Jumaat, 28 Jun 2013

แบกเป้ลุยกลุ่มประเทศอินโดจีน ตอน 1 จากปัตตานีถึงหนองคายด้วยรถไฟฟรี

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
แบกเป้ลุยกลุ่มประเทศอินโดจีน
ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555 ทางนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาได้จัดโครงการรู้จักประเทศเพื่อนบ้าน 2013 โดยปีนี้เป็นการจัดโครงการไปยังประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา และอาจรวมประเทศพม่าหรือเมียนมาร์เข้าไปด้วย สำหรับประเทศเมียนมาร์นี้จะเดินทางเมื่อมีเวลาและงบประมาณพอโดยจะเดินทางเป็นประเทศสุดท้าย

แรกเริ่มตอนที่มีการลงชื่อผู้ที่ต้องการเดินทางนั้น  ปรากฏว่ามีผู้ที่ลงชื่อเป็นจำนวนถึง 30 กว่าคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้กับจำนวนที่ค่อนข้างมากกับเส้นทางที่เราไม่เคยเดินทางไป และมีเครือข่ายค่อนข้างจะน้อยกว่าเครือข่ายในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย หรือแม้แต่บรูไน  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการจำกัดจำนวนผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปจริงๆ และมีความพร้อมด้านงบประมาณ  ในจำนวนของนักศึกษาที่ยกเลิกการเดินทาง มีส่วนหนึ่งยังคงติดพันกับกลุ่มเพื่อนๆ เมื่อเพื่อนๆที่สนิทสนมไม่ไป จึงยกเลิกการเดินทาง

สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางครั้งนี้ คือการคำนวณว่างบประมาณที่ต้องใช้จริงๆเป็นจำนวนเท่าไร ด้วยในกลุ่มที่จะเดินทางไป ไม่มีผู้ใดเคยเดินทางไปยังประเทศดังกล่าว  นอกจากเช็คคำนวณค่ารถ ค่าโรงแรมจากอินเตอร์เน็ต และสอบถามเครือข่ายที่อยู่ในประเทศข้างต้น  แต่ก็คำนวณคร่าวๆว่า แต่ละคนน่าจะต้องมีงบประมาณ 7 พันกว่าบาทนิดๆ เป็นค่าใช้จ่ายทั้งค่ารถ ค่าอาหาร ค่าที่พัก   โดยค่ารถไฟก็ได้คิดรวมอยู่ในค่ารถด้วย แม้ว่าเราได้ตกลงว่าเราจะไปรถไฟฟรีจากปัตตานีไปยังกรุงเทพฯ และจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดหนองคาย

ก่อนการเดินทางนั้นทางคณะเราได้ประสานกับนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่สามารถร่วมเดินทาง ด้วยมารดาไม่สบาย นักศึกษาผู้นี้มีความสนิทสนมกับบรรดาคนขับรถโดยสารสายปัตตานี-โคกโพธิ์  โดยตกลงให้รถโดยสารสายปัตตานี-โคกโพธิ์  มารับคณะนักศึกษาในช่วงเช้าหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อย มอ. ปัตตานี  โดยเราจะไปยังสถานีรถไฟโคกโพธิ์ในช่วงเช้า ก่อนรถไฟออกราว 2-3 ชั่วโมง เพื่อจะได้รับตั๋วรถไฟฟรีก่อนการเดินทาง

เมื่อเช้า 23 พฤษภาคม 2013  คณะนักศึกษาได้เดินทางมารอรถหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อย มอ. ปัตตานี  เมื่อสำรวจจำนวนนักศึกษาแล้วปรากฎว่านักศึกษาคนหนึ่งแจ้งว่าเพื่อนของเขาอีกคนหนึ่งไม่สามารถเดินทางได้  เพราะไม่สบาย  สรุปจำนวนนักศึกษาที่ไม่สามารถเดินทางมีจำนวน 2 คน นอกจากที่แจ้งว่าไม่สบายแล้ว ยังมีนักศึกษาชายอีกคนหนึ่ง ได้แจ้งในเวลา 5 ทุ่มของวันที่ 22 พฤษภาคม 2013  ว่าตนเองไม่สามารถจะร่วมเดินทางได้ เพราะมีปัญหาเรื่องการลงทะเบียนเรียน

หลังจากที่เดินทางถึงสถานีรถไฟโคกโพธิ์แล้ว ตัวแทนนักศึกษาจึงไปติดต่อกับพนักงานขายตั๋วรถไฟ ปรากฏว่าคณะนักศึกษาได้ตั๋วรถไฟฟรีไปยังกรุงเทพฯ แต่จำนวนตั๋วไม่พอกับจำนวนคณะนักศึกษาอีก 3 คน จึงจำเป็นต้องซื้อตั๋วรถไฟชั้นสองนั่ง  ในขณะที่เวลารถไฟจะออกราว 1 ชั่วโมง  ปรากฏว่านักศึกษาชายที่แจ้งเมื่อคืนว่าไม่สามารถจะร่วมเดินทางนั้น โทรศัพท์แจ้งว่าเขาสามารถเคลียร์ปัญหาการลงทะเบียนแล้ว สามารถเดินทางร่วมไปกับคณะนักศึกษาได้  และกำลังเดินทางไปยังสถานีรถไฟโคกโพธิ์

แต่เมื่อถึงสถานีรถไฟโคกโพธิ์ ด้วยความฉุกละหุก ปรากฏว่านักศึกษาชายผู้นั้นกลับซื้อตั๋วผิดขบวน โดยซื้อตั๋วขบวนรถไฟที่เดินทางก่อน ขบวนรถไฟฟรีที่คณะนักศึกษาจะเดินทางไป ดังนั้นจึงนัดกันเจอทีสถานีหัวลำโพง เพราะรถไฟทั้งสองขบวนถึงสถานีหัวลำโพงไม่ห่างกันมากนัก  

ในวันรุ่งขึ้น 24 พฤษภาคม 2013 คณะนักศึกษาทุกคนทั้งที่มาต่างขบวน ก็ได้รวบตัวกัน และใช้วิธีฝากกระเป๋าเดินทางที่เก็บกระเป๋าที่สถานีรถไฟหัวลำโพง  หลังจากนั้นก็ได้เดินทางด้วยรถเมล์ไปยังกิ่งเพชร เพื่อสร้างความรู้จักกับชุมชนมุสลิมในบริเวณดังกล่าว  ด้วยส่วนหนึ่งของนักศึกษายังไม่เคยเดินทางมากรุงเทพฯ  หลังจากที่คณะนักศึกษาได้ทำภารกิจส่วนตัวที่มัสยิดพญาไทเสร็จแล้ว จึงไปทานอาหารเช้าที่ร้านอาลีสลาตัน ซึ่งเป็นร้านชาวจังหวัดยะลาที่เปิดร้านขายอาหารในซอยกิ่งเพชร  ต่อมาก็ได้เดินทางไปยังแหล่งธุรกิจย่านประตูน้ำ ผ่านสถานทูตอินโดเนเซีย รวมทั้งอาคารพันทิพย์พลาซ่า  หลังจากนั้นกลับไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง และไปขอตั๋วรถไฟฟรีเพื่อเดินทางไปยังจังหวัดหนองคาย  ครั้งนี้คณะนักศึกษาไม่มีปัญหาเรื่องจำนวนตั๋วกับจำนวนนักศึกษา เพราะผู้โดยสารรถไฟมีจำนวนน้อยมาก ต่างจากขบวนรถไฟสายโคกโพธิ์-ปัตตานี
ถ่ายภาพหมู่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ เปฝ็นที่ระลึก
 ฝากกระเป็าไว้ที่รับบริการฝากกระเป็าที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
ป้ายประกาศราคารับฝากกระเป๋ากับความเป็นจริงที่ราคาสูงกว่า 
นั่งรถเมล์ฟรีในกรุงเทพฯ เอาของฟรีไว้ก่อน ระยะทางยังยาวไกล
ตรงข้ามโรงแรมเอเชีย พญาไทย
หน้าสถานทูตอินโดเนเซีย กรุงเทพฯ
หน้าสถานทูตอินโดเนเซีย  กรุงเทพฯ
ร้านอาหารอาลี สลาตัน ร้านชาวจังหวัดยะลาในซอยกิ่งเพชร
พักผ่อนบริเวณกูโบร์หลังมัสยิดกิ่งเพชร
ที่สถานีหัวลำโพง รอรถไฟไปหนองคาย
ที่สถานรีหัวลำโพง รอ รอ รอ รถไฟ
รอเวลาขึ้นรถไฟลุยกลุ่มประเทศอินโดจีน
 ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงขณะที่คณะนักศึกษารอขึ้นรถไฟไปยังจังหวัดหนองคายนั้น ปรากฎว่ามีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่รู้จักมักคุ้นกับคณะนักศึกษาได้เดินทางมาเยี่ยมและพบปะคณะนักศึกษา ถือเป้นการสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  การเดินทางบนรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย สร้างความตื่นเต้นให้กับคณะนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเริ่มเป็นการเดินทางที่พวกเราไม่คุ้นเคย  โชคดีหน่อยตรงอาหารมื้อเย็นหรือมื้อค่ำนั้น พวกเราได้ซื้อที่ร้านอาลี สลาตัน กิ่งเพชร   ดังนั้นเรื่องอาหารก็ถือว่าหมดปัญหาอีกอย่างหนึ่ง   สำหรับแผนการการเดินทางนั้นนับตั้งแต่สถานีหัวลำโพง เป็นต้นไป เราก็ได้ประสานทาง Facebook กับอาจารย์ วาสน์  มุขยานุวงศ์  ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยเส้นทางทางอีสาน รวมทั้งกลุ่มประเทศอินโดจีน
อาจารย์วาสน์ มุขยานุวงศ์ (คนกลาง) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการนี้ 
บนรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ผู้โดยสารมีค่อนข้างน้อย
นั่งสบาย สบาย ชั้นสาม ฟรี
นั่งรถไฟไปจังหวัดหนองคาย
เก็บภาพที่ระลึกบนรถไฟสายอีสาน
ทานอาหารค่ำที่ซื้อที่ร้านอาลี สลาตัน ที่ซอยกิ่งเพชรบนรถไฟ
ทานอาหารค่ำ ด่้วยความอร่อย รสชาติปักษ์ใต้จากร้านชาวจังหวัดะลาในกรุงเทพฯ
ถึงอำเภอเมืองพล จังหวัดขอนแก่น
สถานีรถไฟอุดรธานี
ว่าง ว่าง อ่าน อ่าน นิตยสารการเมืองรายสัปดาห์
กับครอบครัวชาวกรุงเทพฯที่ตอบว่า จะไปกินแหนมที่หนองคาย พอเย็นๆก็กลับกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟฟรี
ถึงแล้วสถานีรถไฟ จังหวัดหนองคาย
ขึ้นรถสกายแลปให้ไปส่งสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย
ใช้รถสกายแลป 2 คัน ขนนักศึกษา พร้อมสัมภาระ กระเป๋า  สเบียงอาหารแห้ง
ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2013 ขบวนรถไฟนำคณะนักศึกษามลายูศึกษาถึงสถานีรถไฟหนองคาย หลังจากนั้นคณะของเราจึงสอบถามถึงที่ตั้งของสถานีขนส่งหนองคาย เมื่อรับทราบแล้วจึงขึ้นรถสกายแลป  ซึ่งเป็นรถรับจ้างผู้โดยสารในจังหวัดหนองคาย เมื่อรถสกายแลปนำคณะนักศึกษาเดินทางถึงสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย เราก็ไปซื้อตั๋วรถขนส่งเพื่อเดินทางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์  ซึ่งได้เวลารถจะออกจากสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย  แต่ปรากฎว่าที่นั่งในรถขนส่งไม่พอกับจำนวนนักศึกษา  ดังนั้นคณะนักศึกษาจึงต้องเลื่อนการเดินทางไปนครหลวงเวียงจันทน์คันต่อไป ซึ่งจะเดินทางอีกประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า การที่คณะนักศึกษามีเวลานี้เอง ทำให้คณะนักศึกษามีโอกาสที่จะหาร้านอาหารมุสลิม ด้วยก่อนการเดินทางก็มีการเช็คข้อมูลร้านอาหารในจังหวัดหนองคาย และขณะที่อยู่บนรถไฟ ก็ได้โทรศัพท์สอบถามที่ตั้งของร้านอาหารมุสลิมกับร้านที่ได้จากอินเตอร์เน็ต ได้รับคำตอบว่าร้านอยู่ค่อนข้างออกไปนอกตัวเมืองหน่อย 

เราจึงตัดสินใจตั้งกระเป๋า สัมภาระที่สถานีรถขนส่งจังหวัดหนองคาย ตามคำแนะนำของคนขับรถสกายแลป  พวกเราขึ้นรถสกายแลป โดยแจ้งว่าให้ไปส่งที่ร้านอาหารมุสลิมตามที่เราได้ค้นหาในอินเตอร์เน็ต แต่คนขับรถสกายแลปแจ้งว่ายังมีร้านอาหารมุสลิมตั้งอยู่ใกล้ๆไม่ห่างจากสถานีขนส่งมากนัก จึงตัดสินไปยังร้านอาหารมุสลิมที่คนขับรถสกายแลปแนะนำ  เมื่อเดินทางถึงร้านอาหารมุสลิมดังกล่าว  มีลูกค้านั่งอยู่หน้าร้าน 2 คน ทักคณะพวกเรา จึงตอบไปว่าคณะเรามาจากมอ. ปัตตานี กำลังจะเดินทางไปยังประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ลูกค้า 2 คนนั้นจึงพูดว่าพวกเขามาจากจังหวัดนราธิวาส และคุ้นๆหน้าผม  พบบ่อยบริเวณตลาดตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  จึงตอบว่าตัวเองมักเดินทางไปมาเลเซียบ่อย มีญาติพี่น้องอยู่บริเวณอำเภอตากใบพอสมควร  เมื่อเราเข้าไปสั่งอาหารกับเจ้าของร้าน ปรากฎว่าเจ้าของร้านเป็นชาวไทยเชื้อสายปากีสถาน มีถิ่นฐานเดิมอยู่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส โดยมีภรรยาเป็นชาวมลายูจากอำเภอสุไหงโกลก
 เก็บภาพที่ระลึกที่สถานีรถไฟหนองคาย
 รถสกายแลปแห่งจังหวัดหนองคาย
 ขนกระเป๋า สัมมภาระ สเบียง เพื่อไปยังสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย
 ขึ้นรถสกายแลป
 ขึ้นรถสกายแลปเพื่อไปยังสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย
 สภาพรถสกายแลป รถรับจ้างของจังหวัดหนองคาย
 ถ่ายรูปที่ระลึกรถขนส่งที่จะไปประเทศลาว คันนี้เป็นรถไทย แต่ที่นั่งไม่พอ จึงไม่สามารถไปได้
 ลาลาอาลี เจ้าของร้านอาหารมุสลิมในจังหวัดหนองคาย
 นามบัตรของร้านอาหารมุสลิมลาลาอาลี
 รอเวลารถออก เพื่อเดินทางไปยังประเทศลาว
 ที่สถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย มีร้านรับทำบัตรผ่านแดนไทย-ลาว
ก่อนการเดินทางเราซื้อตั๋วรถเพื่อเดินทางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ แต่รถที่เราไปเป็นรถลาว
  คณะเราได้ความรู้อีกอย่างหนึ่ง ลูกค้า 2 คนนั้นบอกว่า พวกเขาเป็นคนขับรถตู้ โดยได้รับการว่าจ้างจากชาวลาวที่เดินทางไปทำงานในประเทศลาว  เมื่อหนังสือเดินทางครบกำหนดอยู่ในมาเลเซีย ชาวลาวดังกล่าวจะออกจากประเทศมาเลเซีย แล้วเช่าเหมาเพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศลาว โดยผ่านจังหวัดหนองคาย  ขณะที่ชาวลาวเหล่านั้นกลับไปยังประเทศลาว กลับไปเยี่ยมครอบครัว คนขับรถตู้ก็พักรออยู่ที่จังหวัดหนองคาย 2-3 วัน เพื่อรอชาวลาวเดินทางเข้ามายังจังหวัดหนองคาย


การเดินทางถึงจังหวัดหนองคายในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเดินทางเพื่อสู่กลุ่มประเทศอินโดจีนครั้งแรกของคณะนักศึกษามลายูศึกษา การบุกเบิกการเดินทางของนักศึกษามลายูศึกษาไปยังภาคอีสาน และถือเป็นจังหวัดประตูสู่ดินแดนอินโดจีน

Sabtu, 22 Jun 2013

22 มิถุนายน 2013 : ครบรอบ 486 ปีของการจัดตั้งกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
วันที่ 22 มิถุนายน 2013 เป็นวันครบรอบ 486 ปีของการจัดตั้งกรุงจาการ์ตา  ประเทศอินโดเนเซีย กรุงจาการ์ตาเป็นเมืองหลวงที่ใหญ่มากอีกเมืองหนึ่ง ในปี 2011 มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน  กรุงจาการ์ตามีชื่อที่หลากหลายตั้งแต่การจัดตั้ง เช่น ก่อนปี 1527 มีชื่อว่า Sunda Kelapa  ระหว่างปี 1527- 1619 มีชื่อว่า Jayakarta ต่อมาระหว่างปี 1619-1942 มีชื่อว่าเมืองบาตาเวีย (Batavia)  และในระหว่างปี 1942-1972 มีชื่อว่าจาการ์ตา หรือ  Djakarta  และตั้งแต่ปี 1972 เหลือแต่เพียง Jakarta ตามการสะกดอักขระใหม่
สภาพบ้านเมืองของกรุงจาการ์ตา
สภาพการจราจรที่ค่อนข้างจะติดขัดยิ่งกว่ากรุงเทพฯ ประเทศไทย
  ความเจริญของบ้านเมืองที่ขัดแย้งกับสภาพความยากจนของพลเรือน 
 สภาพบ้านเมืองในมุมมองบวก เป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างชนชั้นค่อนข้างสูงมาก
บ้านเมืองที่เต็มด้วยมัสยิด แต่ศาสนาอิสลามไม่ใช่ศาสนาประจำชาติของอินโดเนเซีย

ประวัติความเป็นมาของกรุงจาการ์ต
ยุคที่เรียกว่าซุนดาเกอลาปา (Sunda Kelapa)
ยุคแรกนั้นเริ่มขึ้นโดยท่าเรือ Sunda Kelapa เป็นท่าเรือของอาณาจักรซุนดา ซึ่งอาณาจักรซุนดา เป็นอาณาจักรที่เนื่องต่อมาจากอาณาจักตารูมานาฆารา (Tarumanagara) ในศตวรรษที่ 12 เมืองท่า Sunda Kelapa มีความรุ่งเรือง มีเรือสินค้าแวะมาค้าขาย  ทั้งมาจากประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดียใต้ และตะวันออกกลาง  เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างพ่อค้าต่างๆจากนานาประเทศ
 จุดกำเนิดของกรุงจาการ์ตา ท่าเรือซุนดาเกอลาปา จุดท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศ
สภาพเรือบริเวณซุนดาเกอลาปา 
ยุคที่เรียกว่าเมืองจายาการ์ตา (Jayakarta)  (ปี 1527- 1619)
ชาติโปร์ตุเกสเป็นชาติยุโรปชาติแรกที่เข้ามายังกรุงจาการ์ตา  ในศตวรรษที่ 16  กษัตริย์ซุนดาที่ชื่อว่า Surawisesa ได้ขอความช่วยเหลือจากชาติโปร์ตุเกสที่เมืองมะละกา ให้เดินทางมาช่วยสร้างป้อมปราการที่เมืองท่าซุนดาเกอลาปา  เพื่อป้องกันการโจมตีจากเมืองจีเรบน (Cirebon) ซึ่งเมืองจีเรบนพยายามที่จะแยกตัวออกจากอาณาจักรซุนดา  แต่ก่อนที่โปร์ตุเกสจะสร้างป้อมปราการเสร็จ กษัตริย์ที่ชื่อว่า Fatahillah ก็สามารถขับไล่ออกจากเมืองท่าซุนดาเกอลาปา ต่อมา Fatahillah ได้เปลี่ยนชื่อจากซุนดาเกอลาปา (Sunda Kelapa)มาเป็นเมืองจายาการ์ตา (Jayakarta)ซึ่งมีความหมายว่า เมืองแห่งชัยชนะ”  นายซูดีโร (Sudiro) ผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ยุคปี 1956 ได้กำหนดให้วันดังกล่าว คือ วันที่ 22 มิถุนายน ปี 1527 เป็นวันก่อตั้งกรุงจาการ์ตา

ยุคที่เรียกว่าเมืองบาตาเวีย  (Batavia) (ปี 1619-1942)
ชาติฮอลันดาได้เดินทางมายังเมืองจายาการ์ตาในศตวรรษที่ 16  ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เมืองจายาการ์ตา ถูกปกครองโดยกษัตริย์ที่ชื่อว่า Pangeran Jayakarta ซึ่งเป็นเครือญาติของราชวงศ์แห่งบันเตน (Banten) ต่อมาในปี 1619 ทางบริษัทฮอลันดา ที่ชื่อว่า Vereenigde Oostindische Compagnie  หรือ VOC  ที่มี Jan Pieterszoon Coen เป็นผู้นำ จนทำให้กองทัพของอาณาจักรบันเตนพ่ายแพ้ และสามารถยึดครองเมืองจายาการ์ตาได้ และได้เปลี่ยนชื่อเมืองจาก เมืองจายาการ์ตา (Jayakarta)  มาเป็นเมืองบาตาเวีย (Batavia) ใช้ชื่อเมืองในชื่อนี้เป็นเวลานานตลอดยุคที่ถูกยึดครองเป็นอาณานิคมของฮอลันดา
แผนที่เมืองบาตาเวีย
 ชาวฮอลันดายุคอาณานิคม
 สภาพบ้านเมืองยุคอาณานิคม
 ชาวอินโดเนเซียพื้นเมือง
 โรงละครของเมืองบาตาเวีย
 บ้านเมืองยุคอาณานิคม
รถม้าถือเป็นหนึ่งในการคมนาคมที่สำคัญในยุคอาณานิคม

ยุคที่เรียกว่าเมืองจาการ์ตา (Jakarta) (ปี 1942-1972)
นับตั้งแต่การยึดครองของญี่ปุ่น ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการเอาใจประชาชนอินโดเนเซีย  กองทัพญี่ปุ่นได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากเมืองบาตาเวีย (Batavia) มาเป็นเมืองจาการ์ตา  ความเจริญของกรุงจาการ์ตามีมากขึ้น เมื่อได้รับการเลือกให้เป็นเมืองหลวงของประเทศอินโดเนเซีย
 ตลาดปาซาร์เซอนิน กรุงจาการ์ตา
อนุสาวรีย์แห่งชาติ กรุงจาการ์ตา

ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงจาการ์ตา
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตานั้น จะลงสมัครรับเลือกตั้งพร้อมกับรองผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา โดยมีวาระ 5 ปี  สำหรับคะแนนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องได้คือเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีไม่มีผู้ใดได้คะแนนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีการเลือกตั้งรอบที่ 2 โดยเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 และ 2  

สำหรับผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาคนปัจจุบันคือ นายโจโก วีโดโด (Joko Widodo) ส่วนรองผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา เป็นชาวอินโดเนเซียเชื้อสายจีน ชื่อว่า นายบาซูกี  จาฮายา ปูร์นามา (Basuki Tjahaja Purnama) ทั้งสองคนเป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา และรองผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปไตยอินโดเนเซีย - การต่อสู้ (PDI-P : Partai Demokratik Indonesia - Perjuangan) ซึ่งมีนางเมฆาวาตี ซูการ์โน ปุตรี อดีตประธานาธิบดีอินโดเนเซียเป็นผู้นำ

เขตการปกครองกรุงจาการ์ตา
ด้วยกรุงจาการ์ตาเป็นเมืองที่ใหญ่ จึงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 เขตการปกครอง และ 1 อำเภอ คือ
1. เขตการปกครองจาการ์ตาตะวันตก  มีประชากรในเขตการปกครองจำนวน  2,260,341 คน
2. เขตการปกครองจาการ์ตากลาง มีประชากรในเขตการปกครองจำนวน  861,531 คน
3. เขตการปกครองจาการ์ตาใต้  มีประชากรในเขตการปกครองจำนวน  2,057,080 คน
4. เขตการปกครองจาการ์ตาตะวันออก มีประชากรในเขตการปกครองจำนวน  2,687,027 คน
5. เขตการปกครองจาการ์ตาเหนือ  มีประชากรในเขตการปกครองจำนวน 1,468,840 คน
6. อำเภอปูเลาซือรีบู มีประชากรในเขตการปกครองจำนวน 21,071 คน

กรุงจาการ์ตากับนักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษา
สาขาวิชาเอกมลายูศึกษา ของคณะมนุษยศาสตร์ฯ ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสาขาวิชาบูรณาการ นอกจากการเรียนภาษามลายูแล้ว ยังต้องเรียนเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ฯลฯ ของประเทศต่างๆ ไม่เพียงแต่ประเทศมาเลเซียเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอินโดเนเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์  สำหรับนักศึกษาวิชาเอกมลายูนั้น การเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ด้วยต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ การเดินทางนอกเหนือจากประเทศมาเลเซีย ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการท้าทาย เป็นการผจญภัยในประเทศที่เราไม่เคยเดินทางไป ประเทศแรกที่นักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษาไปคือประเทศฟิลิปปินส์  ต่อมาจึงเป็นประเทศอินโดเนเซีย  

สำหรับนักศึกษารุ่นแรกที่เดินทางไปยังประเทศอินโดเนเซีย ประกอบด้วยนักศึกษา 4 คน โดยเดินทางไปยังกรุงจาการ์ตา และเมืองบันดุง การเดินทางในครั้งนั้นนอกจากได้เยี่ยมมหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอินโดเนเซียแล้ว ยังเดินทางไปยังสถาบันเทคโนโลียี่บันดุง สถาบันที่อดีตประธานาธิบดีซูการ์โนเคยเล่าเรียนที่นั่น การเดินทางของคณะนักศึกษาครั้งนั้น ทำให้ต่อมามีนักศึกษาคนหนึ่งในจำนวน 4 คนข้างต้น ได้สมัครทุนรัฐบาลอินโดเนเซีย เพื่อเรียนภาษาอินโดเนเซียเป็นเวลา 1 ปี 
  ไปยืนอยู ณ บริเวณซุนดาเกอลาปา จุดเริ่มต้นของการเกิดกรุงจาการ์ตา
บริเวณเมืองเก่า หรือ Kota Lama ศูนย์อำนาจเก่ายุคฮอลันดาปกครอง
 หน้าร้านกาแฟ ชื่อร้านบาตาเวีย (Batavia) บริเวณเมืองเก่าของกรุงจาการ์ตา
 หน้าอาคารผู้ปกครองยุคอาณานิคมฮอลันดา เมืองเก่าของกรุงจาการ์ตา 
 ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของกรุงจาการ์ตา
 ในสวนที่ย่อประเทศอินโดเนเซียเข้าด้วยกัน ที่ชื่อว่า Taman Indonesia Indah
 หน้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย
 กับนักเขียนอินโดเนเซียที่ชื่อว่า Viddy Daery หน้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย
 กับศาสตราจารย์ ดร. Zulhasri Nasir ผู้อำนวยการศูนย์อารยธรรมมลายู ของมหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย

สิ่งแรกที่เราพบเห็นจากการเดินทางมายังกรุงจาการ์ตา นั้นคือความยิ่งใหญ่ของกรุงจาการ์ตา ด้วยเป็นเมืองหลวงที่มีประชากรมากกว่กรุงเทพฯด้วยซ้ำไป กรุงจาการ์ตา มีประชากรกว่า 9 ล้าน

อาคาร ตึกสูง ในกรุงจาการ์ตา
อนุสาวรีย์แห่งชาติ หรือ Monumen Nasional (Monas)
สภาพการจราจรที่ติดขัด สาหัสกว่ากรุงเทพฯ
กรุงจาการ์ตา ยังไม่มีรถไฟลอยฟ้าหรือใต้ดิน จะมีก็แต่ รถบัส TranJakarta ที่เดินบนเลนเฉพาะของตนเอง
นักศึกษามลายูศึกษารุ่นที่สองที่ได้เดินทางไปยังกรุงจาการ์ตา เป็นนักศึกษาที่เดินทางรอบแหลมมลายูของประเทศมาเลเซีย แล้วเข้าไปยังประเทศสิงคโปร์ ต่อจากนั้นจึงเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดเนเซีย 
เดินทางไปยังบริเวณที่เรียกว่า "ซุนดาเกอลาปา" จุดเริ่มต้นของการเกิดกรุงจาการ์ตา

 เยี่ยมมหาวิทยาลัยชารีฟฮีดายาตุลลอฮ 
 เยี่ยมมหาวิทยาลัยชารีฟฮีดายาตุลลอฮ
 เยี่ยมมหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย เมืองเดปอก 
 อาหารเกือบทุกมื้อด้วยร้านเค.เอฟ.ซี. ด้วยท้องไม่ชินกับอาหารพื้นเมือง 
 ไปยังเมืองเก่าที่เรียกว่า Kota Lama ศูนย์อำนาจยุคอาณานิคม 
 ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ณ เมืองเก่าของกรุงจาการ์ตา
 เบื้อหลังคือสำนักงานผู้ว่าการยุคอาณานิคมฮอลันดา
 เก็บภาพที่ระลึก โดยเบื้อหลังเป็นการแสดงของชนชาวเบอตาวี

 ตอนไปเมืองเก่า ปรากฎว่ามีงานการแสดงของชาวกรุงจาการ์ตา
คุณอาฟีนี โต๊ะแว กับเบื้องหลังสถานีรถไฟจาการ์ตาโกตา ใกล้กับเมืองเก่าของกรุงจาการ์ตา