบ้านพื้นเมือง โดยไม่จ่ายตอบแทนค่าสิ่งของ นอกจากนั้นยังให้ชาวบ้านจ่ายภาษีด้วยอัตราที่สูง สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอันมาก

                                   ภาพวาดปาเงรันมูดาฮาชิม

ในรัฐซาราวัค มีการเปิดเหมืองพลวง (Antimony) และเหมืองทอง หนึ่งในผู้ที่ริเริ่มเปิดเหมือง คือดาตูปาติงฆีอาลี (Datu Patinggi Ali) ซึ่งมีชาวจีน ชาวดายัก เป็นพวก  จึงได้ก่อกบถระหว่างปี 1836 – 1840 ทำให้สุลต่านบรูไน จำเป็นต้องส่งปาเงรันมูดาฮาชิม (Pengiran Muda Hashim) ไปยังรัฐซาราวัคเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ไขการกดขี่ ความอยุติธรรมที่สร้างขึ้นโดยปาเงรันมะห์โกตา และในปี 1838 กำลังของดาตูปาติงฆีอาลี ยิ่งเข้มแข็งขึ้น เมื่อได้รับการสนับสนุนดินปืนและอาหารจากสุลต่านซัมบัส (จังหวัดกาลีมันตันตะวันตก อินโดเนเซีย) นอกจากนั้นทาง ดาตูปาติงฆีอาลี ยังขอความช่วยเหลือจากฮอลันดา แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะไม่ต้องการเข้าร่วมก้าวก่ายในกิจการรัฐซาราวัค


ด้วยสถานการณ์จำเป็น ทำให้ทางปาเงรันมูดาฮาชิม ต้องขอความช่วยเหลือจาก เซอร์เจมส์  บรูค ที่เดินทางมากับเรือพร้อม 2 ปืนใหญ่ โดยมีการสัญญาจะให้เซอร์เจมส์  บรูค ปกครองบริเวณซาราวัค (เมืองกุจิง) และเมืองเซอเนียวัน จากนั้นในปี 1840 กำลังของเซอร์เจมส์  บรูค  และกำลังของ ปาเงรันมูดาฮาชิม จึงโจมตีกำลังของดาตูปาติงฆีอาลี ที่เมืองลีดะห์ตานะห์ (Lidah Tanah) แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ ต่อมาเมื่อ 20 ธันวาคม 1840 กำลังของเซอร์เจมส์  บรูค  และกำลังของปาเงรันมูดาฮาชิม ได้โจมตีกำลังของดาตูปาติงฆีอาลี อีกครั้งที่เมืองซีกูดิส (Sikudis) ในครั้งนี้ กำลังของเซอร์เจมส์  บรูค  และกำลังของปาเงรันมูดาฮาชิม ประสบความสำเร็จเมื่อ คนของดาตูปาติงฆีอาลี คือปาเงรันมัตอูซิน (Pangeran Matusin) และผู้ติดตาม เดินทางเข้าพบเซอร์เจมส์  บรูค พร้อมขอเจรจาสงบศึก  และเซอร์เจมส์  บรูค ได้เห็นถึงอิทธิพลของดาตูปาติงฆีอาลี จึงแต่งตั้งเป็นมุขรัฐมนตรีคนแรกของของรัฐซาราวัค


                                เซอร์เจมส์  บรูค ที่ประเทศอังกฤษ


การต่อต้านของชาวมลายู

การปกครองรัฐซาราวัคของเซอร์เจมส์  บรูค ไม่ได้ราบรื่นตลอดไป ด้วยได้รับการต่อต้านจากชาวมลายูและชนพื้นเมืองอื่นๆ มีการต่อต้านที่หนังสือประวัติศาสตร์รัฐซาราวัคเรียกว่า The Malay Plot   ในปี 1853 1857 และ 1860  ภายใต้การนำของ  Datu Patinggi Abang Abdul Ghafor ที่เมืองกุจิง และ Sharif Masahor ที่เมือง Sarikei


                              สุสานเซอร์เจมส์  บรูค ที่ประเทศอังกฤษ


บั้นปลายชีวิตของเซอร์เจมส์  บรูค

ในสุดท้ายเซอร์เจมส์  บรูค ได้ลาพักและเดินทางกลับไปยังอังกฤษในปี 1863 อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากกลับไปยังอังกฤษ ทางเซอร์เจมส์  บรูค ได้เดินทางกลับมายังรัฐซาราวัคอีก 2 ครั้ง เพื่อปราบโจรสลัดและปราบกบถที่เกิดขึ้นในรัฐซาราวัค เขาเสียชีวิตที่ไร่ของเขาที่ Devonshhire ประเทศอังกฤษในปี 1868 หลังจากที่เกิดเส้นสมองตีบ 3 ครั้งในระยะเวลา 10 ปี สำหรับเซอร์เจมส์  บรูค กล่าวว่ามีบุตร  แต่เป็นบุตรนอกสมรส


อ้างอิง

Buyong Adil, Sejarah Sarawak, Kuala Lumpur: Dewan Bahasa dan Pustaka, 1981.


Sanib Said, Malay Politics in Sarawak 1946-1966: The Search for Unity and Political Ascendancy, Singapore: Oxford University Press, 1985.


Spenser St John, Rajah Brooke ,London, 1897.


The Ranee of Sarawak, My Life in Sarawak, Methuen & Co., London. 1913.


Tiada ulasan: