Isnin, 29 Jun 2020

ชาวระแด หรือ เอเด ชนเผ่าหนึ่งในกลุ่มมลายู-โปลีเนเซียในประเทศเวียดนาม


โดย นายนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
ชนเผ่าเอเด หรือในอีกชื่อหนึ่งว่าชนเผ่าระแด ถือเป็นหนึ่งในอีกหลายกลุ่มชนเผ่ากลุ่มน้อยในประเทศเวียดนามที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายู-โปลีเนเซีย อีกสี่ชนเผ่าที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์มลายู-โปลีเนเซีย ประกอบด้วย ชนเผ่าจาม ชนเผ่าจูรุ ชนเผ่าจาไร และชนเผ่ารักไล ชาวเอเด หรือราแด ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์ โปรเตสแตนท์ ในการสำรวจประชากรของรัฐบาลเวียดนาม โดยได้มีการสำรวจในปี 2019 ปรากฏว่า มีประชากรชาวชนเผ่าเอเด/ระแด อยู่จำนวน 398,671 คน[1] 

นายจิตร ภูมิศักดิ์[2]  ได้เขียนถึงชาวชนเผ่าเอเด/ระแด โดยเรียกชนเผ่านี้ว่า เผ่าเรอแดว เขียนว่า เรอแดว เป็นชื่อชนชาติในตระกูลภาษาชวา-มลายู พวกหนึ่ง, บัดนี้เรียกว่า ข่าระแด (หรือ ระแดว์) ลักษณะของภาษาระแด อย่างภาษาจาม หรือพวกพลเรือนของจามสาขาหนึ่งนั่นเอง

สำหรับภาษาของชนเผ่าเอเด/ระแด นั้นเป็นหนึ่งในตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย (Malayo-Polynesia)[3]  โดยสาขาภาษาชนเผ่าเอเด/ระแด เป็นหนึ่งในภาษาจาม (Chamic Language) ซึ่งเป็นภาษาในสาขาย่อยของตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย (Malayo-Polynesia) โดยตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย พูดอยู่ในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาดากัสการ์ ภาษามลายูในภาคใต้ของไทย ฯลฯ
โครงสร้างเครือญาติและสังคมของชนเผ่าเอเด/ระแด
สำหรับลักษณะการสืบสายโลหิตและการสืบทอดมรดกของคนเรานั้น จะแบ่งลักษณะดังนี้[4]
1. ลักษณะสืบทอดผ่านทางสายบิดา (Patrilineal) โดยบุตรที่เกิดมาจะสืบสายตระกูลและมรดกทางสายบิดา และให้ความสำคัญกับญาติทางฝ่ายบิดามากกว่าฝ่ายมารดา
2. ลักษณะสืบทอดผ่านทางสายมารดา (Matrilineal) คือมีการสืบสายตระกูลและมรดกจากสายมารดา รวมถึงให้ความสำคัญกับฝ่ายญาติมารดาเป็นหลัก 
3. ลักษณะการให้ความสำคัญทั้งญาติฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดาเท่าๆกัน(Bilateral) และสืบสายตระกูลจากสายใดก็ได้

โดยชาวชนเผ่าเอเด/ระแดจะนับถือจารีตประเพณีสืบทอดผ่านทางสายมารดา (Matrilineal) โดยทรัพย์สินของครอบครัวอยู่ในมือและสืบทอดมาจากผู้หญิง ซึ่งลักษณะจารีตประเพณีถือสายทางมารดานี้ นอกจากชนเผ่าเอเด/ระแด แล้วยังมีอยู่ในกลุ่มชาวจาม รวมทั้งชาวมีนังกาเบาบนเกาะสุมาตรา อินโดเนเซีย และรัฐนัครีซัมบีลัน ประเทศมาเลเซีย
บ้านทั่วไปของชาวชนเผ่าเอเด/ระแดจะเป็นบ้านที่สร้างจากไม้ไผ่และไม้  เมื่อหญิงสาวคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบ้านได้แต่งงาน สามีก็จะมาอาศัยอยู่ด้วย บ้านของชาวชนเผ่าเอเด/ระแดจะเป็นลักษณะบ้านยาว

ในช่วงสงครามเวียดนามนั้น ทางที่ปรึกษาทางทหารของอเมริกาและเวียดนามใต้กลัวว่าเวียดกงจะทำให้ชนเผ่าเอเด/ระแด ในจังหวัดดักลัก หันกลับมาสนับสนุนเวียดกง ทางปรึกษาทางทหารของอเมริกาและเวียดนามใต้ จึงจัดตั้งกองกำลังชนเผ่าเอเด/ระแด โดยทำการฝึกให้เป็นหน่วยป้องกันตนเองของหมู่บ้าน
ชนเผ่าเอเด/ระแด นั้นได้เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรชนกลุ่มน้อยของสหรัฐอเมริกาและหลังสงคราม ชาวชนเผ่าเอเด/ระแด ได้หนีไปสหรัฐอเมริกา โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐนอร์ธคาโรลีนา

ในช่วงทศวรรษที่ 1920 นาย Leopold Sabatier นักปกครองชาวฝรั่งเศสในจังหวัด Dak Lak ( ต่อมารู้จักในนามจังหวัด Darlac) ได้รวบรวบกฎหมายจารีตประเพณีของชาวเอเด (ระแด) และทำการบันทึกโดยใช้อักขระโรมัน และพิมพ์ออกมาเป็นภาษาเอเดในปี 1926 ต่อมาในปี 1940 นาย Dominique Antomarchi ได้แปลออกมาเป็นภาษาฝรั่งเศส พิมพ์โดยสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ภาษาฝรั่งเศสจะชื่อว่า École française d'Extrême-Orient หรือ EFEO[5] ในกฎหมายจารีตประเพณีของชาวเอเด/ระแด ฉบับเวอร์ชั่นล่าสุด ซึ่งเนื้อหาตามที่มีการบันทึกของนาย Leopold Sabatier แบ่งได้ 236 มาตราจากทั้งหมด 11 ตอน มีดังต่อไปนี้ :

บทที่ 1: บทข้อบังคับทั่วไป (23 มาตรา)
บทที่ 2: คดีความผิดต่อหัวหน้าหมู่บ้าน (33 มาตรา)
บทที่ 3: อาชญากรรมของหัวหน้าหมู่บ้าน (11 มาตรา)
บทที่ 4: อาชญากรรมต่อชุมชน (27 มาตรา)
บทที่ 5: เกี่ยวกับการแต่งงาน (48 มาตรา)
บทที่ 6: ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก (6 มาตรา)
บทที่ 7: อาชญากรรมของการผิดประเวณี (11 มาตรา)
บทที่ 8: ในอาชญากรรมที่ร้ายแรง (21 มาตรา)
บทที่ 9: ความมั่งคั่งและทรัพย์สิน (38 มาตรา)
บทที่ 10: เกี่ยวกับกระบือและวัว (10 มาตรา)
บทที่ 11: เกี่ยวกับที่ดินและกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (8 มาตรา)

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับครอบครัว ตามมาตรา 109 กล่าวว่า ชาวเอเด/ระแด ถือว่า การแต่งงานเป็นพันธะถาวรระหว่างคู่สมรส จะไม่ได้รับอนุญาตให้หย่ากัน  มีบันทึกว่า “เมื่อแต่งงานกันแล้ว ผู้หญิงผู้ชายต้องมีชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน จนกว่าอีกฝ่ายจะตายจากไป  ถ้าใครถือหลอดเพื่อดื่มไวน์ข้าวแล้ว ควรดื่มต่อไปจนกว่าไวน์จะไม่มีรส  เมื่อตีฆ้องแล้ว ต้องตีต่อไป จนกว่าจะมีมือให้หยุดการตีฆ้องนั้น”[6]
ในปี 1898 ÉcoleFrançaise d’Extrême-Orient (EFEO) ก่อตั้งขึ้นในกรุงฮานอย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์ภาษาและศาสนาของอินโดจีน  สำหรับนาย Léopold Sabatier นั้นมาจากครอบครัวชนชั้นกลางในชนบทของฝรั่งเศส เขามีการศึกษาที่ไม่ดีนัก หลังจากรับราชการทหารเขา เขาตัดสินใจเดินทางไปยังอินโดจีน ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยเริ่มงานในระดับล่างก่อน[7]

บุคคลสำคัญของชนเผ่าเอเด/ระแด
บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงของชนเผ่าเอเด/ระแด มีจำนวนหนึ่ง แต่ในที่นี้ ขอกล่าวเพียง 2 คน มาเป็นตัวอย่าง โดยคนหนึ่งเป็นผู้นำชาวชนเผ่าเอเด/ระแดในอดีต และอีกคนหนึ่ง เป็นคนที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
 
นาย Y Bham Enuol
เกิดที่ Buôn Ma Thuột ของจังหวัดดักลัก ในปี 1913 โดยในวันที่ 1 พฤษภาคม 1958 เขาได้ก่อตั้งองค์กรชื่อว่า BAJARAKA เป็นองค์กรต่อสู้เพื่อเอกราชของชนกลุ่มน้อยในประเทศเวียดนาม โดยองค์กร BAJARAKA เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า United Front for Liberation of Oppressed Races (FULRO) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสงครามเวียดนาม และนาย Y Bham Enuol ได้รับเลือกเป็นประธานของ FULRO

