Selasa, 3 Februari 2015

เสวนานูซันตารา ครั้งที่ 2 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
เมื่อครั้งผู้เขียนกับอาจารย์ซาวาวี ปะดาอามีนได้เดินทางไปร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับเรื่อง “มลายูในอินโดเนเซียตะวันออก” ที่มหาวิทยาลัยฮาซานุดดิน จังหวัดสุลาเวซีใต้ เกาะสุลาเวซี ประเทศอินโดเนเซียนั้น ได้พบกับอาจารย์สาวท่านหนึ่งที่มาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอีกจังหวัดหนึ่งของเกาะสุลาเวซี ซึ่งอาจารนย์สาวท่านนั้นกล่าวกับผู้เขียนว่า ถ้าจะมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีจะได้ไหม จึงตอบแบบผ่านๆว่า มาซิ เรายินดีต้อนรับ ถ้ามาแล้ว เราจะต้อนรับเป็นอย่างดี ในใจนึกว่าอาจารย์สาวคงจะไม่มา เพราะระยะทางค่อนข้างจะไกล จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปจังหวัดสุลาเวซีใต้ต้องใช้เวลาถึงเกือบสามชั่วโมง และจากกรุงกัวลาลัมเปอร์มามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ถ้ามาทางบกก็ต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร

แต่ปรากฏว่าอาจารย์สาวคนนี้ก็เดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีจริง จึงใช้โอกาสนี้จัดเสวนานูซันตารา ครั้งที่ 2 สำหรับหัวข้อการบรรยายคือ “บทบาทของชาวบูกิสในโลกมลายู”   ดังนั้นการบรรยายในงาน “เสวนานูซันตารา ครั้งที่ 2” จึงมีขึ้นโดยอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดิน จากมหาวิทยาลัย 19 พฤศจิกายน เมืองโกลากา ( Universitas 19 Nopember Kolaka) ตั้อยู่ที่เมืองโกลากา จังหวัดสุลาเวซีตะวันออกเฉียงใต้
 
 
 
 
 
 
 
การบรรยายของอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดินนั้น สำหรับผู้เขียนนับว่าน่าสนใจยิ่ง เริ่มด้วยปรัชญาของชาวบูกิสที่กล่าวว่า ชาวบูกิสเมื่อออกเรือไปทะเลแล้ว ห้ามกลับหัวเรือขึ้นฝั่ง นั้นหมายถึงการตั้งมั่นว่า เมื่อทำอะไรแล้ว ต้องทำให้สำเร็จ จึงจะกลับมาบ้าน  สำหรับชาวบูกิสนั้น ตั้งถิ่นฐานอยู่บนหมู่เกาะสุลาเวซี มีประชากรประมาณ 3 ล้านคน ส่วนใหญ่ของชาวบูกิสจะอาศัยอยู่ในจังหวัดสูลาเวซีใต้ ชาวบูกิสจะกระจัดกระจายไปทั่วภูมิภาคมลายู สิ่งนี้เกิดจากการยึดครองของชาวลันดาต่อดินแดนของชาวบูกิสในศตวรรษที่ 17 ทำให้ส่วนหนึ่งของชาวบูกิสอพยพออกจากเกาะสุลาเวซีไปตั้งถิ่นฐานที่เกาะสุมาตรา เกาะกาลิมันตัน เกาะชวา แหลมมลายู รัฐซาราวัคและรัฐซาบะห์ ชนชาวบูกิสมีชื่อเสียงเรื่องด้านการเดินเรือ และการค้า นอกจากนั้นยังรู้จักในหมู่เกาะมลายูถึงความกล้าหาญของชาวบูกิส ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาวบูกิสคือเมืองอูจุงปันดัง (Ujung Pandang )หรือรู้จักในนามของเมืองมากัสซาร์ (Makassar)ชาวบูกิสจะนับถือศาสนาอิสลาม ตามบทกวีชาวบูกิสที่ชื่อว่า La Galigo กล่าวว่าอาณาจักรชาวบูกิสแรกคือ Wewang Nriwuk Luwuk และ Tompoktikka

สำหรับการเดินทางมาของอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดินในครั้งนี้ เมื่อเดินทางถึงจังหวัดปัตตานี ก็ได้พักที่โรงแรมมายการ์เดน แต่พอวันที่สอง ผู้เขียนบอกให้พักกับนักศึกษา นอกจากจะเป็นการประหยัดแล้ว ยังจะเป็นการเสริมประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์การใช้ภาษามลายู-อินโดเนเซียของนักศึกษาอีกด้วย วันแรกของการมาถึงจังหวัดปัตตานี ทางผู้เขียนและนักศึกษาก็ได้พาไปรู้จักสถานที่ต่างๆของจังหวัดปัตตานี
 และเพื่อให้อาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดน ได้รู้จักจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เขียนจึงให้สามนักศึกษา คือ นางสาวฟาตีฮะห์  บาตูเซ็ง  นางสาวนูรอัสมะ  อูหม๊ะ   และนางสาวรุสดา ยาโอ๊ะ พาอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดิน ไปรู้จักจังหวัดยะลา ที่จังหวัดยะลาก็ได้พบอาจารย์นูรฮูดา สะดามะ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ส่วนวันถัดไปผู้เขียนก็ได้พาอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดินไปรู้จักจังหวัดนราธิวาส   นอกจากนั้นยังพาไปรู้จักบ้านหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ซึ่งบ้านดังกล่าวมีการจัดแสดงภาพต่างๆ การไปเยี่ยมบ้านหะยีสุหลง โต๊ะมีนาครั้งนี้ ก็เพื่อให้รู้จักบุคคลที่มีบทบาทในอดีตของจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับผู้เขียนนอกจากพาไปรู้จักจังหวัดนราธิวาส แล้วยังไปพร้อมครอบครัวยังเมืองโกตาบารูเพื่อส่งอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดินเพื่อเดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ และนับเป็นเรื่องโชคดีของการไปส่งอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดิน ด้วยพอข้ามฝั่งจากตลาดตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียที่ตลาดปังกาลันกูโบร์ รัฐกลันตัน มาเลเซีย ปรากฎว่าอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดินไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศมาเลเซีย ต้องไปพบหัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองก่อน ผู้เขียนจึงไปเป็นเพื่อนด้วย และโชคดีที่หัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านฝั่งมาเลเซียนั้น ผู้เขียนพอจะรู้จักผู้นี้อยู่บ้าง จึงสามารถด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ตลาดปังกาลันกูโบร์ รัฐกลันตัน ด้วยดี เหตุผลที่มีปัญหา เพราะคนที่ชื่อ โรสลีนา ที่เป็นชาวอินโดเนเซีย ที่อยู่ใน Black list นั้นมีทั้งหมดถึง 10 คนด้วยกัน  

ผู้เขียนต้องนอนที่เมืองโกตาบารู 1 คืน ด้วยรถบัสที่อาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดินขึ้นนั้นจะออกเวลา 2 ทุ่ม จึงต้องรอส่งอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดินขึ้นรถก่อน  สาเหตุที่ผู้เขียนไปส่งอาจารย์โรสลีนา อาลีมุดดินถึงเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ก็ด้วยประทับใจที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ มีความกล้าในการเดินทางมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วยตัวคนเดียว ทั้งๆที่เคยสัญญากับตัวเองว่า ถ้าเป็นชาวอินโดเนเซีย จะไม่บริการเกินเลยกว่านี้ หมายถึงเมื่อเขาเดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีด้วยตัวเองได้ ก็จะแค่ส่งถึงสถานีรถตู้ของจังหวัดปัตตานี จะส่งแค่นี้จริงๆ 
ด้วยเข็ดหลาบกับการเดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีของชาวอินโดเนเซียผู้หนึ่ง ผู้เขียนสัญญาว่าเมื่อถึงจังหวัดปัตตานี ที่พัก อาหารระหว่างอยู่จังหวัดปัตตานี ผู้เขียนจะรับผิดชอบเอง เมื่อชาวอินโดเนเซียผู้มีอาชีพเป็นข้าราชการครูคนนั้น มาถึงจังหวัดปัตตานีก็ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ นอกจากนั้นเพื่อเป็นการซื้อใจที่ได้มาเยี่ยม แทนที่ผู้เขียนจะไปส่งแค่ที่สถานีรถตู้ของจังหวัดปัตตานี กลับร่วมเดินทางไปส่งที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาสเพื่อข้ามแดนไปยังตลาดรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน เมื่อเดินทางถึงตลาดรันเตาปันยัง ด้วยเป็นช่วงแรงงานจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไปทำงานในมาเลเซีย ทำให้ตั๋วรถบัสหมด ผู้เขียนจึงเช่าแทกซี่พาข้าราชการครูชาวอินโดเนเซียผู้นั้นไปเมืองโกตาบารู 

และที่เมืองโกตาบารูผู้เขียนก็เปิดห้องโรงแรมให้ข้าราชการครูชาวอินโดเนเซียผู้นั้น พร้อมเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อวันรุ่งขึ้นข้าราชการครูชาวอินโดเนเซียผู้นั้นจะสามารถเดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ และผู้เขียนก็สร้างความแปลกใจแก่ข้าราชการครูชาวอินโดเนเซียผู้นั้นด้วยการซื้อตั๋วเครื่องบินแอร์เอเชียจากเมืองโกตาบารูไปกรุงกัวลาลัมเปอร์แก่เขา สิ่งที่ทำลงไปเผื่อว่าเมื่อผู้เขียนพานักศึกษาไปอินโดเนเซีย ผู้เขียนก็จะได้รับความช่วยเหลือในการประสานงานอะไรต่ออะไรจากข้าราชการครูชาวอินโดเนเซียผู้นั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อผู้เขียนพานักศึกษาไปอินโดเนเซีย สร้างความผิดหวังอย่างแรงแก่ผู้เขียน เมื่อผู้เขียนให้ข้าราชการครูชาวอินโดเนเซียผู้นั้นติดต่อรถมินิบัสเพื่อพานักศึกษาจากกรุงจาการ์ตาไปเมืองบันดุง ด้วยเมื่อตอนจะจ่ายค่ารถมินิบัสนั้น ปรากฎว่าข้าราชการครูชาวอินโดเนเซียผู้นั้นยังหักเปอร์เซนต์ค่ารถจากคณะผู้เขียนอีกด้วย นับจากนั้นผู้เขียนสัญญากับตัวเองว่าสำหรับชาวอินโดเนเซียไม่ว่าใครๆก็ตาม จะไม่มีการบริการแบบที่ให้กับข้าราชการครูชาวอินโดเนเซียผู้นั้นอีกต่อไป

Tiada ulasan: