Ahad, 15 November 2020

นายอิบราฮิม ยะอากู๊บ (Ibrahim Yaakub) นักชาตินิยมมาเลเซียผู้หวังจัดตั้งประเทศอินโดเนเซียรายา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

นักชาตินิยมชาวมาเลเซีย ที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอินโดเนเซีย จนคนรุ่นใหม่ชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่งไม่รู้จัก นายอัสวี วารมัน อาดัม นักวิชาการชาวอินโดซียได้เขียนไว้ในหนังสือ ชื่อว่า Menguak Misteri Sejarah[1] โดยเขียนว่า นายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  เกิดเมื่อ 27 พฤศจิกายน 1911 ที่หมู่บ้านตันหยงเกอร์เบา เมืองเตอเมอร์โละห์ รัฐปาหัง  บรรพบุรุษของเขา มีเชื้อสายชาวบูกิสได้เดินทางมายังรัฐปาหัง มาเลเซีย ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20  

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ของมาเลเซียอีกคน คือ ศ. ดร. รัมละห์  อาดัม ได้เขียนหนังสือชื่อ Sumbangan Dikenang[2] โดยเขียนว่า พ่อของเขาชื่อ ฮัจญียะอากู๊บ เป็นนักการศาสนาในหมู่บ้าน ส่วนแม่ของเขาชื่อนางฮาวา บินตีฮุสเซ็น เมื่อนายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ มีอายุเพียง 2 ขวบ ทางพ่อและแม่ก็ได้หย่ากัน โดยนายอิบราฮิม   ยะอากู๊บอาศัยอยู่กับแม่ ส่วนพ่อก็ได้ย้ายไปอยู่หมู่บ้านอื่น คือ หมู่บ้านเจอบง (Kampung Cebung) เขตเติมเบอลิง รัฐปาหังเช่นกัน ความสัมพันธ์กับพ่ออยู่ในระดับดี เขาได้รับการศึกษาด้านศาสนาจากพ่อของเขา

สำหรับความคิดชาตินิยมของเขาเริ่มในสมัยที่เรียนในวิทยาลัยฝึกหัดครูสุลต่านอิดริส  โดยนักวิชาการมาเลเซีย อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ชื่อ ศ. ดร. วันฮาชิม วันเตะห์ เขียนหนังสือ ชื่อ Hubungan Etnik di Malaysia[3] ได้เขียนไว้ว่า ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ชาวมลายูเกิดขึ้นราวทศวรรษที่ 1920 ยิ่งเมื่อมีการจัดตั้งวิทยาลัยฝึกหัดครูสุลต่านอิดริส หรือ Maktab Perguruan Sultan Idris (SITC) ที่เมืองตันหยงมาลิม รัฐเปรัคในปี 1922 โดยวิทยาลัยฝึกหัดครูสุลต่านอิดริสได้สร้างนักชาตินิยมหลายคน รวมทั้งนายอิบราฮิม   ยะอากู๊บด้วย


ในช่วงที่เรียนที่ วิทยาลัยครูสุลต่านอิดริส (Maktab Perguruan Sultan Idris) ระหว่างปี 1928-1931 ครูของเขาได้สอนถึงขบวนการชาตินิยมของอินเดีย อิยิปต์ อินเดีย และญี่ปุ่น  นายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  ได้อ่านหนังสือพิมพ์ที่นำเข้ามาจากประเทศอินโดเนเซีย หรือ Dutch East Indies ในขณะนั้น หนังสือพิมพ์ดังกล่าว เช่น หนังสือพิมพ์ Persatuan Indonesia และหนังสือพิมพ์ Fikiran Rakjat


ในช่วงปี 1929-1930 ได้เกิดองค์กรลับทางการเมืองขึ้นมา 2 องค์กร คือ พันธมิตรแหลมมลายูบอร์เนียว  หรือ Ikatan Semenanjung Borneo (ISB) และองค์กรที่ชื่อว่าพันธมิตรเยาวชนนักศึกษา หรือ Ikatan Pemuda Pelajar (IPP) หรือ เยาวชนมาลายา หรือ Belia Malaya ซึ่งประกอบด้วยนายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  (Ibrahim Yaakub) นายมูฮัมหมัดอีซา มาห์มุด (Muhammad Isa Mahmud) นายยะอากู๊บ  มูฮัมหมัดอามีน (Yaakub Muhd. Amin) นายฮัสซัน ฮัจญีมานัน (Hassan Haji Manan) องค์กรหลังนี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 35 คน

โดยสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆในอินโดเนเซีย รวมทั้งพรรคแห่งชาติอินโดเนเซีย หรือ Parti Nasional Indonesia (PNI) ของซูการ์โน[4]

ในปี 1940 ขณะที่มีอายุได้ 29 ปี นายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  ได้กลายเป็นนักชาตินิยมหัวรุนแรง มีความภูมิใจในตัวของซูการ์โน แห่งอินโดเนเซีย และในปี 1941 ด้วยความช่วยเหลือทางการเงินของกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นในประเทศสิงคโปร์  ทำให้นายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  สามารถซื้อหนังสือภาษามลายูในสิงคโปร์ นั้นคือหนังสือพิมพ์ Warta Malaya สำหรับหนังสือพิมพ์ Warta Malaya นั้นนักวิชาการประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย คือ นายซุลกีฟลี บิน มาห์มุด ได้เขียนว่า[5] เป็นหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ระหว่างปี 1931-1941 นั้นคือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสื่อเพื่อต่อสู้เรียกร้องเอกราชให้แก่มาลายาของสมาคมมลายูหนุ่ม  หรือ Kesatuan Melayu Muda (KMM)


หนังสือพิมพ์ Warta Malaya จัดพิมพ์ขึ้นที่สิงคโปร์ มีบรรณาธิการหลายคน เช่น

ดาโต๊ะออนน์  บินยะอาฟาร์ ระหว่างปี 1930-33

สัยยิดอัลวี บินสัยยิดเชค อัล-ฮาดี ระหว่างปี1933-34

สัยยิดฮุสเซ็น บินอาลี อัล-ซากอฟฟ์ ระหว่างปี 1934-1941

นายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  ในปี 1941 โดยด้วยความช่วยเหลือของญี่ปุ่น ทำให้นายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ สามารถซื้อหนังสือฉบับนี้ไว้ได้  

สำหรับการซื้อหนังสือพิมพ์ Warta Malaya ของนายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ ทางนาย Cheah Boon Kheng[6] ก็ได้เขียนว่าในเดือนเมษายน 941 ด้วยความเห็นชอบของกรุงโตเกียว สั่งให้หัวหน้ากงสุลญี่ปุ่นประจำสิงคโปร์  นายเคน สึรุมิ (Ken Tsurumi) ได้มอบเงินจำนวน 18,000 เหรียญให้แก่นายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ ในการซื้อหนังสือฉบับดังกล่าว จากเจ้าเดิมที่เป็นเชื้อสายอาหรับ คือ สัยยิดฮุสเซ็น บินอาลี อัล-ซากอฟฟ์

ผู้ที่จัดตั้งสมาคมมลายูหนุ่ม  หรือ Kesatuan Melayu Muda (KMM) นอกจากนายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  ยังมี นายฮัสซัน มานัน (Hassan Manan) นายอับดุลการิม ราชิด (Abdul Karim Rashid ) นายมูฮัมหมัด อีซา มาห์มูด ( Mohd Isa Mahmud)


ตอนที่เกิดสงครามแปซิฟิก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941  นายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  และสมาชิกสมาคมมลายูหนุ่ม  หรือ Kesatuan Melayu Muda (KMM) จำนวน 110 คน ถูกจับ ต่อมาเมื่อกองทัพญี่ปุ่นขึ้นบกที่ฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู บรรดาสมาชิกของสมาคมมลายูหนุ่ม  หรือ Kesatuan Melayu Muda (KMM) ได้กลายเป็นผู้ชี้ทาง และเป็นล่ามให้กับกองทัพญี่ปุ่น  และกองทัพญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทัพของชาวชาวอินโดเนเซียบนเกาะชวา เรียกว่า Tentera Pebela Tanah Air และบนเกาะสุมาตรา รวมทั้งมาลายา ได้จัดตั้ง กองทัพที่เรียกว่า Giyugun  โดยกองทัพญี่ปุ่นได้ฝึกนายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  เป็นเวลา 6 เดือน และตั้งยศเป็นพันโท


นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มาเลเซีย กล่าวว่านายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  น่าจะเป็นบุคคลแรกๆที่เสนอแนวทางการต่อสู้เพื่อเอกราชของมาลายา   เขาได้ร่วมกับนายอิสฮัก ฮัจญีมูฮัมหมัด หรือ ปะซาโก (Pak Sako) และเพื่อนๆ เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมลายูหนุ่ม  หรือ Kesatuan Melayu Muda (KMM) โดยมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Young Malays Union ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์  ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 1938  เพื่อรักษาสิทธิและต่อต้านเจ้าจักรนิคมอังกฤษ   ก่อนที่เขาจะจัดตั้งสมาคมมลายูหนุ่ม  หรือ Kesatuan Melayu Muda (KMM) นั้น


ในปี 1938 เขาได้สมัครเป็นสมาชิกของสมาคมมลายูรัฐสลังอร์ แต่ปรากฎว่าสมาคมมลายูรัฐสลังงอร์อยู่ภายใต้อิทธิพลของบรรดาสายอนุรักษ์นิยม และมีเชื้อสายเจ้าเป็นองค์อุปถัมภ์ สิ่งที่สำคัญคือ สมาคมมลายูรัฐสลังงอร์ ค่อนข้างจะเป็นสมาคมรัฐนิยม รับเฉพาะสมาชืกที่เป็นชาวรัฐสลังงอร์เท่านั้น นอกจากนั้น แนวความคิดเกี่ยวกับมลายูที่ค่อนข้างจะแคบ ไม่เพียงไม่รับชาวมลายูนอกรัฐสลังงอร์ ชาวมลายูจากเกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะสุลาเวซี ยิ่งจะไม่รับใหญ่ ดังนั้นนายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ กับเพื่อนๆ จึงออกมาตั้งสมาคมของตนเอง โดยใช้ชื่อว่า สมาคมมลายูหนุ่ม  หรือ Kesatuan Melayu Muda (KMM) เมื่อเดือนเมษายน 1938[7]


และต่อมาองค์กรนี้อีกยุบในปี 1945 เขาเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่อยู่ในแหลมมลายู  ที่สนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งประเทศ Melayu  Raya   หรือ  Indonesia Raya  ตามแผนการภายใต้การสนับสนุนของญี่ปุ่นนั้นอินโดเนเซียและมาลายาจะประกาศเอกราชพร้อมกัน   และรวมเป็นประเทศเดียวกัน   โดยมีนายซูการ์โนเป็นประธานาธิบดี และนายอิบราฮิม  ยะอากู๊บ ที่อยู่ในมาลายา เป็นรองประธานาธิบดี  แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นแพ้สงครามก่อน  ดังนั้นอินโดเนเซียจึงประกาศเอกราช  โดยปราศจากมาลายา  ต่อมานายอิบราฮิม  ยะอากู๊บหนีภัยไปอาศัยและเสียชีวิตในอินโดเนเซีย

การจัดตั้งประเทศอินโดเนเซียรายา ความฝันที่ไม่อาจเป็นจริงได้

หลังจากซูการ์โน กลับจากเมืองดาลัต ประเทศเวียดนาม เมื่อ 13 สิงหาคม 1945 ก็เกิดการประชุมพบปะลับ ระหว่างตัวแทนอินโดเนเซีย กับตัวแทนมาลายา ด้วยการให้ความสะดวกโดยทางฝ่ายญี่ปุ่น มติของการพบปะลับครั้งนั้น ไม่อาจเป็นจริงได้ ถ้าสามารถเป็นจริงได้แล้ว จะทำให้ประวัติศาสตร์การประกาศเอกราชของอินโดเนเซียเปลี่ยนแปลงไปแน่นอน


ก่อนหน้านั้น สามคนในสมาชิกคณะกรรมการเตรียมการประกาศเอกราชของอินโดเนเซีย ที่มีชื่อว่า Panitia Persiapan Kemerdekaan Indonesia (PPKI) ซึ่งประกอบด้วยซูการ์โน มูฮัมหมัดฮัตตา และรายิมาน เวดีโอดีนงกรัต (Radjiman Wediodiningrat) ถูกเรียกไปพบผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพญี่ปุ่นที่เวียดนาม นั้นคือ นายพลฮิไซชิ เทระอุชิ (Hisaichi Terauchi) ที่เมืองดาลัต เวียดนามในวันที่ 12 สิงหาคม 1945


นายพลฮิไซชิ เทระอุชิ ในนามของกองทัพญี่ปุ่น ได้สัญญาจะให้เอกราชกับอินโดเนเซียในวันที่ 24 สิงหาคม 1945 โดยทางญี่ปุ่นขอเวลาในการเตรียมการ ทางญี่ปุ่นขอให้ทางซูการ์โน และพรรคพวก เตรียมพร้อมในการประกาศเอกราช


การพบปะลับระหว่างซูการ์โน และพรรคพวกกับตัวแทนมาลายา ในวันที่ 13 สิงหาคม 1945 ไม่ได้เดินทางตรงไปยังจาการ์ตา แต่ได้แวะยังมาลายา  การพบปะลับครั้งนั้น มีข้อมูลสถานที่พบปะที่แตกต่างกัน โดยข้อมูลหนึ่งกล่าวว่า พบปะที่สิงคโปร์ แต่อีกข้อมูลหนึ่งกล่าวว่าพบปะที่เมืองไตปิง รัฐเปรัค  


ข้อมูลแรก นายอาหมัด มันโซร์ ซุรยาเนอฆารา ได้เขียนไว้ในหนังสือ Api Sejarah 2[8] กล่าวว่า พบกันที่สิงคโปร์ ตอนที่ซูการ์โน และพรรคพวกไปพบนายพลฮิไซชิ เทระอุชิ ที่เมืองดาลัต ในวันที่ 12 สิงหาคม 1945 นั้น ทางญี่ปุ่นก็นำอีกสองคน สมาชิกของคณะกรรมการเตรียมการประกาศเอกราชของอินโดเนเซีย ที่มีชื่อว่า Panitia Persiapan Kemerdekaan Indonesia (PPKI) คือ ตือกูมูฮัมหมัดฮาซัน (Teuku Mohammad Hasan)   และ ดร. มูฮัมหมัด อามีร์ (Dr. Mohammad Amir) ไปยังสิงคโปร์


และที่สิงคโปร์ คณะของซูการ์โน และคณะของตือกูมูฮัมหมัดฮาซัน ได้พบกับสองผู้นำขององค์กรที่ชื่อว่า Kesatuan Rakyat Indonesia Semenanjung (KRIS) คือ นายอิบราฮิม   ยะอากู๊บ  และดร. บูรฮานุดดิน อัล-เฮลมี (ต่อมาเป็นประธานพรรคปาสมาเลเซีย)  


ข้อมูที่สอง ซึ่งมีการเขียนมากกว่าหนึ่งคน หนึ่งในนั้นคือ นายอัสวี วารมัน อาดัม ได้เขียนหนังสือ ชื่อว่า Menguak Misteri Sejarah[9] ได้เขียนไว้ในหน้า 34-35 ของหนังสือดังกล่าว โดยเขียนว่า


แต่ในวันที่ 15 สิงหาคม 1945  กองทัพญี่ปุ่น ยอมแพ้สงคราม  และในวันที่ 19  สิงหาคม 1945  เครื่องบินญี่ปุ่น จึงนำนายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ และภรรยาของเขา นางมาเรียม  ฮัจญีซีราจ พร้อมน้องภรรยา คือ นายโอนัน  ฮัจญีซีราจ และนายฮัสซัน ฮานาน  มายังเกาะชวา โดยซูการ์โน ต้องการให้คนเหล่านั้น มาต่อสู้เพื่อเอกราชร่วมกับเขา


ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 1955 ก่อนมาลายาจะได้รับเอกราช ตนกูอับดุลราห์มาน แห่งมาลายา ได้เดินทางไปยังอินโดเนเซีย เพื่อเข้าร่วมประชุมหนึ่ง โดยตนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา ก็ได้ยอมรับถึงความสัมพันธ์ระหว่างมาลายากับอินโดเนเซีย ในฐานะที่เป็นคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ทั้งตนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา และนายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ ก็ได้พบกัน ด้วยความช่วยเหลือของประธานาธิบดีซูการ์โน ทั้งสองมีความเห็นที่แตกต่างกัน


โดยนายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ เห็นให้มาลายาเป็นเอกราชผนวกร่วมเข้ากับอินโดเนเซีย แต่ตนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา เห็นควรให้มาลายาได้รับเอกราช โดยรวมอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ    ในปี 1973 ยุคที่ตนอับดุลราซัค เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทางมาเลเซียจึงอนุญาติให้นายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ  สามารถเดินทางกลับมาเยี่ยมประเทศมาเลเซียได้


ในยุคที่ประธานาธิบดีซูการ์โน ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนำวิถี นายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนจังหวัดเรียว ของสภาที่เรียกว่า สภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว  หรือ Majelis Perwakilan Rakyat Sementara (MPRS)  แต่หลังจากยุคที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โต หมดอำนาจจากกรณี 30 กันยายน 1965 นายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ จึงได้วางมือจากการเมือง และเข้าสู่วงการธนาคาร โดยเป็นประธานกรรมการบริหารของธนาคารหนึ่งที่ชื่อว่า Bank Pertiwi


นายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ  เสียชีวิตเมื่อ 8 มีนาคม 1979 และศพของเขาถูกฝังที่สุสานวีรบุรุษแห่งชาติของประเทศอินโดเนเซีย ณ สุสานวีรบุรุษแห่งชาติกาลีบาตา กรุงจาการ์ตา  ปัจจุบัน สุสานของนายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ มักจะมีชาวมาเลเซีย เดินทางไปเยี่ยม แต่จะหาไม่เจอในนามของนายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ  สุสานของนายอิบราฮิม  ฮัจญียะกู๊บ จะรู้จักในนามของพันโท อิสกันดาร์ กาเมล ซึ่งเป็นชื่อที่เขาใช้นับตั้งแต่อพยพออกจากมาลายา มาตั้งถิ่นฐานในประเทศอินโดเนเซีย



[1] Asvi Warman,Menguak misteri sejarah, Jakarta : Penerbit Buku Kompas, 2010. หน้า 33.

[2] Ramlah Adam, Sumbanganmu Dikenang, Kuala Lumpur: Dewan Bahasa dan Pusaka, 1999,

   หน้า 41.

[3] Wan Hashim, Hubungan Etnik di Malaysia, Kuala Lumpur: Institut Terjemahan Negara Malaysia, 2011

[4] Lofti Ismail, Sejarah Malaysia 1400-1963, KL: Utusan Publication & Distributors, 1978, หน้า

   270

[5] 'Warta Malaya, penyambung lidah bangsa Melayu, 1930-1941' oleh Zulkipli bin Mahmud

   ;Jabatan Sejarah, Universiti Kebangsaan Malaysia ; 1979

[6] Cheah Boon Kheng, The Japanese Occupation of Malaya, 1941-45: Ibrahim Yaacob and the

   Struggle for Indonesia Raya, Indonesia, No. 28, 1979, หน้า 94.

[7] Cheah Boon Kheng, อ้างแล้ว หน้า 88.

[8] Ahmad Mansur Suryanegara,Api Sejarah 2, Jakarta : Penerbit Dinasti Surya, 2017.

[9] Asvi Warman, อ้างแล้ว หน้า 34-35


Tiada ulasan: