โดยนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นภูมิภาคที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เดิมนั้นประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ-ฮินดู สำหรับการเข้ามาของศาสนาอิสลามสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีหลักฐานการเผยแพร่เข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พูดภาษามลายู/อินโดเนเซีย
เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน
สิงคโปร์ รวมทั้งภาคใต้ฟิลิปปินส์และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย นักวิชาการได้ตั้งทฤษฎีการเข้ามาของศาสนาอิสลามสู่ภูมิภาคนี้หลายทฤษฎีด้วยกัน หนึ่งในทฤษฎีดังกล่าวได้กล่าวว่าการเผยแพร่ศาสนาอิสลามยังดินแดนต่างๆเหล่านี้โดยชนชาวอาหรับจากประเทศในตะวันออกกลาง และการเผยแพร่ศาสนาอิสลามของชนชาวอาหรับ โดยเฉพาะชนชาวอาหรับที่มาจากดินแดนฮัดราเมาต์ (Hadramaut) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเยเมน ที่รู้จักกันในนามของชาวอาหรับฮัดรามี (Hadrami
Arabs)
การเข้ามาของชาวอาหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับการเข้ามาของชาวอาหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีอยู่ 2 กลุ่ม
สำหรับกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เข้ามานับร้อยปีมาแล้ว กลุ่มนี้ได้แต่งงานกับชนพื้นเมือง จนผสมกลมกลืนกลายเป็นกลุ่มพื้นเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่รู้รากเหง้าของตนเอง
สิ่งนี้สอดคล้องกับการศึกษาของสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามี
ที่ได้กล่าวว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามีส่วนหนึ่งในประเทศมาเลเซีย
ไม่รู้รากเหง้าของตนเองว่าเป็นเชื้อสายอาหรับฮัดรามี ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่เข้ามาในช่วงหลัง กลุ่มนี้ยังคงมีความป็นอาหรับค่อนข้างสูง
สำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การเข้ามาของศาสนาอิสลามยังดินแดนนี้
ชนชาวอาหรับฮัดรามีก็มีส่วนสำคัญในการที่ทำให้เจ้าเมืองปาตานีเข้ารับศาสนาอิสลาม โดยเชคซาอิด อัล-บาซีซา (Sheikh Said
Al-Basisa) ชาวบ้านแห่งหมู่บ้านปาไซ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเมืองปาไซ เกาะสุมาตรา
ได้ทำให้เจ้าเมืองปาตานี เข้ารับศาสนาอิสลาม จนกลายเป็นสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ (Sultan
Ismail Shah) การเข้ามาของชนชาวอาหรับฮัดรามีในดินแดนปาตานีนั้น มีมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 15 ทำให้บุตรหลานของชนชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้นำทางศาสนาอิสลาม เช่น เชคดาวุด อับดุลลอฮ อัล-ฟาตานี (Sheikh Daud Abdullah Al-Fatani) รวมทั้งบรรดานักการศาสนาที่มาจากชุมชนบ้านเบินดังดายอ (Kg.
Bendang Daya) จังหวัดปัตตานี
การที่บุตรหลานชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้ได้มีการผสมกลมกลืน
มีการแต่งงานกับชาวพื้นเมือง
ทำให้บุตรหลานของชนชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้รับวัฒนธรรมมลายู
จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวมลายู ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามีที่
“กลายพันธุ์” ในเวลาต่อมา
ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่รู้รากเหง้าของตนเองว่ามาจากชนชาวอาหรับฮัดรามี กลุ่มเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามีที่ “กลายพันธุ์”เหล่านี้จะรวมถึงตระกูลเครือญาติลูกหลานของวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวี แห่งชุมชนบ้านตะโละมาเนาะด้วย
สำหรับตระกูลเครือญาติลูกหลานของวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวี ก็เช่นเดียวกัน
ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนที่ไม่รู้รากเหง้าของตนเองว่ามาจากเชื้อสายอาหรับฮัดรามี ถึงอย่างไรก็ตามตระกูลเครือญาติลูกหลานของวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวี โดยเฉพาะกลุ่มสูงวัย
ยังคงมีการท่องจำและรักษาบทกวีที่มีชื่อว่า “Syair Sheikh Aidrusi” หรือ "บทกวีเชคอิดรุซี” เป็นบทกวีที่กล่าวถึงความเป็นมาบรรพบุรุษของพวกเขา ซึ่งมีใจความดังนี้
Syair Sheikh Aidrusi
Serkau muda datang dari Makkah
Sekarang boleh Tuan Sheikh Aidrusi
(Al-Idrus)
Sebawa turun ke Negeri Patani
Sefaham boleh segala mufakir
Fakirun ala
binurul qadri
Lahul
arsyi alai hissalam
บทกวีเชคอิดรุซี
นับแต่เยาว์วัยได้เดินทางมาจากนครมักกะห์
ปัจจุบันได้กลายเป็นท่านเชคอิดรุซี
ได้นำพามายังเมืองปาตานี
ทุกสิ่งได้มาซึ่งความรอบรู้
นำแสงสว่างมาสู่ทั้งมวล
ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านเชค
ความเป็นมาของตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะนั้นเริ่มจากท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี (Wan
Hussein As-Sanawi)นักการศาสนาอิสลามแห่งหมู่บ้านสะนอ
จังหวัดปัตตานี ได้พาครอบครัวซึ่งประกอบด้วยภรรยาชื่อ อุมมีกัลซุม (Ummi
Kalsom)และผู้ติดตามจำนวนหนึ่งอพยพหนีจากภัยสงครามระหว่างสยามกับปาตานีในอดีต โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเขาบูโด อำเภอบาเจาะ
จังหวัดนราธิวาส
การจัดตั้งชุมชนใหม่ที่ชื่อว่าบ้านตะโละมาเนาะนั้น นำชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า
ต้นมาเนาะมาเป็นชื่อหมู่บ้าน
ส่วนคำว่าตะโละ (Teluk) นั้นแปลว่า อ่าว รวมแล้วชื่อหมู่บ้านตะโละมาเนาะมีความหมายว่า
หมู่บ้านที่มีต้นมาเนาะ
ซึ่งมีหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงมีร่องรอยของต้นมาเนาะอยู่ เมื่อมีสร้างชุมชนใหม่ขึ้นมาแล้ว
ก็ได้มีการสร้างมัสยิดขึ้นมาเรียกชื่อในภายหลังว่า มัสยิดวาดีฮุสเซ็น (Masjid
Wadil Hussein)
ตามชื่อของท่านวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวี แต่ส่วนใหญ่จะรู้จักในนามของมัสยิดตะโละมาเนาะ จนถึงปัจจุบันบุตรหลานของท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี
ได้กระจัดกระจายอยู่ทั่ว
นอกจากตั้งถิ่นฐานในภาคใต้ของประเทศไทยแล้ว ยังได้อพยพไปยังประเทศมาเลเซีย, ประเทซาอุดีอาราเบีย และประเทศจอร์แดน
ส่วนหนึ่งของบุตรหลานตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะได้มีบทบาทในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาสนั้น
ถือได้ว่าเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานใหญ่ของตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะ จากการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะ โดยใช้ชื่อการจัดทำทะเบียนตระกูลในครั้งนั้นว่า
เครือญาติตระกูลอัล-ฮามีดียะห์ (Salasilah Al-Hamidiah) ตามนามของท่านฮัจญีอับดุลฮามิด อับดุลกาเดร์ อัส-ซานาวี
ผู้เป็นบุคคลแรกๆที่ได้ดำเนินการจัดทำทะเบียนตระกูล ปรากฏว่ามีบุตรหลานตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะที่สืบเชื้อสายมาจากท่านวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวีกับท่านอุมมีกัลซุม ประมาณ 7,000 คน แต่ในการศึกษาครั้งนี้จะทำการศึกษาเฉพาะในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
และบริเวณใกล้เคียง คือบริเวณอำเภอยี่งอ
จังหวัดนราธิวาส และอำเภอสายบุรี
จังหวัดปัตตานี
ซึ่งในพื้นที่การศึกษานั้นตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะมีบทบาททั้งในด้านผู้นำชุมชน
ผู้นำสังคม ไม่ว่าจะเป็นนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
กำนัน ฯลฯ
ส่วนบทบาททั้งในด้านผู้นำทางศาสนาอิสลามนั้น มีทั้งที่เป็นโต๊ะอิหม่าม กรรมการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
รวมทั้งเป็นเจ้าของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามอีกจำนวนหนึ่ง
มัสยิดวาดิลฮุสเซ็น
ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ อยู่ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
มัสยิดแห่งนี้ถือว่าเป็นมัสยิดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งที่พบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส
แม้ว่าจะไม่มีบันทึกเวลาการก่อสร้างมัสยิด
แต่เชื่อว่ามัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดที่เก่าแก่และมีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคมลายู
(Nusantara)
อายุของมัสยิดแห่งนี้ นับว่าเป็นการยากที่จะคำนวญอายุที่แท้จริง มีทั้งที่กล่าวว่า
380 ปี ซึ่งจริงๆแล้วอายุนั้นอาจจะไม่ถึงก็ได้
เพราะมีข้อสงสัยและยังหาข้อพิสูจน์ยังไม่ได้ ผู้วิจัยเองเป็นลูกหลานชั้นที่ 7 ของท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี ผู้ก่อสร้างมัสยิด
ซึ่งจริงๆผู้ก่อสร้างต้องมีหลายคนอยู่แล้ว ทั้งชาวบ้าน นายช่าง บรรดาผู้นำ หรือผู้ที่ได้รับการนับถือมักสั่ง
หรือ ชี้นิ้วอย่างเดียว พอมีการบันทึกมักบันทึกชื่อผู้นำคนเดียว จากในอดีตที่ผู้วิจัยได้พูดคุย
สัมภาษณ์ บันทึก คำพูดคุยของฮัจญี อับดุลฮามิด หรือรู้จักในนามของปะดอดูกู
จากบ้านดูกู อำเภอบาเจาะ ได้กล่าวว่ามัสยิดตะโละมาเนาะสร้างโดยบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ
วันฮุสเซ็น ซานาวี นักการศาสนาผู้ท่องจำอัล-กุรอ่านทั้งเล่มแห่งบ้านสะนอ
อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
วันฮุสเซ็นเป็นพี่น้องปู่ของนักการศาสนาที่มีชื่อเสียงของปัตตานีที่มีชื่อว่า
เชคดาวุด อัล-ฟาตานี วันฮุสเซ็น ถือว่าเป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกบ้านตะโละมาเนาะ
ถ้าดูอย่างผิวเผิน
ไม่ว่าดูตัวจริงหรือรูปถ่าย สถาปัตยกรรมและโครงสร้างอาคารมัสยิดเก่าแก่แห่งนี้
มีส่วนคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมและโครงสร้างของมัสยิดกำปงลาอุต
ซึ่งอายุของมัสยิดแห่งนั้นก็ไม่รู้แน่ชัด
ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทั้งสองมัสยิดนี้มีความเกี่ยวพันกัน
หรืออย่างน้อยทั้งสองมัสยิดนี้ก่อสร้างในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน
จนกระทั่งรูปแบบสถาปัตยกรรมมีส่วนคล้ายกันมาก
บ้านตะโละมาเนาะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาบูโด
ในจังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็นเทือกเขาใหญ่และสำคัญ
เริ่มจากบ้านต้นไทรทางด้านทิศเหนือตั้งทอดยาว จรดถึงยี่งอทางด้านทิศใต้
ส่วนทางทิศตะวันออกนั้นเป็นทุ่งนากว้างใหญ่
สำหรับทิศตะวันตกเป็นภูเขาแห่งเทือกเขาบูโด กลางหมู่บ้านตะโละมาเนาะมีธารน้ำสายหนึ่งไหลมาจากภูเขาลงสู่ไร่นา
ที่ตั้งมัสยิดและบรรดาบ้านเรือนตั้งอยู่ด้านเหนือของธารน้ำ ส่วนด้านใต้ของธารน้ำเป็นบริเวณสุสานที่กว้างปราศจากพุ่มไม้
ชื่อมัสยิดเชื่อว่ามาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง
จากการสอบถามชาวบ้านได้ความว่าในบริเวณสายธารนั้นมีต้นไม้ที่ชาวบ้านเรียกว่าต้นมาเนาะ
ผู้วิจัยเชื่อว่าตะโละมาเนาะน่าจะมาจากชื่อต้นไม้(ต้นมาเนาะ)มากกว่าที่จะมาจากคำว่ามาเนาะที่เป็นคำมลายูโบราณที่แปลว่านก
หรือ ไก่ ปัจจุบัน คำว่ามาเนาะ (manok)ที่แปลว่า ไก่ ยังคงมีการใช้อยู่
เช่นในภาษาตากาล๊อก (ฟิลิปปินส์), ภาษาบายาว (bajau)ในรัฐซาบะห์ รวมทั้งชาวมอแกนในแถบจังหวัดอันดามันของไทยก็ใช้คำนี้
สำหรับชื่อมัสยิดนี้ไม่เป็นที่ปรากฎว่ามีการใช้ชื่อ
มัสยิดวาดิลฮุสเซ็นตั้งแต่เมื่อไร ผู้วิจัยเคยค้นเอกสารเก่าๆบนที่ว่าการอำเภอบาเจาะก็ปรากฎว่าพบคำว่ามัสยิดตะโละมาเนาะ
หรือแม้ว่า Tan
Sri Mubin Sheppard ในหนังสือที่ชื่อว่า Taman Indera พิมพ์ปี 1972
ซึ่งเขาเดินทางมาที่มัสยิดแห่งนี้ถึงสองครั้ง ในหนังสือดังกล่าวก็ไม่ปรากฎว่าเขียนชื่อมัสยิดวาดีฮุสเซ็น
จะมีก็แต่มัสยิดตะโละมาเนาะ นอกจากนั้นมี footnote เขียนว่ามัสยิดแห่งนี้มีอายุประมาณ
200 ปี ถึงแม้ว่ามัสยิดนี้จะเล็ก
เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดามัสยิดสมัยปัจจุบัน
แต่เสาและไม้โครงที่ใหญ่และมองแล้วไม่สมดุลกับความกว้างและความยาวของมัสยิด
ไม้ทั้งหมดเป็นไม้ตะเคียนที่ได้จากภูเขาบูโด
ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณนั้นไม่เหล่านี้ไม่ได้ใช้เลื่อย
แต่ทำให้เรียบโดยใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งที่เรียกว่าขวานเล็ก (Beliung) เกือบทั้งหมดของอาคารมัสยิดไมใช่ตะปู สำหรับบริเวณที่ต้องใช้ตะปู
ตะปูที่ใช้เป็นตะปูที่ผลิตเองโดยช่างตีเหล็กในพื้นที่จากคำบอกเล่าของปะดอดูกู
เป็นเวลา 100 ปี
ที่สร้างมัสยิดนี้คงใช้หลังคามุงจากเฉกเช่นเดียวกันกับบ้านในอดีต
ภายหลังเมื่อมีอิฐสงขลา หลังคามุงจากจึงถูกแทนที่
หลังคาจำเป็นต้องใช้เพราะการใช้อิฐสงขลา หลังคามุงจากจึงถูกแทนที่ หลังจากจำเป็นต้องใช้เพราะการใช้อิฐสงขลานี้
ซึ่งทำมาจากปูนผสมกับน้ำตาลมะพร้าว และยางมะตอย
ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นซีเมนต์ดังเช่นปัจจุบันนี้ เมื่อปี 2541
กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่มาเลเซียได้ทำการศึกษาสถาปัตยกรรมของมัสยิดแห่งนี้เป็นเวลา
1 เดือน โดยมีผู้วิจัยเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว
จากการศึกษาครั้งนั้น มีการค้นพบการสลักชื่อผู้แกะสลักดอกไม้ประดับมัสยิด
ก่อนที่มีการบุกบิกเป็นหมู่บ้าน ตะโละมาเนาะเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์
เป็นที่ล่ากวางและสัตว์อื่น ๆ
ชาวบ้านในท้องถิ่นที่ได้พบมากล่าวถึงเรื่องราวที่สนุกสนานในการล่าสัตว์ของบรรพบุรุษของพวกเขา
ได้เล่าว่ามีกวางจำนวนมากในป่าเทือกเขาบูโดในขณะที่ล่านั้น
บรรดาสัตว์เหล่านี้บางครั้งวิ่งหนไปใต้ถุนมัสยิด จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงสิ่งของซึ่งเป็นสมบัติของมัสยิดคัมภีร์อัล-กุรอ่านเขียนด้วยมือ
7 เล่ม ตำราศาสนาเก่าซึ่งเขียนด้วยมือเช่นกัน (หนังสือต้นฉบับ), ขวานเล็ก, กระทะใหญ่ 1 ใบ
สามารถหุงข้าวให้บรรดาแขกกินได้ถึง 300 คนและอื่น ๆ อีก
นอกเหนือจากขวานเล็กที่สรรพสิ่งมีชีวิตไม่อาจทำลายได้สมบัติทั้งหมดของมัสยิดได้เกิดความเสียหายไปแล้ว
คัมภีร์อัล-กุรอ่านและบรรดาตำราศาสนาถูกสภาพสิ่งแวดล้อมทำหายไป และบางเล่มได้หายไป
ส่วนกระทะใหญ่ที่ถูกเก็บรักษาไว้ใต้ถุนมัสยิดเกิดเป็นรูรั่ว
และต่อมาเกิดแตกร้าวเป็นชิ้น ๆ จนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป
นับตั้งแต่กระทะใหญ่ของมัสยิดเกิดความเสียหาย เราไม่เคยเห็นกระทะใหญ่ขนาดเท่ากระทะใบนั้นอีกเลย”
ชาวบ้านคนหนึ่งได้กล่าวไว้
เขาได้บอกว่ากระทะดังกล่าวสำหรับใช้ในการทำพิธีสำคัญ ๆ ทางศาสนาที่มัสยิด พื้นที่บริเวณมัสยิดเคยเป็นที่พักอาศัยของบรรดานักศึกษาปอเนาะ
ในสมัยที่ฮัจญีอับดุกาเดร์ เป็นอิหม่ามมัสยิดพร้อมทั้งเป็นโต๊ะครูปอเนาะ
เขาเป็นหนึ่งในบรรดานักปราชญ์ศาสนาปัตตานี ถึงแม้ว่าไม่มีชื่อเสียงมากนัก
ซึ่งเคยทำการสอนศาสนาที่นครมักกะห์เป็นเวลาถึง 20
ปีก่อนกลับมายังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปอเนาะแห่งนี้มีอายุได้ไม่นานนัก
บทบาทของปอเนาะแห่งนี้อาจมีน้อยกว่าปอเนาะบางแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความจริงแล้ว
ก่อนหน้านี้มัสยิดตะโละมาเนาะไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก
บางคนอาจไม่เห็นความสำคัญด้วยซ้ำไป การสร้างชื่อเสียง
หรือการเผยแพร่ชื่อเสียงของมัสยิดแห่งนี้
แม้ผู้เริ่มต้นคงมีความต้องการใช้กระแสทางการเมืองเพื่อสนับสนุนตนเองในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนราธิวาส แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ถ้านายเสนีย์
มะดากะกุล อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ไม่ทำการเผยแพร่ชื่อเสียงมัสยิดแห่งนี้โดยการจัดงานครบรอบ 350 ปี
แม้ผู้วิจัยไม่เห็นด้วยกับอายุดังกล่าว
แต่เชื่อว่าการทำให้อายุแก่กว่าความเป็นจริง
ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างความขลังให้กับมัสยิด
วันนี้ผู้คนก็อาจยังไม่รู้จักมัสยิดแห่งนี้
ปัจจุบันมีการจำลองมัสยิดตะโละมาเนาะเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์อิสลามในกรุงกัวลาลัมเปอร์
ประเทศมาเลเซีย
สำหรับความเป็นมาของตระกูลวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวีนั้น ได้มีการศึกษาโดยนักวิชาการหลายท่าน ซึ่งการศึกษาดังกล่าว สามารถทำให้เห็นภาพความเป็นมาของตระกูลวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี
โดยโยงถึงเครือญาติในระดบกว้างของตระกูลนี้
การก่อสร้างมัสยิดยุคแรกเริ่ม
การเปลี่ยนแปลงมัสยิดครั้งที่หนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงมัสยิดครั้งที่สอง
การก่อสร้างมัสยิดยุคแรกเริ่ม
การเปลี่ยนแปลงมัสยิดครั้งที่หนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงมัสยิดครั้งที่สอง
การเปลี่ยนแปลงมัสยิดครั้งที่สาม
บทบาทของลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวี
ลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งทางด้านสังคม
การศึกษา และการเมืองนั้น
สามารถกล่าวได้ว่ามีบทบาทมากไม่แพ้ตระกูลอื่นๆ
บทบาทด้านการบันทึกประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้การบันทึก
หรือศึกษาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ประวัติศาสตร์ปาตานี
ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของสังคม
มีบุคคลที่เป็นลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวี อยู่ 2 คน
ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบันทึก หรือศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานี คือนายอับดุลลออ ลออแมน
เป็นนักวิชาการอิสระ
แม้ไม่ได้เรียนมาทางวิชาการประวัติศาสตร์
แต่มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ปาตานี ได้รับการศึกษาจากกรุงเทพฯ
เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารมุสลิมที่ชื่อว่า นิตยสารอัล-ญีฮาด
ซึ่งเป็นนิตยสารที่ได้รับการยอมรับจากสังมมุสลิมในประเทศไทย สำหรับผลงานเขียนนั้น ถ้าเป็นงานเขียนทั่วไป งานเขียนเชิงวิชาการ จะใช้ชื่อว่า
นายอับดุลลอฮ ลออแมน
ส่วนถ้าเป็นเขียนด้านประวัติศาสตร์
จะใช้ชื่อว่า อ. บางนรา
สำหรับผลงานที่ค่อนข้างสร้างชื่อเสียงให้แก่เขา คืองานเขียนที่ชื่อว่า ปัตตานี : อดีตและปัจจุบัน
หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษามลายูในชื่อว่า Patani : dulu
dan sekarang จัดพิมพ์ในประเทศมาเลเซีย
หนังสือเล่มนี้ได้รับการอ้างอิงจากนกวิชาการที่เขียนงานวิชาการและวิทยานิพนธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานด้านประวัติศาสตร์ก่อนเสียชีวิต คือ
งานเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี ในชื่อ ปัตตานี : ประวัติศาสตร์ การเมืองในโลกมลายู ร่วมกับ พล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม
นายมูฮัมหมัดซัมบรี อับดุลมาลิก
(Mohammad
Zamberi Abdul Malek) เป็นลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวี ที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ต่อมาได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมาลายา ภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นนักวิชาการรับเชิญ
หรือ fellow ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti
Kebangsaan Malaysia) ต่อมาเป็นนักวิชาการรับเชิญ
หรือ fellow ของมหาวิทยาลัยมาลายา งานเขียนด้านประวัติศาสตร์ปาตานี
ที่สร้างชื่อเสียงแก่เขา
และได้รับการอ้างอิงและยอมรับจากสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี : ประวัติศาสตร์
และการเมือง หรือชื่อในภาษามลายู คือ Patani : Sejarah
dan Politik
ต่อมาเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ทางพล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม ได้นำไปใช้ในการเขียนหนงสือที่ชื่อว่า
ปาตานี ดารุสสาลาม
บทบาทด้านการศึกษา
บทบาทลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทางด้านการศึกษานั้น
ที่สามารถกล่าวได้ว่ามีบทบาทมากในสังมการศึกษา เช่น ผศ. ดร. อิสมาแอล อาลี
เป็นนักวิชาการที่สืบเชื้อสายมาจากลูกหลานวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี สายบ้านยะกัง อำเภอเมือง
จังหวัดนราธิวาส
เป็นนักการศึกษาที่จบปริญญาเอก
ด้านอิสลามศึกษา
จากประเทศซาอุดีอาราเบีย
เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ คือ
ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ในปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นอามีรุลฮัจย์ (ผู้นำฮัจย์)ของประเทศไทย
ดร. ยูโซะ ตาเละ
เป็นนักวิชาการที่สืบเชื้อสายมาจากลูกหลานวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี อีกนหนึ่งเป็นนักการศึกษาที่จบปริญญาโท
จากประเทศปากีสถาน และจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอุตารามาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย
เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นกัน
ตำแหน่งปัจจุบัน คือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี
นอกจากนั้นสถาบันการศึกษาเอกชน
หรือ โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามที่บุคคลจากลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวี เกี่ยวข้องเช่น
ปอเนาะแรกๆที่เกิดขึ้นที่บ้านตะโละมาเนาะ
ตามคำบอกเล่าของฮัจญีอับดุลฮามิด หรือที่รู้จักในนามของปะดอปอเนาะ
ผู้เป็นบุตรเขยของโต๊ะดูกู คือปอเนาะที่สอนโดยฮัจญีอับดุลกอเดร์ ผู้เป็นบิดาของเขา
ต่อมาหลังจากการยุติกิจกรรมของปอเนาะ ในพื้นที่บ้านตะโละมาเนาะ ก็ไม่มีอีกต่อไป
แต่ลูกหลานของวันฮุสเซ็น อัส ซานาวี ที่กระจายไปทั่วก็ได้กลายเป็นนักการศาสนาอิสลามยุคใหม่
ซึ่งขอกล่าวมาพอสมควร
