โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
จากการเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี
2547 สิ่งหนึ่งที่รัฐไทยใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
คือการคืนอัตลักษณ์มลายูกลับคืนสู่สังคมมลายูในพื้นที่ดังกล่าว และหนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้มีการเพิ่มภาษามลายูอักขระยาวีในป้ายสถานที่ราชการต่างๆ
ซึ่งมีการดำเนินการทั้งในระดับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
และในระดับจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี
แต่การเพิ่มภาษามลายูอักขระยาวีในป้ายสถานที่ราชการต่างๆนั้น
เต็มไปด้วยอุปสรรค ด้วยภาษามลายูอักขระยาวีในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีหลากหลายสำนักแนวคิด
ก่อนที่ชาวมลายูจะรับศาสนาอิสลามนั้น
ชาวมลายูก็มีอักขระที่ใช้อยู่แล้ว เรียกว่าอักขระปัลลาวา
ต่อมาเมื่อชาวมลายูเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม จึงมีการนำอักขระยาวีมาใช้ อักขระยาวีคือการนำอักขระอาหรับมาใช้ในการเขียนภาษามลายู
พร้อมเพิ่มอักขระขึ้นมาใหม่ที่ไม่มีเสียงในภาษาอาหรับอีก 5 อักขระ คือ چ ڠ ڤ ڽ ݢ ปัจจุบันเพิ่มอักขระอีก
2 อักขระ คือ ۏ ى (ไม่มี 2 จุดอยู่ใต้อักขระ
สำหรับสระ เ-อ)
คำว่า อักขระยาวี (Aksara Jawi)
เป็นที่เรียกกันในประเทศมาเลเซีย จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิงคโปร์ และบรูไนดารุสสาลาม
ส่วนในประเทศอินโดเนเซียนั้น จะเรียกว่า อักขระมลายูอาหรับ เพื่อไม่ให้สับสนกับอักขระยาวีในประเทศดังกล่าว
ด้วยอักขระยาวีในประเทศอินโดเนเซีย หมายถึงอักขระชวาที่ใช้ในการเขียนภาษาชวา
แต่ถ้าใช้อักขระอาหรับที่มีการเพิ่มอักขระที่ไม่มีเสียงในภาษาอาหรับเหมือนอักขระยาวีในประเทศมาเลเซีย
จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิงคโปร์ และบรูไนดารุสสาลาม จะเรียกว่าอักขระเปฆอน (Aksara Pegon) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เขียนภาษาชวาในสถานศึกษาศาสนาอิสลามในเกาะชวา
รูปแบบการเขียนอักขระยาวีมีหลากหลายรูปแบบ
แต่ที่มีชื่อเสียงคือการเขียนแบบซาอฺบา (Za’ba) ซึ่งคิดค้นโดยนักวิชาการมาเลเซียที่ชื่อว่า
Zainal Abidin Ahmad (Za’ba)
โดยเขาเขียนหนังสือชื่อ Daftar Ejaan Melayu
(Jawi-Rumi) หรือ การสะกดภาษามลายู (อักขระยาวี-อักขระรูมี)ในปี 1949
. ต่อมามีการพัฒนารูปแบบการเขียนอักขระยาวี โดยในปี 1986 มีการเขียนหนังสืออีกเล่มชื่อว่า
Pedoman Ejaan Jawi yang Disempurnakan หรือ
แนวการสะกดอักขระยาวีที่สมบูรณ์แบบ
เป็นหนังสือที่สรุปจากการประชุมสัมมนาการเขียนอักขระยาวีระดับชาติของมาเลเซียในปี 1984 และจากผลสรุปของการประชุมสัมมนาในปี
1984 รวมกับผลจากการประชุมการเขียนอักขระยาวีของศูนย์อิสลาม
สำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ในปี 1991
และการประชุมสัมมนาการเขียนอักขระยาวีระดับชาติของมาเลเซียในปี 1993
โดยทางคณะกรรมการการสะกดอักขระยาวีของศูนย์อิสลาม
สำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และสภาภาษาและวรรณกรรมของมาเลเซีย
(Dewan Bahasa dan Pustaka) ได้ดำเนินการศึกษาในระหว่างปี 1993-1994
จนต่อมาทำให้เกิดพัฒนารูปแบบการเขียนอักขระยาวี
ใช้ชื่อว่า Pedoman Umum Ejaan Jawi Bahasa Melayu หรือ
แนวการสะกดอักขระยาวีในภาษามลายู ซึ่งกลายเป็นหนังสือชื่อ Daftar
Kata Bahasa Melayu (Rumi-Sebutan-Jawi ( Jilid 1-2 หรือ
รวมคำศัพท์ภาษามลายู (อักขระรูมีเป็นอักขระยาวี) เล่ม 1-2 พิมพ์ในปี 2005 โดยสภาภาษาและวรรณกรรมของมาเลเซีย (Dewan
Bahasa dan Pustaka)
ซึ่งบางครั้งจะรู้จักในชื่อว่าการเขียนอักขระยาวีแบบเดวัน
อักขระยาวีแบบซาอฺบา (Za’ba)กับอักขระยาวีแบบเดวัน
การเขียนอักขระยาวีแบบเดวันก็ยังคงใช้พื้นฐานของการเขียนอักขระยาวีแบบซาอฺบา
(Za’ba)
เพียงมีการพัฒนา โดยการเพิ่มอักขระตัว V จาก و
เป็น ۏ รวมทั้งอักขระ ف ที่ใช้ได้ทั้ง ป และ ฟ เช่น فتا
อ่านว่า เปอตา หมายถึง แผ่นที่ หรือ فجر อ่านว่า
ฟายาร์ หมายถึง รุ่งอรุณ แต่การเขียนอักขระยาวีแบบเดวัน จะมีการแยกชัดเจนระหว่าง ป
จะใช้ ڤ และ ฟ จะใช้ ف คือ
เปอตา จากเขียน فتا กลายเป็น ڤتا ส่วนคำว่า ฟายาร์ คงเดิมเป็น فجر
ส่วนหนึ่งก็มีการเพิ่มอักขระ ا ในคำศัพท์เดิมที่ไม่มี
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เช่น คำว่า เมือง หรือ บันดาร์ จาก بندر
มาเป็น باندر คำบางคำมีการเขียนคำเดียว แต่อ่านได้ 2 แบบ
เช่น لنتيق อ่านได้ทั้ง ลันติก (แต่งตั้ง) และเลินติก (งอน)
การเพิ่มอักขระ ا
ในคำต่างๆเหล่านี้ ไม่ค่อยจะเป็นที่ยอมรับของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้วยชินกับการเขียนในรูปแบบเดิม
อักขระยาวีของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไปในทิศทางใด
ถ้าเรายังยึดติดกับท้องถิ่น
ยึดติดกับจารีตนิยม และต้องการให้คนในท้องถิ่นอ่าน ต้องการให้คนในท้องถิ่นนิยม
ก็ต้องใช้ในรูปแบบของอักขระยาวีแบบซาอฺบา (Za’ba)
แต่ถ้าเราต้องการให้สอดคล้องกับการใช้อักขระยาวีในประเทศเพื่อนบ้าน
ไม่ว่าประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน เราก็ต้องใช้อักขระยาวีแบบเดวัน แม้ในระยะแรกๆอาจจะไม่ได้รับการยอมรับ
และถูกต่อต้านบ้างจากผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นในปี 2558 อะไรจะเกิดขึ้นกับการใช้ภาษามลายูอักขระยาวีในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ถ้าเราจะผลิตตำราศาสนาอิสลามในภาษามลายูอักขระยาวี เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านเช่น
มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไนดารุสสาลาม
เราก็ต้องปรับตัวการใช้ภาษามลายูอักขระยาวีให้เหมือนเขา
จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่วิ่งอยู่กับที่
แต่ต้องเคลื่อนไปข้างหน้า
เคลื่อนให้ทันการใช้ภาษามลายูอักขระยาวีในประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว
Tiada ulasan:
Catat Ulasan