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 1964  นาย Y Bham Enuol ถูกจับกุมและถูกส่งตัวไปยังประเทศกัมพูชา ต่อมาเขาอาศัยอยู่ที่พนมเปญ เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชา (เขมรแดง) ยึดกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 17 เมษายน 1975 นาย Y Bham และผู้นำ FULRO คนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญ ได้หนีภัยเข้าไปในสถานทูตฝรั่งเศส และในวันที่ 20 เมษายน 1975 พวกเขาทั้งหมดถูกนำออกมาและถูกดำเนินการลงโทษ[8] อย่างไรก็ตามสมาชิก FULRO ไม่ทราบถึงการเสียชีวิตของเขา  จนกระทั่งเจ็ดปีต่อมา ทางนักข่าวจากสหรัฐอเมริกา ชื่อ นาย Nate Thayer แจ้งให้กลุ่มของนาย Y Bham Enuol ทราบว่านาย Y Bham Enuol ถูกประหารชีวิตแล้ว
นางสาว H'Hen Niê
เธอได้กลายเป็นคนดัง เมื่อได้รับเลือกเป็นนางงามของประเทศเวียดนาม เธอเกิด 15 พฤษภาคม 1992 ) เป็นนางแบบชาวเวียดนามและเป้นตัวแทนนางงามเวียดนามเข้าประกวดนางงาม Miss Universe 2018 ที่กรุงเทพ และได้รับเลือกให้เป็นนางงามหนึ่งในห้าคนของรอบสุดท้าย

ตามประเพณีการแต่งงานของคนชนเผ่าเอเด/ระแด ผู้หญิงมักจะเริ่มต้นครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างไรก็ตาม สำหรับนางสาว H'Hen Niê เธอปฏิเสธที่จะทำตามประเพณีนี้ และตัดสินใจที่จะศึกษาต่อด้วยการทำงานหาค่าใช้จ่ายการเรียนของเธอเอง

นางสาว H'Hen Niê ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตขององค์กร  Room to Read ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรระดับโลก เป็นองค์กรที่เน้นการเรียนรู้และการศึกษาของเด็กหญิง  โดยทางองค์กร Room to Read  ได้ประกาศการแต่งตั้งเนื่องในวันเยาวชนสากล เพื่อเฉลิมฉลองความบทบาทของเยาวชนในการพัฒนาสังคมโลก นางสาว H'Hen Niê ได้ระดมทุนส่วนตัวมูลค่า 22,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการสร้างห้องสมุด Room to Read ที่มีหนังสือคุณภาพในจังหวัด Lam Dong ของประเทศเวียดนาม รวมถึงการสนับสนุนเด็กหญิงจำนวน 50 คนทั่วเอเชียและแอฟริกา เพื่อให้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและพัฒนาทักษะชีวิตผ่านโครงการเพื่อการศึกษาของ Room to Read[9]



[1] Report on Results of the 2019 Census. General Statistics Office of Vietnam, www.gso.gov.vn.
[2] จิตร ภูมิศักดิ์.ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม.สำนักพิมพ์ดวงกมล.มูลนิธิโครงการตํารา
  สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.กรุงเทพ.2524.หน้า 509.
[3] https://www.omniglot.com/writing/rade.htm
[4] ศิริพันธ์  ถาวรศิริวงศ์.ครอบครัวและเครือญาติ.มหาวิทยาลัยรามคำแหง.2543.
[5] สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (ฝรั่งเศส: École française d'Extrême-Orient หรือ EFEO) เป็นสถาบัน
  ของฝรั่งเศสที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดี ประวัติศาสตร์ รวมทั้งสังคมของประเทศในภูมิภาคเอเชีย
  ตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการจัดตั้งสาขาขึ้นมาในต่างประเทศ เท่าที่ทราบ คือ
  อินโดเนเซีย
[6] Ngo Due Thinh, Traditional Law of the Ede, Institute o f Folklore, Hanoi, Vietnam, Asian
  Folklore Studies, Volume 592000: 89-107, Nanzan University, Nagoya, Japan.
[7] Chi Trung Tran, Understanding Long-term Livelihood Resilience of Resettled Ethnic Groups
  in the Yali Falls Dam Basin, Central Highlands of Vietnam, Thesis PhD,
  The University of Queensland, Australia, 2017.
[8] Gerald C. Hickey.Window on a War: An Anthropologist in the Vietnam Conflict.Texas Tech
  University Press.2002:68.
[9] “Miss Universe Vietnam H’Hen Niê Announces Philanthropic Commitment to Global 
   Education as Room to Read Ambassador” Business Wire, 13 August 2018,
   www.businesswire.com

Tiada ulasan: