โดย นายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ประเทศอินโดเนเซีย จะมีวิธีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแบบ เรามาดูวิธีการของจังหวัดสุมาตราตะวันตก ประเทศอินโดเนเซียนะครับ ผู้เขียนเอง เคยหลงประเด็นกับการสร้างราชวังปาฆารูยงของจังหวัดสุมาตราตะวันตก เพราะเคยนึกว่า เป็นราชวังดั้งเดิมยุคโบราณของจังหวัดสุมาตราตะวันตก แต่เมื่อค้นคว้า ให้ลึกขึ้น จึงได้รู้ว่า เป็นการสร้างแบบจำลองของราชวังเดิม ที่ตั้งอยู่บนเขาลุกหนึ่ง แต่ปรากฏว่า ถูกเผาจากสงครามที่เรียกว่า สงครามนักบวช หรือ Perang Paderi ในอดีต เมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา สงครามนักบวช หรือ Perang Paderi เป็นสงครามระหว่างกลุ่มนักการศาสนาอิสลาม ที่ต้องการหลักการศาสนาอิสลามมาใช้ในดินแดนมีนังกาเบา แต่ฮอลันดา เรียกว่า นักบวช หรือ Paderi เหมือนนักบวชศาสนาคริสต์ กับกลุ่มนักจารีตประเพณี หรือ กลุ่ม Adat เป็นกลุ่มผู้นำที่ยึดถือปฏิบัติตามจารีตประเพณี และภายหลังกลุ่มนักจารีตประเพณี หรือ กลุ่ม Adat จึงขอความช่วยเหลือจากฮอลันดา จนทำให้ต่อมาฮอลันดา จึงเข้าร่วมในสงคราม และสามารถปราบกลุ่มนักการศาสนาอิสลาม จนพ่ายแพ้ไป และในสงครามนี้ ก็มีการเผาราชวังปาฆารูยง ที่ตั้งอยู่บนภูเขาลูกหนึ่งจนไหม้หมด
เรามารู้จักราชวังปาฆารูยง ในปัจจุบันกันนะครับ
ราชวังปาฆารูยง หรือ Istano Basa Pagaruyung ถ้าในภาษาอังกฤษ
ก็จะเป็นแนว Great Palace of the Pagaruyung เป็นอาคารที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบจำลองของพระราชวังราชวังปาฆารูยงในอดีต
ราชวังปาฆารูยง (จำลอง) นี้ตั้งอยู่ในตำบล (Nagari) Pagaruyung
กิ่งอำเภอ (Kecamatan) Tanjung Emas อำเภอ (Kabupaten) Tanah Datar จังหวัดสุมาตราตะวันตก ระบบการปกครองของอินโดเนเซีย
ไม่อาจเทียบกับระบบของไทยได้อย่างถูกต้องนัก ด้วยอินโดเนเซีย มีประชากรมากถึง 280
ล้านคน จึงมีระบบการปกครองที่แตกต่างจากไทยไปบ้าง ราชวังแห่งนี้อยู่ห่างจากเมืองบาตูซังการ์
(Batusangkar) เมืองศูนย์อำนาจของอำเภอตานะห์ดาตาร์ ประมาณ 5
กิโลเมตร ราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุมาตราตะวันตก
ราชวังปาฆารูยง ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ในปัจจุบันนั้นแท้จริงแล้วคือแบบจำลอง หรือที่เรียกว่า Replika ของต้นฉบับราชวังปาฆารูยงดั้งเดิมตั้งอยู่บนเนินเขาบาตูปาตะห์ (Batu Patah) และถูกเผาจนหมดในปี 1804 ระหว่างสงครามปาดรี หรือสงครามระหว่างฮอลันดากับมีนังกาเบา และมีการสร้างราชวังจำลองขึ้นในบริเวณปัจจุบัน แต่ถูกไฟไหม้อีกครั้งในปี 1966
เมื่อปี 1968
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุมาตราตะวันตกในขขณะนั้น นาย ฮารุน ซัยน์ (Harun Zain) มีแนวคิดในการสร้างราชวังปาการูอีกครั้ง
เพื่อความจำเป็นในการได้รักษามรดกของชาวมีนังกาเบา
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1975
มีการตกลงร่วมกันให้สร้างแบบจำลองราชวังปาฆารูยัง ราชวังแห่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นบนพื้นที่เดิม
แต่ย้ายไปทางใต้จากที่เดิม การก่อสร้างเริ่มเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 1976
และก่อสร้างเสร็จในปี 1985
ราชวังปาฆารูยง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของสุมาตราตะวันตก หลังจากสร้างเสร็จ ราชวังก็กลายเป็นที่รู้จักของสาธารณชนในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์
ภาพราชวังปาฆารูยง ไฟไหม้
ในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2007 ราชวังปาฆารูยง
ประสบเหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเนื่องจากฟ้าผ่าที่ด้านบนสุดของราชวัง
ส่งผลให้อาคารสามชั้นหลังนี้ถูกไฟไหม้ เอกสารและผ้าประดับบางส่วนก็ถูกเผาเช่นกัน
คาดว่ามีของมีค่าเพียงประมาณร้อยละ 15 เท่านั้นที่ไม่เสียหายจากไฟไหม้
สิ่งของที่เหลือจากการถูกไฟไหม้ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่อาคารรักษาของโบราณ
สำนักงานอำเภอตานะห์ดาตาร์ (Tanah Datar) สำหรับสิ่งของมรดกของอาณาจักรปาฆรูยง ถูกเก็บไว้ที่ราชวังสลืนดงบูลัน (Istano
Silinduang Bulan) ซึ่งอยู่ห่างจากราชวังปาฆารูยง
2 กิโลเมตร
ในขณะเดียวกัน
ค่าใช้จ่ายในการสร้างราชวังปาฆารูยง แห่งนี้ขึ้นใหม่คาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 2
หมื่นล้านรูเปียะห์ ราชวังปาฆารูยง
แห่งนี้สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหกปี และได้รับพิธีเปิดโดยประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดเนเซีย
ซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) เมื่อเดือนตุลาคม
2013
นั้นคือประวัติความเป็นมาของราชวังปาฆารูยง
ที่หลายคน ที่ไม่อาจทราบประวัติความเป็นมา จะหลงประเด็น นึกว่า เป็นราชวังเก่า ดั้งเดิม
ถึงอย่างไร เราก็ต้องยอมรับถึงฝีมือในการสร้างของอินโดเนเซีย ถึงความปราณีต ทำให้เคลิ้ม
นึกว่า เป็นของดั้งเดิม ซึ่งแตกต่างจากมาเลเซีย สร้างสิ่งโบราณขึ้นมาใหม่ แต่ไม่เนียนเท่าที่ควร
ภาพภายในราชวังปาฆารูยง
Tiada ulasan:
Catat Ulasan