Khamis, 29 Oktober 2015

ประสบการณ์สัมผัสมลายูจากนครมักกะห์ ซาอุดีอาราเบี

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
                ช่วงเวลาเดือนกว่าๆที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาของการประกอบพิธีฮัจญ์ของพี่น้องชาวมุสลิมจากทั่วโลก  นครมักกะห์ไม่เพียงเป็นเวทีสมัชชาพบปะ สร้างความสัมพันธ์กันระหว่างพี่น้องมุสลิมจากทั่วโลกเท่านั้น แต่นครมักกะห์ยังถือว่าน่าจะเป็นสถานที่เดียว ที่เป็นสมัชชาของชาติพันธุ์มลายูและผู้คนจากโลกมลายู ด้วยนครมักกะห์กลายเป็นศูนย์รวมของผู้คนจากทุกๆพื้นที่ในโลกมลายู  ในช่วงเวลาที่พี่น้องมุสลิมโดยเฉพาะจากประเทศไทยไปประกอบพิธีฮัจญ์ปีนี้ แม้ผู้เขียนจะไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ด้วย แต่ก็ได้ถือโอกาสช่วงนี้ฟื้นความหลัง ฟื้นประสบการณ์ของตัวเองในอดีต เป็นประสบการณ์ที่สามารถนำมาต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับโลกมลายูในปัจจุบัน
                       
                เมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา ครั้งก่อนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ผู้เขียนสำรวจข้อมูลการทำวีซ่า ได้ยินข่าวว่าเมื่อขอวีซ่าทางประเทศไทยลำบาก คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถไปขอวีซ่าที่ประเทศมาเลเซีย  จึงสำรวจข้อมูลสถานทูตซาอุดีอาราเบียในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปรากฏว่าเอกอัครทูตซาอุดีอาราเบียชื่อว่า ตันสรี ฮุสเซ็น อัล-ฟาตานี  นั้นคือบทเรียนหนึ่งที่ได้รับรู้ว่าลูกหลานชาวปาตานี หรือชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ตั้งถิ่นฐานในประเทศซาอุดีอาราเบีย มีส่วนหนึ่งที่มีหน้าที่การงานที่ใหญ่โตพอสมควร และเมื่อครั้งเดินทางไปยังประเทศซาอุดีอาราเบีย ก็ได้รับรู้จากคุณอับดุลลอฮ อัล-ฟาตานีผู้เป็นญาติของเขาว่าตันสรี ฮุสเซ็น อัล-ฟาตานี  ยังมีน้องชายอีกคนชื่อ คุณมุสตสฟา อัล-ฟาตานี เป็นกงสุลซาอุดีอาราเบียอยู่ที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน  และผู้เขียนใช้เวลาส่วนหนึ่งสัมผัสชุมชนชาวมลายูในประเทศซาอุดีอาราเบีย ชาวมลายูส่วนหนึ่งในประเทศซาอุดีอาราเบีย จะมีนามสกุลว่า อัล-ฟาตานี  อัล-ฟาเล็มบานี  อัล-อินดราคีรี

                ผู้เขียนจะใช้เวลาส่วนหนึ่ง สร้างความรู้จักกับผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่มาจากกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษามลายู ไม่ว่าประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน รวมทั้งสิงคโปร์ นั้นอาจถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เราในประเทศไทยได้รับรู้แล้วว่าประเทศที่กล่าวข้างต้นมีชาวมลายูอาศัยอยู่ รวมทั้งสิงคโปร์ แม้ชาวมลายูจะเป็นชนกลุ่มน้อยในสิงคโปร์ แต่ภาษามลายูก็เป็นภาษาประจำชาติของสิงคโปร์  ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในมัสยิดอัลฮารอม  ผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์มารวมกัน แต่ละคนมักติดธงประเทศตนเอง เพื่อบอกแหล่งที่มา เมื่อเกิดปัญหาจะได้รู้ว่ามาจากไหน มีคนกลุ่มหนึ่งพูดคุยด้วยภาษามลายู แต่เมื่อดูสัญลักษณ์ชาติธงชาติ มีแถบสีเขียว สีขาว ตรงกลางแถบสีแดง มีดาวสีเหลือง ผู้เขียนไม่เคยเห็นธงชาตินี้ จึงเข้าใกล้ และถามผู้หญิงคนหนึ่งว่ามาจากไหน เขาตอบว่ามาจากประเทศสุรีนาม เมื่อเห็นหน้าของผู้เขียนยังงงอยู่  เขาบอกต่อว่า ประเทศสุรีนามอยู่ในทวีปละตินอเมริกา นี้ก็เป็นบทเรียนหนึ่งที่ผู้เขียนใช้ต่อยอดความรู้มลายูศึกษาในปัจจุบัน

                ด้วยความที่ผู้เขียนเรียนทางรัฐศาสตร์ มีความสนใจในเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมักอ่านบทความต่างๆของประเทศมาเลเซีย ก่อนเดินทางไปยังประเทศซาอุดีอาราเบีย ผู้เขียนเคยอ่านบทความของตันสรีอิสมาแอล  ฮุสเซ็น ขณะนั้นเป็นหัวหน้าภาควิชามลายูศึกษา  ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันมลายูศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมาลายา  ซึ่งต่อมาท่านก็ได้มาเป็นอาจารย์ลักจำเกี่ยวกับมลายูศึกษาของผู้เขียน ภายหลังเมื่อรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ท่านก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้รู้จักผู้คน ได้สร้างเครือข่ายในโลกวัฒนธรรมมมลายู ท่านเขียนบทความเรื่องชุมชนชาวมลายูในประเทศสรีลังกา และประเทศอัฟริกาใต้
               
                สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจมาก นั้นคือในขณะที่จะเดินทางไปยังทุ่งอาราฟะห์  ผู้เขียนและคนที่ผู้เขียนรู้จักที่นครมักกะห์ เป็นชาวมลายูสิงคโปร์  ตัดสินใจว่าเราจะใช้วิธีการเดินเท้า และในกลุ่มที่จะเดินนั้น ปรากฏว่ามีชาวมลายูจากมาเลเซียอยู่ด้วย  และมีคนหนึ่งแนะนำตัวเองว่า ผมเป็นชาวมลายูครับ ผมมาจากประเทศอัฟริกาใต้  แม้เขาจะพูดภาษามลายูไม่ได้ ด้วยกลุ่มชาวมลายูอพยพไปอยู่ในประเทศอัฟริกาใต้มาสองสามร้อยปีมาแล้ว จนลืมภาษามลายู แต่ก็ยังไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง ขณะเดินเท้าไปยังทุ่งอาราฟะห์นั้น ผู้เขียนพูดกับผู้ร่วมเดินเท้าว่า นี้เป็นการรวมตัวของกลุ่มชาวมลายูเล็กๆจากประเทศต่างๆร่วมเดินเท้าไปยังทุ่งอาราฟะห์ เมื่อเดินทางถึงทุ่งอาราฟะห์  ก็พบผู้คนกลุ่มหนึ่ง เมื่อถามว่ามาจากไหน มีชายคนหนึ่งตอบว่ามาจากประเทศศรีลังกา  เมื่อดูหน้าตา ไม่มีเค้าของชาวศรีลังกาเลย  ความรู้ที่ได้จากบทความของตันสรีอิสมาแอล  ฮุสเซ็นถูกนำมาประยุกต์ใช้  จึงถามว่า เป็นชาวมลายูจากประเทศศรีลังกาใช่ไหม  คำตอบที่ได้รับเป็นภาษามลายูว่าใช่   เราจึงคุยกันเป็นภาษามลายู หลายๆคนที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นั่งอยู่ด้วยกัน แปลกใจที่มีคนมลายูในประเทศศรีลังกา 

                ผู้เขียนอาศัยอยู่ในนครมักกะห์ได้ระยะหนึ่ง  ที่นครมักกะห์ ได้รู้จักทั้งชาวมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน สิงคโปร์ แม้แต่ชาวมลายูจากประเทศเมียนมาร์ก็ได้รู้จัก ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของชาวมลายูในประเทศดังกล่าว  แม้แต่ในการติดต่อสื่อสารทางจดหมายกับญาติพี่น้องในประเทศไทย ด้วยได้รู้จักเพื่อนชาวนราธิวาส ที่มีบิดาเป็นคนเชื้อสายรัฐเคดะห์ เพื่อนผู้นั้นทำหน้าที่ดูแลอาคารสำนักงานกิจการฮัจญ์มาเลเซียในนครมักกะห์ ผู้เขียนจึงใช้ที่อยู่ของสำนักงานดังกล่าวเป็นที่อยู่ในการติดต่อสื่อสาร  ในนครมักกะห์ สิ่งหนึ่งที่ประทับใจ ที่ชุมชนชาวมลายูที่ชุอิบอาลี ไม่ห่างจากมัสยิดอัลฮารอมมากนัก ซึ่งปัจจุบัน น่าจะถูกรื้อเพื่อพัฒนาพื้นที่แล้ว มีโรงเรียนหนึ่งที่ตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาให้กับบุตรหลานของชาวมลายูในพื้นที่บริเวณดังกล่าว โรงเรียนแห่งนั้นใช้ชื่อว่า โรงเรียนอินโดเนเซีย หรือ มัดราซะห์อินโดเนเซีย


                ต่อมาเมื่อผู้เขียนกลับมาเรียนต่อในสาขามลายูศึกษา ที่ประเทศมาเลเซียแล้วก็ตาม การเรียนส่วนหนึ่งก็อาจแค่เป็นทฤษฎี แต่การพบปะ การสร้างความสัมพันธ์ การรู้จักชาวมลายูจากประเทศต่างๆ การสัมผัสชาวมลายูจากประเทศศรีลังกา ประเทศอัฟริกาใต้ ประเทศสุรีนาม ประเทศเมียนมาร์  เมื่อครั้งเมื่ออยู่ที่นครมักกะห์ ผู้เขียนถือว่าเป็นการลงภาคสนามสัมผัสชาวมลายูที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งบางครั้งไม่อาจสัมผัสได้ในประเทศมาเลเซีย  ดังนั้นผู้เขียนภูมิใจและไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประสบการณ์สัมผัสชาวมลายูจากประเทศต่างๆในนครมักกะห์ ถือได้ว่าเป็นบทเรียนแรกๆในการต่อยอดความรู้เกี่ยวกับมลายูศึกษาของผู้เขียนในปัจจุบัน 

Tiada ulasan: