Selasa, 24 November 2020

นายเวนเซสลาว คิว. วินซันส์ Wenceslao Q. Vinzons (1910-1942) วีรบุรุษชาวฟิลิปปินส์ที่ต่อต้านการยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

นายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์   ได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในฟิลิปปินส์-The Father of Student Activity in The Philippines"[1]

 

นายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์  เกิดที่เมืองอินดาน (Indan) จังหวัดคามารีนส์นอร์เต (Camarines Norte ) บนเกาะลูซอน เดิมเมืองอินดานนี้มีชื่อว่าเมือง Tacboan เป็นเมืองที่ก่อตั้งโดยคณะนักบวชคริสเตียนทื่ชื่อว่า คณะฟรันซิสแคน (the Franciscan) เมื่อปี 1581 ต่อมาเมืองอินดานนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นเมืองวินซอนส์ เพื่อเป็นเกียรติให้กับนายเวนเซสลาว คิว. วินซันส์ ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคามารีนส์นอร์เต (Camarines Norte )

นายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์  เป็นบุตรของนายกาบีโน วินซอนส์ วาย. เวนีดา (Gabino Vinzons y Venida) และนางเองกราเซีย ควีนีโต วาย. เอเลป (Engracia Quinito y Elep) เขาเป็นหลานปู่ย่าของเซราฟิน วินซอนส์ (Serafín Vinzons) ซึ่งเป็นคนจีน กับนางบัลโดเมรา เวนีดา (Baldomera Venida) และหลานตายายของนายโรซาลีโอ ควีนีโต (Rosalío Quinito) และนางซีปรียานา เอเลป (Cipriana Elep)[2]

 

นายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์  มีชื่อเล่นว่า Bintao เขาเรียนชั้นเริ่มต้นที่ Vinzons Elementary School และการเรียนของเขาอยู่ในอันดับต้น ๆ ของชั้นเรียน จากนั้นเขาได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนระดับมัธยมชื่อว่า Camarines Norte High School และเขาได้เข้าศึกษาจนจบปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (the University of the Philippines)   เขาได้สร้างชื่อเสียงในสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ โดยเขาได้รับรางวัลเหรียญทองคำประธานาธิบดีมานูเอล  แอล. เคซอน (the Manuel L. Quezon gold medal)  จากการที่เขาพูดในหัวเรื่อง “Malaysia Irredenta” ในวาระการจัดงานวาทศิลป์ประจำปีครั้งที่ 20 ของวิทยาลัยกฎหมาย มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ (20th Annual Oratorical Contest of the College of Law, University of the Philippines) ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1932[3]

 

แม้จะมีบันทึกถึงคำว่า Malaysia และ Malaysian ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาของรัฐซาบะห์ มาเลเซีย ที่ชื่อ The North Borneo Gazette ในปี 1889 แต่ยังไม่เผยแพร่นัก นักวิชาการส่วนหนึ่งจึงถือว่า นายเวนเซสลาว คิว. วินซันส์  เป็นบุคคลแรกๆ ที่สร้างชื่อคำว่า “มาเลเซีย” จากการพูดของเขาในปี 1932  

                                                
นายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์  ถือได้ว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่มีจิตใจต้องการรวมชาติพันธุ์มลายูเข้าด้วยกัน เขายังเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า Philippine Collegian เป็นหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์ตั้งแต่ปี 1922  โดยแรกเริ่มในปี 1910 หนังสือพิมพ์นี้รู้จักในชื่อ the College Folio เป็นหนังสือพิมพ์ของนักศึกษาปริญญาตรี และต่อมาหนังสือพิมพ์นี้ในปี 1917 รู้จักในชื่อหนังสือพิมพ์ Varsity News และในปี 1922 หนังสือพิมพ์นี้จึงใช้ชื่อเป็นทางการว่า หนังสือพิมพ์ Philippine Collegian[4]  โดยนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์   เป็นบรรณาธิการคนที่สามของหนังสือพิมพ์ Philippine Collegian  โดยเป็นบรรณาธิการตั้งแต่ปี 1931–1932

 

นอกจากนั้นเขายังเป็นนายกองค์การนักศึกษา (President of the Student Council) อีกด้วย   ในปี 1932 เขาเป็นผู้นำองค์กรที่ชื่อว่า The Youth Movement  ต่อต้านการขึ้นเงินเดือนของสมาชิกสภาเทศบาลกรุงมะนิลา 

                                                                 นาย Arturo M. Tolentino

หลังจากเขาจบการศึกษา เขาได้ร่วมกับเพื่อนๆ เช่น นาย with Narciso J. Alegre และนาย Arturo M. Tolentino ( ต่อมาเป็นวุฒิสมาชิก และเป็นรองประธานาธิบดีในยุคประธานาธิบดีเฟอร์ดินัน มาร์คอส) จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ชื่อว่า the Young Philippines Party และในปี 1933 เขาชนะเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ (Constitutional Convention) ในปี 1935  เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (Congressman)   ต่อมาในปี 1940 เขาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคามารีนนอร์เต (Camarines Norte ) เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ ในปี 1941 เขาเป็นคนแรกๆ ที่จัดตั้งหน่วยจรยุทธ์ต่อต้านการยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น โดยกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองพื้นที่เขตของเขาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1941

 

เชาสั่งให้ยึดฉางข้าวทั้งหมดในจังหวัดคามารีนส์นอร์เต (Camarines Norte) และสั่งยึดวัตถุระเบิดที่ใช้ในเหมืองทองคำของจังหวัดคามารีนนอร์เต เพื่อใช้ในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น  ในวันที่ 18 ธันวาคม 1941 เขาได้นำกำลังเข้าโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในเมืองบาซุด จังหวัดคามารีนนอร์เต ในเวลาไม่นาน กองกำลังของนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์   ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2,800 คน และในเดือนพฤษภาคม 1942 นายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์  ก็สามารถนำกองกำลังของตัวเองปลดปล่อยเมืองดาเอ็ด (Daet) เมืองเอกของของจังหวัดคามารีนส์นอร์เต (Camarines Norte ) ได้สำเร็จ กล่าวกันว่าระหว่างเดือนธันวาคม 1941 ถึงเดือนพฤษภาคม 1942 กองกำลังของนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์  นอกจากใช้อาวุธต่างๆแล้ว ส่วนหนึ่งจะใช้ลูกธนูอาบยาพิษ สามารถสังหารทหารญี่ปุ่นได้ราว 3,000 นาย  ซึ่งทำให้กองทัพญี่ปุ่นมีเป้าหมายยึดเมืองวินซอนส์เป็นเป้าหมายหลัก

 

การต่อสู้ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นของนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ ก็สิ้นลง เมื่อชาวฟิลิปปินส์ที่เคยเป็นอดีตกองกำลังของเขาได้ทรยศ โดยได้แจ้งข่าวเกี่ยวกับเขาให้แก่กองทัพญี่ปุ่น จนต่อมานายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ ก็ถูกจับคุมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 1942 เขาได้ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น จึงถูกนำตัวไปยังเมืองดาเอ็ต (Daet) เมืองเอกของจังหวัดคามารีนส์นอร์เต (Camarines Norte ) และในวันที่ 15 กรกฎาคม 1942 กองทัพญี่ปุ่นได้ขอร้องเป็นครั้งสุดท้ายให้นายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ ให้ความร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น แต่เขาได้ปฏิเสธคำขอร้องดังกล่าว ดังนั้นกองทัพญี่ปุ่นจึงใช้ดาบปลายปืนสังหารนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์  ถึงแก่ความตาย[5]  และหลังจากนั้นไม่นาน กองทัพญี่ปุ่นได้สังหารพ่อภรรยา น้องสาวและลูก ๆ อีกสองคนของเขาเช่นกัน[6]

มีหลายสิ่งที่แสดงถึงการรำลึกถึงเกียรติคุณของนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ ไม่เพียงได้รับการยกย่องว่าเป็น ”บิดาแห่งการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในฟิลิปปินส์" เท่านั้น  ยังมีอีกอย่างเช่น

 

เมืองอินดาน ก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อเมืองตามชื่อของเป็นเมืองวินซอนส์อีกด้วย

 

โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลาก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนประถมวินซอนส์  

ศูนย์กิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ วิทยาเขตดิลิมัน ก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น Vinzons Hall ในปี 1959   นอกจากนั้นอาคาร Vinzons Hall ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานหนังสือพิมพ์ Philippine Collegian  ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์อีกด้วย

 

นอกจากนั้นวุฒิสมาชิกริชาร์ด  กอร์ดอน ซึ่งเป็นผู้ชื่นชมนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ และเป็นอดีตประธานสภานักเรียนมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ รับหน้าที่ปั้นรูปนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ ที่ Vinzons Hall

 

เครือญาติของนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ หลายคนเข้าสู่วงการทางการเมือง  เช่นนายเฟอร์นันโด วินซอนส์ ปาจาริลลา (Fernando Vinzons Pajarillo) ก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกรัฐสภาและผู้ว่าการจังหวัดคามารีนส์นอร์เต (Camarines Norte ) หลายสมัย บุตรชายของนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ เองก็เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมาสมัยหนึ่ง   ส่วนบุตรสาวของนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ ที่ชื่อว่า นางแนนี่ วินซอนส์ ไกเต (Rannie Vinzons-Gaite) เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดคามารีนส์นอร์เต (Camarines Norte)

 

ผู้เขียนเอง เคยพานักศึกษาสาขาวิชามลายูศึกษาสองคนไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ที่ดิลีมาน กรุงมะนิลา และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การไปเยี่ยมหอประชุมที่ชื่อว่า Vinzons Hall สิ่งที่น่าเสียใจยิ่ง เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนเฟสบุ๊คของผู้เขียนคนหนึ่ง คือ นางรานาวาโลนา คาโรลีนา วินซอนส์ ไกเต (Ranavalona Carolina Vinzons Gaite) ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางสมาพันธ์สมาคมนักเขียนแห่งชาติมาเลเซีย หรือ Gabungan Persatuan Penulis Nasional Malaysia (GAPENA) โดยเฉพาะกับอดีตประธานสมาพันธ์ คือ ตันสรี อิสมาแอล ฮุสเซ็น ได้เสียชีวิตแล้ว นับเป็นการสูญเสียของบุตรสาว นายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์ ซึ่งนักวิชาการมาเลเซีย ถือว่า เป็นคนแรกๆ ที่สร้างชื่อ เผยแพร่ชื่อคำว่า มาเลเซีย คนหนึ่ง แม้ชื่อคำว่ามาเลเซียนี้  จะมีมาก่อนหน้านั้น



[1] Abel C. Icatlo,Wenceslao Q. Vinzons, Filipino exemplar, 

  https://opinion.inquirer.net/124327/wenceslao-q-vinzons-filipino-exemplar

[2] เป็นหลักฐานจากสำเนาสูติบัตรของนายเวนเซสลาว คิว. วินซอนส์  ในขณะที่ยื่นขอใบอนุญาต

   การแต่งงานที่จังหวัดคาวีเต (Cavite) อยู่ตอนใต้ของกรุงมะนิลา ในปี 1932

[3] Gaite, Ranavalona Carolina Vinzons,Wenceslao Q. Vinzons: A Youth to Remember

  (Mimeograph at  University of the Philippines Library, 1977. Speech by

  Wenceslao Q. Vinzons, entitled ‘Malaysia Irredenta’ on 12 February 1932 at 20th

  Annual Oratorical Contest of the College of Law, University of the Philippines.,.

[4] Chee, Tam Seong (1981). Essays on Literature and Society in Southeast

  Asia.National University of Singapore Press. หน้า 148

[5] Filipinos in History Vol. II. Manila, Philippines: National Historical Institute. 1990. หน้า 267

[6] Filipinos in History Vol. II. Manila, Philippines: National Historical Institute. 1990. p. 268

Tiada ulasan: