ปฏิบัติการยามรุ่งอรุณ หรือ Serangan Subuh
ปฏิบัติการยามรุ่งอรุณ หรือ Serangan Subuh รู้จักในภาษาอังกฤษว่า 'Dawn Raid' เกิดขึ้นในปี 1981 กล่าวได้ว่าเป็นการประกาศเอกราชทางเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย แม้ว่าประเทศมาเลเซีย จะได้รับเอกราชมาตั้งแต่ปี 1957 ด้วยเศรษฐกิจของมาเลเซียยังคงถูกควบคุมโดยอังกฤษ
อังกฤษโดยผ่านบริษัทของอังกฤษยังคงควบคุมเศรษฐกิจมาเลเซีย และผลกำไรก็จะกลายเป็นของอังกฤษ เช่นบริษัท Guthrie ที่มีสวนถึง 200,000 เอเคอร์ หรือ 440,000 ไร่ ในปี 1981 เปรียบเทียบกับในปีทศวรรษ 1970 ที่มีเพียง 175,000 เอเคอร์ หรือ 385,000 ไร่
การที่บริษัทอังกฤษพยายามจะคุมเศรษฐกิจมาเลเซียนั้น มีมาตั้งแต่ยุคตุนอับดุลราซัค เมื่อ ดร. มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ 2 เดือน สิ่งที่มีเหตุจูงใจให้รัฐบาลมาเลเซีย เริ่มปฏิบัติการ Serangan Subuh หรือ Serangan Waktu Subuh ด้วยถูกกดดันจากสถานการณ์ ขณะนั้นบริษัทยักษ์ของคนจีนมาเลเซีย ที่ชื่อว่า MPH เริ่มมีการซื้อหุ้นของบริษัทอังกฤษ ถ้าบริษัทจีน MPH สามารถซื้อหุ้นบริษัท Guthrie นั้นเท่ากับบริษัทคนจีนมาเลเซีย จะยิ่งสามารถคุมเศรษฐกิจมาเลเซีย นอกจากนั้นมีนายทุนชาวจีนมาเลเซีย เริ่มซื้อที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ที่มีอังกฤษเป็นเจ้าของ
ในขณะนั้นกองทุนของรัฐบาลมาเลเซียที่ชื่อว่า Pemodalan Nasional Berhad (PNB) มีหุ้นอยู่ในบริษัท Guthrie 25% ดังนั้นกองทุน Pemodalan Nasional Berhad (PNB) จึงต้องการหุ้นอีกไม่มาก เพื่อที่จะสามารถควบคุมบริษัท Guthrie ช่วงแรกในการเข้าซื้อหุ้นบริษัท Guthrie มีปัญหา ด้วยราคาหุ้นค่อนข้างแพง
เต็งกูราซาลี เต็งกูฮัมซะห์
ตุนอิสมาแอล โมฮัมหมัดอาลี
ตันสรีอับดุลคาลิด อิบราฮิม
ในหนึ่งปีต่อมา มีการวางแผนที่รัดคุมยิ่งขึ้น ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และ เต็งกูราซาลี เต็งกูฮัมซะห์ เป็นรัฐมนตรีการคลัง ผู้วางแผนในการซื้อหุ้นคือ ตุน อิสมาแอล โมฮัมหมัด อาลี ซึ่งมีตำแหน่งเป็น ประธานของกองทุน Pemodalan Nasional Berhad (PNB) ก่อนหน้านั้น ตุน อิสมาแอล โมฮัมหมัด อาลี เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติมาเลเซีย โดยเขาเป็นคนมลายูคนแรกที่มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติมาเลเซีย นอกจากนั้นเขายังเป็นพี่ภรรยาของดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด
อีกคนหนึ่งที่มีบทบาทในการปฏิบัติการ Serangan Subuh หรือ Serangan Waktu Subuh คือ ตันสรี อับดุบคาลิด อิบราฮิม ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนของ Pemodalan Nasional Berhad (PNB) สาเหตุที่เขาได้รับให้ร่วมในการปฏิบัติการในครั้งนี้ เพราะเขาเคยทำงานกับบริษัท Barings London โดยบริษัท Barings London เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท Guthrie อีกหนึ่งที่มีส่วนในการปฏิบัติการในครั้งนี้ คือ N.M. Rothschild & Sons Ltd. โดยทาง John McDonald (Jock) GREEN-ARMYTAGE เป็นตัวแทนของ N.M. Rothschild & Sons Ltd. ในการวางแผนการยึดบริษัท Guthrie และอีกหนึ่งบริษัทที่ร่วมในครั้งนี้ คือ Rowe & Pittman มีบทบาทในการซื้อหุ้นบริษัท Guthrie สำหรับเงินทุนที่ใช้ในการซื้อหุ้นบริษัท Guthrie เป็นเงินทุนที่มาจากเงินของกองทุนรัฐบาล เช่น Petrons, PERNAS และ Amanah Saham Nasional (ASN)
ตลาดหลักทรัพย์กรุงลอนดอน
ตลาดหลักทรัพย์กรุงลอนดอน
ตลาดหลักทรัพย์กรุงลอนดอน
วันปฏิบัติยามรุ่งอรุณ หรือ Hari Serangan Subuh (Dawn Raid)
การปฏิบัติการ เมื่อ 7 กันยายน 1981 เวลา 9.00 เช้าของประเทศอังกฤษ หรือเวลา 16.00 เย็นของประเทศมาเลเซีย เป็นการปฏิบัติการแบบเงียบ ไม่เช่นนั้นราคาหุ้นของบริษัท Guthrie จะสูงขึ้น และถ้าเกิดข่าวรั่ว จะทำให้ฝ่ายอังกฤษมีการขัดขวางการซื้อหุ้นในครั้งนี้ด้วย
ทางตันสรีคาลิด อิบราฮิม ถูกให้ทำหน้าที่ในการซื้อหุ้นต่างๆในประเทศมาเลเซีย ที่มีผู้ถือหุ้น เช่น Bank Simpanan, Genting และ Kuwait Investment Group ซึ่งการซื้อหุ้นต่างๆในประเทศมาเลเซียไม่มีปัญหา ส่วนตุนอิสมาแอล โมฮัมหมัดอาลี ทำหน้าที่ในการซื้อหุ้นต่างๆในประเทศสิงคโปร์ เช่น หุ้นจากธนาคาร OCBC ส่วนการซื้อหุ้นในประเทศอังกฤษ ผู้ที่ทำหน้าที่ คือ บริษัทนายหน้าค้าหุ้น Rowe & Pittman และ Rothschilds
ข่าวร้ายจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อทางธนาคาร OCBC ไม่ยอมขายหุ้นแก่ Pemodalan Nasional Berhad (PNB) แต่การปฏิบัติการก็ต้องดำเนินการต่อไป เพราะทาง Pemodalan Nasional Berhad (PNB) มีหุ้นจาก Bank Simpanan, Genting และ Kuwait Investment Group อยู่ในมือแล้ว
ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทางบริษัท Rothschilds เจรจากับ M&G Investment Trust ให้ขายหุ้นจำนวน 11% แก่ทาง Pemodalan Nasional Berhad (PNB) ส่วนทาง Rowe & Pittman มีการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยชาวอังกฤษ จนสามารถรวบรวมได้ 5% ในช่วงเวลาเพียง 4 ชั่วโมง ทาง Pemodalan Nasional Berhad (PNB) สามารถซื้อหุ้นของบริษัท Guthrie ได้ถึง 50.41% โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นจากธนาคาร OCBC
การป้องกันหลังจากวันปฏิบัติยามรุ่งอรุณ หรือ Hari Serangan Subuh (Dawn Raid)
การปฏิบัติยามรุ่งอรุณถือเป็นการตบหน้าอังกฤษอย่างรุนแรง เป็นการรุกยึดบริษัทอังกฤษของประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หลังจากนั้นอังกฤษจึงออกกฎหมายเพื่อป้องกันเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก
หลังจากที่มาเลเซียได้ปฏิบัติยามรุ่งอรุณ หรือ Hari Serangan Subuh (Dawn Raid) ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด จึงประกาศบอยคอตการใช้บริการและซื้อสินค้าอังกฤษ โดยใช้นโยบาย 'Buy British Last' คือจะซื้อสินค้าของอังกฤษ เป็นสินค้าสุดท้าย เมื่อไม่มีสินค้าอื่นๆอีกแล้ว ทางบริษัท Dunlop ซึ่งรับสัมปทานจากรัฐบาลมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 1963 ก็ถูกยกเลิก โดยให้สัมปทานแก่บริษัทสหรัฐ จนในที่สุดบริษัท Dunlop ต้องขายหุ้นให้แก่บริษัททุนจีนมาเลเซียที่ชื่อ ว่า MPH
ภายใน 3 เดือนหลังจากที่หุ้นของบริษัท Guthrie ถูกขายให้แก่ Pemodalan Nasional Berhad (PNB) ก็มีการทยอยขายหุ้นบริษัท Guthrie เรื่อยๆ จนปลายปี 1981 ปรากฏว่า Pemodalan Nasional Berhad (PNB) สามารถมีหุ้นในบริษัท Guthrie ได้ครบ 100%
ผลสำเร็จจากปฏิบัติยามรุ่งอรุณ หรือ Hari Serangan Subuh (Dawn Raid)
หลังจากบริษัท Guthrie ถูกขายหุ้นให้แก่กองทุนของรัฐบาลมาเลเซียที่ชื่อว่า Pemodalan Nasional Berhad (PNB) ยังมีอีก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายหุ้นให้แก่ Pemodalan Nasional Berhad (PNB) คือ Highlands & Lowlands, Barlows และ Harrisons & Crosfield (H&C) สำหรับบริษัท Harrisons & Crosfield (H&C) ไม่เพียงมีสวนขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังมีสวนขนาดใหญ่ในประเทศนิวซีแลนด์และไต้หวันอีกด้วย ดังนั้น Pemodalan Nasional Berhad (PNB) จึงกลายเป็น เจ้าของทรัพย์สินที่เคยเป็นของอังกฤษ ที่กระจายไปทั่วโลก และกลายเป็นเจ้าของสวนขนาดใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ตันสรีคาลิด อิบราฮิม กล่าวว่า ความจริงเราได้บริษัท Guthrie โดยฟรี ด้วยหลังจากที่เราขายทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่ในต่างประเทศ ปรากฏว่าได้รับกำไร ที่มากกว่าเงินที่ใช้ในการปฏิบัติยามรุ่งอรุณ หรือ Hari Serangan Subuh (Dawn Raid)
Tiada ulasan:
Catat Ulasan