เมื่อครั้งผู้เขียนได้เดินทางไปยังประเทศซาอุดีอาราเบียเมื่อปี
2528 ที่นครมักกะห์เพื่อนวัยรุ่นผู้เขียนชื่อว่า
นายนิสิต นุ้ยแอ ปัจจุบันได้ข่าวว่าเปิดบริษัทกิจการฮัจญ์ชื่อว่า หจก.
นาทวีบิสเน็ส แอนด์ ทราเวล
เพื่อนผู้นั้นได้แนะนำผู้เขียนให้รู้ฮุจยาตชาวมลายูจากเกาะสอง
ประเทศเมียนมา นั้นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้รับรู้ว่ามีชาวมลายูอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา หลังจากนั้นอีกสิบกว่าปี เมื่อผู้เขียนเดินทางไปประเทศมาเลเซีย ที่นั่นมีการลงข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์กระแสหลักของมาเลเซีย
ถึงการที่ชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานและตั้งถิ่นฐานในประเทศมาเลเซีย
สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจต่อประเทศมาเลเซีย ไม่ว่าต้องรับภาระค่าการรักษาพยาบาล รับภาระงบประมาณสนับสนุนทางการศึกษา ในข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ครั้งนั้น มีการลงข่าวของครูคนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงการที่โรงเรียนของเขามีชาวมลายูจากประเทศเมียนมามาเรียนถึงกว่าครึ่งโรง
ซึ่งทำให้ผู้เขียนมีความสนใจมากขึ้นถึงความสัมพันธ์ของชาวมลายูจากประเทศเมียนมากับประเทศมาเลเซีย ยิ่งครั้งหนึ่งลูกพี่ลูกน้องของผู้เขียนซึ่งตอนนั้นทำงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในอำเภอสุไหงโกลก
จังหวัดนราธิวาส ได้พาหญิงชายคู่หนึ่งที่จะพักที่โรงแรม แต่ฝ่ายหญิงไม่ยอม
เขาจึงพาชายหญิงคู่นั้นมาที่บ้านพักของเขา ซึ่งขณะนั้นผู้เขียนและแม่มาเยี่ยมเขา ฝ่ายหญิงบอกแก่แม่ผู้เขียนว่าเธอถูกหลอก
เราจึงไล่ฝ่ายชาย จนญาติพี่น้องฝ่ายหญิงหาตัวจนพบ และมั่นใจว่าเธอปลอดภัย
เราจึงมอบเธอต่อครอบครัวเธอที่เดินทางมาจากฝั่งมาเลเซีย นอกจากนั้นตันสรีอิสมาแอล ฮุสเซ็น
หนึ่งในนักปราชญ์มลายูศึกษาได้เขียนบทความที่ท่านได้เดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องของท่านลงในวารสาร
“Warta Gapena” ซึ่งเป็นวารสารของสมาพันธ์นักเขียนแห่งชาติมาเลเซีย
ขณะที่ท่านเป็นประธานของสมาพันธ์นักเขียนอยู่
และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลานชายภรรยาผู้เขียนได้เดินทางไปเกาะสอง
ประเทศเมียนมา พร้อมเพื่อนๆ และพักที่ชุมชนชาวมลายูที่นั่นสองสามคืน ดังนั้นการรับรู้ถึงการมีอยู่ของชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาจึงมีอยู่ตลอด
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางคณะนักศึกษามลายูศึกษา ม.อ. ปัตตานี มีแผนจะเดินทางไปเยี่ยมชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมา ซึ่งจำเป็นที่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตหาข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมา ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศมาเลเซีย เป็นบทความต่างๆที่ชาวมาเลเซียเดินทางไปเยี่ยมชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมา ส่วนในประเทศไทยเรียกว่าแทบจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชาวมลายูในประเทศเมียนมาเลย คล้ายกับว่าชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาไม่มีอยู่ในสารบบความเป็นพี่น้องของมุสลิมไทย กลับกันข้อมูลชาวจามมุสลิมในประเทศลาว แม้จะมีเพียง สองสามร้อยคน กลับมีข้อมูลตามบทความต่างๆมากมาย ผู้เขียนยิ่งเศร้าใจ เมื่อนักศึกษามลายูศึกษาผู้หนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ประสานงานในการเดินทางไปสัมผัสชุมชนมลายูในประเทศเมียนมาครั้งนี้ เธอได้ติดต่อสอบถามกับอดีตผู้นำนักศึกษาท่านหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า เกาะสองไม่ปลอดภัย เกาะสองไม่มีความสำคัญทางจิตวิญญาณ ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องแสดงแผนที่ที่ตั้งของชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมา เมื่ออาศัย Google Earth สำรวจชื่อชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมา ปรากฏว่ามีชื่อชุมชนชาวมลายูที่ชื่อเป็นภาษามลายูหลายชุมชนด้วยกัน เช่น กำปงเตองะห์ กำปงฮูลู กำปงเมะปูเตะห์ กำปงปาเซร์ปันยัง กำปงลามา ดังนั้นจึงสามารถมั่นใจได้ว่าเกาะสองมีความสำคัญทางจิตวิญญาณสำหรับชาวมลายูนอกประเทศเมียนมาแน่นอน
การเดินทางของคณะนักศึกษามลายูศึกษา ม.อ. ปัตตานีในครั้งนี้ ก่อนเดินทางไปสัมผัสชุมชนชาวมลายูในเกาะสอง คณะเราได้เดินทางไปสัมผัสชุมชนชาวมลายูที่เกาะสินไห จังหวัดระนอง เกาะสินไห มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า ปูเลาปีไง ชาวบ้านชาวเกาะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะเป็นชาวมุสลิม ที่พูดภาษามลายู สำเนียงเคดะห์ การสัมผัสชุมชนชาวเกาะสินไหครั้งนี้ ทำให้คณะเราสัญญาว่าคณะเราจะไปเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง ด้วยยังมีบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องช่วยเหลือพี่น้องชาวมลายูบนเกาะสินไห หลังจากนั้นคณะนักศึกษามลายูศึกษาจึงเดินทางเข้าเกาะสอง ประเทศเมียนมา เกาะสองนี้ตั้งอยู่ภายใต้ภูมิภาคตะนาวศรี (Tanintharyi Region) ภาษามลายูจะเรียกภูมิภาคตะนาวศรีว่า Tanah Sari ประเทศเมียนมานี้ มีเขตการปกครองที่แปลกแตกต่างจากประเทศไทย มาเลเซีย หรือแม้แต่อินโดเนเซีย ด้วยเขตการปกครองใดที่มีชาวพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จะเรียกว่าภูมิภาค หรือ Region เช่น ภูมิภาคตะนาวศรี ส่วนเขตการปกครองใดที่มีชนชาติอื่นๆ เช่น ชาวมอญ ชาวไทยใหญ่ เป็นชนกลุ่มใหญ่ จะเรียกเขตการปกครองนั้นว่า รัฐ (State) เช่น รัฐมอญ รัฐฉาน เมื่อคณะนักศึกษาเดินทางขึ้นฝั่งเกาะสอง สิ่งแรกที่แปลกใจคือชาวเมียนมามุสลิมเชื้อสายอะไรสักอย่าง ถ้าไม่โรฮิงญา ก็เชื้อสายอินเดีย-บังคลาเทศ ที่ทำหน้าที่เป็นไกด์บริเวณท่าเรือ เขาสามารถพูดภาษามลายูกลางได้คล่องแคล่ว เมื่อเราแจ้งว่าเราจะพักโรงแรมหนึ่งในตลาดเกาะสอง เขาได้พาคณะนักศึกษาไปยังโรงแรมแห่งนั้น ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังมัสยิดของเกาะสอง เมื่อเดินทางใกล้ถึงมัสยิด เมื่อชาวเมียนมา หน้าตาแบบชาวอินเดีย พูดภาษามลายูกลางทักทายเรา เขาบอกว่าเขาเป็นลูกครึ่งแม่มลายูส่วนพ่อเป็นมามะ (Mamak) คำว่ามามะเป็นคำเรียกชาวอินเดียมุสลิม เขาบอกว่าถ้าจะเยี่ยมชุมชนชาวมลายูให้ไปสอบถามลูกพี่ลูกน้องของเขา ซึ่งพูดภาษามลายูได้เช่นกัน
เราพักค้างคืนที่ตลาดเกาะสอง โดยมีแผนวันรุ่งเช้าจะเดินทางไปสัมผัสชุมชนชาวมลายู ในตอนค่ำที่ตลาดเกาะสอง คณะเราโชคดีได้เจอคุณซัมซุดดิน ชาวมลายูเกาะสอง และในวันรุ่งขึ้นคุณซัมซุดดินได้พาผู้เขียนไปทานอาหารเช้าที่ร้านอาหารมุสลิมที่ตลาดเกาะสอง และพบกับคุณมูฮัมหมัดบุตรชายอดีตท่านอิหม่ามของมัสยิดที่ตั้งใกล้ที่พัก จากการพูดคุยในเช้าวันนั้น ปรากฏว่าในตลาดเกาะสองเท่านั้นมีมัสยิดและมุซอลลา ทั้งหมดถึง 7 แห่ง ซึ่งมีมากกว่าที่เราเข้าใจเสียอีก หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จ คณะเราจึงเช่นรถสองแถว 2 คัน เพื่อพาคณะนักศึกษามลายูศึกษาสัมผัสชุมชนมลายู ชุมชนชาวมลายูชุมชนแรกที่คณะเราสัมผัสคือหมู่บ้านไมล์ที่ 9 (Kampong 9 Batu) ซึ่ง ณ ชุมชนนั้น ผู้เขียนก็ได้ประกาศต่อคณะนักศึกษามลายูศึกษาว่า วันนี้วันที่ 6 มิถุนายน ณ หมู่บ้านไมล์ที่ 9 แห่งนี้ นักศึกษามลายูศึกษาได้เดินทางครบแล้วทั้ง 10 ประเทศของกลุ่มประชาคมอาเซียน หลังจากนั้นคณะเราก็ได้เดินทางไปเยี่ยมยังชุมชนอื่นๆ เช่น หมู่บ้านไมล์ที่ 10 หมู่บ้าน หมู่บ้านตันหยงบาได
จากการสัมผัสชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมา ปรากฏว่าบางหมู่บ้านโรงเรียนตาดีกา ที่เป็นสถานที่อบรมสั่งสอนเด็กๆชาวมลายูต้องร้างลง
เพราะขาดครูผู้สอน เด็กๆต้องไปเรียนศาสนาที่ต่างหมู่บ้าน ต้อง เมื่อถามชาวบ้านว่า
ถ้ามีครูสอนศาสนาที่โรงเรียนร้างนั้น ผู้ปกครองจะนำลูกหลานมาเรียนไหม เขาตอบว่า
ถ้ามีครูสอนศาสนามาจริง พวกเขาก็พร้อมที่จะนำลูกหลานกลับมาเรียนที่เดิม บางหมู่บ้านที่เราสัมผัส ปรากฏว่าโรงเรียนตาดีกากำลังปรับปรุง
ก่อสร้างอาคารที่มั่นคงขึ้น ส่วนครูได้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย
เพื่อขอสนับสนุนทางการเงินในหมู่ชาวมลายูผู้เห็นอกเห็นใจชาวมลายูในประเทศเมียนมา สำหรับบางหมู่บ้านที่สัมผัสปรากฏว่าชาวบ้านมีน้อยมาก
เมื่อสอบถามได้ความว่า ส่วนหนึ่งได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อถึงวันสำคัญ เช่น วันตรุษอีดิลฟิตรี วันตรุษอีดิลอัฏฮา
พวกเขาจึงจะเดินทางกลับมายังบ้านเกิดในประเทศเมียนมา มีชุมชนหนึ่งปรากฏว่า
มีการเปิดปอเนาะสอนศาสนาอิสลามให้กับเยาวชนชาวมลายู เมื่อสอบถามโต๊ะครูผู้สอน ปรากฏว่าเขาจบการศึกษาด้านศาสนามาจากปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี
แม้ว่าครอบครัวฝ่ายภรรยาจะเป็นครอบครัวนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงของเกาะสอง
แต่เขากลับมุ่งสู่การเป็นนักการศาสนา จากการพูดคุย
สอบถามถึงชุมชนชาวมลายูในเกาะสองและบริเวณใกล้เคียง
ก็ได้รับคำตอบว่ามีชุมชนชาวมลายูอยู่ประมาณ 23 หมู่บ้าน ผู้เขียนเห็นว่าโต๊ะครูผู้นี้เขาเป็นผู้เสียสละอย่างยิ่ง
เนื่องในโอกาสที่ผู้เขียนและเพื่อนๆจะจัดงานด้านวรรณกรรมในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ผู้เขียนคิดว่าโต๊ะครูหนุ่มผู้นี้ สมควรที่จะได้รับการยอมรับรางวัลอะไรสักอย่างในฐานะนักการศึกษา
ในประเทศไทยการรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาวมลายูในประเทศเมียนมานั้น ยกเว้นชาวมุสลิมบริเวณจังหวัดระนองและจังหวัดใกล้เคียง แทบจะเรียกได้ว่ามีน้อยมาก จนบางคนกล่าวว่า เกาะสองไม่มีความสำคัญทางจิตวิญญาณ ขณะที่ในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย โดยเฉพาะผู้สนใจเกี่ยวกับโลกมลายูแล้ว ชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาอยู่ในหัวใจพวกเขาเสมอ เช่น เนื่องในโอกาสวันตรุษอีดิลอัฏฮาปีนี้ มีเพื่อนชาวอินโดเนเซีย คือ คุณ Imbalo นักธุรกิจเจ้าของโรงเรียนมัธยม Hang Tuah และสถานีโทรทัศน์ Hang Tuah แห่งเกาะบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมชุมชนชาวมลายู พร้อมมอบวัวกุรบานให้แก่ชุมชนชาวมลายูในเกาะสอง ประเทศเมียนมา สำหรับสถาบันปอเนาะสำคัญๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ก็ได้กลายเป็นสถานที่ที่เยาวชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาเดินทางมาเรียนทางศาสนาอิสลาม แต่ที่สำคัญที่สุด เราสามารถรับรู้ถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวมลายูในประเทศมาเลเซียกับชาวมลายูในประเทศเมียนมา ประชาคมอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้น ธุรกิจการค้าบางครั้งก็ไม่ได้เข้าทางประตูหน้าเสมอไป ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่านักธุรกิจชาวมลายูบางคนในประเทศมาเลเซียจะใช้เส้นทางสู่ประเทศเมียนมาโดยผ่านชาวมลายูในประเทศเมียนมาหรือเปล่า