Rabu, 9 Oktober 2013

แบกเป้ลุยกลุ่มประเทศอินโดจีน ตอน 4 : สัมผัสประเทศกัมพูชา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2013 คณะนักศึกษามลายูศึกษาก็ได้ข้ามมายังด่านเมืองบ่าเว็ต (Ba Vet) ฝั่งประเทศกัมพูชา  การเดินทางเข้าไปยังฝั่งประเทศกัมพูชา ทำให้เห็นสภาพสถาปัตยกรรมตัวอาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองที่แตกต่างกัน ในขณะที่ตัวอาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งประเทศเวียดนามได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก  แต่ตรงกันข้ามตัวอาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งประเทศกัมพูชา ยังคงมีการรักษาอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมด้วยความเป็นกัมพูชา  ตัวอาคารจะมีลวดลาย รูปทรงแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมร ซึ่งสร้างความสวยงามของตัวอาคารในอีกแบบหนึ่ง
 
 
   หลังจากที่ประทับตราหนังสือเดินทางที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองบ่าเว็ต (Ba Vet)แล้ว จึงขึ้นรถบัสต่อไป  ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศกัมพูชาได้ไม่นาน  สิ่งแรกที่แปลกใจคือได้เห็นโรงแรม อาคารบ่อนกาสิโนเรียงรายอยู่ตามรายทาง นั้นเป็นการรองรับนักการพนันจากฝั่งประเทศเวียดนาม ตามความเข้าใจเดิมของผู้เขียนนั้น เข้าใจว่าการเปิดบ่อนกาสิโนนั้นจะมีเพียงบริเวณชายแดนประเทศกัมพูชากับประเทศไทย โดยเฉพาะการเปิดบ่อนกาสิโนบริเวณตลาดปอยเปต ตำบลปอยเปต อำเภออูร์ชเรา จังหวัดบันเตียเมียนเจย ซึ่งเป็นเมืองชายแดนอยู่ตรงข้ามกับตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และการเปิดบ่อนกาสิโนนี้เป็นการร่วมรู้ร่วมคิดกันระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับนักการเมืองจากประเทศไทย

แต่ว่าเมื่อได้สัมผัสบริเวณชายแดนประเทศกัมพูชา-เวียดนามแล้ว จึงได้เห็นโรงแรม บ่อนกาสิโนบริเวณชายแดนดังกล่าวด้วย ดังนั้นผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะเป็นนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาต่อบริเวณชายแดนประเทศกัมพูชากับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ  ในการดึงนักการพนันจากประเทศเพื่อนบ้านมาทิ้งเงินในประเทศตนเอง  ไม่ได้เป็นการร่วมรู้ร่วมคิดกับนักการเมืองจากประเทศไทยตามที่เข้าใจแต่เดิม  ถึงอย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่ทราบว่าบริเวณชายแดนประเทศกัมพูชากับประเทศลาวจะมีการเปิดบ่อนกาสิโนด้วยหรือไม่
  สำหรับการเดินทางจากเมืองโฮชิมินห์ไปยังกรุงพนมเปญนั้น ได้รับการบอกเล่าว่าต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง ระหว่างการเดินทางภายในประเทศกัมพูชา ตั้งแต่จากชายแดนประเทศเวียดนามกับประเทศกัมพูชา จนเข้ายังกรุงพนมเปญนั้น ตามรายทางจะมีป้ายพรรคประชาชนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีฮุน เซ็น ตลอดทาง ซึ่งน่าจะแสดงถึงอิทธิพลของพรรคประชาชนกัมพูชา  จะมีป้ายพรรคการเมืองอื่นๆอยู่บ้าง แต่น้อยมาก ตามรายทางจะเห็นที่ดินว่างเปล่า ซึ่งน่าจะสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้
 การเดินทางในประเทศกัมพูชาจังหวัดแรกคือจังหวัดสวายเรียง เดินทางไม่นานนัก ก็ถึงเมืองเนียกเลือง (Neak Leoung) ก็ต้องใช้เรือแฟรี่เพื่อข้ามแม่น้ำโขง ระหว่างทางได้เห็นสถาบันการศึกษาหลายแห่ง สิ่งที่น่าแปลกใจไม่ค่อยเห็นบ้านเรือนที่ทรุดโทรม หรือเก่า ทั้งๆที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชานั้น ตามสถิติของธนาคารโลก ความยากจนของประชากรคือ 20.5 % ของประชากรทั้งหมด ก็ถือว่ามีสถิติค่อนข้างสูง หรืออาจจะเป็นนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาที่กำหนดให้บ้านเรือนที่น่าดู น่าชมเท่านั้นที่สามารถปลูกได้ตามรายทาง
เมื่อรถบัสเข้าตัวเมืองของกรุงพนมเปญ รถบัสก็ได้จอดลงที่ๆแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สถานีรถขนส่ง ไม่เหมือนที่ประเทศลาว หรือเวียดนามที่จอดตามสถานีขนส่ง  เมื่อรถจอดคณะนักศึกษามลายูศึกษาก็ได้รับการต้อนรับจากนายอัลวี นักศึกษาชาวจามมุสลิม จากมหาวิทยาลัยนอร์ตัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีเจ้าของเป็นชาวมุสลิม เขาได้พาไปยังโรงแรมที่พัก ซึ่งทางคณะนักศึกษามลายูศึกษาได้แจ้งให้ทางเขาเป็นผู้ประสานงานจองไว้ โดยเราบอกว่าขอให้หาโรงแรมที่พักใกล้ๆกับมัสยิด เพราะทางคณะนักศึกษามลายูศึกษาจะได้ดูสภาพชุมชนจามมุสลิมด้วย  ปรากฏว่าโรงแรมที่นายอัลวีจัดหาให้นั้นเป็นโรงแรมใหม่ ราคาไม่แพงมากนัก ซึ่งอยู่ข้างเคียงชุมชนมุสลิม


หลังจากที่ได้เข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว ไม่ไกลจากโรงแรมที่พักมีร้านอาหารมุสลิมอยู่ 2-3 ร้าน เราจึงเข้าไปทานอาหารในร้านอาหารมุสลิมร้านหนึ่ง ร้านนี้ชั้นบนจะทำเป็นที่พักให้เช่าสำหรับผู้เดินทางด้วย แต่ส่วนราคาก็เท่ากับโรงแรมที่คณะนักศึกษามลายูศึกษา นายอัลวีบอกว่าสภาพห้องพักจะแย่กว่าโรงแรมที่เขาจอง ดังนั้นเขาจึงจองที่พักที่โรงแรมดังกล่าว มากกว่าจะให้คณะนักศึกษามลายูศึกษาพักที่ร้านอาหารข้างต้น

ที่ร้านอาหารดังกล่าวผู้เขียนได้เห็นชาวจามจากต่างถิ่น เข้าร้านเพื่อติดต่อที่พักที่ชั้นบนของร้านอาหาร นายอัลวีบอกว่าปกติชาวจามมุสลิมจากจังหวัดต่างๆจะเดินทางมาพักที่ชั้นบนของร้านอาหารนี้ เมื่อคณะนักศึกษามลายูศึกษาเข้าไปในร้านอาหาร และจะทำการสั่งอาหาร จึงให้นักศึกษาคนหนึ่งที่ค่อนข้างจะคล่องภาษาอังกฤษเป็นผู้สั่งอาหาร ปรากฏว่าพนักงานของร้านอาหารดังกล่าวพูดเป็นภาษามลายูว่า สั่งอาหารเป็นภาษามลายูก็ได้ เพราะเธอเข้าใจภาษามลายู สร้างความตื่นเต้นให้กับคณะนักศึกษามลายูศึกษาเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่คณะนักศึกษามลายูศึกษาทานอาหารที่ร้านดังกล่าวเสร็จแล้ว ซึ่งราคาอาหารก็ไม่แพงเหมือนกับในประเทศเวียดนาม 


นายอัลวีจึงพาคณะนักศึกษามลายูศึกษาไปเที่ยวตลาดกลางคืนของกรุงพนมเปญ ไปดูพระราชวังของกษัตริย์กัมพูชา ทำให้ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของประชาชนประเทศกัมพูชา นอกจากนั้นนายอัลวียังพาคณะนักศึกษามลายูศึกษาไปในสวนสนุกของกรุงพนมเปญ ดูท่าทางนายอัลวีจะภาคภูมิใจกับสวนสนุกแห่งนี้ แต่สำหรับคณะนักศึกษามลายูศึกษารู้สึกเฉยๆ เพราะนักศึกษามลายูศึกษาบางคนเคยผ่านสวนสนุกที่ใหญ่กว่านี้มาแล้ว
 
ในวันรุ่งขึ้น วันที่ 1 มิถุนายน 2013 ขณะที่พักอยู่ที่โรงแรม ทางเพื่อนชาวจามคนหนึ่งชื่อว่านายอีซา อาลีได้เดินทางมาพบผู้เขียนที่โรงแรมที่พัก เขาเป็นอดีตนักเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส ดังนั้นผู้เขียนจึงใช้ประโยชน์จากเขา ด้วยเขามากับรถโตโยต้าแคมรี จึงชวนเขากับนายอัลวีให้ไปซื้อตั๋วเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ด้วยทางคณะนักศึกษามลายูศึกษาได้รับการแนะนำจากอาจารย์วาสน์ มุขยานุวงศ์ ตั้งแต่แรกที่วางแผนจะเดินทางลุยอินโดจีนว่ามีตั๋วรถบัสจากกรุงพนมเปญไปยังกรุงเทพฯในราคา 17 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อเราไปยังที่จำหน่ายตั๋วแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าราคา 23 ดอลลาร์สหรัฐ  เราจึงไม่ซื้อ และให้เพื่อนชาวจามคนนั้นพาไปยังที่จำหน่ายตั๋วอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่ารถบัสที่จะไปยังกรุงเทพฯได้ออกเดินทางตั้งแต่ช่วงเช้า คิดว่าน่าจะเป็นรถที่ต้องเปลี่ยนกันที่ตลาดโรงเกลือ ดังนั้นเราจึงซึ่งซื้อตั๋วรถบัสที่จะเดินทางไปยังเมืองปอยเปตเท่านั้น 
สิ่งที่หวั่นที่สุดคือเราไม่รู้ว่าสภาพ สถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ก็ทำใจไว้แล้วว่า ถ้าสุดวิสัยจริงๆ ถึงเมืองปอยเปตช่วงกลางคืน เราไม่สามารถจะเดินทางต่อไปยังตลาดโรงเกลือ ก็ต้องหาเช่าโรงแรมราคาถูกๆฝั่งเมืองปอยเปตแน่นอน ปรากฏว่ารถบัสจากกรุงพนมเปญวิ่งด้วยยังเมืองปอยเปตด้วยความเร็วพอประมาณ แต่ในความรู้สึกของผู้เขียนนั้น ยังรู้สึกว่าช้ามาก เมื่อคำนึงถึงเวลาเปิดปิดด่านตรวจคนเข้าเมืองระหว่างชายแดนประเทศกัมพูชากับประเทศไทย ปรากฏว่ารถบัสเดินทางถึงเมืองปอยเปตเป็นเวลาทุ่มหนึ่ง เมื่อสอบถามผู้คนว่าด่านตรวจคนเข้าเมืองปิดเวลาอย่างไร คำตอบที่ได้รับคือเวลาสองทุ่ม เมื่อได้รับคำตอบดังนั้น คณะนักศึกษามลายูศึกษาจึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนจากการนอนที่เมืองปอยเปตมาเป็นข้ามฝั่งไปยังประเทศไทย อย่างน้อยการอยู่ในประเทศไทย แม้จะเป็นต่างถิ่น แต่ด้วยสถานะของการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็น่าจะช่วยอะไรได้บ้าง คณะนักศึกษามลายูศึกษาจึงขึ้นรถตุ๊กตุ๊กกัมพูชาเดินทางไปยังอาคารตรวจคนเข้าเมืองที่เมืองปอยเปต ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่จอดรถบัสมากนัก เมื่อคณะนักศึกษามลายูศึกษาประทับตราหนังสือเดินทางที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งเมืองปอยเปตเรียบร้อยแล้ว
และเดินทางเข้าไปยังฝั่งประเทศไทยที่ตลาดโรงเกลือ ทำให้คณะนักศึกษามลายูศึกษาแต่ละคนดีใจมาก เพราะคิดว่าเมื่อมีปัญหา มีอุปสรรคนั้น การมีปัญหาและอุปสรรคในฝั่งประเทศไทย น่าจะมีแนวทางในการแก้ไข หรือขอความช่วยเหลือได้มากกว่า เมื่อเดินทางถึงซุ้มประตูชายแดนฝั่งไทย คณะนักศึกษามลายูศึกษาก็ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก พร้อมตะโกนว่า “เราทำสำเร็จแล้ว”  นั้นหมายถึงการเดินทางที่ยาวไกลของคณะนักศึกษามลายูศึกษา ตั้งแต่เข้าประเทศลาว ทางด่านตรวจคนเข้าเมืองที่จังหวัดหนองคาย เมื่อเข้าไปยังประเทศลาว โดยเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์แล้ว ต่อจากนั้นเดินทางต่อไปยังประเทศเวียดนาม ตั้งแต่กรุงฮานอย ลงมายังเมืองโฮชิมินห์ ด้วยความทรหด ที่ต้องนั่ง นอนบนรถ Sleeping bus เป็นเวลา 44 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นต่อรถจากเมืองโฮชิมินห์ไปยังกรุงพนมเปญ และจากกรุงพนมเปญมายังเมืองปอยเปต ถือว่าการเดินทางแบกเป้ลุยกลุ่มประเทศอินโดจีน อันประกอบด้วยประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชาที่ได้บรรลุเป้าหมายแล้ว และถือเป็นครั้งแรกของคณะนักศึกษามลายูศึกษาที่ได้เดินทางมายังกลุ่มประเทศอินโดจีน
เมื่อเดินทางเข้ามายังตลาดโรงเกลือทางคณะนักศึกษามลายูศึกษา ก็ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ทางราชการที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองที่นั่นว่า มีโรงแรมที่พักราคาไม่แพงในตัวอำเภออรัญประเทศไหม ก็ได้รับคำตอบว่ามีโรงแรมที่พักราคาไม่แพงจำนวนหนึ่ง และยังได้รับคำตอบว่าในตลาดโรงเกลือเองก็มีโรงแรมที่พักรคาไม่แพงอีกด้วย แถมยังแนะนำว่าถ้าพรุ่งนี้จะมาเที่ยวที่ตลาดโรงเกลือ ก็น่าจะพักที่โรงแรมในตลาดโรงเกลือดีกว่า พร้อมแนะนำแหล่งที่พัก โดยบอกว่าจะมีที่พักที่ชาวมุสลิมจากท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะภาคใต้มาพักบ่อยๆ เป็นโรงแรมที่พักเล็กๆอยู่ในซอยแถว 7-11 เมื่อคณะนักศึกษามลายูศึกษาไปถึงที่โรงแรมดังกล่าว ปรากฏว่ายังมีห้องพักว่างอยู่ หลังจากที่ได้เข้าที่พัก อาบน้ำเรียบร้อยแล้ว จึงลงจากโรงแรมมาทานอาหารมุสลิมที่อยู่ชั้นล่างของโรงแรม ก็ปรากฏว่าเจ้าของร้านอาหารเป็นชาวมุสลิมมาจากจังหวัดปัตตานี
วันรุ่งขึ้น วันที่ 2 มิถุนายน 2013 หลังจากที่คณะนักศึกษามลายูศึกษาได้ทำภารกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ก็ลงมาทานอาหารที่ร้านอาหารคนปัตตานี หลังจากนั้นจึงไปซื้อสินค้าที่แต่ละคนต้องการในตลาดโรงเกลือ พอไปเวลารถตู้สายตลาดโรงเกลือ-กรุงเทพฯก็มารับคณะนักศึกษามลายูศึกษาเดินทางไปยังกรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายคือสถานีรถไฟหัวลำโพง
เมื่อถึงสถานีรถไฟหัวลำโพงแล้ว แต่ละคนก็ซื้อตั๋วรถไฟชั้นสอง เพื่อเดินทางกลับมายังจังหวัดปัตตานี และในช่วงเช้า วันที่ 3 มิถุนายน 2013 รถไฟก็ได้เดินทางถึงสถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์) ทางคณะนักศึกษามลายูศึกษาก็ลงที่สถานีรถไฟแห่งนี้ ส่วนบางคนก็เดินทางต่อไปยังสถานีรถไฟยะลา สำหรับคนที่ลงที่สถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์)ก็มีรถสองแถวสายโคกโพธิ์-ปัตตานีที่เราได้ประสานกันมาแล้ว มารับเพื่อเดินทางกลับไปยังตัวเมืองปัตตานี
การเดินทางลุยกลุ่มประเทศอินโดจีนครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถฝ่าอุปสรรคต่างๆได้ด้วยดี และถือว่าเป็นการเดินทางสัมผัสกลุ่มประเทศอาเซียนที่แท้จริง เราไม่เพียงเรียนรู้ในชั้นเรียนเท่านั้น และการเดินทางครั้งนี้ ก็สามารถถือว่าสร้างนักศึกษามลายูศึกษาจำนวน 3 คน ที่เดินทางมาแล้วทั้งในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ยังขาดอีกเพียง ประเทศพม่าและฟิลิปปินส์ก็จะเดินทางครบทุกประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน  และขอขอบคุณอาจารย์วาสน์ มุขยานุวงศ์ อีกครั้งที่ให้คำปรึกษา คำแนะคำทางอินเตอร์เน็ตตลอดเวลาของการเดินทาง

Tiada ulasan: