Rabu, 8 Mei 2024

ครอบครัวตระกูลบรูค (Brooke Familiy) ผู้ปกครองรัฐซาราวัค มาเลเซีย (ตอน1)

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ประวัติศาสตร์ของรัฐซาราวัค มาเลเซีย มีประวัติศาสตร์ที่แปลกกว่ารัฐอื่น ด้วยรัฐซาราวัค แทนที่จะมีเจ้าผู้ครองรัฐเป็นชาวมลายู หรือชนพื้นเมืองอื่นๆ แต่รัฐซาราวัคกลับมีเจ้าผู้ครองรัฐเป็นชาวอังกฤษผิวขาว โดยมีตระกูลบรูค เป็นเจ้าผู้ครองรัฐซาราวัค

สำหรับตระกูลบรูค ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าผู้ครองรัฐซาราวัค มีสมาชิกตระกูลบรูค ที่เป็นราชา หรือที่เรียกว่า ราชาผิวขาว หรือ White Rajah จำนวน  3 คน และยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์บรูค แต่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งราชาผิวขาวอีก 4 คน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลต่างๆ คือ

1. เซอร์เจมส์  บรูค  (Sir James Brooke) ราชาผิวขาวคนแรก

2. จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค (John Brooke Johnson Brooke)

    ราชามูดา ผู้ถูกถอดออกจากตำแหน่ง

3. เซอร์ชาร์ลส์  บรูค  (Sir Charles  Brooke)  ราชาผิวขาวคนที่สอง

4. นายเอสก้า บรูค  (Esca Brooke )  บุตรชายคนโตลูกครึ่งมลายูที่ถูก

    ลืมของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค 

5. เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  (Sir Charles Vyner Brooke)   ราชา

    ผิวขาวคนที่สาม

6. เบอร์ตแรม  บรูค  (Bertram Brooke  @ Bertram of Sarawak)

   ตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค (Tuan Muda of Sarawak)

7. แอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค (Anthony Walter Dayrell

   Brooke) ราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค


ครั้งนี้ขอเสนอประวัติของสมาชิกตระกูลบรูค ตั้งแต่อันดับที่ 1-3 ซึ่งมีดังนี้

                                            เซอร์เจมส์  บรูค   

1. เซอร์เจมส์  บรูค  ราชาผิวขาวคนแรก

จะขอกล่าวถึงประวัติของเซอร์เจมส์  บรูค อย่างสั้นๆๆ เพราะก่อนหน้าก็เขียนถึงแล้ว

เขามีชื่อเต็มว่า James Bertram Lionel Brooke เกิดเมื่อ 29 เมษายน 1803 เสียชีวิตเมื่อ 11 มิถุนายน1867 เขาเกิดในอินเดีย ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางผู้หญิงในบ้านของครอบครัว เขาเป็นบุตรของนายโธมัส  บรูค ( Thomas Brooke) และนางแอนนา มาเรีย  บรูค (Anna Maria Brooke) บิดาของเขาเป็นผู้พิพากษาของแบงคอล อินเดีย


2. จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  หรือ บรูค บรูค

ในขณะที่เซอร์เจมส์  บรูค เป็นราชาผิวขาวแห่งรัฐซาราวัคนั้น ทางเซอร์เจมส์  บรูค ได้มอบอำนาจให้ นายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค (John Brooke Johnson Brooke) ผู้เป็นหลานน้าของตนเองให้เป็นราชามูดา สำหรับจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค เกิดในปี 1823 และเสียชีวิตเมื่อ 1 ธันวาคม 1868 ในครั้งเกิดชื่อว่า จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค   ทั้งจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  และเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ผู้เป็นน้องชาย เป็นบุตรชายของนางเอมมา แฟรนเซส บรูค (Emma Frances Brooke) น้องสาวของเซอร์เจมส์  บรูค กับบาทหลวงแฟรนซิส ชาร์ลส์ จอห์นสัน (Francis Charles Johnson)  เซอร์เจมส์  บรูค ผู้เป็นลุงได้นำนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  ร่วมเดินทางล่องเรือที่ซื้อไปยังเมดิเตอร์เรเนียนในปี 1837  ต่อมานายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ได้สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษในปี 1839 ต่อมาได้รับยศเป็นร้อยโทในปี 1842  และเป็นร้อยเอกในปี 1848


                                      จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค 

หลังจากนั้นเขาได้ลาออกจากกองทัพอังกฤษ และได้เป็นราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค หลังจากที่เซอร์เจมส์  บรูค ผู้เป็นลุงของเขาได้เดินทางกลับไปยังอังกฤษ สำหรับนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ประวัติของเขาที่เกี่ยวข้องกับรัฐซาราวัค มักถูกลบออก จนแทบจะไม่มีในประวัติศาสตร์รัฐซาราวัค


แม้ความจริงแล้วประวัติของเขายังมีอยู่ ที่มีการบันทึกเก็บไว้เป็นจำนวนมาก  สำหรับนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ได้รับการแต่งตั้งเป็นราชามูดาในระหว่างปี 1859-1863  ผลงานหนึ่งของนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค คือสามารถปราบโจรสลัด โดยในการปะทะกันระหว่างกลุ่มโจรสลัดกับรัฐซาราวัค ที่เมืองมูกะห์  เมื่อเดือนพฤษภาคม 1862 โดยรัฐซาราวัคมีนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค เป็นผู้นำ จนรัฐซาราวัคสามารถปราบโจรสลัดได้ ต่อมานายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ซึ่งรู้จักในนามของนายบรูค บรูค ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อลุงตัวเอง โดยขณะที่ตัวเขาอยู่ในอังกฤษ นายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ได้วิจารณ์เซอร์เจมส์  บรูค จนถูกปลดออกจากตำแหน่ง และเซอร์เจมส์  บรูค ห้ามไม่ให้นายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค เดินทางเข้ารัฐซาราวัค เขาเสียชีวิตในปี 1868 ที่กรุงลอนดอน หลังจากป่วยเป็นเวลานาน


3. เซอร์ชาร์ลส์  แอนโทนี บรูค  ราชาผิวขาวคนที่สอง

สำหรับเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  มีชื่อเดิมว่า ชาร์ลส์  แอนโทนี จอห์นสัน  เกิดที่อังกฤษ เช่นเดียวกันกับพี่ชาย เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชาผิวขาวคนที่สอง ภายหลังจากนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ผู้เป็นพี่ชายถูกเซอร์เจมส์  บรูค ปลดออกจากการเป็นทายาทผู้สืบอำนาจ  เซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ได้รับการศึกษาจากอังกฤษ ต่อมาได้สมัครเข้าทำงานกับกองทัพเรืออังกฤษ ต่อมาเขาเปลี่ยนชื่อเป็น ชาร์ลส์  บรูค   เขาเข้าทำงานกับลุงของเขาในปี 1852 โดยเริ่มเป็นผู้ปกครอง หรือ Resident ของเขตลุนดู (Lundu) ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองกุจิง และมีเขตแดนที่ติดต่อกับจังหวัดกาลีมันตันตะวันตกของอินโดเนเซีย  และในปี 1865 เซอร์เจมส์ บรูค ได้ประกาศให้เขาเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขา 


                                    เซอร์ชาร์ลส์  แอนโทนี บรูค 

            เซอร์ชาร์ลส์  แอนโทนี บรูค  สมัยหนุ่มเป็น Resident ที่เขต Lingga


เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ได้ดำเนินนโยบายตามที่เซอร์เจมส์  บรูค ผู้เป็นลุงของเขา โดยได้ดำเนินการต่างๆ เช่น การปราบโจรสลัด การห้ามทาส การห้ามบางเผ่าที่ชอบตัดหัวมนุษย์  เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ต่อมาได้รับยศเป็นเซอร์ และมียศในภาษามลายูรัฐซาราวัคว่า Seri Paduka Duli Yang Maha Mulia Tuan Rajah Sir Charles Brooke  สำหรับเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ดำรงตำแหน่งเป็นราชาแห่งรัฐซาราวัคระหว่าง  3 สิงหาคม 1867 – 17 พฤษภาคม 1917 


เขามีผลงานในรัฐซาราวัคหลายอย่าง เช่นในปี 1891 เขาได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐซาราวัค ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกบนเกาะบอร์เนียว นอกจากนั้นในปี 1903 เขายังก่อตั้งโรงเรียนชายล้วน ชื่อว่า Government Lay School เป็นโรงเรียนที่ชาวมลายูสามารถที่จะเรียนด้วยภาษามลายูได้   เมื่อเขาเสียชีวิตลง ทางอังกฤษได้ให้รัฐซาราวัคเป็นรัฐที่มีสถานะเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษ หรือ protectorate state  และรัฐซาราวัคสามารถที่จะมีสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเป็นของตนเอง มีการสร้างทางรถไฟ และที่สำคัญมีการค้นพบน้ำมันในรัฐซาราวัค 

แหล่งน้ำมันที่รัฐซาราวัค ที่ลูตง (Lutong) ปี 1916

Tiada ulasan: