Isnin, 27 Ogos 2007

ปัตตานี คือ ลังกาสุกะ


ปัตตานีคือลังกาสุกะ

ปัตตานีที่ให้ความหมายในบทความนี้ไม่ใช่จังหวัดปัตตานี ดังที่เป็นอยู่ในแผนที่ประเทศไทยปัจจุบันนี้ แต่เป็นการอ้างอิงถึงรัฐปาตานี หรือรัฐแห่งหนึ่งที่มีเขตแดนที่กว้างขวางกว่านั้น นั้นคือ ครอบคลุมทั้งจังหวัดนราธิวาส, ยะลา และบางส่วนของจังหวัดสงขลา (อำเภอสะบ้ายอ และตีบอ)[1]


รัฐปัตตานีมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่าบรรดารัฐในคาบสมุทรมลายู เช่น มะละกา, โยโฮร์ , สลังงอร์ และอื่น ๆ อีก ประวัติศาสตร์เก่าของปัตตานีนั้น คือ การอ้างถึงรัฐมลายูเก่าที่มีอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียที่มีชื่อว่า ลังกาสุกะ (Langkasuka) อาจารย์คนหนึ่งของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คือท่านอาจารย์เสนีย์ มะดากะกุล มีความเห็นว่าลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ปัตตานี ความคิดเห็นนี้มีความสอดคล้องกับนักประวัติศาสตร์อื่นอีกหลายคน เช่น ศาสตราจารย์ไซนัล อาบีดีน วาฮิด (Prof. Zainal Abidin Wahid), มูบิน เชปปาร์ค (Mubin Shepard) , ศาสตร์จารย์ ดี.จี. ฮอลล์ (Prof. D. G. Hall) และศาสตร์จารย์พอล วีทลีย์ (Prof.Paul Wheatly) หลายต่อหลายเหตุผลที่ได้ถูกเสนอให้เห็นว่าทำไมลังกาสุกะที่มีชื่อเสียงนั้นตั้งอยู่ที่ปัตตานี และไม่ใช่ดังเช่นที่มีการค้นพบมาก่อนหน้านี้ นั้นคือที่เคดะห์[2]

นักมานุษยวิทยาได้ยืนยันว่าชนชาติที่เริ่มตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรมลายูนั้นคือชนเผ่าชวา – มลายู (Javanese - Malay) ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นชนชาวมลายูปัตตานี ในภาคใต้ของไทยในปัจจุบันนี้  ในบันทึกแห่งหนึ่งเกี่ยวกับการเดินทางของกษัตริย์สยาม มายังคาบสมุทรมลายู ได้กล่าวว่ามีคนอาหรับและอินเดียได้มาตั้งถิ่นฐานในดินแดนนี้ และได้แต่งงานกับชนเผ่าชวา – มลายูนี้ ความเชื่อที่กล่าวว่าชนเผ่าชวา – มลายูนี้เป็นบรรพบุรุษของคนมลายูปัตตานี ปัจจุบันได้รับการยืนยันจากนักประวัติศาสตร์ไทยคนหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน และได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ชื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในบทความหนึ่งของเขาที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันของไทยชื่อ สยามรัฐ ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1975

บรรดาพ่อค้าจากตะวันตก (อาหรับ – อินเดีย) และจีนได้เดินทางมายังคาบสมุทรมลายูก่อนปีคริสต์ศักราชเสียอีก ในหนังสือบันทึกของพ่อค้าเหล่านี้มีที่กล่าวว่า รัฐเก่าที่มีในคาบสมุทรมลายู คือ ลังกาสุกะ นักเดินทางชาวจีนคนหนึ่งกล่าวว่าขณะที่เขาได้เดินทางมายังลังกาสุกะในปี ค.ศ. 200 นั้น เขาพบว่ารัฐนี้ได้มีมานานแล้ว นอกจากนั้นในบันทึกหนึ่งทางประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งเขียนในสมัยราชวงศ์เหลียง (ค.ศ. 502 - 566) ได้กล่าวไว้ว่า รัฐลังกาสุกะได้ตั้งขึ้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1 เสียอีก เป็นไปได้ว่า ระหว่างปี ค.ศ. 80 – 100 เกี่ยวกับที่ตั้งของลังกาสุกะ (เรียกว่า ลัง-ยา-ซิว) บันทึกนี้ได้กล่าวว่า “รัฐลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ทะเลใต้ มีดินแดนที่กว้าง นั้นคือจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกใช้เวลาเดินเท้า ถึง 30 วัน และจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ใช้เวลาเดินเท้านาน 20 วัน”[3]

หนังสือประวัติศาสตร์รัฐเคดะห์ที่ชื่อ ตำนานมะรง มหาวังศา” มีที่ได้กล่าวถึงว่า รัฐลังกาสุกะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งตั้งอยู่ที่รัฐเคดะห์ นั้นคือ เชื่อว่าตั้งอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำเมอร์โบะ (Sungai Merbok) อีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเคดะห์ นั้นคือเชื่อว่าตั้งอยู่ที่ชายฝั่งทะเลจีนใต้ ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์พอล วีทลีย์ ไม่สงสัยอีกเลยที่จะกล่าวว่าลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ปัตตานีในปัจจุบัน ความคิดเห็นนี้ได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์เพิร์น (Prof. Pearn), ศาสตราจารย์ฮอลล์ (Prof. Hall) และสมาคมประวัติศาสตร์รัฐกลันตัน อาจารย์เสนีย์ มะดากะกุล ในบทความของเขาที่มีชื่อว่า ประวัติศาสตร์ปัตตานีโบราณ – รัฐลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ไหน, วารสารรูสะมิแล (คณะศึกษาศาสตร์,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 เดือนมีนาคม ค.ศ. 1976) ขณะที่ได้กล่าวสนับสนุนความคิดเห็นนี้ได้อธิบายว่าในประวัติศาสตร์จีน เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 และที่ 2 มีการกล่าวถึงชื่อรัฐเคดะห์และลังกาสุกะ หลักฐานนี้ทำให้เขามีความมั่นใจว่ารัฐเคดะห์และลังกาสุกะเป็นสองรัฐที่แยกจากกัน เขาได้กล่าวว่าในการวิจัยหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นที่ปัตตานี เขาได้พบผู้เฒ่าคนแก่ที่อำเภอยะรัง ซึ่งได้กล่าวว่ายะรังและปูยุดเดิมนั้นตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล ชาวบ้านได้บอกแก่เขาว่าพวกเขาเคยพบชิ้นเศษหินโบราณขณะที่ทำการขุดบ่อลึกประมาณ 6 ฟุต หลักฐานร่องรอยโบราณก็ยังได้ค้นพบตลอดหมู่บ้านยะรังจนถึงหมู่บ้านประแว[4] เป็นการยืนยันว่าที่นั่นเคยเป็นชายฝั่งทะเลหลักฐานเหล่านี้ทำให้เขามีความมั่นใจว่าลังกาสุกะเป็นรัฐเก่าของปัตตานี

นอกจากนั้นเขายังได้คัดลอกเรื่องหนึ่งในหนังสือ Negarakertagama ที่ได้กล่าวไว้ว่า ตัวเมืองปัตตานีในศตวรรษดังกล่าว (ศตวรรษที่หนังสือดังกล่าวถูกเขียนขึ้น) มีชื่อว่ายือแร (Djere) นั้นเป็นคำเรียกที่ใกล้เคียงกับคำว่ายะรัง หรือยือไรในภาษามลายู พร้อมกันนั้นข้อมูลจากประวัติศาสตร์ของจีนก็ได้กล่าวไว้ว่ายะรังนั้นตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล

ศาสนาและความเชื่อ

มีความเชื่อกันว่าลังกาสุกะมีการนับถือศาสนาฮินดู ศาสตราจารย์เอ.ทิว (A.Teuw) และศาสตราจารย์ดี.เค.วัยแอต (D.K. Wyatt) ในการบรรยายครั้งหนึ่งขณะที่มีการจัดนิทรรศการวัฒนธรรมภาคใต้ของไทยที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในปี ค.ศ. 1970 ได้ยืนยันว่าลังกาสุกะนั้นมีความรุ่งเรืองในทางด้านการค้าและฝั่งทะเลนั้นมีพ่อค้าจำนวนมากมาเทียบเรือ โดยเฉพาะในการเดินทางของพวกเขาระหว่างคาบสมุทรมลายูกับเวียดนาม ในปี ค.ศ. 450 มีพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งได้บันทึกว่าที่ปัตตานี (ลังกาสุกะ)
เขาได้พบคนกลุ่มพราหมณ์จำนวนหลายคนจากอินเดียที่อาศัยอยู่ในราชสำนัก หลักฐานนี้เป็นการยืนยันว่าศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ได้ฝังลึกที่ปัตตานีตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 450

ศาสตราจารย์ฮอลล์ได้กล่าวว่า ในปี ค.ศ. 515 กษัตริย์ลังกาสุกะที่รู้จักในนามว่าดาคะ ดัตตะ (Bhaga Datta) นั้นเป็นชื่อในภาษาสันสกฤต ที่มีความหมายว่า “ผู้นำแห่งอำนาจ” ชื่อนี้ได้ให้ความหมายที่ชัดเจนถึงอิทธิพลของอินเดียและฮินดูในลังกาสุกะเกี่ยวกับพิธีกรรมของประชาชนลังกาสุกะนั้น ประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์เหลียงได้กล่าวถึงว่าประชาชนลังกาสุกะไม่ชอบไว้ผมยาว ศีรษะของพวกเขามีการโกนเกรี้ยง พวกเขาใส่เสื้อผ้าที่ทอจากฝ้ายและสวมเสื้อไม่มีแขน กษัตริย์นั้นมักเดินทางไปที่แห่งใดด้วยการทรงช้างโดยมีควาญช้างผู้หนึ่ง ข้าบริวารตั้งแถวยาวเดินขบวนตามกษัตริย์ด้วยการถือธงและตีกลอง

เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยประสบความสำเร็จในการครอบครองนครศรีธรรมราชในปี ค.ศ. 775 และต่อมาได้ขยายอำนาจของเขามาทางใต้ (ปัตตานี) นับแต่นั้นมาประชาชนปัตตานีก็ได้ละทิ้งศาสนาพราหมณ์ฮินดูและได้เข้ารับนับถือศาสนาพุทธ เชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยนั้น ยังได้เผยแพร่ภาษามลายูมายังปัตตานี พระพุทธรูปองค์หนึ่งสมัยศรีวิชัยที่ถูกค้นพบในถ้ำของวัดถ้ำ ในพื้นที่ยะลาเป็นหลักฐานยืนยันได้ถึงการเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาจากพราหมณ์มาเป็นพุทธนี้

อย่างไรก็ตามหลักฐานร่องรอยโบราณนี้มีเป็นจำนวนมาถูกทำลาย เมื่อต่อมาชาวปัตตานีได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งทำให้รัฐปัตตานีในปัจจุบันมีความขาดแคลนด้านวัตถุโบราณ และสิ่งเหล่านี้ทำให้ลำบากในการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์เก่าแก่ของปัตตานีภาษามลายูสันสกฤตและศาสนาพุทธที่ถูกนำมาโดยศรีวิชัยนั้น มีอิทธิพลอย่างมากเหนือชาวปัตตานี เริ่มตั้งแต่สมัย การปกครองของศรีวิชัยนี้เอง ที่ปัตตานีเริ่มเจริญขึ้นและได้รับความรุ่งเรือง ทำให้ปัตตานีมีชื่อเสียงมากกว่าสมัยก่อนหน้านี้

ตามคำกล่าวของอาจารย์เสนีย์ มะดากะกุล ปัตตานีเริ่มได้รับความเจริญรุ่งเรืองในสมัยพุทธศักราชที่ 800 ในช่วงเวลาปีเดียวกันนั้นศรีวิชัยที่ปาเล็มบังได้รวมกับรัฐของไสเลนทรา (Sailendra) ที่ชวา จึงได้จัดตั้งตนเองกลายเป็นมหาอำนาจหนึ่งมีการครอบครองไม่เพียงแต่ภูมิภาคมลายูยังรวมถึงอินโดจีน กษัตริย์ไสเลนทราได้เลือกปัตตานีให้เป็นศูนย์อำนาจการปกครองในคาบสมุทรมลายู การปกครองของศรีวิชัยที่ปัตตานีดำเนินไปโดยปราศจากการใช้กำลังทหารและเหล่าข้าราชการ แต่ด้วยกานใช้อำนาจทางทะเลและธุรกิจการค้า ความรู้ที่ทรงค่าหลายอย่างเช่น การไถ และทำไร่ที่ชาวปัตตานีรับมานั้นมาจากคนชวา

อี้ชิง นักเดินทางชาวจีนผู้หนึ่งที่มีชื่อเสียง ได้กล่าวว่าวัฒนธรรมมลายูพุทธในหมู่เกาะอินโดนีเซียนั้นมีความเจริญมาก โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 6 วัฒนธรรมเหล่านี้เชื่อว่าถูกนำเข้ามายังปัตตานี โดยผ่านภาษา, ศาสนาพุทธ, วิชาการเดินเรือ, สถาปัตยกรรม,ดนตรี และเครื่องใช้ของราชนิกูล ศาสตราจารย์ฮอลล์ได้ให้ภาพลักษณะรูปร่างเดินทะเลสมัยศรีวิชัยว่ามีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองด้วยสีสันและเว้นช่วง ด้วยการแกะสลักที่ละเอียดอ่อน เมื่อนำคำอธิบายเหล่านี้มาสัมพันธ์กับเรือกและกลันตันและปัตตานี ดังนั้นคำอธิบายและฮอลล์นี้ก็มีความเป็นจริงอยู่เช่นกัน

การสร้างเมืองปัตตานี

ตามหนังสือที่ชื่อว่า ตำนานปัตตานี (Hikayat Patani) ผู้ก่อสร้างเมืองปัตตานีคือพญาตูนักพา (Phyatu Nakpa) เขาเป็นบุตรของพญาตูกรุบมหาชนะ (Phyatu krub Mahajana) ซึ่งปกครองอยู่สถานที่แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า “โกตามะห์ลีฆัย” เพราะโกตามะห์ลีฆัย เพราะโกตามะห์ลีฆัยแห่งนี้ตั้งอยู่ไกลจากชายฝั่งทะเล ดังนั้นจึงเป็นการลำบากต่อบรรดาต่อค้าในการแวะจอด การค้าภายในรัฐจึงเสื่อมลง และเกิดการขาดแคลนสถานการณ์เช่นนี้เป็นเหตุให้ประชาชนภายในรัฐออกไปดำรงชีวิตอยู่ภายนอกเมืองมีผลทำให้ประชากรของโกตามะห์ลีฆัยมีจำนวนลดลงมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล นั้นคือบริเวณเหล่าหมู่บ้านที่ถูกบุกเบิกโดยคนมลายูจากสุมาตรา มีสถานภาพที่ตรงข้ามกัน คือยิ่งเจริญขึ้นและคนเพิ่มขึ้น[5]

ในวันหนึ่ง พญาตูนักพาไปล่าสัตว์ยังป่าเขาที่ตั้งอยู่ปลายชายหาดแห่งหนึ่ง ที่ชายหาดแห่งนั้นมีกระต๊อบหนึ่งที่อาศัยอยู่โดยผู้เฒ่าสองคน หนึ่งในจำนวนนั้นมีชื่อว่าปะตานี เมื่อพระองค์เดินทางถึงชายหาดดังกล่าว พระองค์พบว่าพื้นที่บริเวณริมทะเลแห่งนั้นมีความเหมาะสมยิ่งสำหรับก่อสร้างเมือง แทนเมืองของพระองค์ที่ตั้งอยู่ไกลออกไปบนบก ดังนั้นพระองค์จึงมีคำสั่งให้ย้ายเมืองโกตามะห์ลีฆัยไปยังพื้นที่แห่งนั้นเหมาะสมกับชื่อเจ้าของกระต๊อบที่พระองค์ได้พบมา เมืองนั้นจึงถูกเรียกว่า ปะตานี (Pak Tani) ต่อมามีการเพี้ยนมาเป็นปัตตานี ชื่อของปัตตานีนี้ที่กล่าวว่าชื่อเดิมมาจากปะตานี โดยใช้เกณฑ์ของหนังสือที่ชื่อ ตำนานปัตตานี และประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี (หน้า 27)[6]

ภายหลังจากพญาตูนักพาได้ย้ายไปยังปัตตานี ปัตตานีเพิ่มประชากรมากขึ้นและด้วยเพราะทำเลที่ตั้งดี สถานที่แห่งใหม่นี้กลายเป็นที่อุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองบรรดาวงศานุวงศ์กษัตริย์ก็เริ่มย้ายไปยังที่นั่น พญาตูนักพาได้ทำการสั่งให้สร้างวังขึ้นมาแห่งหนึ่งใกล้กับหมู่บ้านปะตานี นั้นคือในพื้นที่กรือเซะปัจจุบัน ด้วยการให้ประตูวังหันหน้ายังทิศทางแม่น้ำที่ชื่อแม่น้ำเปอปีรี (Pungai Peperi) ซึ่งในปัจจุบันได้ตื้นเขินแล้ว

มีป้อมปราการแห่งหนึ่งก็ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับป้องกันการโจมตีของศัตรู ตามลักษณะวิชาความรู้การทหารในสมัยนั้น ป้อมปราการนี้ถูกขุดเริ่มจากแม่น้ำกรือเซะ จนกระทั่วจรดถึงแม่น้ำเปอปีรีในหมู่บ้านปาเระ นับแต่นั้นประชาชนปัตตานีได้พัฒนารัฐของเขาให้ยิ่งเจริญก้าวหน้าขึ้น เมื่อพญาตูนักพาได้เสียชีวิตลง บุตรที่ชื่อว่า ราชา อินทิรา (Raja Antira) ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อ ถึงอย่างไรก็ตาม วันเวลาของการปกครองของสองกษัตริย์นี้ยังไม่สามารถค้นพบได้

[1] ปัจจุบันนี้มีการสะกดเป็น “สะบ้าย้อย” และ “เทพา”

[2] ตามการวิจัยของดาโต๊ะ จอห์น บรัดเดิล พื้นที่ด้านตะวันออกของลังกาสุกะ ครอบคลุมดินแดนฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู เริ่มจากสงขลา,ปัตตานี,กลันตัน จนถึงตรังกานู รวมทั้งด้านตอนเหนือรัฐเคดะห์ (ดูมูฮัมหมัดดะห์ลัน มันโซร์ : ประวัติศาสตร์ภูมิภาคมลายูยุคต้น, สภาภาษาและหนังสือกัวลาลัมเปอร์ 1979, หน้า 51-52

[3] ดู พอล วัทลีย์, คาบสมุทรทองคำ, ปุสตากาอิลมู, กัวลาลัมเปอร์, 1966 หน้า 253 - 254

[4] ในอำเภอยะรัง ชื่อที่ถูกต้องคือ “พระ-องค์”ที่หมายความถึง “วังกษัตริย์” ในภาษาไทย ในหมู่บ้านนี้ยังมีร่องรอยวังกษัตริย์และสิ่งของสมัยโบราณ

[5] อิบราฮิม ชุกรี, ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี, ปาเสร์ ปูเตะห์, ไม่มีวันเดือนปีพิมพ์ หน้า 26

[6] นอกจาก แนวบอกเล่า ของตำนานปัตตานีและประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานีเหล่านี้ ก็ยังมีเรื่องความเป็นมาของชื่อปัตตานีอยู่ในเรื่องเล่าของผู้เฒ่าคนแก่ที่ปัตตานี อย่างน้อยมีอยู่ 2 แนวบอกเล่าที่เป็นมุขปาฐะ ซึ่งข้าพเจ้าเคยฟังเกี่ยวกับความเป็นมาของรัฐปัตตานีนี้คือ แนวบอกเล่าแรก : ชื่อปัตตานีเดิมมาจากประโยค “ปันไต อีนี” (หาดแห่งนี้) มีเรื่องที่เล่ากันในเรื่องแนวบอกเล่านี้ ว่ามีบุตรกษัตริย์ผู้หนึ่งจากรัฐในโพ้นทะเล (ไม่รู้ว่าอยู่แห่งหนใด) มาเกยตื้นที่ “ปันไต อีนี” (หาดแห่งนี้) ภายหลังจากเรือของเขาแตกถูกพายุตีและอัปปางที่กลางมหาสมุทร บรรดาลูกเรือทั้งหมด สำลักน้ำและจมในทะเล เขาเองปลอดภัยมาถึง “ปันไต อีนี” เพราะพามาโดยปลาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ปลากาจัง (ปลาอาลู-อาลู ?) บังเอิญขณะที่บุตรกษัตริย์ผู้นี้ถึงที่ชายหาด ประชาชนรัฐดังกล่าวกำลังรวมตัวเพื่อค้นหาว่าที่ กษัตริย์องค์ใหม่แทนภายหลังจากกษัตริย์องค์ก่อนสิ้นพระชนม์ลงโดยไม่มีบุตรและธิดาเลย ตามขนบธรรมเนียมรัฐนั้น

