คนจาไร (Jarai) หรือบางครั้ง เวียดนามเรียกว่า เกียไร (Gia Rai) และกัมพูชาจะเรียกว่า จาเรีย (Chareay) เป็นกลุ่มชนเผ่าที่อาศยอยู่ในที่ราบสูงตอนกลางประเทศของเวียดนาม ในประเทศเวียดนามจะอาศัยอยู่ในจังหวัดเกียไล (Gia Lai Province) ซึ่งเป็นจังหวัดที่ชื่อมาจากชื่อของชนเผ่าจาไร และอีกจังหวัดหนึ่ง คือจังหวัดคอนทัม (Kon Tum Province) ซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดชายแดนกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา และอีกจังหวัด คือจังหวัดดั๊กลัก สำหรับในประเทศกัมพูชา มีชาวจาไรตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดรัตนาคีรี (Ratanakiri Province) สำหรับประชากรของชนเผ่าจาไรในทั้งสองประเทศมีอยู่ดังนี้
ประเทศเวียดนาม มีจำนวน 513,930 คน[1]
ประเทศกัมพูชา มีจำนวน 26,335 คน[2]
ในช่วงสงครามเวียดนามนั้น มีชนเผ่าจาไร จำนวนหนึ่งเป็นแกนนำและสมาชิกของขบวนการชนกลุ่มน้อยของกลุ่ม Montagnard ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเขา ที่จัดตั้งโดยสหรัฐในการทำสงครามครั้งนั้น หลังจากที่สหรัฐพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนั้น สมาชิกจำนวนหนึ่งจากชนเผ่าจาไรได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศสหรัฐ โดยเฉพาะในรัฐนอร์ธแคโรไลนา
สำหรับคำว่า Montagnard ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส หมายถึงชาวเขา ซึ่งเป็นการเรียกรวมๆทั้งกลุ่มชนเผ่าทั้งที่อยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมรและตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย[3]
ภาษาจาไร ถือเป็นภาษาย่อยในตระกูลภาษาจาม (Chamic Language) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย โดยภาษาในตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย นอกจากมีภาษาจามด้วย มีภาษามลายูของประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศมาดากัสการ์ ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับภาษาจาไรของชนเผ่าจาไรทั้งในประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชา แม้จะมีความเหมือนกัน แต่ด้วยภาษาของทั้งสองชนเผ่าจาไรจะได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทางภาษาของเขมรและเวียดนาม ทำให้คำบางคำของภาษาเขมรถูกนำไปใช้ในภาษาจาไรในประเทศกัมพูชา และภาษาจาไรในประเทศเวียดนามก็เช่นกัน ได้นำคำบางคำของภาษาเวียดนามไปใช้ ทำให้ชนเผ่าจาไรในทั้งสองประเทศเวลาสื่อสารกันอาจมีความสับสนกัน สำหรับภาษาจาไรในประเทศเวียดนามจะใช้อักขระลาติน ส่วนในประเทศกัมพูชาจะไม่มีตัวเขียน
คำว่าจาไร มีความหมายว่า ผู้คนในน้ำตกหรือผู้คนในแม่น้ำที่ไหล
การศึกษาเกี่ยวกับชนเผ่าจาไร รวมทั้งวัฒนธรรมของชนเผ่าจาไร ส่วนใหญ่กลุ่มผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ จะมุ่งเน้นศึกษาที่ภาษาของชนเผ่าจาไร เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ นอกจากนั้นนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์มักศึกษาภาษาชนเผ่าต่างๆในประเทศเวียดนาม เพื่อใช้ในการเผยแพร่ศาสนา[4]
ในการวิจัยถึงชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา[5] ได้บันทึกว่า กลุ่มชนเผ่าจาไร เป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามที่มีประชากรมากที่สุด และประชากรชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชาเป็นกลุ่มที่ขยายออกมาจากประเทศเวียดนาม
ในปี 1950 จังหวัดบนพื้นที่สูงทางตะวันออกของกัมพูชาอย่างจังหวัดรัตนคีรีและจังหวัดมอนดุลคีรีและที่ราบสูงตอนกลางที่อยู่ติดกับประเทศเวียดนาม จะเป็นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อยที่แตกต่างกันเกือบ 50 ชนเผ่า ต่อมามีการอพยพเข้าอย่าต่อเนื่องโดยเฉพาะในทศวรรษที่ 1980 แต่ก็มีการสันนิฐานว่าชนเผ่าจาไรน่าจะอาศัยอยู่ในส่วนของประเทศกัมพูชามานับศตวรรษมาแล้ว ด้วยทั้งประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนามก็ล้วนอยู่ในกลุ่มประเทศอินโดจีนที่มีฝรั่งเศสปกครอง
จากการศึกษาภาษาจาไรตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 พบว่าภาษาจาไรมีความสัมพันธ์กับภาษาจามและภาษาเอเด ชนเผ่าจาไรในปัจจุบัน เมื่อมีการแบ่งตามกลุ่ม หรือ Subgroup แล้ว จะสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม โดยหนึ่งกลุ่มนั้นเป็นชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา คือ
1. กลุ่ม Jarai Chor
2.กลุ่ม Jarai Hdrung
3. กลุ่ม Jarai Arap
4. กลุ่ม Jarai Mthur
5. กลุ่ม Jarai Tbuan
6. กลุ่ม Jarai Khmer เป็นกลุ่มชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา ซึ่ง
พูดทวิภาษา ภาษาหนึ่งคือภาษาตัมปูวัน เป็นภาษาในตระกูล
มอญ-เขมร
แต่ Huào Huy Quyền[6] ได้แบ่งออกตามสำเนียง หรือ dialect การพูดของชนเผ่าจาไร ก็แตกต่างออกไป โดยได้บันทึกการแบ่งตามสำเนียงการพูดของภาษาจาไรออกเป็นสำเนียงต่างๆ ดังนี้ :-
1. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai Pleiku เป็นภาษาจาไรที่พูดอยู่ในเมืองเปล็ยกู เมืองนี้เป็นเมืองเอกของจังหวัดเกียไร เมืองนี้มีพื้นที่ 266.6 ตารางกิโลเมตร และในปี 2019 มีประชากรอยู่ประมาณ 458,742 คน
2. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai Cheoreo โดยเขต Cheo Reo ใช้ชื่อนี้หลังจากปี 1975 มีพื้นที่ 287 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรปี 2019 ราว 53,720 คน
3. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai ARáp ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเปล็ยกู และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดคอนทัม
4. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai H’dRung ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเปล็ยกู และทิศะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดคอนทัม
5. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai Tbuan ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเปล็ยกู
นอกจากนั้นยังมีความสัมพันธ์กับอีกสามสำเนียง คือ
1. สำเนียง ที่เรียกว่า HRoi ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดฟู้เอียน และทางทิศใต้ของจังหวัดบินห์ดินห์ เป็นการพูดผสมผสานของชนเผ่าเอเดกับชนเผ่าจาไร
2. สำเนียง ที่เรียกว่า M’dhur ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดฟู้เอียน เป็นการพูดผสมผสานของชนเผ่าเอเดกับชนเผ่าจาไร
3. สำเนียง ที่เรียกว่า Hàlang ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดคอนทัม และบางส่วนของลาวและกัมพูชา เป็นการพูดผสมผสานของชนเผ่าเซดังกับชนเผ่าจาไร
ตัวอย่างคำศัพท์ภาษามลายูกับภาษาจาไร
ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษาจาไร
กลางคืน malam mlam
ปี tahun thun
จมูก hidung adung
งู ular ala
ลม angin angin
ฝนฟ้าคะนอง angin
(ลม) hujan (ฝนตก) angina ho’jan
จูบ cium cum
ลึก dalam dlam
เลือด darah drah
สอง dua dua
รู้ tahu
thao
หนึ่ง satu sa
สี่ empat pa
ห้า lima rơma
หก enam năm
สิบ sepuluh pluh
ในยุคปัจจุบันชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา ประสบปัญหากับการขับไล่ที่ดินและการจับที่ดิน โดยเฉพาะเพื่อสร้างสวนยางขนาดใหญ่ แม้ว่ากัมพูชาจะมีกฎหมายที่ชัดเจนในการเคารพและปกป้องดินแดนของชนพื้นเมือง แต่ด้วยระบบการปกครองและการใช้กฎหมายกับกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศกัมพูชายังมีปัญหา
บ้านเรือนของชนเผ่าจาไร
ชนเผ่าจาไรจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ จำนวนประชากรมีประมาณ 50-500 คน หมู่บ้านมักถูกจัดผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีอาคารพักอาศัยเดี่ยว บ้านทำจากไม้ไผ่ขึ้ยกนมาจากพื้นดินหนึ่งเมตร เรือนไม้ที่ทนทานและหลังคาเหล็กได้รับความนิยมมากขึ้น บ้านตั้งอยู่ตามตระกูลสายมารดา หรือ matrilineal ลูกสาวเมื่อแต่งงานอาศัยอยู่ในบ้านของแม่กับสามีของเธอและลูกสาวของเธอเอง บางบ้านจะเป็นบ้านยาว บ้านสำหรับครอบครัวในยุคนิวเคลียร์ก็มีอยู่ทั่วไปในยุคปัจจุบัน
งานแต่งงานของชนเผ่าจาไร
ชนเผ่าจาไร เป็นชนเผ่าที่ยึดถือจารีตประเพณีทางสายมารดา หรือ matrilineal มารดาจึงเป็นผู้ริเริ่มการแต่งงานของลูกสาวของตัวเอง และสามีของลูกสาวจะมาอาศัยอยู่ในบ้านของมารดา และในประเทศกัมพูชา ก็มีการแต่งงานกับบุคคลในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีหมู่บ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะในจังหวัดรัตนคีรี ของประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะแต่งงานกับคนชนเผ่าตัมปูวัน (Tampuan) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลมอญ – เขมร ซึ่งระหว่างชนเผ่าจาไรกับชนเผ่าชนเผ่าตัมปูวัน ไม่มีเกี่ยวข้องกันทางภาษากันเลย ทำให้คนชนเผ่าจาไร ส่วนหนึ่งจึงพูดทั้งภาษาจาไรและภาษาตัมปูวัน นอกจากนั้นคนหนุ่มสาวชนเผ่าจาไรหลายคนไปเดินทางเข้าไปศึกษาในเมืองใหญ่หรือเมืองสำคัญเช่นพนมเปญหรือโฮจิมินห์ซิตี้ ทำให้เกิดการแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น จะสร้างครอบครัวหลายภาษาเกิดขึ้น
ศาสนาของชนผ่าจาไร
ชาวชนเผ่าจาไรส่วนใหญ่มีการนับถือความเชื่อดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า ความเชื่อแบบ คือ Animisme ชนเผ่าจาไรเชื่อว่าวัตถุ สถานที่และสิ่งมีชีวิตต่างมีคุณสมบัติทางวิญญาณที่โดดเด่น มีการประมาณการว่าจะมีชนเผ่าจาไรนับถือศาสนาคริสต์อยู่ประมาณ 2,000 คนในประเทศกัมพูชา[7] ชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา ด้วยมีการอยู่อาศัยร่วมกับชาวเขมรที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทส่วนใหญ่ ทำให้ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธด้วย แต่มีบางชุมชน ได้รับการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม จากองค์กรมูฮัมหมัดดียะห์ของอินโดเนเซียที่มีการจัดตั้งขึ้นในประเทศกัมพูชา
ประเพณีเกี่ยวกับศพ
สุสานแบบดั้งเดิมของชนเผ่าจาไร จะเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ซึ่งถูกสร้างสำหรับชีวิตและจะมีเครื่องบูชาบางอย่างวางไว้รอบ ๆ หลุมฝังศพนั้น จะมีเสาไม้แกะสลักด้วยหินซึ่งบางส่วนเป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์วิญญาณ พิธีฝังศพต้องใช้เงินจำนวนมาก หลังจากผ่านไปหลายปี สุสานก็ถูกทิ้งร้าง
ดนตรีของชนเผ่าจาไร
ชาวชนเผ่าจาไรมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับดนตรีและการเต้นรำ จะมีอุปกรณ์เครื่องดนตรี เช่น ฆ้อง ไซโลโฟน และเครื่องดนตรีดั้งเดิมอื่น ๆ อีกมากมายส่วนใหญ่ทำจากไม้และไม้ไผ่
[1] Report on Results of the 2019 Census General Statistics Office of Vietnam,
https://gso.gov.vn
[2] National Institute of Statistics, Ministry of Planning, Cambodia (August 2009). General
Population Census of Cambodia 2008 สำหรับตัวเลขประชากรชนเผ่าจาไรปัจจุบันน่าจะเพิ่มขึ้น
เพราะประชากรของจังหวัดรัตนาคีรี ในปัจจุบัน จากสถิติประชากรปี 2019 มีถึง 204,027 คน
[3] Ammon Patrick Magnusson, The Other Political Problem : Montagnard Nationalism And he
Effectts On The Vietnam War, MA Thesis, The University of Utah, 2014, P. 20.
[4] Jean Michaud, “Missionary Ethnography in the Upper-Tonkin: The Early Years 1895–1920”
Journal of Asian Ethnicity, vol. 5, no. 2 (June 2004), 181–182.
[5] Eric Pawley and Mee-Sun Pawley,Sociolinguistic survey of Jarai in Ratanakiri, Cambodia,
International Cooperation Cambodia, November 2010. P.5
[6] Đào Huy Quyền,1998. Nhạc khí dân tộc Jrai và Bahnar (Musical instruments of the Jrai and
Bahnar). Hanoi: Nhà xuất bản trẻ.
[7] Eric Pawley and Mee-Sun Pawley,Sociolinguistic survey of Jarai in Ratanakiri, Cambodia,
International Cooperation Cambodia, November 2010. P. 2
Tiada ulasan:
Catat Ulasan