Isnin, 22 Oktober 2012

สองประธานาธิบดีประเทศอินโดเนเซียที่ถูกลืม

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

สองประธานาธิบดีประเทศอินโดเนเซียที่ถูกลืม
           เมื่อเราศึกษาถึงประเทศอินโดเนเซีย  นอกจากจะมีการกล่าวถึงสภาพภูมิประเทศแล้ว จะต้องมีการกล่าวถึงชื่อประธานาธิบดีอินโดเนเซีย นับตั้งแต่ประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งเป็นประธานาธิบดียุคเก่า (Orde lama) คือนายอาหมัด ซูการโน (Ahmad Sukarno)  ต่อมาประธานาธิบดียุคใหม่ (Orde baru) คือนายมูฮัมหมัด ซูฮาร์โต (Muhammad Suharto)  และหลังจากนั้นมาถึงประธานาธิบดียุคปฏิรูป (Orde Reformasi) ซึ่งประกอบด้วยนายบัคเตียร์ ยูซุฟ ฮาบีบี (Baktiar Jusuf Habibi)   นายอับดุลราห์มาน  วาฮิด  (Abdulrahman Wahid) นางเมอฆาวาตี ซูการโนปุตรี(Megawati Sukarnoputri) และสุดท้ายนายซูซีโล ยูโธโยโน (Susilo Yudhoyono) 
นายอาหมัด ซูการโน (Ahmad Sukarno) 
นายมูฮัมหมัด ซูฮาร์โต (Muhammad Suharto) 
นายบัคเตียร์ ยูซุฟ ฮาบีบี (Baktiar Jusuf Habibi)
นายอับดุลราห์มาน  วาฮิด  (Abdulrahman Wahid) 
นางเมอฆาวาตี ซูการโนปุตรี(Megawati Sukarnoputri)
นายซูซีโล ยูโธโยโน (Susilo Yudhoyono) 
แต่จะไม่มีกล่าวถึงบุคคลอีกสองคน ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับอย่างทางการว่าเป็นประธานาธิบดี  แต่การปฏิบัติหน้าที่และบทบาทตามกฎหมายในขณะนั้นถือได้ว่ามีสถานะเป็นผู้นำของประเทศอินโดเนเซีย  นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าสิ่งนี้อาจด้วยบุคคลทั้งสองไม่ได้เป็นชนเผ่าชวา จึงทำให้ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ  เราน่าจะมาทำความรู้จักบุคคลทั้งสอง  เพราะในอนาคตบุคคลทั้งสองอาจได้รับการยอมรับว่าเป็นประธานาธิบดีประเทศอินโดเนเซียก็เป็นได้ บุคคลทั้งสองคือ นายอัสซาอัต ดาโต๊ะมูดอ (Asaat Datuk Mudo) และ 
นายชัฟรุดดีน ปราวีราเนอฆารา (Syafruddin Prawiranegara) 
 นายชัฟรุดดีน ปราวีราเนอฆารา
นายชัฟรุดดีน ปราวีราเนอฆารา:ประธานาธิบดีอินโดเนเซียที่ถูกลืม
ชื่อของเขานอกจากจะเขียนว่า Syafruddin Prawiranegara มีการเขียนอีกแบบหนึ่งว่า Sjafruddin Prawiranegara เกิดที่เมืองเซอรัง จังหวัดบันเต็น ประเทศอินโดเนเซีย เมื่อ 28กุมภาพันธ์ 1911 และสิ้นชีวิตเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 1989 ขณะที่มีอายุ 77 ปี 
 นายชัฟรุดดีน ปราวีราเนอฆารา
เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดเนเซีย เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีหรือ หัวหน้ารัฐบาลผลัดถิ่น ที่ชื่อว่า รัฐบาลในสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณรัฐอินโดเนเซีย หรือ PDRI (Pemerintah Darurat Republik Indonesia) ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลอินโดเนเซียมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองยอกยาการ์ตา ถูกฮอลันดายึดครอง และประธานาธิบดีประเทศอินโดเนเซีย(นายอาหมัด ซูการ์โน)ก็ถูกฮอลันดาจับกุม เมื่อ 19 ธันวาคม 1948

จนนายอาหมัด ซูการ์โนต้องโอนอำนาจให้แก่นายชัฟรุดดีน ปราวีราเนอการา เป็นผู้รับช่วงต่อไป เขาเป็นผู้นำรัฐบาลในสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณรัฐอินโดเนเซียระหว่าง19 ธันวาคม1948 จนถึง 13 กรกฎาคม 1949 อย่างไรก็ตามแม้เขาจะมีสถานะเป็นผู้นำของประเทศอินโดเนเซียในขณะนั้น แต่รัฐบาลอินโดเนเซียในปัจจุบันไม่ยอมรับถึงสถานะดังกล่าว มีการกล่าวว่าถ้านายชัฟรุดดีน ปราวีราเนอการา ไม่จัดตั้งรัฐบาลในสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณรัฐอินโดเนเซีย หรือ PDRI (Pemerintah Darurat Republik Indonesia) 

ในขณะนั้น ไม่รู้ว่าปัจจุบันประเทศอินโดเนเซียจะเป็นอย่างไร ในปัจจุบันรัฐบาลอินโดเนเซียได้ประกาศให้วันที่ 19 ธันวาคม วันที่นายชัฟรุดดีน ปราวีราเนอการา จัดตั้งรัฐบาลในสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณรัฐอินโดเนเซีย หรือ PDRI (Pemerintah Darurat Republik Indonesia) เป็นวันสำคัญคือวันพิทักษ์ชาติ (Hari Pembela Bangsa) และเมื่อ พฤศจิกายน 2011 นายชัฟรุดดีน ปราวีราเนอการา ได้รับการยกฐานะให้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติ  ในอนาคตบุคคลทั้งสองอาจได้รับการยอมรับว่าเป็นอีกสองประธานาธิบดีอินโดเนเซียก็เป็นได้
 นายอัสซาอัต ดาโต๊ะมูดอ
นายอัสซาอัต ดาโต๊ะมูดอ
เกิดที่หมู่บ้าน Pincuran Landai, Kubang Putiah, Banuhampu, Agam ในจังหวัดสุมาตราตะวันตก เมื่อ 18 กันยายน 1904 และเสียชีวิตเมื่อ 16 มิถุนายน 1976 รวมอายุ 71 ปี เขาทำหน้าที่เป็นรักษาประธานาธิบดีอินโดเนเซีย ขณะที่ตอนนั้นรัฐบาลตั้งอยู่ที่เมืองยอกยาการ์ตา เขาเคยเป็น รมต.มหาดไทยของอินโดเนเซีย 

รักษาการประธานาธิบดีอินโดเนเซีย 
นายอัสซาอัต ดาโต๊ะมูดอ เป็นรักษาการประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดเนเซีย ขณะที่รัฐบาลตั้งอยู่ที่เมืองยอกยาการ์ตา ระหว่างเดือนธันวาคม 1949 ถึงเดือนกรกฎาคม 1950 ซึ่งขณะนั้นมีการจัดตั้งประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐอินโดเนเซีย (United States of Indonesia) โดยสาธารณรัฐอินโดเนเซียเป็นหนึ่งใน 17 ประเทศและรัฐที่เข้าร่วมเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐอินโดเนเซีย ตอนที่มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยกายะห์มาดา ในเมืองยอกยาการ์ตา นายอัสซาอัต ดาโต๊ะมูดอ เป็นผู้เซ็นในพ.ร.บ.การจัดตั้งมหาวิทยาลัยดังกล่าวในฐานะประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดเนเซีย

Tiada ulasan: