Selasa, 25 Ogos 2020

มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ เดือด !! ฟิลิปปินส์อนุมัติพิมพ์แผนที่น่านน้ำและรัฐซาบะห์ลงบนพาสปอร์ตฟิลิปปินส์

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2020 ข่าวสื่อสารมวลชนหลายฉบับในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ได้รายงานว่า คณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรของฟิลิปปินส์ หรือสภาล่าง ได้อนุมัติให้มีการพิมพ์แผนที่ฟิลิปปินส์โดยรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 ไมล์ (Exclusive economic zone) และพื้นที่ของรัฐซาบะห์ลงบนหนังสือเดินทางของฟิลิปปินส์

 มติของสภาผู้แทนราษฎรของฟิลิปปินส์ ฉบับที่ 6399 ซึ่งรวมอยู่ในการที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติหนังสือเดินทางของฟิลิปปินส์ปี 2539  นายรูฟัส โรดริเกซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตคากายัน เดอ โอโร กล่าวว่า “เรามีจุดมุ่งหมายที่จะเน้นย้ำและยืนยันในชัยชนะของเราในทะเลฟิลิปปินส์ด้านตะวันตกที่มีต่อจีนตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หรือศาลโลกในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ และกฎหมายของเรา รวมถึงสิทธิทางประวัติศาสตร์ของประเทศฟิลิปปินส์เหนือรัฐซาบะห์”

ที่นายรูฟัส โรดริเกซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตคากายัน เดอ โอโร ได้ยกกรณีของคำตัดสินของศาลโลกนั้นด้วย ประเทศฟิลิปปินส์มีปัญหาเรื่องเขตแดนกับประเทศจีน ด้วยประเทศจีนอ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำของประเทศฟิลิปปินส์ จนประเทศฟิลิปปินส์นำขึ้นศาลโลก

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศจีนนั้น มีความเป็นมาคือ เมื่อประเทศฟิลิปปินส์ยื่นเสนอปัญหาต่อศาลโลก หรือ คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2013 ประเทศจีนประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  

 

และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2014 ประเทศจีนได้จัดพิมพ์สมุดปกขาวเพื่ออธิบายจุดยืนของตนอย่างละเอียด ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2015 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินว่ามีเขตอำนาจในการตัดสินคดีนี้ตามคำขอของประเทศฟิลิปปินส์  และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2016 คณะอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะในคดีดังกล่าว ศาลยังตัดสินด้วยว่าจีน "ไม่มีสิทธิทางประวัติศาสตร์" ตามแผนที่ "เส้นประเก้า" ที่ประเทศจีนอ้างแต่อย่างใด   แต่ปรากฎว่าประเทศจีนปฏิเสธคำตัดสินด้งกล่าว

สำหรับจีนนั้นยังยืนยันในสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดโดยปฏิเสธคำตัดสินของศาลที่กรุงเฮก ที่ทำให้การอ้างสิทธิ์ที่ครอบคลุมของจีนนั้นเป็นโมฆะ  คำตัดสินของศาลเป็นการยอมรับสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์ในพื้นที่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จีนอ้างสิทธิ์

 

ประเทศฟิลิปปินส์เอง ก็มีการประท้วงทางการทูตต่อการรุกรานของจีนในทะเลฟิลิปปินส์ด้านตะวันตก ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ฝ่ายจีนอ้างว่าเป็นการ "ยั่วยุผิดกฎหมายในน่านน้ำที่มีความขัดแย้ง"

 

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนได้ตกลงที่จะยุติการพิจารณาคดี เพื่อดำเนินความสัมพันธ์ให้ราบรื่นกับจีน ที่ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

สำหรับเรื่องของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรของฟิลิปปินส์นั้น นายนายรูฟัส โรดริเกซ ยังได้กล่าวเสริมว่า การรวมแผนที่ไว้ในพาสปอร์ตของฟิลิปปินส์ เป็นการยืนยันที่ชัดเจนว่าฟิลิปปินส์มีสิทธิ์อธิปไตยเหนือทะเลฟิลิปปินส์ด้านตะวันตกและ เขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 ไมล์ (Exclusive economic zone) ของฟิลิปปินส์อีกด้วย

 

สำหรับหนังสือเดินทางฟิลิปปินส์นั้น ตามกฎหมายในปัจจุบันผู้สูงอายุจะได้รับส่วนลดราคา 20 เปอร์เซ็นต์ และผู้สูงอายุได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 12 เปอร์เซ็นต์สำหรับยาอีกด้วย

 

นายนายรูฟัส โรดริเกซ เสริมว่าการแก้ไขกฎหมายหนังสือเดินทางอีกฉบับที่คณะกรรมาธิการอนุมัติคือการขอหนังสือเดินทางทางออนไลน์โดยผู้สูงอายุ และการต่ออายุหนังสือเดินทาง

 

สิ่งที่ตามมา หลังจากข่าวการอนุมัติของประเทศฟิลิปปินส์ให้รวมพิมพ์แผนที่ฟิลิปปินส์โดยรวมเขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 ไมล์ (Exclusive economic zone) และพื้นที่ของรัฐซาบะห์ลงบนหนังสือเดินทางของฟิลิปปินส์ นายฮีชามุดดิน ตุนฮุสเซ็น รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ก็ได้ตอบโต้ผ่านบัญชีทวีตเตอร์ของตนเองว่า

     I’ve made Malaysia’s stand on Sabah before. There is no

     question about it. - Sabah still forever be apart of

      Malaysia.

 

     ผมได้เคยแสดงจุดยืนของมาเลเซียที่มีต่อรัฐซาบะห์ รัฐซาบะห์ จะเป็น

     ส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียตลอดไป

 

สำหรับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียกับประเทศฟิลิปปินส์ เป็นความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน ด้วยเดิมนั้น ส่วนตะวันออกของรัฐซาบะห์ ทางรัฐซูลู ภาคใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ถือว่าเป็นดินแดนของตนเองที่รัฐบรูไนในอดีตได้มอบให้ จากที่รัฐบรูไนเกิดความขัดแย้งกันเอง แล้วรัฐซูลูได้ช่วยฝ่ายหนึ่งต่อสู้ แต่หลักฐานบรูไนว่า รัฐซูลูไม่ได้ช่วยฝ่ายที่ชนะเลย 

เมื่อมีการทำสัญญาเช่าส่วนตะวันออกของรัฐซาบะห์นั้น มีการทำสัญญากัน 2 ฉบัย โดยฉบับแรก ทาง  Baron de Overbeck  ได้ทำสัญญากับสุลต่านแห่งรัฐบรูไน สุลต่านอับดุลมุมิน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1877 และทาง Baron de Overbeck ได้รับแต่งตั้งให้เป็นมหาราชาแห่งซาบะห์ เป็นราชาแห่งกายา (Rajah Gaya) และเมืองซันดากัน ส่วนฉบับที่สอง ทาง Baron de Overbeck กลัวจะมีปัญหากับรัฐซูลู ภาคใต้ฟิลิปปินส์ ก็ทำสัญญาอีกฉบับในเรื่องดินแดนเดียวกันกับที่ทำกับรัฐบรูไน โดยทำสัญญาหลังจากฉบับแรก 3 อาทิตย์ โดยทำกับสุลต่านยามาลุลอาซาม แห่งรัฐซูลู ในวันที่ 22 มกราคม 1878

จึงเป็นการทำสัญญาเช่าพื้นที่ที่เดียวกันทั้งจากรัฐบรูไน และรัฐซูลู โดยในสัญญาที่ทำกับรัฐซูลู เขียนไว้ว่า ผู้เช่า สามารถเช่าได้ตลอดไป จนกว่าผู้เช่าไม่ต้องการเช่า บางส่วนก็ถือว่า สัญญานี้ถือเป็นโมฆะ หลังจากมีการจัดตั้งเป็นประเทศมาเลเซีย และได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ

Khamis, 20 Ogos 2020

โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ด้วยศูนย์นูซันตาราศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้รับการกำหนดให้มีพันธกิจทางสังคม จึงจำเป็นต้องจัดโครงการพัฒนาประสิทธิในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยสำหรับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี 

 

สำหรับการพัฒนาประสิทธิในการใช้ภาษาไทยนั้น เพื่อใช้ในการติดต่อหน่วยงานราชการและการใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนการพัฒนาประสิทธิในการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการสื่อสารกับบุคคลต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นเพื่อพัฒนาประสิทธิในการใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย จึงจำเป็นต้องจัดโครงการนี้ขึ้นมา โดยการเสริมความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่มีการนำไปใช้ในการพูดภาษามลายูท้องถิ่นใน

 

วัตถุประสงค์ในการจัดโครงการนี้คือ

1) เพิ่มเสริมสร้างประสบการณ์และความรู้ให้กับชุมชนในการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทย

2) เพื่อฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ถูกต้องให้กับชุมชน

3) เพื่อให้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นหน่วยงานที่บริการชุมทั้งทางด้านภาษาและอื่นๆ




ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย    137 คน

       - ผู้เข้าร่วมอบรมภาษาไทย     65 คน

       - ผู้เข้าร่วมอบรมภาษาอังกฤษ 72  คน

 

มีวิทยากรอบรมโครงการ                 4 คน

       - วิทยากรอบรมภาษาไทย        2 คน

       - วิทยากรอบรมภาษาไทย        2 คน

นักศึกษาช่วยปฏิบัติงาน                 6 คน

  

ลักษณะการดำเนินโครงการ

จะเป็นการจัดอบรมทักษะและประสบการณ์การใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และห้องมินิเธียเตอร์ หอสมุดจอห์น เอฟ. เคเนเดี้ ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยจัดขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น.

Rabu, 5 Ogos 2020

ชนเผ่าจาไร ชนเผ่าหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์มลายู-โปลีเนเซียในประเทศเวียดนาม

 คนจาไร (Jarai) หรือบางครั้ง เวียดนามเรียกว่า เกียไร (Gia Rai)  และกัมพูชาจะเรียกว่า จาเรีย (Chareay) เป็นกลุ่มชนเผ่าที่อาศยอยู่ในที่ราบสูงตอนกลางประเทศของเวียดนาม ในประเทศเวียดนามจะอาศัยอยู่ในจังหวัดเกียไล  (Gia Lai Province) ซึ่งเป็นจังหวัดที่ชื่อมาจากชื่อของชนเผ่าจาไร และอีกจังหวัดหนึ่ง คือจังหวัดคอนทัม (Kon Tum Province) ซึ่งเป็นจังหวัดที่ติดชายแดนกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา  และอีกจังหวัด คือจังหวัดดั๊กลัก สำหรับในประเทศกัมพูชา มีชาวจาไรตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดรัตนาคีรี (Ratanakiri Province)  สำหรับประชากรของชนเผ่าจาไรในทั้งสองประเทศมีอยู่ดังนี้ 

ประเทศเวียดนาม มีจำนวน 513,930 คน[1]

ประเทศกัมพูชา มีจำนวน 26,335 คน[2]

 

ในช่วงสงครามเวียดนามนั้น มีชนเผ่าจาไร จำนวนหนึ่งเป็นแกนนำและสมาชิกของขบวนการชนกลุ่มน้อยของกลุ่ม Montagnard ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเขา ที่จัดตั้งโดยสหรัฐในการทำสงครามครั้งนั้น หลังจากที่สหรัฐพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนั้น สมาชิกจำนวนหนึ่งจากชนเผ่าจาไรได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศสหรัฐ โดยเฉพาะในรัฐนอร์ธแคโรไลนา

 

สำหรับคำว่า Montagnard ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส หมายถึงชาวเขา ซึ่งเป็นการเรียกรวมๆทั้งกลุ่มชนเผ่าทั้งที่อยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมรและตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย[3]

 

ภาษาจาไร ถือเป็นภาษาย่อยในตระกูลภาษาจาม (Chamic Language) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย โดยภาษาในตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย นอกจากมีภาษาจามด้วย มีภาษามลายูของประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศมาดากัสการ์ ประเทศฟิลิปปินส์  สำหรับภาษาจาไรของชนเผ่าจาไรทั้งในประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชา แม้จะมีความเหมือนกัน แต่ด้วยภาษาของทั้งสองชนเผ่าจาไรจะได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทางภาษาของเขมรและเวียดนาม ทำให้คำบางคำของภาษาเขมรถูกนำไปใช้ในภาษาจาไรในประเทศกัมพูชา และภาษาจาไรในประเทศเวียดนามก็เช่นกัน ได้นำคำบางคำของภาษาเวียดนามไปใช้ ทำให้ชนเผ่าจาไรในทั้งสองประเทศเวลาสื่อสารกันอาจมีความสับสนกัน สำหรับภาษาจาไรในประเทศเวียดนามจะใช้อักขระลาติน ส่วนในประเทศกัมพูชาจะไม่มีตัวเขียน

 

คำว่าจาไร มีความหมายว่า ผู้คนในน้ำตกหรือผู้คนในแม่น้ำที่ไหล

การศึกษาเกี่ยวกับชนเผ่าจาไร รวมทั้งวัฒนธรรมของชนเผ่าจาไร ส่วนใหญ่กลุ่มผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ จะมุ่งเน้นศึกษาที่ภาษาของชนเผ่าจาไร เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ นอกจากนั้นนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์มักศึกษาภาษาชนเผ่าต่างๆในประเทศเวียดนาม เพื่อใช้ในการเผยแพร่ศาสนา[4]

 

ในการวิจัยถึงชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา[5] ได้บันทึกว่า กลุ่มชนเผ่าจาไร เป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนามที่มีประชากรมากที่สุด และประชากรชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชาเป็นกลุ่มที่ขยายออกมาจากประเทศเวียดนาม

 

ในปี 1950 จังหวัดบนพื้นที่สูงทางตะวันออกของกัมพูชาอย่างจังหวัดรัตนคีรีและจังหวัดมอนดุลคีรีและที่ราบสูงตอนกลางที่อยู่ติดกับประเทศเวียดนาม จะเป็นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อยที่แตกต่างกันเกือบ 50 ชนเผ่า ต่อมามีการอพยพเข้าอย่าต่อเนื่องโดยเฉพาะในทศวรรษที่ 1980  แต่ก็มีการสันนิฐานว่าชนเผ่าจาไรน่าจะอาศัยอยู่ในส่วนของประเทศกัมพูชามานับศตวรรษมาแล้ว ด้วยทั้งประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนามก็ล้วนอยู่ในกลุ่มประเทศอินโดจีนที่มีฝรั่งเศสปกครอง

 

จากการศึกษาภาษาจาไรตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 พบว่าภาษาจาไรมีความสัมพันธ์กับภาษาจามและภาษาเอเด  ชนเผ่าจาไรในปัจจุบัน เมื่อมีการแบ่งตามกลุ่ม หรือ Subgroup แล้ว จะสามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม โดยหนึ่งกลุ่มนั้นเป็นชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา คือ

 

1. กลุ่ม Jarai Chor

2.กลุ่ม Jarai Hdrung

3. กลุ่ม Jarai Arap

4. กลุ่ม Jarai Mthur

5. กลุ่ม Jarai Tbuan

6. กลุ่ม Jarai Khmer เป็นกลุ่มชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา ซึ่ง

   พูดทวิภาษา ภาษาหนึ่งคือภาษาตัมปูวัน เป็นภาษาในตระกูล

   มอญ-เขมร

แต่ Huào Huy Quyền[6] ได้แบ่งออกตามสำเนียง หรือ dialect การพูดของชนเผ่าจาไร ก็แตกต่างออกไป โดยได้บันทึกการแบ่งตามสำเนียงการพูดของภาษาจาไรออกเป็นสำเนียงต่างๆ ดังนี้ :-

 

1. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai Pleiku เป็นภาษาจาไรที่พูดอยู่ในเมืองเปล็ยกู เมืองนี้เป็นเมืองเอกของจังหวัดเกียไร เมืองนี้มีพื้นที่  266.6 ตารางกิโลเมตร และในปี 2019 มีประชากรอยู่ประมาณ 458,742 คน

 

2. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai Cheoreo โดยเขต Cheo Reo ใช้ชื่อนี้หลังจากปี 1975 มีพื้นที่ 287 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรปี 2019 ราว 53,720 คน

 

3. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai ARáp ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเปล็ยกู และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดคอนทัม

 

4. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai H’dRung ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเปล็ยกู และทิศะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดคอนทัม

 

5. สำเนียงภาษาจาไร ที่เรียกว่า Jarai Tbuan ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเปล็ยกู

 

นอกจากนั้นยังมีความสัมพันธ์กับอีกสามสำเนียง คือ

1. สำเนียง ที่เรียกว่า HRoi ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดฟู้เอียน และทางทิศใต้ของจังหวัดบินห์ดินห์ เป็นการพูดผสมผสานของชนเผ่าเอเดกับชนเผ่าจาไร

 

2. สำเนียง ที่เรียกว่า M’dhur ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดฟู้เอียน เป็นการพูดผสมผสานของชนเผ่าเอเดกับชนเผ่าจาไร

 

3. สำเนียง ที่เรียกว่า Hàlang ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดคอนทัม และบางส่วนของลาวและกัมพูชา เป็นการพูดผสมผสานของชนเผ่าเซดังกับชนเผ่าจาไร

 

 ตัวอย่างคำศัพท์ภาษามลายูกับภาษาจาไร

       ภาษาไทย              ภาษามลายู             ภาษาจาไร

       กลางคืน                malam                 mlam

       ปี                        tahun                  thun

       จมูก                     hidung                adung

       งู                         ular                    ala

      ลม                      angin                    angin

     ฝนฟ้าคะนอง    angin (ลม) hujan (ฝนตก) angina ho’jan

      จูบ                       cium                    cum

       ลึก                     dalam                  dlam

       เลือด                  darah                   drah

      สอง                     dua                     dua

       รู้                       tahu                    thao 

       หนึ่ง                   satu                     sa

       สี่                       empat                 pa

      ห้า                      lima                     rơma

       หก                     enam                   năm

       สิบ                     sepuluh                pluh

 

ในยุคปัจจุบันชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา ประสบปัญหากับการขับไล่ที่ดินและการจับที่ดิน โดยเฉพาะเพื่อสร้างสวนยางขนาดใหญ่ แม้ว่ากัมพูชาจะมีกฎหมายที่ชัดเจนในการเคารพและปกป้องดินแดนของชนพื้นเมือง แต่ด้วยระบบการปกครองและการใช้กฎหมายกับกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศกัมพูชายังมีปัญหา

 

บ้านเรือนของชนเผ่าจาไร

ชนเผ่าจาไรจะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ จำนวนประชากรมีประมาณ 50-500 คน หมู่บ้านมักถูกจัดผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีอาคารพักอาศัยเดี่ยว บ้านทำจากไม้ไผ่ขึ้ยกนมาจากพื้นดินหนึ่งเมตร เรือนไม้ที่ทนทานและหลังคาเหล็กได้รับความนิยมมากขึ้น บ้านตั้งอยู่ตามตระกูลสายมารดา หรือ matrilineal ลูกสาวเมื่อแต่งงานอาศัยอยู่ในบ้านของแม่กับสามีของเธอและลูกสาวของเธอเอง บางบ้านจะเป็นบ้านยาว  บ้านสำหรับครอบครัวในยุคนิวเคลียร์ก็มีอยู่ทั่วไปในยุคปัจจุบัน

 

งานแต่งงานของชนเผ่าจาไร

ชนเผ่าจาไร เป็นชนเผ่าที่ยึดถือจารีตประเพณีทางสายมารดา หรือ matrilineal มารดาจึงเป็นผู้ริเริ่มการแต่งงานของลูกสาวของตัวเอง และสามีของลูกสาวจะมาอาศัยอยู่ในบ้านของมารดา และในประเทศกัมพูชา ก็มีการแต่งงานกับบุคคลในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีหมู่บ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะในจังหวัดรัตนคีรี ของประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะแต่งงานกับคนชนเผ่าตัมปูวัน (Tampuan) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลมอญ – เขมร  ซึ่งระหว่างชนเผ่าจาไรกับชนเผ่าชนเผ่าตัมปูวัน ไม่มีเกี่ยวข้องกันทางภาษากันเลย ทำให้คนชนเผ่าจาไร ส่วนหนึ่งจึงพูดทั้งภาษาจาไรและภาษาตัมปูวัน นอกจากนั้นคนหนุ่มสาวชนเผ่าจาไรหลายคนไปเดินทางเข้าไปศึกษาในเมืองใหญ่หรือเมืองสำคัญเช่นพนมเปญหรือโฮจิมินห์ซิตี้ ทำให้เกิดการแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น  จะสร้างครอบครัวหลายภาษาเกิดขึ้น

 

ศาสนาของชนผ่าจาไร

ชาวชนเผ่าจาไรส่วนใหญ่มีการนับถือความเชื่อดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า ความเชื่อแบบ คือ Animisme  ชนเผ่าจาไรเชื่อว่าวัตถุ สถานที่และสิ่งมีชีวิตต่างมีคุณสมบัติทางวิญญาณที่โดดเด่น มีการประมาณการว่าจะมีชนเผ่าจาไรนับถือศาสนาคริสต์อยู่ประมาณ 2,000 คนในประเทศกัมพูชา[7]  ชนเผ่าจาไรในประเทศกัมพูชา ด้วยมีการอยู่อาศัยร่วมกับชาวเขมรที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทส่วนใหญ่ ทำให้ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธด้วย แต่มีบางชุมชน ได้รับการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม จากองค์กรมูฮัมหมัดดียะห์ของอินโดเนเซียที่มีการจัดตั้งขึ้นในประเทศกัมพูชา

 


ประเพณีเกี่ยวกับศพ

สุสานแบบดั้งเดิมของชนเผ่าจาไร จะเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ซึ่งถูกสร้างสำหรับชีวิตและจะมีเครื่องบูชาบางอย่างวางไว้รอบ ๆ หลุมฝังศพนั้น จะมีเสาไม้แกะสลักด้วยหินซึ่งบางส่วนเป็นตัวแทนของผู้พิทักษ์วิญญาณ  พิธีฝังศพต้องใช้เงินจำนวนมาก หลังจากผ่านไปหลายปี สุสานก็ถูกทิ้งร้าง

 

ดนตรีของชนเผ่าจาไร

ชาวชนเผ่าจาไรมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับดนตรีและการเต้นรำ  จะมีอุปกรณ์เครื่องดนตรี เช่น ฆ้อง ไซโลโฟน และเครื่องดนตรีดั้งเดิมอื่น ๆ อีกมากมายส่วนใหญ่ทำจากไม้และไม้ไผ่  


[1] Report on Results of the 2019 Census General Statistics Office of Vietnam,  

  https://gso.gov.vn

[2] National Institute of Statistics, Ministry of Planning, Cambodia (August 2009). General

  Population Census of Cambodia 2008  สำหรับตัวเลขประชากรชนเผ่าจาไรปัจจุบันน่าจะเพิ่มขึ้น

  เพราะประชากรของจังหวัดรัตนาคีรี ในปัจจุบัน จากสถิติประชากรปี 2019 มีถึง 204,027 คน

[3] Ammon Patrick Magnusson, The Other Political Problem : Montagnard Nationalism And he

  Effectts On The Vietnam War, MA Thesis, The University of Utah,  2014, P. 20.

[4] Jean Michaud, “Missionary Ethnography in the Upper-Tonkin: The Early Years 1895–1920”

 Journal of Asian Ethnicity, vol. 5, no. 2 (June 2004), 181–182.

[5] Eric Pawley and Mee-Sun Pawley,Sociolinguistic survey of Jarai in Ratanakiri, Cambodia, 

  International Cooperation Cambodia, November 2010. P.5

[6] Đào Huy Quyền,1998. Nhạc khí dân tộc Jrai và Bahnar (Musical instruments of the Jrai and

  Bahnar). Hanoi: Nhà xuất bản trẻ.

[7] Eric Pawley and Mee-Sun Pawley,Sociolinguistic survey of Jarai in Ratanakiri, Cambodia, 

  International Cooperation Cambodia, November 2010. P. 2