เมื่อขาดผู้สืบราชบัลลังก์ ดังนั้นผู้จะมาแทนต้องหาโดยวิธีการปล่อยช้างเผือก เพื่อเลือกกษัตริย์องค์ใหม่จากกลุ่มประชาชนรัฐนั้น ตามขนบธรรมเนียมนี้ผู้ใดก็ตามที่ถูกช้างเผือกแตะด้วยงวง ดังนั้นผู้นั้นจะต้องได้รับการยอมรับให้เป็นกษัตริย์ของรัฐนั้น โดยไม่มีการกำหนดว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ชายหรือสตรี, เด็กเล็กหรือคนแก่ , ร่ำรวยหรือว่ายากจน หรืออย่างอื่นใด ตามคำบอกเล่าในเรื่องนี้ เมื่อช้างดังกล่าวถูกปล่อยไป ช้างดังกล่าวได้ตรงไปยังทิศทางทะเล แล้วยกบุตรกษัตริย์ที่ถูกพาขึ้นฝั่งโดยปลากาจัง ขึ้น ด้วยเหตุฉะนี้บุตรกษัตริย์ดังกล่าวจึงถูกให้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ และเรียกกันว่า “กษัตริย์แห่งปันไต อีนี (หาดแห่งนี้)” ชื่อนี้ต่อมาเป็นเวลานานเปลี่ยนเป็น “กษัตริย์แห่งปาตานี” ต่อมาอีกเป็น “ปาตานี (Pata Ni)” และปาตานี (Patani)

แนวบอกเล่าที่สอง : แนวบอกเล่าที่สองนี้มีชื่อเดิมมาจากประโยค “ปันไต อีนี” และปาตานี (Patani) ต่างจากเรื่องอื่นอีก ตามแนวบอกเล่าที่สองนี้มีขบวนของกษัตริย์กำลังล่าอีเก้ง (หรือกวาง ?) ที่หลงทางอยู่ในป่าที่ริมทะเล เมื่อได้ไล่ล่า สัตว์ดังกล่าวหนี้ไปยังทิศทางทะเลและหายไปที่นั่น จะหาเพียงใดก็ไม่พบ ขณะที่กษัตริย์ได้ติดตามหลังมาและถามทิศทางสัตว์ดังกล่าวได้หายไป สมาชิกในขบวนได้บอกว่าสัตว์ดังกล่าวได้หายไปที่ “ปันไต อีนี” (หาดแห่งนี้) ถึงแม้ว่ากษัตริย์ได้มีคำสั่งให้ค้นหาสัตว์ดังกล่าวจนกว่าจะพบ แม้สัตว์ดังกล่าวไม่สามารถค้นพบได้ และหายไร้ร่องรอย ตามเกณฑ์ของเรื่องนี้สถานที่บริเวณริมฝั่งทะเล ซึ่งเป็นสถานที่ที่กษัตริย์ได้ล่าสัตว์ข้างต้น รู้จักในชื่อของ “ปันไตอีนี” (หมายความว่าได้หายไปที่หาดแห่งนี้) ต่อมาภายหลังเหมือนดังแนวบอกเล่าที่หนึ่ง ด้วยกาลเวลาเปลี่ยนไป ชื่อนี้ได้เปลี่ยนไป จนในที่สุดกลายเป็น ปัตตานี (Patani) (ทั้งสองแนวบอกเล่าเรื่องตำนานเหล่านี้ที่มีการบอกเล่าแก่ข้าพเจ้าโดยผู้เฒ่าคนแก่ผู้หนึ่งที่ปาลัส อำเภอปะนาเระ ปัตตานี ตอนช่วงกลางของทศวรรษที่ 1960)


คัดจาก หนังสือ ประวัติศาสตร์ปัตตานี เขียนโดย Ahmad Fathy Al-Fatani แปลเป็นภาษาไทยโดย นายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน จัดพิมพ์โดย สถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


Tiada ulasan: