Khamis, 30 Mei 2024

สานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ สิ่งที่ได้สัมผัสจากการร่วมงาน

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ก่อนหน้านี้ นับแต่ผู้เขียนเป็นโรคเส้นสมองตีบ ผู้เขียนต้องหยุดทำการสอน ต้องย้ายจากแฟลตอาจารย์ มอ. ปัตตานี มาพักรักษาตัวที่อำเภอของผู้เขียน ถือเป็นการพักยาว หยุดงาน พักฟื้นที่บ้าน เป็นเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะหมดกำหนดการลาพักฟื้นจึงได้เดินทางไปทำการสอนที่มหาวิทยาลัยตามปกติ ในช่วงที่พักฟื้นที่บ้าน สิ่งที่ภรรยาผู้เขียนทำได้ คือ ปิดประตูบ้าน งดการเยี่ยมของเพื่อนบ้านเรือนเคียง ทำให้ช่วงนั้นผู้เขียนกับเพื่อนบ้านเรือนเคียงค่อนข้างจะมีช่องว่างระหว่างกัน  แม้ส่วนหนึ่งต้องการที่จะมาเยี่ยมเยียนผู้เขียน แต่เกรงใจเพราะภรรยาไม่ต้องการที่จะให้มาเยี่ยม เพราะต้องการที่จะให้ผู้เขียนได้พักผ่อนเต็มที่ นอกจากมีนักศึกษาจากสาขาวิชามลายูศึกษา มอ. ปัตตานี และเพื่อน คนที่รู้จักจาก่างถิ่น ที่มาเยี่ยม ซึ่งไม่สามารถที่จะปฎิเสธได้


การมาเยี่ยมเยียนของคนจากต่างอำเภอ จากต่างถิ่นนั้น ปรากฏว่า นักศึกษา มีเพื่อน มีคนรู้จัก มาเยี่ยมแทบจะทุกวัน ไม่เพียงมาเยี่ยม แต่เมื่ออาการของผู้เขียนดีขึ้น ดันมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และในช่วงเวลานี้แหละ ที่ผู้เขียนได้หวนนึกถึง การทำกิจกรรมที่ผ่าน ทั้งใน มอ. ปัตตานี รวมทั้งกิจกรรมภายนอก เช่น การนำนักศึกษาสาขาวิชามลายูศึกษา  มอ. ปัตตานี ไปแสดงยังต่างประเทศ ไม่ว่า อินโดเนเซีย และสิงคโปร์ ในนามกลุ่มศิลปะการแสดง Sri Patani โดยไม่ใช้งบประมาณการเดินทางจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ. ปัตตานี แต่อย่างใด และการนำนักศึกษาสาขาวิชามลายูศึกษา  มอ. ปัตตานี แบกเป้ ลุยกลุ่มประเทซอาเซียน จนครบทั้ง 10 ประเทศ สามารถกล่าวได้ว่าสาขาวิชามลายูศึกษา มอ. ปัตตานี ถือได้ว่า น่าจะเป็นสาขาวิชาเดียวใน มอ. ทั้งห้าวิทยาเขต จนเรียกได้ว่า นักศึกษาได้เดินทางแบกเป้ ลุยกลุ่มประเทศอาเซียนครับทุกประเทศ ซึ่งก็ยังคงเหมือนเดิม คือ โดยไม่ใช้งบประมาณการเดินทางจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ. ปัตตานี เช่นเคย หรือโครงการกิจกรรมครอบครัวอุปถัมภ์ที่ได้จัดทำทั้งที่รัฐปาหัง รัฐมะละกา รัฐเปรัค และรัฐนัครีซัมบีลัน ล้วนเป็นกิจกรรมที่ผ่านแล้ว ผ่านไป ไม่ได้มีการต่อยอด หรือ สานสัมพันธ์ระหวางนักศึกษากับครอบครัวอุปถัมภ์ ให้มีตลอดไป

เมื่อมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ถึงกิจกรรมสัมมนาต่างๆ ทำให้เห็นว่า การร่วมงานสัมมนาไม่ว่า จะเป็นภายในประเทศ หรือต่างประเทศ ล้วนแต่ซ้ำซาก สัมมนาเสร็จ ก็แยกย้ายกลับ การที่ผู้เขียนต้องพักฟื้นระยะยาวนี้เอง ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ จนความคิดเห็นของผู้เขียนได้เปลี่ยนแบบ 360 องศา นั้นคือเห็นว่า เมื่อสัมมนา อะไรต่างๆ แล้ว ควรที่จะต้องมีการปฏิบัติบ้าง  ไม่ควรเพียงมโนถึงนามธรรม เมื่อชาวบ้านยังต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจ และการศึกษา สังคมจะดีขึ้น ไม่เพียงจะตะโกน แต่ควรที่จะปฏิบัติด้วย  นับแต่นั้น ความคิดของผู้เขียนจึงเปลี่ยนมามีลักษณะที่เป็น Oriented Action นั้นคือการกระทำที่มุ่งเน้นมุ่งเน้นการปฏิบัติ ไม่อยากจะให้มีการสัมมนาอย่างเดียว ภายหลังการสัมมนา ก็แยกย้ายกลับ ไม่ได้มีการกระทำใดๆ  และนับจากสุขภาพฟื้นดีขึ้น ผู้เขียนแทบจะไมได้เข้าร่วมสัมมนาในประเทศไทยอีกเลย เพราะรู้สึกว่า ซ้ำซาก ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนเรียกว่า มีอาการเบื่อการสัมมนายิ่ง ส่วนการร่วมสัมมนาในต่างประเทศ ก็ได้ไปบ้างตามสมควร โดยเฉพาะงานด้านวัฒนธรรม วรรณกรรม ในอินโดเนเซีย และมาเลเซีย แต่สิ่งที่ไปนั้น เพื่อเพียงสานสัมพันธ์กับเพื่อนๆเก่า หลังจากห่างไปนาน ช่วงหลังๆแทบจะไม่ได้ไปทั้งมาเลเซีย และอินโดเนเซีย เพราะสุขภาพ ไม่ค่อยดี ไม่เหมือนสุขภาพตอนเริ่มฟื้นใหม่ๆ


เมื่อเดือนพฤษาคม 2567 ได้รับโทรศัพท์จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ โชคชัย วงศ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติวิธี มอ. หาดใหญ่ เพื่อสอบถามไฟล์ที่เราเคยร่วมงานโครงการค้นหาเอกสารประวัติศาสตร์ปัตตานี ได้ความว่า จะมีการสัมมนาเรื่องสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ ถามต่อว่า จะจัดที่ไหน ได้ความว่า จะจัดที่โรงแรมซีเอส. ปัตตานี จึงเอยว่า ถ้าจัดที่จังหวัดนราธิวาส ก็แจ้งด้วย ยินดีที่จะไปร่วมงาน  เพราะระยะทางจากบ้านผู้เขียนไปยังตัวเมืองนราธิวาส เพียง 30 กิโลเมตร หรือ ราว ครึ่งชั่วโมง แต่คุยไปคุยมา หลวมตัวต้องไปปัตตานี ก็ได้เดินทางไปยังโรงแรมซีเอส ปัตตานี  จึงชวนลูกชาย นายนิฮัสซันฮามีดีปุตรา บินนิฮัสซัน ร่วมเดินทางไปปัตตานีด้วย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นการเข้าร่วมสัมมนาครั้งแรกในประเทศของผู้เขียนหลังจากเป็นโรคเส้นสมองตีบ


การร่วมสัมมนาครั้งนี้ ก็คงตามที่ผู้เขียนคาดไว้ นั้นคือ มาร่วมประชุมสัมมนา การร่วมกินข้าว นอนโรงแรม หลังเสร็จสัมมนา ก็แยกย้ายกลับบ้าน  การสัมมนาครั้งนี้มีการอธิบายว่า เป็นการสัมมนาระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ในโครงการสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการสร้างสังคมสมานมิตร ด้วยกระบวนการสานเสวนาทางประวัติศาสตร์ จัดโดย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะเป็นการสัมมนาแบบ Focus Group

การสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งนี้ก็นับว่า แปลก เพราะเชื่อว่า ผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่ง แทบจะไม่มีความรู้ รู้ภูมิหลังของประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ ดังนั้น จะสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้อย่างไร มันก็ไม่ถึงจุดที่ต้องการ  ตอนที่ผู้เขียนกำลังจะกลับ รอรถมอเตอร์ไซค์มารับอยู่ มีกลุมครูที่เข้าร่มสัมมนา จากจังหวัดนราธิวาส กลุ่มหนึ่ง คุยกับผู้เขียน แล้วถามว่า พวกเขาจะเขียนประวัติศาสตร์อย่างไร กถามกลับว่า พวกเขาสอนอยู่ที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่า สอนอยู่โรงเรียนเขาตันหยง ซึ่งก็น่าจะเป็นโรงเรียนบ้านเขาตันหยง มิตรภาพที่ 153 แต่รถมอเตอร์ไซค์มาก่อน ผู้เขียนไม่ทันตอบพวกครูเหล่านั้น ซึ่งถ้าทันตอบ ผู้เขียนก็จะบอกว่า เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ดินแดนส่วนที่เป็นเขาตันหยงนั้น ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของจังหวัดชายแดนใต้  แต่เป็นประวัติศาสตร์ของรัฐกลันตัน ด้วยบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนบ้านเขาตันหยง มิตรภาพที่ 153 นี้เพิ่งมาเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อปี 1909 หรือเมื่อ 100กว่าปีมานี้เอง ดังนั้น ต้องให้ผู้คนบริเวณนี้ หรือนักเรียนของโรงเรียนนี้เข้าใจว่า ในอดีตนั้น บรรพบุรุษของพวกเขา ล้วนเป็นพี่น้องร่วมรัฐกับคนในฝั่งรัฐกลันตัน  และจะต้องสร้างประวัติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ ขั้นแรก คือ นำนักเรียนของโรงเรียนนั้น ไปสร้างความสัมพันธ์กับโรงเรียนในฝั่งรัฐกลันตัน และเน้นให้นักเรียนสานสัมพันธ์ตลอดไปกับเพื่อนนักเรียนของเขาในรัฐกลันตัน ปกติประสบการณ์ของผู้เขียน นักศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่รู้จัก ครอบครัวอุปถัมภ์ พี่น้องอุปถัมภ์ เมื่อจบโครงการครอบครัวอุปถัมภ์ ก็ถือวว่าจบโครงการครอบครัวอุปถัมภ์ พี่น้องอุปถัมภ์ ซึ่งแตกต่างจากฝั่งมาเลเซีย เพราะคำว่า ครอบครัวอุปถัมภ์ พี่น้องอุปถัมภ์ พวกเขาจะสานสัมพันธ์ตลอดไป และหลังจากการสานสัมพันธ์กันตลอดไป ก็จะเป็นการสานสัมพันธ์เชิงพัฒนาการศึกษา การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจต่อไป

ในการร่วมโครงการสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ครั้งนี้ ได้พูดคุยกับผู้เข้าร่วมโครงการว่า พวกเรามักเห่อกับกลุ่มชาวอาเจะห์ ที่มาบรรยายเรื่องแนวทางสันติวิธีสงครามอาเจะห์ในบ้านเรา  ไม่เพียงกลุ่มคนบ้านเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มอ. ปัตตานี อีกด้วย ที่พวกเรามักมองเหรียญด้านเดียว คือ เหรียญด้านเขตปกครอองอิสระ หรือ Otonomi พวกเรามักจะตะโกน Otonomi !!! Otonomi !!! แต่ไม่เคยมองเหรียญอีกด้านของอาเจะห์ ไม่ว่าจะด้านความล้มเหลวในการปกครองของพรรคอาเจะห์ ซึ่งเป็นพรรคที่แปรสภาพจากขบวนการอาเจะห์เสรี หรือ GAM Geraan Aceh Merdeka หรือเหรียญด้านการแก้ปัญหาความยากจนของอาเจะห์ นับว่าเป็นความล้มเหลวของพรรคอาเจะห์

                              สนธิสัญญาเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลอินโดเนเซีย 

หลังจากขบวนการอาเจะห์เสรี (GAM Gerakan Aceh Merdeka) ได้ร่วมทำสนธิสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลอินโดเนเซีย เมื่อ 15 สิงหาคม 2005 ทางขบวนการอาเจะห์เสรี (GAM Gerakan Aceh Merdeka) ก็ได้มีการจัดตั้งพรรคของตนเอง ชื่อว่า พรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh เป็นพรรคการเมืองท้องถิ่นของอาเจะห์ มีบันทึกว่า นายมาลิก มาห์มุด (Malik Mahmud) ผู้นำฝ่ายการเมืองของขบวนการอาเจะห์เสรี หรือ GAM Geraan Aceh Merdeka ได้มอบอำนาจให้ นายเต็งกูยาห์นา มุอาด (Tengku Yahya Mu’ad) หรืออีกชื่อ นายมูฮัมหมัด ยาห์ยา มุอาด (Muhammad Yahya Mu’ad) จัดตั้งพรรคอาเจะห์ เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007. พรรคอาเจะห์เดิมชื่อว่า Partai Gerakan Aceh Merdeka (GAM) ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น Partai Gerakan Aceh Mandiri ต่อมาได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น พรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh ได้เข้าร่วมครั้งแรกในการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2009 และได้รับคะแนนเสียงถึง 33 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 69 ที่นั่ง หรือ  46,91%. ทำให้ พรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh กลายเป็นพรรคที่ปกครองจังหวัดอาเจะห์ ที่มีประชากร 5.5 ล้านคน  ต่อมาในการเลือกตั้งท้องถิ่น คะแนนเสียงของพรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh ลดลง เหลือ 29 ที่นั่งจากที่นั่งทั้งหมด 81 ที่นั่ง หรือ 35,30% นั้นแสดงว่า การบริหารของพรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh เริ่มที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากชาวอาเจะห์  ต่อมาในการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2019 พรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh  ได้ที่นั่ง 18 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 81 ที่นั่ง สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2024 พรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh  ได้ที่นั่งเพิ่มเป็น 20 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 81 ที่นั่ง สิ่งนี้น่าจะมาจากปัจจัยที่พรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh สนับสนุนนายอานีส บาสเวดัน (Anies Baswedan) และนายมูฮีมิน อิสกันดาร์ (Muhaimin Iskandar) เป็นผู้สมัครประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีขของอินโดเนเซีย โดยทั้งสองคน มีแนวคิดไปทางอิสลามนิยม ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของชาวอาเจะห์ ที่ค่อนข้างเคร่งศาสนา  สิ่งเกิดขึ้นกับพรรค พรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh  คือจากเดิมในการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2019 ที่ได้ที่นั่ง 18 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 81 ที่นั่ง มาเพิ่มการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2024 เพิ่มเป็น 20 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 81 ที่นั่ง  และพรรคฟื้นฟูแห่งชาติ หรือ Partai Kebangkitan Bangsa ที่มีนายมูฮีมิน อิสกันดาร์ (Muhaimin Iskandar) เป็นหัวหน้าพรรค ก็ได้ที่นั่งเพิ่ม ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2019 ที่ได้ที่นั่ง 3 จากทั้งหมด 81 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2024 เพิ่มเป็น 9 ที่นั่งจากที่นั่งทั้งหมด 81 ที่นั่ง


สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของพรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh หรือในชื่อเดิมก็คือขบวนการอาเจะห์เสรี (GAM Gerakan Aceh Merdeka) ในการบริหารจังหวัดนังโกรอาเจะห์ดารุสสาลาม (Nanggroe Aceh Darussalam) นั้นเอง


เหรียญอีกด้านหนึ่งที่คนบ้านเรา ไม่เคยนึกถึงอาเจะห์ คือการแก้ปัญหาความยากจน นับแต่การทำสนธิสัญญาเจรจาสันติภาพ ในปี 2005 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 20 ปี แต่ปัญหาความยากจนของอาเจะห์ก็ได้ไม่สามารถแก้ไขความยากจนได้

เมื่อดูสถิติความยากจนของชาวอาเจะห์ จากข้อมูล ปรากฏว่า ระหว่างปี 2003-2005 ในปี 2005 ปรากฏว่าความยากจนของชาวอาเจะห์ อยู่ที่  28.69 % ซึ่งนั้นเป็นปีที่มีการทำสนธิสัญญาระหว่างขบวนการอาเจะห์เสรี (GAM Gerakan Aceh Merdeka) กับทางรัฐบาลอินโดเนเซีย  ในช่วงนี้ ความยากจนมีสูงมาก อาจด้วยอยู่ในช่วงเกิดปัญหาสงครามภายในระหว่าง ขบวนการอาเจะห์เสรี (GAM Gerakan Aceh Merdeka) กับทางอินโดเนเซีย 


ต่อมาความยากจนของอาเจะห์ ก็ยังไม่สามารถกำจัดลง  เพราะตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศสาธารณรัฐอินโดเนเซีย  จังหวัดอาเจะห์ ก็ยังต้องมีความยากจนอยู่ในระดับสูงมาก เพราะในปี 2024 จังหวัดอาเจะห์ มีความยากจนสูงถึง 14 % จากประชากรทั้งหมด จังหวัดอาเจะห์ อยู่อันดับที่รองลงมาจากต่อไปนี้ 


จังหวัดปาปัวเทือกเขา     มีความยากจนสูงถึง 32.97 %   

จังหวัดปาปัวกลาง         มีความยากจนสูงถึง 29.76 %   

จังหวัดปาปัวตะวันตก      มีความยากจนสูงถึง 21.66 %

จังหวัดนูซาเต็งการาเหนือ  มีความยากจนสูงถึง 19.48 %  

จังหวัดปาปัวตะวันตกเฉียงใต้  มีความยากจนสูงถึง 18.13 %   

จังหวัดปาปัวใต้             มีความยากจนสูงถึง 17.44 %   

จังหวัดปาปัว                มีความยากจนสูงถึง 17.26 %   

จังหวัดมาลูกุ                 มีความยากจนสูงถึง 16.05 %

จังหวัดอาเจะห์ มีความยากจนสูงถึง 14 %

นับว่าจังหวัดอาเจะห์ เป็นจังหวัดที่อยู่บนเกาะสุมาตรา เกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่กลายเป็นจังหวัดอาเจะห์ อยู่กลุ่มเดียวกันกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีความยากจน

เมื่อดูจังหวัดในกลุ่มจังหวัดที่ตั้งอยู่บนเกาะสุมาตรา จะปรากฎว่า จังหวัดอาเจะห์ เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดบนเกาะสุมาตรา  หนังสือพิมพ์ Kompas รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดเนเซีย หรือ Badan Pusat Statistik (BPS) สาขาอาเจะห์รายงานว่า จังหวัดอาเจะห์ ยังคงเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดของเกาะสุมาตรา นั้นคือมีประชากรที่ยากจนเพิ่มขึ้นจาก 806,8200 คน เป็น 818,470 คน นั้นแสดงว่า มีประชากรยากจน มากกว่าประชากรจังหวัดปัตตานี ทั้งหมด หรือ มีจำนวนพอๆกับประชากรทั้งจังหวัดของจังหวัดนราธิวาส


สำหรับการสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ครั้งนี้ ผู้เขียนได้กล่าวว่า คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีนักประวัติศาสตร์ที่เรียนระเบียบวิธีการทางประวัติศาสตร์ แต่ส่วนใหญ่เป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะ ผู้เขียนเชื่อว่า มีในหมู่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สนใจประวัติศาสตร์ แต่เริ่มที่จะหลงตัวเองว่า ตัวเองเป็นนักประวัติศาสตร์ ทั้งที่บุคคลเหล่านั้น เป็นนักบรรยายทางประวัติศาสตร์มากกว่า บรรยายถูกบ้าง ผิดบ้าง ไร้ร่องรอย ไร้หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ้าง หรือพูดแบบไม่มีหลักฐานมาแสดง เพราะนักประวัติศาสตร์จริงๆ จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ระเบียบวิธีการวิจัยทางประวัติศาสตร์


ผู้เข้าร่วมสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ มีการพูดคุย คนละมุม ดังนั้นผู้เขียนจึงเสนอว่า เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์เชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ จะทำอย่างไรก็ได้ที่จะพัฒนาคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ โดยใช้ประวัติศาสตร์เป็นตัวเชื่อมกัน แทนที่จะมาขัดแย้งกัน  และความรู้ประวัติศาสตร์นั้นกว้าง หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีอยู่อย่างกระจัดกระจายและปะทะกันได้ตลอด หลายครั้งสิ่งที่เรารู้ว่าเป็นความจริงทางประวัตศาสตร์ แต่ภายหลังอาจมีหลักฐานมาหักล้างความจริงนั้นได้ การใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ การเปิดใจกว้าง จะสามารถใช้ประวัติศาสตร์เป็นสะพานสู่การพัฒนาการศึกษา และเศรษฐกิจได้ ดั่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงการสอนประวัติศาสตร์ สำหรับโรงเรียนบ้านเขาตันหยง มิตรภาพที่ 153


สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัสถึงกลุ่มบุคคลหนึ่ง ที่ผู้เขียนเรียกว่า นักสัมมนา หรือ Seminarist ในกลุ่มผู้เข้าร่วมสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ นี้ ได้รับทราบว่าจะเป็นกลุ่มหนึ่งจะเป็นกลุ่มหน้าเดิมๆ  มีเพียงบางกลุ่ม บางคน ที่เป็นกลุ่มหน้าใหม่ และอีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง จะเป็นกลุ่มบุคคลที่ผู้เขียนเรียกว่า นักสัมมนา หรือ Seminarist กลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่รู้กับฝ่ายจัดสัมมนา ไม่ได้ทำอะไร เป็นชิ้น เป็นอัน ที่เข้าร่วมสานเสวนา ประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ ก็ไม่ได้แสดงความคิด แสดงทัศนคติใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสัมมนา เพียงมาสัมมนา มีค่าเดินทางให้ มีที่พักโรงแรมฟรีให้  มีอาหารให้  ผู้เขียนเคยได้รับทราบว่า ยิ่งเกิดเหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนที่โรงแรมจะเงียบเหงา โรงแรมกลายเป็นที่คึกคัก เป็นที่น่าเศร้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


Selasa, 14 Mei 2024

หนังสือ ชื่อ Boxer Codex หนังสือในปี 1590 ที่บรรยายถึงบรรยายถึงกลุ่มชนในภูมิภาคมลายู

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

หนังสือ ชื่อ Boxer Codex เป็นหนังสือต้นฉบับภาษาสเปนเขียนในปี 1590 หรือในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ที่พิมพในประเทศฟิลิปปินส์ ประกอบด้วยภาพประกอบสี 75 ภาพของประชาชนจีน ฟิลิปปินส์ ชวา โมลุกกะ ลาโดรน และสยาม ข้อความภาษาสเปนประมาณ 270 หน้าบรรยายถึงสถานที่ ผู้อยู่อาศัย และประเพณีเหล่านี้ ภาพวาดขนาดเล็กอีก 88 ภาพแสดงให้เห็นเทพเจ้าและปีศาจในตำนาน และนกและสัตว์ทั้งจริงและในเทพนิยายก็คัดลอกมาจากตำราและหนังสือยอดนิยมของจีนที่หมุนเวียนอยู่ในขณะนั้น


Charles Ralph Boxer นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษซื้อต้นฉบับในปี 1947 จากการสะสมของ Lord Ilchester ในลอนดอน เขายตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่เขาเรียกว่า "Manila Manuscript" และตีพิมพ์บทความในปี 1950 พร้อมคำอธิบายโดยละเอียดของหนงสือ Boxer codex เขาจัดทำต้นฉบับนี้ให้นักวิจัยคนอื่นๆ นำไปใช้ศึกษาได้โดยเสรี และต้นฉบับดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ Boxer Codex ในที่สุด เขาก็ขายมันให้กับห้องสมุดลิลลี่ มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐ





 


Jumaat, 10 Mei 2024

ครอบครัวตระกูลบรูค (Brooke Familiy) ผู้ปกครองรัฐซาราวัค มาเลเซีย (ตอน 2)

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

                                     ตราของราชารัฐซาราวัค

ตามที่กล่าวมาว่า รัฐซาราวัค มาเลเซีย มีความแปลกว่า รัฐอื่นของมาเลเซีย ด้วยมีผู้ครองรัฐเป็นชาวผิวขาว เชื้อสายอังกฤษ ดังนั้น จึงเรียกผู้ปกครองรัฐซาราวัคว่า ราชาผิวขาว หรือ White Rajah  ชาวผิวขาวจากครอบครัวตระกูลบรูค ที่เป็นครอบครัวผู้ปกครองรัฐซาราวัค ทั้งที่เป็นเจ้าครองรัฐและเกี่ยวข้องกับครอบครัวบรูค มีทั้งหมด 7 คน ซึ่งได้เขียนมาแล้วใน “ครอบครัวตระกูลบรูค (Brooke Familiy) ผู้ปกครองรัฐซาราวัค มาเลเซีย (ตอน 1)” จำนวน 3 คน ตั้งแต่อันดับ 1-3 และใน“ครอบครัวตระกูลบรูค (Brooke Familiy) ผู้ปกครองรัฐซาราวัค มาเลเซีย (ตอน 2)” นี้จะเป็นครอบครัวตระกูลบรูค อีก 4 คน ตั้งแต่อันดับที่ 4-7 ซึ่งในครั้งมีคนหนึ่งที่ประวัติศาสตร์รัฐซาราวัค ไม่ค่อยจะกล่าวถึง คือ นายเอสก้า บรูค  (Esca Brooke ) ผู้เป็นลูกครึ่งของ เซอร์ชาร์ลส์  แอนโทนี บรูค  ราชาผิวขาวคนที่สองกับชาวมลายูที่ชื่อว่า Dayang Mastiah ในครั้งนี้เริ่มตั้งแต่สมาชิกครอบครัวตระกูลบรูค  อันดับที่ 4


4. นายเอสก้า บรูค  (Esca Brooke )  บุตรชายคนโตลูกครึ่งมลายูที่ถูกลืมของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  นายเอสก้า บรูค ถือเป็นบุตรชายคนโตที่ถูกลืมของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ความจริงเขาน่าจะเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะสืบอำนาจต่อจากเซอร์ชาร์ลส์  บรูค   แต่นายเอสก้า บรูค โชคร้ายตรงที่เขาเป็นบุตรเซอร์ชาร์ลส์  บรูค กับสตรีชาวมลายู ชนพื้นเมืองของรัฐซาราวัค  ในหนังสือเรื่อง A History of Sarawak under its two White Rajahs’ (1839-1908)  มักจะเขียนถึงประวัติของราชาผิวขาวสองคนของรัฐซาราวัค โดยเขียนถึงเรื่องราวระหว่างปี 1839-1908  โดยเขียนเกี่ยวกับอาชีพทางการเมืองและความสำเร็จของราชาสองคนแรก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวและสังคมของพวกเขากับผู้คนในรัฐซาราวัค  โดยเฉพาะเรื่องชีวิตส่วนตัวด้านที่ไม่เปิดเผย

                                       นายเอสก้า บรูค 

ดร.ซันดรา ปีบัส (Dr. Sandra Pybus) จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ผู้เขียนเรื่อง “White Rajah - A Dynastic Intrigue”  ได้ให้ภาพของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ราชาผิวขาวคนที่สอง ในมุมมองที่แตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆที่เขียนเกี่ยวกับราชวงศ์บรูค แห่งรัฐซาราวัค โดยเฉพาะในหนังสือข้างต้นได้เขียนถึงเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ที่ได้แต่งงานกับสตรีชาวมลายูพื้นเมือง


ในหนังสือได้เล่าถึงเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์ชาร์ลส์  บรูค กับผู้นำชาวมลายู-มลาเนา ที่ชื่อว่า  Abang Aing Datuk Laksama Menuddin ซึ่งเซอร์ชาร์ลส์  บรูค พบกับผู้นำชาวมลายู-มลาเนาดังกล่าวในปี 1853 เมื่อครั้งเขายังเป็น Resident ของเขต Fort Lingga บริเวณปากแม่น้ำบาตังลูปาร์ ในอำเภอซีมังฆัง (Simanggang district)  ขณะที่เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ในฐานะเป็น Resident เพิ่งจะมีอายุได้เพียง 24 ปี แต่ต้องดูแลนักรบพื้นเมืองชาวอีบันนับหมื่นคน แต่ก็สามารถดูแลได้ ด้วยความช่วยเหลือของนาย Aing ผู้เป็นบุตรชายของแม่ทัพเรือพื้นเมืองที่ชื่อว่า Laksamana Menudin ผู้นำคนนี้รู้จักในนามของ Rajah Ulu


ในขณะที่เซอร์ชาร์ลส์  บรูค เป็น Resident นับสิบปี เขาได้สร้างตำนัก หรือ astana ขึ้นที่เนินเขา ซึ่งสามารถมองเห็นแม่น้ำบาตังลูปาร์ ส่วน Abang Aing Datuk Laksama Menuddin และผู้ติดตามก็ได้สร้างบ้านเรือนขึ้นไม่ไกลจากนั่น ตั้งเป็นชุมชนเรียกว่า หมู่บ้านอูลู (Kampung Ulu)  ในหนังสือดังกล่าวยังเขียนว่า ในสมัยยังหนุ่มโสด เชื่อว่าเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  มีความสัมพันธ์กับสตรีชาวอีบันหลายคน และมีบุตรกับสตรีชาวอีบันด้วย แต่ที่มีหลักฐานคือเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ได้หมั้นหมายกับดายังมัสตียะห์ (Dayang Mastiah) หลานสาว ของนาย Abang Aing Datuk Laksama Menuddin สำหรับ Abang Aing Datuk Laksama Menuddin ได้เป็นผู้นำทัพสามครั้งระหว่างปี 1854 – 1861 ในการต่อสู้กับกองกำลังชาวอีบันที่มีผู้นำชื่อนาย Rentap ที่ต่อต้านการปกครองรัฐซาราวัคของตระกูลบรูค  สำหรับนาย Rentap มีชื่อจริงว่า นาย Libau Libau anak Ningkan ซึ่งคำว่า Rentap มีความหมายว่า ผู้สั่นสะเทือนโลก (Penggoncang Dunia) เป็นผู้นำของชนเผ่าชาวอีบันที่ Sungai Skrang และ Sungai Saribas


สำหรับนาย Rentap ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขา จนได้รับการยอมรับในหมู่ชาวอีบัน คือเมื่อปี 1853 โดยกำลังของนาย Rentap ได้โจมตีกำลังของรัฐซาราวัคของผู้ปกครองตระกูลบรูค จนสามารถฆ่าทหารอังกฤษที่ชื่อว่า Allan Lee ในหลายปีต่อมากำลังของนาย Rentap ก็พ่ายแพ้แก่กองกำลังของอังกฤษ  และนาย Rentap ได้เสียชีวิตในวัยชรา เมื่อปี 1870


วกกลับมาเรื่องของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค กับสตรีชาวมลายู ลูกหลานของนาย  Abang Aing Datuk Laksama Menuddin กล่าวว่า การแต่งงานของทั้งคู่ทำการที่หมู่บ้านอูลู โดยจัดพิธีแต่งงานแบบอิสลาม สำหรับ Dayang Mastiah จะมีผู้ปกครองที่ยินยอมการแต่งงาน โดยใช้ Wali Hakim ส่วนผู้ทำพิธีแต่งงานเป็นกอฎี ผู้นำทางศาสนาอิสลาม เมื่อดูพิธีการแต่งงานดังกล่าว จะเห็นว่า ฝ่ายชายจะต้องเป็นมุสลิมด้วย ดังนั้น จึงหมายความว่า เซอร์ชาร์ลส์  บรูค จะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามด้วย อาจจะด้วยการหลอกเข้ารับศาสนาอิสลามเพื่อการแต่งงานก็ตาม


ในเดือนธันวาคม 1866 นาง Dayang Mastiah ได้ติดตามสามีไปยังเมืองกุจิง และสองเดือนหลังจากนั้นได้ตั้งท้อง และเธอได้เดินทางกลับมาคลอดลูกที่อำเภอซีมังฆัง  และบุตรชายที่เกิดเมื่อ 27 สิงหาคม 1867 ทางเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ได้ตั้งชื่อว่า อีซากา (Isaka) เป็นชื่อในภาษามลายู ที่หมายถึง Isaac  สำหรับเด็กชายอีซากา ได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาและ นาย Abang Aing  และสามารถพูดแต่เพียงภาษามลายู

                                     เด็กชายอีซากา สมัยเด็ก 

เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ได้ประจำถาวรในเมืองกุจิงในฐานะราชาผิวขาวคนที่สอง และเขาจึงจำเป็นต้องมีราชินีรัฐซาราวัคที่เป็นชาวยุโรป เขาได้วางแผนที่จะแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเขา ซึ่งเป็นม่ายที่ร่ำรวยชื่อว่า Elizabeth Sarah Johnson หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Lily Wiles Johnson de Windt แต่ปรากฏว่า เซอร์ชาร์ลส์  บรูค กลับได้แต่งงานกับบุตรสาวของ Lily Wiles Johnson de Windt ที่ชื่อว่า Margaret Lili de Windt ที่มีอายุน้อยกว่าเขา 20 ปี เมื่อ 28 ตุลาคม 1869 และ ราชินี Margaret Lili de Windt ได้กำเนิดบุตรสาวให้แก่เขา เขาผิดหวัง ในเวลาต่อมา เซอร์ชาร์ลส์  บรูค จึงได้นำเด็กชายอีซากา มาเลี้ยงที่ตำนักของตนเอง สร้างความตกใจให้แก่ ราชินี Margaret Lili de Windt

                                    นายเอสก้า บรูค  สมัยหนุ่ม

สำหรับเด็กชายอีซากา เพื่อสร้างความมั่นใจให้เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ว่าเป็นคริสเตียน ในเดือนมกราคม 1872 จึงทำการแบบติสต์ หรือ การเข้ารับศาสนาคริสต์ โดยใช้ชื่อว่า Esca Brooke ที่โบสถ์คริสต์แองลีกัน ในอำเภอซีมังฆัง ทำการแบบติสต์ โดยบาทหลวง W. Crossland ต่อมานายเอสก้า  บรูค ถูกส่งตัวไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ และอยู่กับบาทหลวง William Yate Daykin และภรรยาที่ชื่อว่า Mary Frances Harrison ซึ่งไม่มีบุตรด้วยกัน  ต่อมาอพยพติดตามครอบครัวบาทหลวงดังกล่าวไปตั้งถิ่นฐานในประเทศแคนาดา สำหรับนายเอสก้า  บรูค ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ


และในปี 1927 เมื่อครั้งเขามีอายุ 60 ปี เขาได้ประกาศเรียกร้องสิทธิในการเป็นราชาของรัฐซาราวัค แต่ก็ล้มเหลว และเมื่อเซอร์ชาร์ลส์ ไวเนอร์  บรูค น้องชายต่างมารดา ได้มอบสิทธิรัฐซาราวัคให้กับอังกฤษ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ นายเอสก้า  บรูค ก็ได้เรียกร้องสิทธิในฐานะที่เป็นบุตรชายคนโตของราชาผิวขาวแห่งรัฐซาราวัค แต่ก็ไม่สำเร็จอีกครั้ง  นายเอสก้า  บรูค เสียชีวิตที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อ17 กุมภาพันธ์ 1953


5. เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  (Sir Charles Vyner Brooke)   ราชาผิวขาวคนที่สาม

เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค เกิดที่ประเทศอังกฤษ และในสมัยหนุ่มใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษ  เกิดเมื่อ 30 กันยายน 1874 และสิ้นชีวิตเมื่อ 9 พฤษภาคม 1963 เป็นราชาผิวขาวคนที่สามของรัฐซาราวัค  เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ขึ้นบัลลังค์ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นราชาแห่งรัฐซาราวัคระหว่างปี 1917 จนถึงสมัยกองทัพญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองเกาะบอร์เนียวในปี 1941 และในสมัยที่สอง เมื่อเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  กลับมายังรัฐซาราวัคเมื่อ 15 เมษายน 1946 จนถึงสมัยที่ได้มอบอำนาจในกับอังกฤษเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1946

                                  เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค 

เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค เข้าทำงานเป็นผู้ติดตามบิดาของเขาระหว่างปี 1897-1898 ต่อมาเลื่อนตำแหน่งเป็นนายอำเภอซีมังฆัง (Simanggang) ระหว่างปี 1898–1901 และต่อมาเป็น Resident ของเขต Mukah และ Oya ระหว่างปี 1902–1903 และต่อมาเป็น Resident เขตที่ 3 ระหว่างปี 1903–1904 น อกจากนั้นยังเป็นประธานสภาศาลแห่งรัฐ (Law Courts) ระหว่างปี 1904–1911


ที่ประเทศอังกฤษได้รู้จักกับนางสาว Sylvia Brett บุตรสาวของ Lord Esher และได้แต่งงานกันเมื่อ 21  กุมภาพันธ์ 1911 ทั้งสองจึงเดินทางกลับไปยังรัฐซาราวัค.


การปกครองรัฐซาราวัค

ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชาผิวขาวคนที่สามและคนสุดท้าย หลังการเสียชีวิตของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ก็ได้รับการแต่งตั้งปกครองรัฐซาราวัค เมื่อ 24 พฤษภาคม 1917  การที่รัฐซาราวัค สามารถผลิตยางพาราและน้ำมันดิบ ทำให้เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  สามารถนำเงินไปพัฒนารัฐซาราวัคได้มากขึ้น


นโยบายหนึ่งของเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ที่ได้รับการชื่นชมจากคนพื้นเมือง นั้นคือการห้ามนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์เข้าไปเผยแพร่ในหมู่ชาวมุสลิม ต่อมาเมื่อ 25 ธันวาคม 1941 รัฐซาราวัคถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครอง ทำให้เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค อพยพหนี้ภัยพร้อมครอบครัวไปยังเมืองซีดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งสงครามโลกสงบ จึงเดินทางกลับไปเป็นราชาผิวขาวของรัฐซาราวัคอีกครั้ง เมื่อ 15 เมษายน 1946


มอบรัฐซาราวัคให้เป็นรัฐในอาณานิคมของอังกฤษ

เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ได้มอบรัฐซาราวัคให้เป็นรัฐในอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อ 1 กรกฎาคม 1946 ในขณะเดียวกันราชามูดาแอนโทนี ผู้จะเป็นผู้สืบอำนาจคนต่อไป ก็ได้สละอำนาจที่จะมีต่อบัลลังค์ผู้ปกครองรัฐซาราวัค ตามสนธิสัญญาในฐานะราชทายาทปี 1951 และได้อพยพไปยังประเทศนิวซีแลนด์  สำหรับเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ได้เสียชีวิตสี่เดือน ก่อนที่รัฐซาราวัคจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย


6. นายเบอร์ตแรม  บรูค  (Bertram Brooke  @ Bertram of Sarawak) ตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค (Tuan Muda  of Sarawak)

ร้อยเอก เบอร์ตแรม  บรูค  เป็นน้องชายของเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ตำแหน่งตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค น่าจะเหมือนอุปราชไทยยุคอดีต เป็นรองจากราชาแห่งรัฐซาราวัค  เกิดเมื่อ 8 สิงหาคม 1876 เกิดที่เมืองกุจิง รัฐซาราวัค และเสียชีวิตที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ 15 กันยายน 1965 .

                                       นายเบอร์ตแรม  บรูค

ร้อยเอก เบอร์ตแรม  บรูค เป็นบุตรชายของเซอร์ชาร์ลส์ บรูค ราชาผิวขาวคนที่สอง ด้วยเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ไม่มีบุตรชาย ล้วนมีบุตรสาว ดังนั้นจึงแต่งตั้งน้องชายมาเป็นตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค ร้อยเอก เบอร์ตแรม  บรูค ได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษ โดยได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยตรีนีตี้ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์                             

นายเบอร์ตแรม  บรูค แต่งงานกับ นางสาว Gladys Milton Palmer เมื่อ 28 มิถุนายน 1904 เธอเป็นบุตรสาวคนเดียวของ Sir Walter Palmer และเมื่อแต่งงานแล้ว นางสาว Gladys Milton Palmer จะได้รับยศเป็น "Dayang Muda" ใช้คำนำหน้าว่า  "Her Highness"  ทั้งคู่มีบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 3 คน สำหรับบุตรชายได้รับแต่งตั้งเป็นราชามูดา แห่งรัฐซาราวัค


7. นายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค (Anthony Walter Dayrell Brooke) ราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค

เกิดเมื่อ 10 ธันวาคม 1912  และเสียชีวิตเมื่อ 2 มีนาคม 2011 ขณะมีอายุได้ 98 ปี เขาเป็นบุตรของเบอร์ตแรม  บรูค เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค โดยลุงของเขา คือเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค เมื่อ 25 สิงหาคม 1937 สำหรับชื่อเต็มในภาษามลายูของเขา คือ Yang Amat Mulia Tuan Rajah Muda Sarawak  เขาได้รับการศึกษาจาก วิทยาลัยตรีนีตี้ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์  เช่นเดียวกันกับบิดา ทำงานหลายแห่งในรัฐซาราวัค  ทั้งเคยทำงานที่สำนักงานที่ดินของรัฐ รวมทั้งเคยเป็นผู้พิพากษา นอกจากนั้นยังเคยเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐซาราวัค ประจำประเทศอังกฤษ


แอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค ได้รับหน้าที่รับผิดชอบบริหารงานของรัฐซาราวัค ระหว่างปี 1939 - 1940 ต่อมาเขาถูกถอดออกจากตำแหน่งเมื่อ 17 มกราคม 1940 และเกิดกรณีพิพาทกับเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ผู้เป็นลุง กรณีที่เขาไปแต่งงานกับ นางสาว Kathleen Mary Hudden ภายหลังทั้งคู่หย่ากันในปี 1965

                               นายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค

และเขาถูกขับออกจากรัฐซาราวัคในเดือนกันยายน 1941 ต่อมาบิดาของเขา คือเบอร์ตแรม  บรูค ผู้เป็นราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค กับเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ได้ปรึกษากัน และในปี 1944 ได้คืนตำแหน่งราชามูดาแก่เขา อย่างไรก็ตาม เขาถูกถอดถอนตำแหน่งอีกเมื่อ 12 ตุลาคม 1945


ในปี 1946 เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ได้ยกรัฐซาราวัคให้เป็นรัฐอาณานิคมของอังกฤษ เพื่อแลกกับเงินบำนาญจำนวนมากสำหรับเขาและลูกสาวสามคน ทางนายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค กับสมาชิกส่วนใหญ่ของสภานิติบัญญัติแห่งรัฐของรัฐซาราวัค ไม่เห็นด้วย ในเวลาห้าปีได้เกิดการต่อต้านของชาวรัฐซาราวัคต่อการขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ นายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค ได้ใช้บ้านพักของตนเองในสิงคโปร์เป็นศูนย์การเคลื่อนไหว โดยในปี 1948 ผู้ว่าการรัฐซาราวัคของอังกฤษ คนที่สอง คือ Sir Duncan Stewart ถูกชาวมลายูรัฐซาราวัค ที่ชื่อ Rosli Dhobie  ฆ่าตาย หน่วยราชการลับของอังกฤษจึงเดินทางไปสอบสวนนายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค เพื่อค้นหาความเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมกรณีดังกล่าว แต่ไม่พบสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงได้ ในปี 2012 เอกสารของหอจดหมายเหตุอังกฤษ ที่ลอนดอน ก็เปิดเผยว่านายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับกรณีดังกล่าว

                                นาย Rosli Dhobi ถูกจับกุม

นายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค หลังจากหย่ากับนาง Kathleen Mary Hudden ในปี 1965 ต่อมาอีกหลายปี ในปี 1982 ก็ได้แต่งงานอีกครั้งกับนาง Brigitte Keller นายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค เสียชีวิตที่ประเทศนิวซีแลนด์ แต่นำกลับไปฝั่งที่สุสานครอบครัวในเมืองกุจิง รัฐซาราวัค


อ้างอิง :

James Ritchie, Rajah Charles Brooke’s secret life revealed, www.newsarawaktribune.com.my, February 26, 2020.


Esca Brooke Daykin https://www.findagrave.com/memorial/203999634/esca-brooke-daykin


https://www.royalark.net/Malaysia/sarawak4.htm


หมายเหตุ:

จากการค้นข้อมูล เกี่ยวกับดายังมัสเตียะห์ บางข้อมูล บอกว่า เป็นหลาน บางข้อมูล บอกว่า เป็นลูก แต่บางข้อมูลบอกว่า เป็นลูกบุญธรรม


Rosli Dhobi มีอาชีพเป็นครู นอกจากนั้น เขายังเป็นนักเขียน และนักกวี เกิดเมื่อ 18 มีนาคม 1932 ที่เมืองซีบู รัฐซาราวัค มีบิดาเชื้อสายเจ้า มาจากอินโดเนเซีย ส่วนมารดา ก็มาจากอินโดเนเซีย จากเมืองซัมบัส จังหวัดกาลีมันตันตะวันตก อินโดเนเซีย เขาเป็นสมาชิกขององค์กรลับ ที่ชื่อว่า Rukun 13 เป็นองค์กรต่อต้านอังกฤษที่ปกครองรัฐซาราวัค   เขาถูกจับและตัดสินประหารชีวิตในขณะที่มีอายุเพียง 17 ปี ปัจจุบันสุสานของ Rosli Dhobi ถูกย้ายไปตั้งที่สุสานวีรบุรุษแห่งรัฐของรัฐซาราวัค

 


Rabu, 8 Mei 2024

ครอบครัวตระกูลบรูค (Brooke Familiy) ผู้ปกครองรัฐซาราวัค มาเลเซีย (ตอน1)

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ประวัติศาสตร์ของรัฐซาราวัค มาเลเซีย มีประวัติศาสตร์ที่แปลกกว่ารัฐอื่น ด้วยรัฐซาราวัค แทนที่จะมีเจ้าผู้ครองรัฐเป็นชาวมลายู หรือชนพื้นเมืองอื่นๆ แต่รัฐซาราวัคกลับมีเจ้าผู้ครองรัฐเป็นชาวอังกฤษผิวขาว โดยมีตระกูลบรูค เป็นเจ้าผู้ครองรัฐซาราวัค

สำหรับตระกูลบรูค ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าผู้ครองรัฐซาราวัค มีสมาชิกตระกูลบรูค ที่เป็นราชา หรือที่เรียกว่า ราชาผิวขาว หรือ White Rajah จำนวน  3 คน และยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์บรูค แต่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งราชาผิวขาวอีก 4 คน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลต่างๆ คือ

1. เซอร์เจมส์  บรูค  (Sir James Brooke) ราชาผิวขาวคนแรก

2. จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค (John Brooke Johnson Brooke)

    ราชามูดา ผู้ถูกถอดออกจากตำแหน่ง

3. เซอร์ชาร์ลส์  บรูค  (Sir Charles  Brooke)  ราชาผิวขาวคนที่สอง

4. นายเอสก้า บรูค  (Esca Brooke )  บุตรชายคนโตลูกครึ่งมลายูที่ถูก

    ลืมของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค 

5. เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  (Sir Charles Vyner Brooke)   ราชา

    ผิวขาวคนที่สาม

6. เบอร์ตแรม  บรูค  (Bertram Brooke  @ Bertram of Sarawak)

   ตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค (Tuan Muda of Sarawak)

7. แอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค (Anthony Walter Dayrell

   Brooke) ราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค


ครั้งนี้ขอเสนอประวัติของสมาชิกตระกูลบรูค ตั้งแต่อันดับที่ 1-3 ซึ่งมีดังนี้

                                            เซอร์เจมส์  บรูค   

1. เซอร์เจมส์  บรูค  ราชาผิวขาวคนแรก

จะขอกล่าวถึงประวัติของเซอร์เจมส์  บรูค อย่างสั้นๆๆ เพราะก่อนหน้าก็เขียนถึงแล้ว

เขามีชื่อเต็มว่า James Bertram Lionel Brooke เกิดเมื่อ 29 เมษายน 1803 เสียชีวิตเมื่อ 11 มิถุนายน1867 เขาเกิดในอินเดีย ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางผู้หญิงในบ้านของครอบครัว เขาเป็นบุตรของนายโธมัส  บรูค ( Thomas Brooke) และนางแอนนา มาเรีย  บรูค (Anna Maria Brooke) บิดาของเขาเป็นผู้พิพากษาของแบงคอล อินเดีย


2. จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  หรือ บรูค บรูค

ในขณะที่เซอร์เจมส์  บรูค เป็นราชาผิวขาวแห่งรัฐซาราวัคนั้น ทางเซอร์เจมส์  บรูค ได้มอบอำนาจให้ นายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค (John Brooke Johnson Brooke) ผู้เป็นหลานน้าของตนเองให้เป็นราชามูดา สำหรับจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค เกิดในปี 1823 และเสียชีวิตเมื่อ 1 ธันวาคม 1868 ในครั้งเกิดชื่อว่า จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค   ทั้งจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  และเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ผู้เป็นน้องชาย เป็นบุตรชายของนางเอมมา แฟรนเซส บรูค (Emma Frances Brooke) น้องสาวของเซอร์เจมส์  บรูค กับบาทหลวงแฟรนซิส ชาร์ลส์ จอห์นสัน (Francis Charles Johnson)  เซอร์เจมส์  บรูค ผู้เป็นลุงได้นำนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  ร่วมเดินทางล่องเรือที่ซื้อไปยังเมดิเตอร์เรเนียนในปี 1837  ต่อมานายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ได้สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษในปี 1839 ต่อมาได้รับยศเป็นร้อยโทในปี 1842  และเป็นร้อยเอกในปี 1848


                                      จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค 

หลังจากนั้นเขาได้ลาออกจากกองทัพอังกฤษ และได้เป็นราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค หลังจากที่เซอร์เจมส์  บรูค ผู้เป็นลุงของเขาได้เดินทางกลับไปยังอังกฤษ สำหรับนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ประวัติของเขาที่เกี่ยวข้องกับรัฐซาราวัค มักถูกลบออก จนแทบจะไม่มีในประวัติศาสตร์รัฐซาราวัค


แม้ความจริงแล้วประวัติของเขายังมีอยู่ ที่มีการบันทึกเก็บไว้เป็นจำนวนมาก  สำหรับนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ได้รับการแต่งตั้งเป็นราชามูดาในระหว่างปี 1859-1863  ผลงานหนึ่งของนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค คือสามารถปราบโจรสลัด โดยในการปะทะกันระหว่างกลุ่มโจรสลัดกับรัฐซาราวัค ที่เมืองมูกะห์  เมื่อเดือนพฤษภาคม 1862 โดยรัฐซาราวัคมีนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค เป็นผู้นำ จนรัฐซาราวัคสามารถปราบโจรสลัดได้ ต่อมานายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ซึ่งรู้จักในนามของนายบรูค บรูค ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อลุงตัวเอง โดยขณะที่ตัวเขาอยู่ในอังกฤษ นายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ได้วิจารณ์เซอร์เจมส์  บรูค จนถูกปลดออกจากตำแหน่ง และเซอร์เจมส์  บรูค ห้ามไม่ให้นายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค เดินทางเข้ารัฐซาราวัค เขาเสียชีวิตในปี 1868 ที่กรุงลอนดอน หลังจากป่วยเป็นเวลานาน


3. เซอร์ชาร์ลส์  แอนโทนี บรูค  ราชาผิวขาวคนที่สอง

สำหรับเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  มีชื่อเดิมว่า ชาร์ลส์  แอนโทนี จอห์นสัน  เกิดที่อังกฤษ เช่นเดียวกันกับพี่ชาย เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชาผิวขาวคนที่สอง ภายหลังจากนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ผู้เป็นพี่ชายถูกเซอร์เจมส์  บรูค ปลดออกจากการเป็นทายาทผู้สืบอำนาจ  เซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ได้รับการศึกษาจากอังกฤษ ต่อมาได้สมัครเข้าทำงานกับกองทัพเรืออังกฤษ ต่อมาเขาเปลี่ยนชื่อเป็น ชาร์ลส์  บรูค   เขาเข้าทำงานกับลุงของเขาในปี 1852 โดยเริ่มเป็นผู้ปกครอง หรือ Resident ของเขตลุนดู (Lundu) ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองกุจิง และมีเขตแดนที่ติดต่อกับจังหวัดกาลีมันตันตะวันตกของอินโดเนเซีย  และในปี 1865 เซอร์เจมส์ บรูค ได้ประกาศให้เขาเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขา 


                                    เซอร์ชาร์ลส์  แอนโทนี บรูค 

            เซอร์ชาร์ลส์  แอนโทนี บรูค  สมัยหนุ่มเป็น Resident ที่เขต Lingga


เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ได้ดำเนินนโยบายตามที่เซอร์เจมส์  บรูค ผู้เป็นลุงของเขา โดยได้ดำเนินการต่างๆ เช่น การปราบโจรสลัด การห้ามทาส การห้ามบางเผ่าที่ชอบตัดหัวมนุษย์  เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ต่อมาได้รับยศเป็นเซอร์ และมียศในภาษามลายูรัฐซาราวัคว่า Seri Paduka Duli Yang Maha Mulia Tuan Rajah Sir Charles Brooke  สำหรับเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ดำรงตำแหน่งเป็นราชาแห่งรัฐซาราวัคระหว่าง  3 สิงหาคม 1867 – 17 พฤษภาคม 1917 


เขามีผลงานในรัฐซาราวัคหลายอย่าง เช่นในปี 1891 เขาได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐซาราวัค ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกบนเกาะบอร์เนียว นอกจากนั้นในปี 1903 เขายังก่อตั้งโรงเรียนชายล้วน ชื่อว่า Government Lay School เป็นโรงเรียนที่ชาวมลายูสามารถที่จะเรียนด้วยภาษามลายูได้   เมื่อเขาเสียชีวิตลง ทางอังกฤษได้ให้รัฐซาราวัคเป็นรัฐที่มีสถานะเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษ หรือ protectorate state  และรัฐซาราวัคสามารถที่จะมีสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเป็นของตนเอง มีการสร้างทางรถไฟ และที่สำคัญมีการค้นพบน้ำมันในรัฐซาราวัค 

แหล่งน้ำมันที่รัฐซาราวัค ที่ลูตง (Lutong) ปี 1916