Ahad, 9 Disember 2018

สิ่งที่ได้สัมผัสจากหมู่เกาะมาลูกู ประเทศอินโดเนเซีย

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

บทความนี้ลงในนิตยสาร ดิอาลามี

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เดินทางไปยังหมูเกาะบันดาไนรา จังหวัดมาลูกู ประเทศอินโดเนเซีย นอกจากเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างทรหด ค่อนข้างยาวไกลแล้ว ยังถือเป็นการเดินทางเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอินโดเนเซียอีกด้วย หลายๆเรื่องที่เคยสงสัย ไม่ชัดแจ้งเกี่ยวกับอินโดเนเซีย แต่เมื่อเดินทางมาที่จังหวัดมาลูกู ทำให้สิ่งเหล่านั้น ได้รับการอธิบายจากเพื่อนร่วมเดินทางชาวอินโดเนเซีย  จังหวัดมาลูกูเป็นดินแดนที่ชื่อนี้เคยผ่านสายตาของผู้เขียนครั้งแรก เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน 


แต่นึกไม่ถึงว่าวันนี้ผู้เขียนจะได้สัมผัสดินแดนอินโดเนเซียด้านตะวันออกแห่งนี้ ครั้งแรกที่เคยได้ยินชื่อมาลูกู เมื่อครั้งขบวนการสาธารณรัฐมาลูกูใต้ (Republik Maluku Selatan) ขบวนการแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศอินโดเนเซียยังเคลื่อนไหวอยู่ ทางขบวนการแบ่งแยกสาธารณรัฐมาลูกูใต้ได้ยึดอาคารอะไรสักอย่างหนึ่งในประเทศฮอลันดา จนขณะนั้นข่าวดังไปทั่วโลก  สำหรับการเดินทางครั้งนี้ เป็นการเดินทางไปสัมมนาทางวรรณกรรม มีผู้เข้าร่วมมาจากทั้งมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์ เช่นท่านยาตีมัน ยูซูฟ (Yatiman Yusuf) อดีตรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ปัจจุบันเป็นเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำ ประเทศเคนยา และประเทศบรูไน    

สำหรับหมู่เกาะมาลูกู เราจะรู้จักในนามของหมู่เกาะเครื่องเทศ แต่เมื่อเดินทางถึงเมืองอัมบน เมืองเอกของจังหวัดมาลูกู ก็ได้สัมผัสถึงการมีอยู่ของภาษามลายูอัมบน  ที่เป็นภาษาซึ่งมีความแตกต่างจากภาษาอินโดเนเซีย ภาษามลายูอัมบนมีความเป็นมาที่ค่อนข้างยาวนานเป็นเวลาหลายร้อยปี  ในหมู่เกาะมาลูกูมีภาษถิ่นประมาณ 70 กว่าภาษา แต่ในบรรดาภาษาเหล่านั้น ยังมีอีกภาษาเรียกว่าภาษามลายูอัมบน สำหรับภาษามลายูนั้นมาจากดินแดนอินโดเนเซียด้านตะวันตก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในการค้าระหว่างหมู่เกาะมลายู ก่อนที่โปรตุเกสจะเดินทางไปยังเกาะเตอร์นาเต ในปี 1512 นั้น ภาษามลายูก็มีการใช้อยู่แล้วที่ดินแดนมาลูกู โดยเป็นภาษากลางในการค้าขาย            


สำหรับภาษามลายูอัมบนนั้นมีความแตกต่างจากภาษามลายูของเกาะเตอร์นาเต ด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเมืองอัมบนนั้นมีความแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนเกาะเตอร์นาเต ภาษามลายูอัมบนได้รับอิทธิพลมาจากภาษามลายูจากเกาะสุลาเวซี ต่อมาในศตวรรษที่ 16 เมื่อโปร์ตุเกาสยึดครองหมู่เกาะมาลูกู มีคำภาษาโปร์ตุเกสจำนวนมากได้อยู่ในภาษามลายูเมืองอัมบน สุดท้ายเมื่อฮอลันดาเข้าไปยึดครองมาลูกู 


ก็มีการนำคำศัพท์ภาษาฮอลันดาจำนวนมากเข้าไปในภาษามลายูอัมบน ในยุคของฮอลันดานี้แหละ ภาษามลายูอัมบนได้กลายเป็นภาษาที่ใช้ในการสอนที่โรงเรียน โบสถ์คริสต์ และในการแปลพระคัมภีร์ไบเบิล เมื่อมีการประกาศใช้ภาษาอินโดเนเซีย ซึ่งก็มีรากศัพท์มาจากภาษามลายูหมู่เกาะเรียว ก็มีคำศัพท์ภาษาอินโดเนเซียจำนวนมากถูกนำไปใช้ในภาษามลายูอัมบน แต่ได้ปรับสำเนียงให้เข้ากับท้องถิ่น            

แรกเริ่มบาทหลวงฮอลันดาได้แปลพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษามลายู เพื่อนำไปใช้ยังหมู่เกาะมาลูกู และชาวบ้านได้ท่องพระคัมภีร์ แล้วทำพิธีแบ๊ปติสต์ มีการสันนิฐานว่า ภาษามลายูนี้ถูกนำมาจากเมืองมะละกา เพราะยุคนั้นมีการทำการค้าระหว่างเมืองมะละกากับหมู่เกาะมาลูกู แรกเริ่มภาษามลายูเป็นภาษาตลาด ต่อมาได้กลายเป็นภาษาของเยาวชนรุ่นต่อมา ท้ายสุดได้กลายเป็นภาษาแม่ของชาวคริสต์เมืองอัมบน และส่วนหนึ่งของชาวมุสลิมของเมืองอัมบน 


แต่มีการกล่าวว่าชาวมุสลิมเมืองอัมบนยังคงใช้ภาษาท้องถิ่นของตนเอง ที่เรียกในภาษามลายูอัมบนว่า Bahasa Tanah  หมายถึงภาษาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆของหมู่เกาะอัมบน          หลักภาษามลายูอัมบนมีความแตกต่างจากภาษามลายูทั่วไป ส่วนหนึ่งมีความคล้ายกับภาษาต่างๆของยุโรป อาจด้วยภาษามลายูอัมบน ได้รับการเผยแพร่จากชาวยุโรป  บางคำก็ได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่น เช่น  

           

มากัน แปลว่า กิน เป็น มากัง             

อีกัน แปลว่า ปลา เป็น อีกัง             

ลาวัน แปลว่า ต่อสู้ เป็น ลาวัง             

บางุน แปลว่า ตื่น เป็น บางง

     

คำเรียกตัว  มีความแตกต่างจากภาษามลายูอื่นๆ เช่น ข้า  ภาษากลางจะเรียก อากู ซายา  แต่ภาษามลายูอัมบน จะเรียกว่า เบตา (ภาษากลางจะหมายถึงคำศัพท์ที่กษัตริย์ใช้)   เธอ  ภาษากลางจะเรียกว่า กามู แต่ภาษามลายูอัมบน จะเรียกว่า อาเล  


ผู้เขียนคุยกับนายวะห์ยูดี  จายา (Wahjudi Djaya) อาจารย์ประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกายะห์มาดา เมืองยอกยาการ์ตา ชาวชวาผู้ร่วมเดินทางว่า นับเป็นเรื่องที่แปลกจากภาษามลายูในหมู่เกาะเรียว บนชายฝั่งสุมาตรา ชายฝั่งเกาะกาลีมันตัน แล้วมาเกาะชวาจะพูดภาษาชวา แต่เลยเกาะชวามา มายังหมู่เกาะมาลูกู กลายมาเป็นภาษามลายู  


เขาบอกว่า นั้นแหละ ภาษามลายูเป็นภาษากลาง หรือ lingua franca ที่ใช้พูดกันทั่วไป ดังนั้น ถ้าใช้ภาษาชวาเป็นภาษาราชการซิจะลำบาก คงจะทะเลาะกันตาย แต่เมื่อใช้ภาษามลายูมาเป็นภาษาอินโดเนเซีย  โดยเพิ่มคำศัพท์ที่ยังไม่มี เอามาจากภาษาท้องถิ่นต่างๆในอินโดเนเซีย  


ทำให้หลายๆพื้นที่จะมีการยอมรับในภาษามลายูที่มาเป็นภาษาอินโดเนเซีย และสำหรับชาวมาลูกูเอง เมื่อใช้ภาษาอินโดเนเซียแล้ว ไม่เป็นการยากสำหรับคนที่พูดภาษามลายูอัมบนอย่างพวกเขาในการฝึกภาษาอินโดเนเซีย             

นอกจากนั้นนายวะห์ยูดี  จายา (Wahjudi Djaya) ยังได้อธิบายถึงการมาตั้งศูนย์อำนาจของฮอลันดาในอินโดเนเซียว่า ในปี 1595 กองเรือฮอลันดา 4 ลำได้เดินทางมายังอินโดเนเซียเป็นครั้งแรก ภายใต้การนำของกัปตัน Cornelis de Houtman โดยเดินทางไปยังบันเต็น เกาะชวา 


โดยเมืองบันเต็นมีท่าเรือพริกไทยดำที่สำคัญของชวาตะวันตก แต่ที่นั่นฮอลันดากลายเป็นศัตรูกับชาวโปร์ตุเกสและชาวพื้นเมือง จนต้องล่าถอยเดินเรือออกไป ต่อมาเกิดความขัดแย้งจนถูกโจมตีจากชาวพื้นเมืองอีกครั้ง จนลูกเรือเสียชีวิต 12 คน กองเรือภายใต้การนำของกัปตัน Cornelis de Houtman จึงเดินทางไปยังเกาะมาดูรา 


หลังจากที่เหลือลูกเรือเพียงครึ่งหนึ่ง จึงเดินทางกลับฮอลันดา แต่ในการกลับฮอลันดาครั้งนี้ ก็ได้สร้างกำไรจากเครื่องเทศที่นำกลับไปด้วย หลังจากนั้นฮอลันดาจึงส่งกองเรือมายังอินโดเนเซียอีกครั้ง และได้เดินทางมายังหมู่เกาะมาลูกู 


โดยมาตั้งศูนย์อำนาจขึ้นที่เกาะบันดาไนราของจังหวัดมาลูกู  มีการสร้างศูนย์บริหารงานขึ้นมาที่เมืองบันดาไนรา  โดยผู้ว่าการบริษัทอินเดียตะวันออกฮอลันดา หรือ VOC มีชื่อเต็มว่า Vereenigde Oost-Indische Compagnie หรือมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า United East India Company  บริหารงานอยู่ที่อาคาร หรือที่รู้จักกันในนามของราชวังน้อย มีชื่อในภาษาอินโดเนเซียว่า Istana Mini ด้วยอาคารนี้ที่มีลักษณะคล้ายกับราชวังแห่งชาติในเมืองโบโกร์ นั้นด้วย 


เมื่อมีการสร้างราชวังแห่งชาติขึ้นที่เมืองโบโกร์ ก็ได้นำสถาปัตยกรรมของอาคารที่เมืองบันดาไนราไปสร้างที่เมืองโบโกร์ ราชวังน้อยนี้สร้างขึ้นในปี 1622 เป็นศูนย์อำนาจในการปกครองหมู่เกาะบันดาของฮอลันดา มีผู้ว่าการบริษัท VOC ถึง 3 คนที่ปกครองที่เกาะบันดา หลังจากนั้น จึงย้ายศูนย์อำนาจไปยังเมืองบาตาเวีย หรือกรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน 


อาคารราชวังน้อย ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านดวีวาร์นา ของเกาะบันดา นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับราชวังแห่งชาติที่เมืองโบโกร์น้อยแล้ว ข้างๆของราชวังน้อย ยังมีอาคารที่พำนักของรองผู้ว่าการบริษัทอินเดียตะวันออกฮอลันดา หรือ VOC และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นอาคารสโมสร สำหรับที่สร้างสรรค์ของชาวฮออลันดา 


สำหรับอาคารสโสมรปรากฏว่าทรุดโทรม ไม่มีการซ่อมแซม บริเวณใกล้เคียงราชวังน้อยยังมีริองรอยของอาคารโบราณที่ร้างเปล่าอีกหลายแห่ง แห่งหนึ่งเป็นโบสถ์คริสต์ สำหรับที่หน้าต่างบานหนึ่งของราชวังน้อยนี้ ที่หันหน้าสู่ทะเล เขียนว่า ปี 1831 เป็นราชวังที่ทำงานและพำนักของผู้ว่าการบริษัท VOC ที่ปกครองหมู่เกาะบันดา มีบันทึกว่า ฮอลันดาใช้เกาะบันดาไนราเป็นศูนย์อำนาจในการปกครองระหว่างปี  1610 ถึง 1619  


อาคารราชวังน้อยนี้ ยังมีรูปปั้นของกษัตริย์ฮอลันดาจนถึงปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่พบคือความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลหมู่เกาะบันดาไนรา ปลาทะเลค่อนข้างมีมาก เมื่อไปสำรวจที่ท่าเรือทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลแห่งนี้ ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่แปลกใจทำไมจึงมีการจับปลาแบบผิดกฎหมาย โดยใช้แรงงานเถื่อนคนไทยมาเป็นแรงงานประมง ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลของหมู่เกาะบันดา ก็ไม่ต่างจากท้องทะเลอื่นๆที่มีข่าวแรงงานไทยถูกปล่อยลอยแพ เช่น ท้องทะเลเกาะเบนจินา ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดมาลูกูเช่นกัน  


ถ้าผู้ประกอบการไทย รวมทั้งชาวประมงไทย ดำเนินการแบบถูกกฎหมาย น่านน้ำของจังหวัดมาลูกู ยังเป็นน่านน้ำที่มีศักยภาพในการทำการประมงอย่างยิ่ง


Tiada ulasan: