เมื่อต้นเดือนกันยายน 2013 ผู้เขียนได้รับหนังสือเชิญจากองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม ให้ส่งเยาวชนเข้าร่วมค่ายเยาวชนโลกมลายูโลกอิสลามและเข้าร่วมงานประชุมใหญ่ขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลามหรือ Dunia Melayu Dunia Islam (DMDI) และทางองค์กรโลกมลายูโลกอิสลามแจ้งว่าให้เชิญวิทยากรสตรีเพื่อเข้าร่วมเสวนาของโครงการกิจกรรมฝ่ายสตรีองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องหาวิทยากรสตรีที่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทกิจกรรมของสตรีในประเทศไทย และเป็นที่น่ายินดีที่สามารถเชิญคุณตัสนีม เจ๊ะตู สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส เขตอำเภอเจาะไอร้อง ซึ่งถือว่าเป็นนักพูด นักกิจกรรมทางสังคมผู้หนึ่ง
ก่อนอื่นขอแนะนำองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม
องค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ Dunia Melayu Dunia Islam (DMDI) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในปี 2000 จากการประชุมใหญ่ครั้งแรกภายใต้การนำของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดอาลี มูฮัมหมัดรุสตัม อดีตมุขมนตรีรัฐมะละกา ปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิกของมาเลเซีย องค์กรนี้จัดตั้งในลักษณะขององค์กรที่สังกัดรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐมะละกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี ความร่วมมือในหมู่ประชาชาติมลายู-มุสลิม ในทุกๆด้าน และความร่วมมือระหว่างประชาชาติมลายู-มุสลิมกับประชาชาติอื่นๆในโลก
วัตถุประสงค์หลักขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม
1. สร้างความสามัคคีระหว่างสังคมมลายูและสังคมมุสลิมทั่วโลก
2. เป็นเวทีสำหรับผู้นำโลกมลายูและมุสลิมในการพูดคุยถึงความร่วมมือในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่
3. ดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
4. ให้ความช่วยเหลือสังคมมลายูและมุสลิมที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ความชำนาญการ การบริการและอื่นๆ
5. ฟื้นฟูความรุ่งเรืองของสังคมมลายูและมุสลิมในอดีตให้ชนรุ่นหลังเป็นแบบอย่างในอนาคต
o ฝ่ายเยาวชน
o ฝ่ายสตรี
o ฝ่ายดะวะห์
o ฝ่ายเศรษฐกิจ
o ฝ่ายการท่องเที่ยว
o ฝ่ายไมโครเครดิต
o ฝ่ายสังคมวัฒนธรรม
o ฝ่ายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี่ และนวัตกรรม
o ฝ่ายการศึกษา
o ฝ่ายการกีฬา
o ฝ่ายข้อมูลเทคโนโลยี่สารสนเทศ
o ฝ่ายอุตสาหกรรมฮาลาลไบโอเทคโนโลยี่
ในการเข้าร่วมงานเสวนานั้น โดยที่คุณตัสนีม เจ๊ะตู ต้องบนเวทีพูดเสวนาในวันที่ 27 ตุลาคม 2013 ดังนั้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2013 เธอและสามีจึงเดินทางไปยังรัฐมะละกา โดยมีคุณฮัจญีอาลี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดแห่งหนึ่งเป็นผู้ติดตามไปด้วย
คุณตัสนีม เจ๊ะตู ได้ขึ้นพูดในเวทีเสวนาเกี่ยวกับสตรี โดยมีวิทยากรอีกท่านนึ่งมาจากประเทศอินโดเนเซีย รวมกับวิทยากรจากประเทศมาเลเซีย เจ้าภาพอีกคนหนึ่ง นับว่าองค์กรโลกมลายูโลกอิสลามโดยฝ่ายต่างๆจัดกิจกรรมของฝ่ายตนเอง กระจายไปตามสถานที่ต่างๆ สำหรับเวทีเสวนาของฝ่ายสตรีนี้จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ฮังตูวะห์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ใหม่ที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยว
ส่วนผู้เขียนได้ขึ้นเวทีเสวนาในวันที่ 29 ตุลาคม 2013 เป็นเวทีเสวนาเกี่ยวกับการศึกษา และเศรษฐกิจ ในหัวข้อ “Pendidikan dan Ekonomi Dalam Mewujudkan Keamanan dan Kesejahteraan Umat Melayu Umat Islam” ที่มีวิทยากรอยู่ 4 คน โดยวิทยากร 3 คน ปรากฏว่าเป็นเรื่องแปลกที่ทั้งสามคนมีนามสกุล หรือชื่อบิดาที่เหมือนกัน นั้นคือ ดร. อีซา ฮัสซัน รองประธานองค์กรยามีอะห์ แห่งประเทศสิงคโปร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย และปัจจุบันก็ยังรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศออสเตรเลีย ส่วนคนที่สองคือ ฯพณฯ ออกญา ออสมาน ฮัสซัน ผู้ซึ่งมีตำแหน่งควบถึง 3 ตำแหน่ง ตำแหน่งแรกคือ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งที่สอง คือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น และตำแหน่งที่สาม คือ ปลัดกระทรวงแรงงานของประเทศกัมพูชา และผู้เขียนเองที่มีนามสกุล (บินนิ)ฮัสซัน ตัวน้อยๆแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ส่วนวิทยากรคนสุดท้าย คือคุณมาอัส รอมลี ชาวมลายูจากประเทศศรีลังกา และก็ยังปรากฏว่าผู้เขียนค่อนข้างจะงงกับวงเสวนานี้ ด้วยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ คือ รองศาสตราจารย์ ดร. อาบูบาการ์ มูฮัมหมัดดียะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโนโลยี่ และนวัตกรรมของมาเลเซีย
การเสวนาเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา และเศรษฐกิจนั้น วิทยากรแต่ละคนจะพูดคุยถึงสภาพการศึกษา และเศรษฐกิจของประเทศตนเอง โดยฯพณฯออกญา ออสมาน ฮัสซัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยด้วยภาษามลายู
ผู้เขียนเชื่อว่างานประชุมใหญ่ขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลามในครั้งนี้ มีกิจกรรมของฝ่ายต่างๆที่หลากหลาย มีโครงการค่ายเยาวชนของฝ่ายเยาวชนองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม มีกิจกรรมเสวนาของฝ่ายต่างๆ ล้วนเป็นพื้นที่ เป็นเวทีสำหรับการพบปะของบรรดานักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจจากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมในองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม
สำหรับผู้เขียนนอกจากที่ได้พบปะเพื่อนเก่าๆจากประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นการกระชับความแน่นแฟ้นให้มากขึ้น ยังสามารถพบปะเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งสามารถสร้างและเพิ่มเครือข่าย ต่อไปจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่างๆของนักศึกษามลายูศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีในโอกาสต่อไป