Rabu, 28 Januari 2015

ชนเผ่าโตบาโล กลุ่มคนผิวหนังลาย แห่งเกาะสุลาเวซี อินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน



      ในจังหวัดสุลาเวซีใต้ มีชนเผ่าพันธุ์ที่อาสัยอยู่หลากหลายเผ่าพันธุ์ เผ่าใหญ่ๆ เช่น เผ่าบูกิส เผ่ามันดาร์ เผ่ามากัสซาร์ และเผ่าตาโรจา  และยังมีเผ่าพันธุ์เล็กๆ อีกมาก ชนเผ่าหนึ่งที่แปลก คือ ชนเผ่าโตบาโล ความจริงจะเรียกชนเผ่าก็ไม่ถูกนัก เพราะมีคณะวิจัย (รีซกี ยูเนียร์ซิห์ นูร และคณะ) จากมหาวิทยาลัยมูฮัมหมัดดียะห์มากัสซาร์ ได้รับข้อมูลจากคนกลุ่มนี้ โดยพวกเขากล่าวว่า
     
“ความจริง ชนเผ่าโตบาโล ไม่ใช่ชนเผ่า ก็เหมือนชนเผ่าอื่นๆ เพียงกลุ่มโตบาโล มีผิวหนังเป็นลายสีขาว จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า กลุ่มโตบาโล (โต - คน  บาโล - ผิวหนังลาย) เท่านั้นเอง”

       เผ่าโตบาโล (To Balo) ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า เดซาบูโล บูโล (Desa Bulo Bulo) ในอินโดเนเซีย มีพื้นที่กว้างขวาง ปกติในมาเลเซีย คำว่า เดซา จะหมายถึง หมู่บ้าน แต่การปกครองในอินโดเนเซีย หลายๆหมู่บ้าน จะประกอบขึ้นมาเป็น หนึ่งเดซา สำหรับเดซาบาโล บาโล นั้นจะมีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาบูลูปาว (Pegunungan Bulu Pao) เดซาบูโล บูโล ในปี 2016 มีประชากร 2,188 คน

         เป็นเทือกเขาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทอดในพื้นที่อำเภอบาร์รู (Barru) และอำเภอปังเกป (Pangkep) ของจังหวัดสุลาเวซีใต้  ก่อนที่จะมีถนนเข้าไปยังเดซาบูโล บูโล ถือว่าเดซาบูโล บูโล เป็นพื้นที่ที่เข้าสู่ลำบากที่สุดของอำเภอบาร์รู

       ชนเผ่านี้ตั้งแต่เกิดมา จะมีผิวหนังที่แตกต่งจากคนอื่น บริเวณขา ร่างกาย และมือ โดยเฉพาะหน้าผาก จะมีผิวหนัง เป็นสีขาว ดังนั้นกลุ่มชนเผ่านี้ จะถูกเรียกว่า ชนเผ่าโตบาโล โดยคำนี้เป็นภาษาบูกิส  คำว่า โต แปลว่า มนุษย์ และคำว่า บาโล แปลว่า ลาย  

      ด้วยรูปร่างของกลุ่มเผ่านี้แตกต่างจากคนทั่วไป ทำให้พวกเขาหลีกตัวเองออกจากสังคมทั่วไป  พวกเขามีพฤติกรรมหลีกออกจากสังคมเช่นนี้นับตั้งแต่ครั้งยังมีระบบกษัตริย์ของสังคมชาวบูกิส

      กลุ่มชนเผ่าโตบาโล เริ่มมีประชากรน้อยลง ความเชื่อของกลุ่มชนเผ่าโตบาโลนั้น พวกเขาเชื่อว่า หนึ่งครอบครัวจะต้องมีสมาชิกไม่เกิน 10 คน ถ้าไม่เช่นนั้น สมาชิกคนที่ 11 ต้องตาย ซึ่งไม่แน่ใจว่า จะต้องถูกฆ่า หรือถูกนำไปทิ้งในสถานที่หนึ่ง จนแน่ใจแล้วว่าตาย

      กลุ่มชนเผ่าที่มีผิวหนัง เป็นลายสีขาวนี้ ไม่ได้เกิดจากโรค แต่เป็นเพราะยีนพันธุกรรม  อย่างไรก็ตามกลุ่มชนเผ่าโตบาโล มีความเชื่อว่า นั้นเพราะเป็นคำต้องสาปของเทวดา พวกเขากล่าวว่า มีครอบครัวหนึ่ง เห็นม้าลายคู่หนึ่งกำลังจะผสมพันธุ์ ไม่เพียงครอบครัวนี้จะเห็นเท่านั้น แต่ยังไล่ม้าลายคู่นั้น ทำให้เทวดาโกรธ และสาปแช่ง ให้กลุ่มชนเผ่าโตบาโล มีผิวหนังลายแบบม้าลายคู่นั้น ยังมีอีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า ตอนมนุษย์จะลงสู่โลก มนุษย์ได้ลงมาคู่กับม้าลาย  

       ปัญหาผิวหนังลายของกลุ่มชนเผ่าโตบาโล  สามารถหาทางออกได้ ด้วยการกลุ่มชนเผ่าโตบาโลไปแต่งงานกับกลุ่มชนเผ่าอื่น ข้ามยีนพันธุ์กรรม จะทำให้บุตรที่เกิดผิวหนังจะปกติ แต่ส่วนใหญ่กลุ่มชนเผ่าโตบาโล  จะแต่งงานกันเองภายในกลุ่มชนเผ่าเดียวกัน 

       การแต่งงาน ถ้าแต่งงานกันคนเผ่าอื่น ผิวหนังจะไม่มีลายขาว หรือถ้าแต่งงานกับคนชนเผ่าโตบาโลกันเอง ในกรณีภรรยาหรือสามี ไม่มีผิวหนังลาย ลูกที่เกิดมา จะมีทั้งผิวหนังลาย และไม่ลาย เป็นยีนพันธุ์กรรมจากฝ่ายทั้งคู่

       ภาษาที่พูดคือภาษาเบ็นตง  เป็นภาษาที่มีการผสมกันระหว่างภาษาบูกิส ภาษามากัสซาร์ และภาษาโกนโจ  ภาษาเบ็นตง เป็นภาษาพูดของทุกหมู่บ้านในเดซาบูโล บูโล

      อาชีพหลักของชนเผ่าบาโล คือการเพาะปลูก การทำสวน การเลี้ยงสัตว์และนับถือศาสนาอิสลาม

         ในสารนิพนธ์ของเดวี ปูรนามาสารี ยังกล่าวว่า  ชนเผ่าโตบาโล มีสถานะทางเศรษกิจ ที่พึ่งพาการเกษตร  มีการเพาะปลูก และรอผลผลิตเพื่อนำไปขายยังท้องตลาด ซึ่งอยู่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งถิ่นฐาน  เด็กๆชาวโตบาโล มีการศึกษาที่ค่อนข้างต่ำ รัฐเอง แทนที่จะพัฒนาด้านการศึกษา ก็เอาแต่ใช้กลุ่มเผ่าโตบาโล มาเป็นวัตถุเชิงการท่องเที่ยวเท่านั้น  ให้นักท่องเที่ยวมาชมความเป็นคนมีผิวหนังลาย ซึ่งมีแต่จะสร้างรอยแผลให้คนกลุ่มนี้

         โรงเรียนประถมต้น และโรงเรียนมัธยมตอนต้น ได้รับการสนุบสนุนจากออสเตรเลีย   เด็กๆที่มีผิวหนังลาย ได้รับการล้อนเลียนจากเพื่อนๆในโรงเรียน

        กลุ่มชนเผ่าโตบาโล จะมีศิลปะการละเล่นหนึ่ง ที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอบาร์รู นั้นคือ การเต้นบนไฟ เรียกการเต้นบนไฟนี้ว่า tari Sere Api เคยไปแสดงการเต้นบนไฟมาแล้ว ในงานศิลปวัฒนธรรมอินโดเนเซีย ในปี 1993 ที่สวนย่อส่วนศิลปวัฒนธรรมอินโดเนเซีย ในกรุงจาการ์ตา ที่ชื่อว่า Taman Mini Indonesia Indah หรือ TMII Jakarta

           กลุ่มคนโตบาโล จะมีผิวหนังคงกระพัน ไฟไม่สามารถจะให้ผิวหนังไหม้ได้ แต่ในการเต้นรำไฟนั้น พวกเขาจะมีการดูแลรักษาไฟ เพราะกลัวว่า จะมีคนโยนตะปู หรือวัตถุประเภทเหล็ก เข้าไปในกองไฟ เพราะจะทำให้คนกลุ่มนี้มีความรู้สึกร้อนจากไฟและผิวหนังจะไหม้ ในยุคกษัตริย์บูกิส จะรับคนกลุ่มนี้มาเป็นนักรบทหารของรัฐ เพราะถือว่าเป็นคนคงกระพัน มีผิวหนังลาย


อ้างอิง :-
Dewi Purnamasari, Interaksi Sosial To Balo Denga n Masyarakat Di Desa Bulo-Bulo Kecamatan Pujananting, Kabupaten Barru, Provinsi Sulawesi Selatan, Fakultas Ushuluddin Filsafat Dan Politik, UIN Alauddin, Makassar, Sulawesi Selatan. 2017


Rezky Juniarsih Nur, Dian Astuti, Hesti Dwiana Putri, Reski, Syamsuria, “Studi Etnografi Pada Suku To Balo Di Desa Bulo Bulo, Kecamatan Pujananting, Kabupaten Barru, Provinsi Sulawesi Selatan”. Universitas Muhammadiyah Makassar, Jurnal PENA|Volume 3|Nomor 2|ISSN 2355-3766|514.

Tiada ulasan: