Rabu, 16 November 2022

โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม โรงเรียนของชาวมลายูในนครมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาราเบีย

โดย นายนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน


                                รูปถ่ายครูโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม 

โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลุม อัดดีนียะห์อัลยาวียะห์ (Madrasah Dar al-Ulum al-Diniyyah al-Jawiyyah) หรือรู้จักกันในชื่อโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูมอัดดีนียะห์ หรือ โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม เป็นสถาบันการศึกษาด้านศาสนาอิสลามชั้นนำของชุมชนชาวมลายูในนครมักกะห์ โรงเรียนนี้ได้ผลิตนักการศาสนา หรืออุลามะจำนวนมาก กล่าวว่าเฉพาะในอินโดเนเซีย ได้ผลิตนักการศาสนาจำนวนมาก มีผู้นำด้านศาสนาอิสลามมากประมาณ 120 คนที่เคยเรียน รวมทั้งเชคยาซีน อัลฟาดานี ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นแรก ของโรงเรียนแห่งนี้

 

เชคอาลี บินอิบราฮิม อัล-มาลิกิ ซึ่งเสียชีวิตในปี 1948 เป็นนักการศาสนา หรืออุลามะชาวโมรอคโคที่มีชื่อเสียง  และผู้เชี่ยวชาญด้านสุนนะห์ และไวยกรณ์อาหรับ โดยเขาเป็นอาจารย์ของบรรดานักการศาสนาชาวเบอตาวี (ชาวเบอตาวี เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ตา) และชาวอินโดนีเซียอื่นๆ โดยเชคอาลี บินอิบราฮิม อัล-มาลิกิ ได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์และครูศาสนาในโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม

                            รูปถ่ายนักเรียนโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม 

นักเรียนที่มาจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะจากโลกมลายู เพื่อศึกษาความรู้อิสลามและความรู้ด้านอื่นๆที่โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม นอกเหนือจากการได้เรียนหะดีษและหนังสือของเชตยาซีน อัลฟาดานี ครูสอนศาสนาที่โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูมส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดเนเซีย โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลุมเปิดมาจนถึงต้นปี 1990  โดยเชคยาซีน อัล-ฟาดานี เป็นครูใหญ่คนสุดท้ายก่อนที่โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูมแห่งนี้จะถูกปิดโดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบียด้วยเหตุผลบางประการ

 

ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม

ราวปี 1934 มีความขัดแย้งกัน เมื่อครูใหญ่ของโรงรียนอัช-เชาตียะห์ (Madrasah Ash-Shautiyyah) ได้ทำให้นักเรียนหลายคนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดความไม่พอใจ โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย ในปี 1934 ที่โรงเรียนอัช-เชาตียะห์ (Madrasah Ash-Shautiyyah) นักเรียนชาวอินโดนีเซียและมาเลเซียจัดประท้วงหยุดการเรียน เพื่อประท้วงการไล่ออกนักเรียนจากชวาตะวันออก อินโดเนเซีย เพราะครูพบว่านักเรียนคนหนึ่งชื่อว่า นายซุลกีฟลี ยุ่งอยู่กับการอ่านนิตยสารจากอินโดเนเซียที่ชื่อว่านิตยสาร Nahdatul Ulama สำหรับนายซุลกีฟลี สำหรับนายซุลกีฟลี นี้เป็นน้องชายของนายซูบีร์ อดีตอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งรัฐวาลีซองอ เมืองซาลาตีฆา

                                  เชคมูฮัมหมัดยาซีน  อัล--ฟาดานี

เมื่อครูเห็นว่านายซุลกีฟลี และเพื่อนๆกำลังยุ่งอยู่กับนิตยสารดังกล่าว จึงเอานิตยสารทิ้งลงจากชั้นที่เรียน นักเรียนจึงเอานิตยสารที่ถูกทิ้งจากชั้นไปฟ้องครูใหญ่ แต่ครูได้ด่ากระทบนักเรียน ว่านักเรียนเป็นชนชาติที่ต่ำต้อย จึงสร้างผลกระทบต่อจิตใจของนักเรียน

 

ผลจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ชัยคฺ ยาซีน อัลฟาดานี (คำว่า อัลฟาดานี หมายถึงเมืองปาดัง บนเกาะสุมาตรา อินโดเนเซีย) ได้เสนอแนวคิดในการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่าโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม ขึ้นมาในนครมักกะห์ ผู้ปกครองของนักเรียนได้รวบรวมเงิน เพื่อช่วยเหลือจัดตั้งโรงเรียน โดยได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาเชคฮัจญ์ชาวอินโดนีเซียที่อยู่ในนครมักกะห์  เชคฺอับดุลมานัน ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นคนดำเนินการโครงการจัดตั้งโรงรียนในครั้งนี้ ซึ่งในที่สุดโครงการนี้ก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยโรงเรียนได้จัดตั้งขึ้นบริเวณซูกัลไลล์ (Suq al-Layl)

 

อาคารของโรงเรียนได้รับการช่วยเหลือดำเนินการโดยเชคยะกู๊บ (Shaykh Ya'qub) ซึ่งมาจากรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย  ดังนั้นโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม จึงถือกำเนิดโดยมีสัยยิดมุหซีน อัล-มูซาวา (Sayyid Muhsin al-Musawwa) ซึ่งเขาเป็นลูกหลานชาวอาหรับในเมืองปาเล็มบัง  ในเมืองปาเล็มบังจะมีชุมชนชาวอาหรับตั้งถิ่นฐานอยู่ โดยสัยยิดมุหซีน อัล-มูซาวา ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม และรองครูใหญ่เป็นหน้าที่ของเชคซูบีร์ อิสมาแอล ซึ่งมาจากรัฐเปรัค

 

การจัดตั้งโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม ทำให้นักเรียนของโรงเรียนมัดราซะห์เซาลาตียะห์ ที่มาจากโลกมลายูได้แสดงความรู้สึกชาตินิยม โดยร่วมกันย้ายโรงเรียนจากโรงเรียนมัดราซะห์เซาลาตียะห์ ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม แม้ว่าโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูมจะยังใหม่อยู่ก็ตาม การจัดตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ทำให้ครูและนักเรียนเกือบ 50% จากอินโดนีเซียและมาเลเซียของโรงเรียนมัดราซะห์เซาลาตียะห์ ได้ย้ายเข้าร่วมกับโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูมที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่

  

สัยยิดมุหซีน อัล-มูซาวา ผู้บุกเบิกการจัดตั้งโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม ร่วมกับเชคมูฮัยมีน บินอับดุลอาซีซ ลาเซ็ม (Shaykh Muhaimin bin Abdul Aziz Lasem) ได้ร่วมผลิตครูสอนศาสนาและและศิษย์เก่าจำนวนมากซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้สอนศาสนาทั้งในภาครัฐและเอกชน

 

ชัยคฺ ยาซีน อัล ฟาดานี ดำรงตำแหน่งรองครูใหญ่โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม  นอกจากนี้ยังคงสอนในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่มัสยิดอัลฮาราม  เชค มูฮัมหมัดไซนุดดิน อัล-บาวีนี ยังได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งและพัฒนาโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม  รวมทั้งได้รับความไว้วางใจให้สอนในอีกหลายปีต่อมา

 

ในบรรดาศิษย์เก่าของโรงเรียน

เชคยาซีน อัล-ฟาดานี  ศิษย์รุ่นแรกและเคยเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลูม

 

นายไมมูน เจ้าของโรงเรียนสอนศาสนาอัล-อันวาร์ เมืองซารัง   เขตเรมบัง จังหวัดชวากลาง

 

สัยยิดฮามิด  อัลกัฟฟ์ ศิษย์รุ่นแรกสมัยเริ่มก่อตั้งโรงรียน ภายหลังจากจบ เขาได้เข้าทำงานกับสำนักงานสภาซูรอของประเทศซาอุดีอาราเบีย และได้สอนที่โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลุม

 

นายมูฮัมหมัดซาอิด ได้เข้าเรียนในปี 1949 โดยในสมัยที่นายมูฮัมหมัดซาอิดเข้ารียนนั้น  มีเชคมันซูร์ จากเมืองปาเล็มบัง เป็นครูใหญ่ และมีเชคยาซีน อัล-ฟาดานี หรือ จากเมืองปาดัง เป็นรองครูใหญ่

 

เชคมูฮายีรีน อัมซาร อัดดารี เรียนที่โรงเรียนมัดราซะห์ดารุลอูลุม ระหว่างปี 1949-1955

 

นายบาชูนี ผู้เป็นบิดาของอดีตรัฐมนตรีกิจการศาสนาของสาธารณรัฐอินโดเนเซีย

  

อ้างอิง

Hilful Fudhul,Madrasah Darul Ulum: Bibit Nasionalisme Ulama Nusantara di Mekkah, https://iqra.id/

Kiprah Ulama Nusantara di Madrasah Darul Ulum Makkah, https://nyantri.republika.co.id



Tiada ulasan: