สำหรับคนไทยโดยทั่วไป
เรายังไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับประเทศมาเลเซียมากนัก
หรือถ้าเรารู้ก็อาจรู้เพียงเล็กน้อย จนอาจเรียกได้ว่ารู้น้อยมาก ทั้งๆที่ประเทศมาเลเซียถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ถือได้ว่ามีปัญหากับประเทศไทยน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
ที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศมาเลเซีย
เช่นวันชาติ หรือวันเอกราชของประเทศมาเลเซีย ซึ่งโดยสภาพความเป็นจริงแล้ว
เรายังมีความเข้าผิดๆเกี่ยวกับวันสำคัญของประเทศมาเลเซีย
ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับวันสำคัญของประเทศมาเลเซีย
ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกับจังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา
และจังหวัดสตูล
วันที่
31 สิงหาคม
เป็นวันชาติ
หรือวันเอกราชของประเทศมาเลเซีย นั้นเป็นความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป
รวมทั้งคนมาเลเซียเองบางส่วนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการจัดตั้งประเทศมาเลเซีย ในความเป็นจริงแล้ว วันที่ 31 สิงหาคม ไม่ใช่เป็นวันเอกราชของประเทศมาเลเซีย
ด้วยวันที่ 31 สิงหาคม 1957 เป็นวันเอกราชของประเทศมาลายา
ซึ่งเป็นดินแดนในปัจจุบันของประเทศมาเลเซียที่ตั้งอยู่บนแหลมมลายู โดยขณะที่ประกาศเอกราชของประเทศมาลายานั้น
ยังไม่มีประเทศมาเลเซีย แต่ทางรัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญกับ วันที่ 31 สิงหาคม
มีการเฉลิมฉลองวันนี้อย่างใหญ่โต กลายเป็นที่เข้าใจว่า วันที่ 31 สิงหาคม
เป็นวันเอกราช หรือวันชาติของประเทศมาเลเซีย ทั้งๆที่ขณะนั้นรัฐซาบะห์
และรัฐซาราวัค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียยังไม่ได้รับเอกราช
ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
วันที่
16 กันยายน
เป็นวันจัดตั้งประเทศมาเลเซีย ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญกับวันนี้น้อยมาก
ในขณะที่ทางรัฐซาบะห์และรัฐซาราวัคจะให้ความสำคัญกับวันนี้เป็นอย่างมาก ด้วยวันที่ 16 กันยายน 1963 เป็นวันที่ประเทศมาลายา
รัฐซาบะห์ รัฐซาราวัค และสิงคโปร์ ได้ร่วมกันจัดตั้งประเทศมาเลเซีย
แม้ต่อมาสิงคโปร์จะถูกให้ออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียก็ตาม ในขณะที่มีการจัดตั้งประเทศมาเลเซียนั้น
ประเทศมาลายาได้รับเอกราชแล้วเมื่อ วันที่ 31 สิงหาคม 1957 ส่วนรัฐซาราวัคได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้วเมื่อวันที่
22 กรกฎาคม 1963 และรัฐซาบะห์ ได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้วเมื่อ
31 สิงหาคม 1963
การจัดตั้งประเทศมาเลเซียนี้
สำเร็จขึ้นมาได้ก็โดยรัฐซาบะห์เสนอเงื่อนไข 20 ประการ ส่วนรัฐซาราวัคเสนอเงื่อนไข 18 ประการ
เพื่อให้ประเทศมาลายายอมรับ เมื่อประเทศมาลายายอมรับแล้ว
ทั้งสองรัฐจึงพร้อมเข้าร่วมในการจัดตั้งประเทศมาเลเซีย
ส่วนหนึ่งของเงื่อนไขเหล่านั้นก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น
“มาเลเซีย”
ต้องเป็นชื่อของประเทศที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่
ความเป็นจริงบรรดานักการเมืองในประเทศมาลายา
พยายามที่จะให้ชื่อประเทศที่เกิดใหม่นี้ว่า ประเทศมลายูรายา หรือ Melayu Raya (The
Great Malay) แต่หนึ่งในเงื่อนไขของรัฐซาบะห์มีว่า
ประเทศที่จัดตั้งใหม่นี้จะต้องใช้ชื่อว่าประเทศมาเลเซียเท่านั้น
จะต้องไม่ใช้คำว่าประเทศมลายูรายา ด้วยกลุ่มชนเผ่าต่างๆในรัฐซาบะห์และรัฐซาราวัคนั้นมีมากมาย
กลุ่มประชากรในรัฐซาบะห์นั้นชนกลุ่มใหญ่ประกอบด้วยชาวกาดาซันดูซุน ชาวบาจาว
ชาวมูรุต ฯลฯ และรัฐซาราวัคนั้นชนกลุ่มใหญ่ประกอบด้วยชาวอีบัน ชาวมลานาว
ส่วนชาวมลายูในทั้งสองรัฐซาบะห์และรัฐซาราวัคนั้นเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ชนกลุ่มใหญ่ ดังนั้นการใช้ชื่อประเทศใหม่นี้ว่า
ประเทศมาเลเซีย จึงมีความเหมาะสมมากกว่า และชื่อมาเลเซีย หรือ Malaysia
นี้ผู้ที่สร้างชื่อนี้ให้โด่งดังคือ Wenceslao Q. Vinzon นักการเมืองชาวฟิลิปปินส์ที่เขียนหนังสือชื่อว่า Malaysia
Irredenta เป็นหนังสือที่เรียกร้องให้มีการรวมกลุ่มชาติพันธุ์มลายูเข้าด้วยกัน
โดยเขียนในปี 1932 และเมื่อ
2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีการค้นพบเอกสารในหอจดหมายเหตุรัฐซาบะห์
ในเอกสารที่ชื่อว่า Sabah Gazzete ฉบับปี 1897 ก็มีการบันทึกถึงคำว่า Malaysia และ Malaysian
“อำนาจพิเศษ”ของรัฐซาบะห์และรัฐซาราวัค
ในข้อเรียกร้องของรัฐซาบะห์และรัฐซาราวัค
การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียนั้น ขอสงวนอำนาจพิเศษของตนเอง
เช่นอำนาจในการบริหารรัฐ อำนาจตรวจคนเข้าเมือง
ดังนั้นสิ่งที่เราไม่ค่อยรับรู้คือแม้แต่ในปัจจุบัน
ผู้คนจากรัฐต่างๆในประเทศมาเลเซียที่ตั้งบนแหลมมลายู หรือรัฐในอดีตประเทศมาลายา
เมื่อต้องการเดินทางไปยังรัฐซาบะห์หรือรัฐซาราวัคสามารถจะอาศัยอยู่ในรัฐทั้งสองได้เพียง
3 เดือนเท่านั้น ถ้าต้องการจะอยู่อาศัยนานกว่านั้นก็จำเป็นต้องทำ Work
Permit หรือแม้แต่ข้าราชการจากรัฐในแหลมมลายู
เมื่อต้องไปรับราชการในรัฐซาบะห์และรัฐซาราวัค ก็ต้องทำ Work Permit
ตัวอย่างหนังสือเดินทางของข้าราชการครูจากรัฐเปรัคที่ต้องเดินทางไปทำงานในรัฐซาราวัค
ตัวอย่างหนังสือเดินทางของข้าราชการครูจากรัฐเปรัคที่ต้องเดินทางไปทำงานในรัฐซาราวัค
Tiada ulasan:
Catat Ulasan