โรงเรียนมูฮัมหมัดดียะห์ บ้านบูเกะบากง
เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยคนในตระกูลหนึ่งจากสาแหรกของวันฮุสเซ็น อัส ซานาวี โดยผู้ก่อตั้งจบการศึกษาจากประเทศอิรัค
โรงเรียนเจริญวิทย์วิทยา
ตั้งอยู่ไม่ห่างจากบ้านตะโละมาเนาะ ราว 3 กิโลเมตร
ตั้งอยู่ที่บ้านลุโละสาวอ เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่จัดตั้งโดยคนในตระกูลบาตูเซ็ง ซึ่งเป็นตระกูลสาแหรกหนึ่งของวันฮุสเซ็น อัส
ซานาวี ปัจจุบันคือเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงในอำเภอบาเจาะ
จังหวัดนราธิวาส
โรงเรียนศิริธรรมวิทยามูลนิธิ(อัลอิสลาฮุดดีนีย์)
ตั้งอยู่ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เดิมเป็นการศึกษาปอเนาะ ซึงปอเนาะดูกู
ก่อตั้งโดยท่านอาจารย์ ฮัจยีมูฮัมหมัดดาฮัน
บินซอลีย์ ในปี พ.ศ.2440 ต่อมาปี
พ.ศ. 2504 โรงเรียนได้จดทะเบียนเป็นปอเนาะ ปี พ.ศ. 2509
ได้แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามโดยมีนายฮัจยีซำซูดิน ลามะทา
เป็นเจ้าของผู้จัดการ และครูใหญ่ ปี
พ.ศ. 2520
โรงเรียนได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่เป็นหลักสูตรประถมศึกษาตอนปลาย(ป.5-ป.7)สอนภาคศาสนาถึงชั้นปีที่
7 ต่อมาปี พ.ศ. 2524
โรงเรียนได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงผู้บริหารคนเดิมเป็นนายมุสตาร์ ลามะทา ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี(วรรณคดี)
ทางโรงเรียนได้ปรับปรุงกิจการโรงเรียนด้านการจัดการทั่วไปพร้อมกับได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและขยายชั้นเรียนเป็นหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ
3 (ประถมศึกษาตอนปลาย)ถึง ระดับ 4 (มัธยมศึกษาตอนต้น) ในปี พ.ศ. 2552 นายมูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา วุฒิการศึกษา ปริญญาโทบริหารการศึกษา
ได้รับการคัดเลือกสรรจากคณะกรรมการมูลนิธิศิริธรรมวิทยา
ให้ดำรงตำแหน่งผู้รับใบอนุญาต และผู้จัดการคนใหม่ แทนท่านอาจารย์ นายมุคตาร์ ลามะทา ผู้รับใบอนุญาต
และประธานมูลนิธิศิริธรรมวิทยาที่ได้ถึงแก่กรรมเมื่อเดือน กรกฎาคม
2551 นายมูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา
ผู้บริหารโรงเรียนคนใหม่
โรงเรียนอัดดีนียาตุลอิสลามียะห์ ตั้งอยู่ในตำบลบาเระเหนือ
อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
ผู้รับใบอนุญาติ
คือ นางรอซีด๊ะ แมเยาะ มีนายฮาลีม ยากา เป็นผู้อำนวยการ
โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามประเภทบุคคลเป็นเจ้าของ
หลักสูตรศาสนา
สอนเฉพาะมูตาวาซีเฏาะห์,ซานาวียะห์ หลักสูตรสามัญ
สอนเฉพาะมัธยมต้น,มัธยมปลาย
โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์
เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่
สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1
กระทรวงศึกษาธิการตั้งอยู่ในตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เปิดทำการสอนตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2506 ก่อตั้งขึ้นเมื่อพ
. ศ . 2506 โดยนายหะยีดาโอ๊ะ หะยีมะดีเย๊าะ
ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กับคณะเป็นผู้ก่อตั้ง
เริ่มแรกโรงเรียนอยู่ในความอุปถัมภ์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเริ่มเปิดสอนเมื่อวันที่
11 มิถุนายน พ . ศ .2506 และในปีการศึกษา2519 มีนายซำซูดิน สะปิอิง
ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ นายซำซูดิน สะปิอิง เป็นลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น
อัส-ซานาวี สายอำเภอยี่งอ