Isnin, 15 Julai 2019

ความสัมพันธ์เชิงชาติพันธุ์โดยการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ระหว่าชาวมลายูมุสลิมกับชาวไทยพุทธ

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
    บทความย่อในเรื่องการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ระหว่างชาวมลายูกับชาวไทยพุทธนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ที่ทำเมื่อหลายปีก่อน แต่ยังเห็นว่า มีประโยชน์ จึงคัดมาเพื่อใช้ในการศึกษาต่อยอดต่อไป เป็นการศึกษาวิจัยระหว่างพื้นที่รัฐกลันตันและจังหวัดนราธิวาส
    ในพื้นที่งานวิจัย  ด้วยชาวมลายูมุสลิมและชาวไทยพุทธทั้งในพื้นที่ประเทศไทยและมาเลเซีย  ทั้งสองกลุ่มชนอยู่รวมกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน  ดังนั้นทั้งชาวไทยพุทธและชาวมลายูมุสลิมบางส่วนจึงมีการสมรสข้ามชาติพันธุ์  สิ่งนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการผสมผสานกันทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะชาวไทยพุทธกับชาวมลายูมุสลิมที่สมรสกัน ช่วยก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันมากยิ่งขึ้น การสมรสเป็นการยอมรับทั้งทางด้านพฤตินัยและนิตินัย บ่งชี้ให้เห็นถึงสภาพของการยอมรับในพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในดินแดนเดียวกัน เมื่อเกิดการยอมรับก็ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

การแต่งงานโดยข้ามเผ่าพันธุ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการรับวัฒนธรรมไทย เสาวณีย์  จิตต์หมวด ได้ให้แนวทางที่คนมลายูที่ได้รับวัฒนธรรมไทย  มี 3 กรณี
   กรณีที่หนึ่ง ได้รับวัฒนธรรมไทยโดยตั้งชื่อสกุล
   กรณีที่สอง ได้รับวัฒนธรรมไทยโดยไม่รู้ตัว เป็นเรื่องปกติธรรมดา
   กรณีที่สามได้รับวัฒนธรรมโดยทั้งหมด ทั้งกาย ใจ และยอมเปลี่ยนศาสนาจากอิสลามไปเป็นศาสนาพุทธ 
   
   ทั้งสามกรณีนี้ได้ปรากฏในสังคมมลายูของจังหวัดชายแดนภาคใต้  สำหรับในกลุ่มหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยนั้น  ก็ได้เกิดกรณีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ด้วย สมัยก่อนการแต่งงานในสังคมมลายูของจังหวัดชายแดนภาคใต้  การเลือกคู่ครองเป็นของพ่อแม่ การแต่งงานในระบบเครือญาติ หรือแต่งงานกับบุคคลที่มีสถานะเดียวกัน เช่น กู นิ หรือ วัน เป็นต้น

   ในปัจจุบันนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม คือไม่นิยมแต่งงานกับเครือญาติ เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าแต่งงานกับเครือญาติลูกที่เกิดมาจะไม่ฉลาด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากการขัดเกลาจากระบบการศึกษาสมัยใหม่

ชุมชนในพื้นที่การวิจัยที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดสามชายแดนภาคใต้และรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย แบ่งได้เป็นสองส่วน  คือหนึ่ง ชุมชนชาวมลายูมุสลิม สอง ชุมชนไทยพุทธและจีนพุทธ   ซึ่งชุมชนจีนหรือคนจีนนั้น ถ้าเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีการผสมผสมกลืนกับชุมชนไทยพุทธ แต่ถ้าอาศัยอยู่ในอำเภอรอบนอกหรือในชนบทจะมีการรับอิทธิพลของชาวมลายูมากกว่า  บางคนจะมีชื่อเป็นภาษามลายู บางคนนั้นจะพูดภาษามลายูไม่ผิดเพี้ยนจากคนมลายูเลย แต่เมื่อดูหน้าตาจึงรู้ว่าเป็นคนจีน  การที่ชุมชนชาวมลายูมุสลิมในกลุ่มหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยได้มีการปฏิสัมพันธ์กับชาวไทยพุทธและคนจีน   ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์  

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นและมีการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ขึ้นเช่นกันในหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยในประเทศมาเลเซีย  โดยทั้งหมดเมื่อเกิดการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ ด้วยชาวมลายูมุสลิมมีความเคร่งและยึดถือในศาสนาของตนเอง กฎของศาสนาอิสลามกล่าวว่าชาวมุสลิมสามารถแต่งงานกับชาวมุสลิมด้วยกันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการแต่งงานกัน  ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น  ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายมักต้องเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลาม

ในชุมชนของหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยแห่งที่หนึ่ง  เกิดการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์  โดยฝ่ายชายเป็นชาวมลายูมุสลิม  และฝ่ายหญิงเป็นไทยพุทธ  นายอดุลย์(นามสมมติ) ชาวมลายูมุสลิมผู้แต่งงานกับชาวไทยพุทธกล่าวว่า

ตอนแรกทางครอบครัวฝ่ายหญิงไม่เห็นด้วยอย่างมาก   เพราะฝ่ายหญิงเป็นข้าราชการ  ส่วนผมเป็นชาวบ้านธรรมดา  ฝ่ายหญิงสามารถหาผู้ชายที่ดีกว่าผมได้อีก  ทางครอบครัวต้องการที่จะให้ฝ่ายหญิงแต่งงานกับผู้ชายพุทธมากกว่า  ครอบครัวเขากีดกั้นผมอย่างมาก  แต่ในที่สุดผมก็สามารถแต่งงานกับฝ่ายหญิงได้   ทางครอบครัวฝ่ายหญิงโกรธมาก  เป็นเวลานานที่ผมไม่สามารถเข้าไปในบ้านฝ่ายหญิงได้ จนเรามีบุตรด้วยกัน ทำให้ครอบครัวฝ่ายหญิงเริ่มอ่อนลง  ในที่สุดผมก็สามารถเข้าบ้านฝ่ายหญิงได้ ผมเองก็เริ่มสร้างความดีกับครอบครัวฝ่ายหญิง ในปัจจุบันเมื่อครอบครัวฝ่ายหญิงต้องการจะทำอะไร หรือขอความช่วยเหลืออะไร คนแรกที่ครอบครัวฝ่ายหญิงจะขอความช่วยเหลือคือผม ผมกับครอบครัวฝ่ายหญิงสามารถเข้ากันได้  บุตรผมก็ไปเยี่ยมตายายเขา  โดยส่วนตัวผมว่าชาวมลายูมุสลิมกับชาวไทยพุทธ  สามารถอยู่ร่วมกันได้  ขอให้แต่ละฝ่ายเคารพในศาสนาของแต่ละฝ่าย  อย่างผมญาติพี่น้องฝ่ายหญิงก็คือญาติพี่น้องผม เพราะเป็นเครือญาติของบุตรผม

สิ่งเหล่านี้เพื่อนของนายอดุลย์ที่ชื่อนายมะ(นามสมมติ)ได้กล่าวเสริมว่า
สิ่งที่นายอดุลย์พูดเป็นความจริง  ชาวมลายูมุสลิมกับชาวไทยพุทธในบริเวณนี้ไม่ได้มีเพียงนายอดุลย์เท่านั้นที่แต่งงานกับชาวไทยพุทธ  ยังมีอีกหลายคู่ที่แต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์เช่นนี้  แต่ละครอบครัวก็มีความสุขดี ชุมชนชาวไทยพุทธและมลายูมุสลิมในพื้นที่นี้สามารถอยู่ร่วมกันได้  ความจริงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น  แต่เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กๆ เราชาวมลายูมุสลิมกับไทยพุทธก็สามารถอยู่ร่วมกันได้  ผมเองตอนเด็กยังร่วมกับเพื่อนไทยพุทธเที่ยวยิงนกในสวนแถวนี้  และในชุมชนนี้ยังมีบ้านชาวไทยพุทธคนหนึ่งปลูกอยู่ใกล้มัสยิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับไทยพุทธไม่มีปัญหา

    ในชุมชนของหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยแห่งที่สอง มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ระหว่างผู้หญิงชาวมลายูมุสลิมกับผู้ชายไทยพุทธ  โดยที่ผู้ชายไทยพุทธคนดังกล่าวเป็นข้าราชการ  ไม่มีความเคร่งในหลักการศาสนาอิสลาม  จนทำให้สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวนี้ถูกปฏิเสธจากสังคมมลายูมุสลิมในชุมชน ต่อมาต้องย้ายครอบครัวออกจากชุมชนเข้าไปอยู่ในตัวอำเภอ เมื่อฝ่ายชายได้เสียชีวิตลง  ฝ่ายหญิงจึงย้ายกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนอีกครั้ง และฝ่ายหญิงพร้อมบุตรได้กลับมานับถือศาสนาอิสลามที่เคร่งขึ้น นางกัลซง นามสมมติ)กล่าวว่า

   เมื่อแต่งงานกับสามีแล้ว สามีเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม  ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเพราะต้องการแต่งงานกับดิฉัน  เขาไม่เคร่งในศาสนาอิสลาม  ความเป็นอยู่มีลักษณะเหมือนคนไทยพุทธทั่วไป  เพียงไม่กินหมูเท่านั้น  ทำให้เครือญาติ  พี่น้องต่อต้าน ไม่เห็นด้วย สังคมมลายูในชุมชนส่วนหนึ่งปฏิเสธดิฉัน  ทำให้เห็นว่าต้องย้ายเข้าไปอยู่ในตัวอำเภอ แต่เมื่อสามีเสียชีวิตลง  ดิฉันจึงตัดสินกลับมาอยู่ในชุมชน และหันมาเคร่งในศาสนาอิสลามมากขึ้น จนปัจจุบันเครือญาติ พี่น้องดีใจที่ดิฉันหันกลับมาอยู่ในกรอบของศาสนาอิสลาม พวกเขากลัวว่าดิฉันจะหันไปนับถือศาสนาพุทธ
     นางตีมะห์(นามสมมติ)เพื่อนของนางกัลซงได้กล่าวเสริมว่า ดีใจที่เขาได้กลับเข้ามาอยู่ในชุมชนอีกครั้ง ความจริงก็คิดว่าเขายังคงเป็นมุสลิมอยู่ เพียงแต่ไม่มีความเคร่งในศาสนาอิสลาม  โดยเฉพาะสามีของเขา ทำให้ดูเหมือนว่าความเป็นมุสลิมของสามีเขากับขณะที่เขายังเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธนั้น ไม่มีความแตกต่างกัน จนบางคนเข้าใจว่าเขาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธแล้ว  ไม่เพียงเท่านั้นบุตรของเขาก็เป็นอยู่เหมือนคนไทยพุทธ ก็ดีใจที่เขาและบุตรได้กลับมาอยู่ในสังคมมลายูมุสลิมอีกครั้ง

   ในชุมชนของหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยแห่งที่สาม  มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกัน

แต่ด้วยหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของประเทศมาเลเซียนั้น  ถือว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และชาวมลายูมุสลิมทุกคนต้องแต่งงานกับชาวมุสลิมเท่านั้น ไม่ว่าผู้ที่แต่งงานด้วยจะมีเชื้อชาติใดๆก็ตาม การเปลี่ยนศาสนาจากศาสนาอิสลามไปนับถือศาสนาอื่น  ถือเป็นสิ่งต้องห้าม มีความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายอิสลามแต่ละรัฐของประเทศมาเลเซีย สำหรับรัฐกลันตันนั้น William R. Roff กล่าวว่า มีการใช้กฎหมายอิสลามในช่วงทศวรรษที่1830 หรือก่อนหน้านั้นเสียอีก 


Tiada ulasan: