Ahad, 3 Julai 2016

ชาวมลายูในออสเตรเลีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดกับประเทต่างๆในภูมิภาคมลายูมาก ไม่เพียงมีสองเกาะที่ถือว่าเกาะมลายูเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรเลีย คือเกาะคริสต์มัส และเกาะโคโคส แต่ยังมีชาวมลายูอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอยู่ในประเทศออสเตรเลีย  สำหรับประเทศออสเตรเลียที่ประกอบด้วย 6  รัฐ คือ รัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐควีนส์แลนด์ รัฐออสเตรเลียใต้ รัฐแทสเมเนีย  รัฐวิกตอเรีย รัฐออสเตรเลียตะวันตก เขตปกครองเมืองหลวง (Australian Capital Territory) และเขตปกครองดินแดนตอนเหนือ (Northern Territory) จากสถิติที่มีการสำรวจชาวมุสลิมในประเทศออสเตรเลีย มีอยู่ 476,00 คน จากประชากรทั้งหมด 24 ล้านคน ในจำนวนมุสลิมดังกล่าวจะมีชาวมลายูอยู่จำนวนไม่น้อย โดยมีชาวมลายูกระจัดกระจายอาศัยทั่วประเทศออสเตรเลีย แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือรัฐออสเตรเลียตะวันตก  ชาวมลายูในประเทศออสเตรเลียจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นชาวมลายูที่อพยพมาจากเกาะคริสต์มัส และเกาะโคโคส ทั้งที่เกาะทั้งสองก่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรเลีย และหลังจากเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรเลียแล้ว  และส่วนที่สองคือชาวมลายูทั้งที่อพยพมาจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดเนเซีย

การเข้ามาของชาวมลายูยังประเทศออสเตรเลียนั้น ถือว่าเป็นการเข้ามาก่อนที่ชนชาติฝรั่งตะวันตกจะส่งนักโทษเข้าไปยังออสเตรเลียเสียอีก เพียงแต่ชาวมลายูเหล่านั้น โดยเฉพาะชาวบูกิสจากเกาะสุลาเวซี ประเทศอินโดเนเซียปัจจุบัน เป็นการเข้าไปทำการประมง เมื่อทำการประมงเสร็จ ก็จะเดินทางกลับเกาะสุลาเวซี  ศาสตราจารย์ ดร. Regina Ganter จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ เมืองบิสเบน ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวประมงจากเกาะสุลาเวซี กับชาวอาบอริจิน ชนพื้นเมืองเดิมของออสเตรเลีย มีการพบร่องรอยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากภาพเขียนของชาวอาบอริจิน ความสัมพันธ์ด้านภาษาศาสตร์กับชาวอาบอริจินเผ่า Enindiljaugwa  นักวิชาการข้างต้นกล่าวว่า ชาวประมงชาวบูกิสและชาวมากัสซาร์จากเกาะสุลาเวซี ได้เดินทางไปหาปลายังชายฝั่งตอนเหนือของออสเตรเลีย น่าจะตั้งแต่ทศวรรษที่ 1720 ถึงปี 1906  การเดินทางของกองเรือประมงจากเกาะสุลาเวซีจะเป็นการเดินทางเป็นกองเรือครั้งละราว 30-60 ลำ  และแต่ละลำจะมีลูกเรือราว 30 คน

สำหรับการเดินทางที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานคนแรกในประเทศออสเตรเลียของชาวมลายู ตามหลักฐานของประเทศออสเตรลีย คือ นายอายุบ (Ajoup) เขาเป็นนักโทษชาวมลายูอัฟริกาใต้ อายุ 22 ปี โดยเดินทางมาถึงเมืองซีดนีย์ เมื่อ 11 มกราคม 1837 เขาถูกตัดสินโทษจากเมืองเคปเทาว์น ประเทศอัฟริกาใต้  ซึ่งในปัจจุบันประเทศอัฟริกาใต้มีชาวมลายูอาศัยอยู่ราว 3 แสนคน นายอายุบถูกตัดสินโทษ 14 ปี  ถูกส่งตัวไปยังรัฐนิวเซาท์เวลส์ และถูกจำคุกจนถึงปี 1843 

ชาวมลายูจะกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆของประเทศออสเตรเลีย  ในออสเตรเลียตะวันตกและเขตปกครองดินแดนตอนเหนือ มีชาวมลายูเดินทางมายังออสเตรเลียมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ในปี 1871 มีบันทึกว่ามีชาวมลายูมาเป็นนักดำน้ำหาไข่มุกในออสเตรเลียตะวันตก และแรงงานเหมืองแร่ในออสเตรเลียใต้ และแรงงานไร่อ้อยในรัฐควีนสแลนด์ รวมเป็นจำนวน 149 คน และมีการบันทึกว่าในปี 1875 ชาวมลายูมาเป็นนักดำน้ำหาไข่มุก ซึ่งผ่านการทำสัญญากับบริษัทของฮอลันดา ในออสเตรเลียตะวันตกมีนักดำน้ำหาไข่มุกชาวมลายูถึง 1,800 คน  แต่บางส่วนได้เดินทางกลับประเทศหลังจากหมดสัญญากับบริษัทดังกล่าว  ในปี 1901 มีนักดำน้ำหาไข่มุกชาวมลายู 932 คน  เพิ่มขึ้นในปี 1921 เป็นจำนวน 1,860 คน


ในปี 1961 มีการสำรวจพบว่า มีชาวออสเตรเลียที่เกิดในมาเลเซีย เป็นจำนวน 5,793 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีเป็นชาวมลายูจำนวนหนึ่ง  และในปี 2013 มีการสำรวจชาวออสเตรเลียที่เกิดในมาเลเซีย ปรากฏว่ามีจำนวนถึง 148,760 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวย่อมต้องมีคนที่มีเชื้อสายมลายูด้วย
ดร. อาหมัด ซาฮารุดดิน ซานี อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมาลายา มาเลเซีย ซึ่งเป็นนักวิชาการประจำสถาบันเอเชีย มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า ชาวมลายูโดยเฉพาะในรัฐวิคเตอเรีย ราว 5,00 คน ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการ หมอ นักศึกษา รวมถึงพนักงานทั่วไป โดย 75 % จะมีสัญชาติออสเตรเลีย หรือไม่ก็เป็นผู้มีบัตรผู้ตั้งถิ่นฐานถาวร (Permanent Resident) เขากล่าวว่าคนมลายูอพยพไปประเทศออสเตรเลียครั้งใหญ่หลังปี 1981 ตามโครงการอยู่ร่วมกันของครอบครัว หรืออพยพไปในฐานะผู้ชำนาญการ หรือ ค้าขาย เขาได้เขียนหนังสือชื่อว่า Malay in Victoria

                ศาสตราจารย์ ดร. วันฮาชิม วันเต๊ะ นักวิชาการนามอุโฆษของมาเลเซีย ได้ทำการศึกษาการตั้งถิ่นฐานของชาวมลายูในออสเตรเลียตะวันตก จนสามารถพิมพ์หนังสือชื่อว่า Rumpun Melayu Australia Barat (ชาวมลายูในออสเตรเลียตะวันตก) จากการศึกษาพบว่าผู้อพยพชาวมลายูส่วนใหญ่จะอพยพมาจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดเนเซีย   รวมทั้งที่อพยพมาจากเกาะคริสต์มัสและเกาะโคโคส สำหรับชาวมลายูจากเกาะคริสต์มัสและเกาะโคโคสนั้น จะไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองเล็กๆ ชื่อว่าเมืองกาทันนิง เมืองเล็กๆนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเพิร์ธไปทางใต้ราว 283 กิโลเมตร เมืองนี้มีพลเมืองราว 5,380 คน โดยกว่า 10 เปอร์เซนต์ของชาวเมืองกาทันนิงจะเป็นชาวมลายู เกาะคริสต์มัสและเกาะโคโคส  การที่มีชาวมลายูอาศัยอยู่ในเมืองกาทันนิง  ทำให้เมืองกาทันนิงเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย อินโดเนเซีย เดินทางไปเยี่ยม เพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของชาวมลายูในเมืองดังกล่าว 

                มีการมีการจัดตั้งสมาคม องค์กรของชาวมลายูมากมายในประเทศออสเตรเลีย เช่น สมาคมชาวมลายูในรัฐนิวเซาท์เวลส์ (Malay Association of New South Wales), สมาคมมลายูอิสลามในออสเตรเลีย (Islamic Malay Australian Association of New South Wales), สมาคมชาวมลายูในออสเตรเลียตะวันตก (Malay Association of Western Australia) สมาคมชาวมลายูเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรม (MECCA-Malay Education and Cultural of Australia Inc.), สมาคมชาวมลายูในเมืองกีลอง (Geelong Malay Association) และนอกจากนั้นชุมชนชาวมลายูในเมืองเพิร์ธ โดยนายกามารุดดิน อับดุลราห์มาน ผู้นำชุมชนชาวมลายูคนหนึ่ง บอกว่าในเมืองเพิร์ธมีชาวมลายูประมาณ 20,000 คน จนได้จัดตั้งสถานีวิทยุของตนเอง ใช้ภาษามลายูในการออกกระจายเสียง ใช้ชื่อว่า วิทยุมลายูเพิร์ธ  หรือ Radio Melayu Perth  และที่น่าสนใจอีกคือมีชาวมลายูจากประเทศศรีลังกา จนสามารถจัดตั้งสมาคมของตนเอง ใช้ชื่อว่า สมาคมชาวมลายูศรีลังกาออสเตรเลีย (SLAMA – Sri Lanka Australia Malay Association)


                การที่มีชาวมลายูอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลียเป็นจำนานมาก ทำให้ไม่นานมานี้มีชาวมลายูจากมาเลเซีย ได้เดินทางไปเปิดห้างจัดจำหน่ายสินค้ามาเลเซีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสของชาวมุสลิมในประเทศไทยที่จะโอกาสนี้ด้วย

Tiada ulasan: