Rabu, 28 Julai 2021

หนังสือพิมพ์ อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري) หนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับแรกในโลก

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ก่อนหน้านี้เป็นที่เข้าใจว่า หนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับแรกในโลก คือ หนังสือพิมพ์ภาษามลายู ที่ใช้อักขระยาวี ที่ชื่อว่า หนังสือพิมพ์ Jawi Peranakan (جاوي ڤرانقن) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นในประเศสิงคโปร์ เป็นหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์โดยชาวยาวีเปอรานักกัน คำว่า ยาวีเปอรานักกัน หมายถึงชาวมุสลิมที่พูดภาษามลายู เกิดในมาลายา ซึ่งมีเชื้อสายจากเอเชียใต้และผสมกับชาวมลายู

 

แต่ต่อมามีการค้นพบว่า หนังสือพิมพ์ Jawi Peranakan ไม่ใช่เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนมลายู ด้วยหนังสือพิมพ์ Jawi Peranakan มีการตีพิมพ์ระหว่างปี 1876-1895  ออกทุกวันจันทร์ เสนอข่าวที่เกิดขึ้นในรัฐมะละกา รัฐปีนัง สิงคโปร์ รัฐโยโฮร์ รัฐเคดะห์ รัฐสลังงอร์ บรูไน และข่าวในเกาะสุมาตรา และเกาะชวา  ผู้พิมพ์คือนายมุนชีมูฮัมหมัด อาลี อัล-ฮินดี (Munsyi Mohammed Ali Al-Hindi) ต่อมาเปลี่ยนผู้พิมพ์มาเป็นนายมุนชีมูฮัมหมัดซาอิด บินดาดา มุห์ยิดดิน (Munsyi Mohamad Said b. Dada Muhyiddin) หนังสือพิมพ์ขายฉบับละ 30 เซนต์

ต่อมามีการค้นพบว่า จริงๆแล้วหนังสือพิมพ์ภาษามลายู ฉบับแรกของโลก กลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์โดยชุมชนมลายูในประเทศศรีลังกา ที่ชื่อว่า หนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري) เป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูรายปักษ์  พิมพ์ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 1869 ก่อนหนังสือพิมพ์ Jawi Peranakan (جاوي ڤرانقن) เป็นเวลา 7 ปี

ผู้จัดพิมพ์ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري) คือ นายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) โดยตั้งโรงพิมพ์ใช้ชื่อ Alamat Langkapuri Press ซึ่งมีชื่อเสียงในชุมชนชาวมลายูบนเกาะศรีลังกา

 

หนังสือพิมพ์ดังกล่าวนำเสนอข่าวท้องถิ่นและข่าวโลก นอกจากนั้นมการตีพิมพ์เกี่ยวบทกลอนมลายู ที้งที่เป็นชาอีร์ (syair) ปันตุน (pantun) รวมทั้งกวีนิพนธ์แบบดั้งเดิมอื่นๆ หนังสือพิมพ์นี้จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มชาวมลายูโพ้นทะเลในประเทศศรีลังกา นายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) โดยผ่านหนังสือพิมพ์ นี้ พยายามส่งเสริมวัฒนธรรมและภาษามลายู เขาตีพิมพ์วรรณกรรมมลายูลงในหนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري)  เช่นเดียวกับการโฆษณาหนังสือเพื่อเรียนรู้พจนานุกรมมลายูและพจนานุกรมอังกฤษ-มลายู ส่วนประกาศและโฆษณาบางส่วนในหนังสือพิมพ์จะเป็นภาษาอาราบ-ภาษาทมิฬ

 

การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري) จะใช้เงินส่วนตัวของนายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) และหนังสือพิมพ์ไม่ได้สร้างกำไร จนในที่สุดก็ถูกปิดตัวลงเมื่อปลายปี 1870 เนื่องจากจำนวนสมาชิกมีไม่เพียงพอ ต่อมาหนังสือพิมพ์ถูกเปิดตัวอีกครั้งในปี 1877 แต่ปิดตัวลงอีกครั้งในปีถัดมา นายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) เริ่มต้นเปิดหนังสือพิมพ์อีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า Wajah Selong ในปี 1895 ในประวัติศาสตร์ของประเทศศรีลังกา มีหนังสือพิมพ์ภาษามลายู อักขระยาวีเพียงสองฉบับฉบับ คือ หนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري)  และ Wajah Selong (وجه سلوڠ)

นายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) เองนอกจากพิมพ์หนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายแล้ว  เขายังเป็นผู้เขียนหนังสืออีกด้วย งานเขียนของเขามีสองชิ้นเล่มหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของชุมชนมลายู โดยเขามีเป้าหมายสู่คนรุ่นใหม่ในขณะนั้น ชื่อว่า ซัยอีร์ ฟาอิด อัล-อาบัด และอีกงานเขียนหนึ่งเป็นความทรงจำส่วนตัวและครอบครัวของเขา ชื่อว่า กีตาบ เซอฆาลา เปอร์อีงาตัน บรรยายถึงเอกลักษณ์ของชาวมลายูในสังคมศรีลังกาในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าที่ผสมผสานความรู้สึกแบบอิสลามที่เคร่งเข้ากับความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมของชาวมลายูในสงครามกับเจ้าอาณานิคม

 

อ้างอิง

หนังสือพิมพ์ Alamat Langkapuri จาก https://en.wikipedia.org

 

Jamaluddin Aziz & Omar Yusoff(edit.),Jawi Peranakan di Pulau Pinang: Ekspresi Sebuah Identiti,USM Press,2010.

 

Ronit Ricci,Banishment and Belonging Exile and Diaspora in Sarandib, Lanka and Ceylon. Cambridge University Press,2019.

 

Namri Sidek,Alamat Lankapuri:Akhbar Orang Melayu pertama Dunia.22 julai 2020, www.iluminasi.com

 

Surat Khabar Jawi Peranakan, www.pnm.gov.my

Tiada ulasan: