Jumaat, 14 Mei 2010

ครบรอบ 64 ปี การจัดตั้งพรรคอัมโน (UMNO)

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ตราสัญญลักษณ์พรรคมลายูสมัคคีแห่งชาติ

ธงประจำพรรคมลายูสมัคคีแห่งชาติ

อาคารสำนักงานใหญ่พรรคมลายูสมัคคีแห่งชาติ

ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2010 เป็นวันครบรอบ 64 ปีของการก่อตั้งพรรคอัมโน(UMNO) ชื่อของพรรคอัมโนนี้ในภาษาไทย มีการแปลชื่อพรรคแตกต่างกัน บางคนใช้ชื่อพรรคอัมโนว่า พรรคสหมาเลย์แห่งชาติ แต่ผู้เขียนขอใช้ชื่อพรรคอัมโนในอีกชื่อหนึ่ง คือพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ โดยใช้ชื่อพรรคในภาษามลายูเป็นเกณฑ์ นั้นคือ Pertubuhan Kebangsaan Melayu Bersatu โดยมีคำแปลดังนี้ Pertubuhan – องค์กร, Kebangsaan – แห่งชาติ, Melayu – มลายู และ Bersatu – สามัคคี

พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ มีชื่อเป็นภาษามลายูว่าPertubuhan Kebangsaan Melayu Bersatu เขียนด้วยอักขระยาวีดังนี้ ڤرتوبوهن كبڠسأن ملايو برساتو พรรคอัมโนมีชื่อย่อในภาษามลายูว่า Pekembar และพรรคมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า United Malay National Organisation มีชื่อย่อในภาษาอังกฤษว่า UMNO สำหรับชื่อย่อของพรรคในภาษาอังกฤษนั้นเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมมากกว่าชื่อย่อของพรรคในภาษามลายู ดังนั้นเมื่อสาธารณชนจะกล่าวถึงพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ มักจะใช้ชื่อย่อว่า พรรคอัมโน และพรรคอัมโนนี้ถือเป็นพรรคแกนหลักของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) หรือ Barisan Nasional ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองต่างๆ 13 พรรคด้วยกัน พรรคแนวร่วมแห่งชาติเป็นพรรครัฐบาลสหพันธรัฐ

โครงสร้างพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ
พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ เป็นพรรคการเมืองที่ใช้ระบบพรรคแบบพรรคมวลชน หรือ Mass Party

ประธานสมัชชาพรรค หรือ Pengerusi Tetap (Permanent Chairman) คือ
ดาโต๊ะปาดูกา ฮัจญี บัดรูดดิน บินอามีรุลดิน (Dato' Paduka Hajji Badruddin bin Amiruldin )
ประธานพรรค หรือ Presiden Parti (President) คือ
ดาโต๊ะศรี มูฮัมหมัดนายิบ ตนอับดุลราซัค (Datuk Sri Mohd Najib Tun Abdul Razak)
รองประธานพรรค Timbalan Presiden Parti (Deputy President) คือ
ตันศรี ดาโต๊ะ ฮัจญีมุหยิดดิน บินมูฮัมหมัดยัสซิน (Tan Sri Dato' Haji Muhyiddin bin Mohd. Yassin)
ประธานฝ่ายเยาวชน คือ
นายคัยรี ยามาลุดดิน (Khairy Jamaluddin)
ประธานฝ่ายสตรี คือ
ดาโต๊ะศรี ชาห์รีซัต อับดุลยาลิล (Datuk Seri Shahrizat Abdul Jalil)
ประธานฝ่ายเยาวชนสตรี คือ
ดาโต๊ะโรสนะห์ ฮัจญีอับดุลราชิดชีร์ลิน (Datuk Rosnah Haji Abdul Rashid Shirlin )

สมาชิกพรรคพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ
พรรคพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติมีสมาชิกจนถึงปัจจุบัน 3,159,484 คน

ประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ
1. ดาโต๊ะ ออนน์ บินยะอาฟาร์ (Dato’ Onn bin Jaafar) ดำรงตำแหน่งระหว่าง 11 พฤษภาคม 1946 - 26 สิงหาคม 1951
ดาโต๊ะ ออนน์ บินยะอาฟาร์ (Dato’ Onn bin Jaafar)

2. ตนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา อัลฮัจญ์ (Tunku Abdul Rahman Putra Al-Haj)ดำรงตำแหน่งระหว่าง 26 สิงหาคม 1951 - 24 มกราคม 1971
ตนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา อัลฮัจญ์ (Tunku Abdul Rahman Putra Al-Haj)

3. ตนอับดุลราซัค ดาโต๊ะฮุสเซ็น (Tun Abdul Razak Dato' Hussein)ดำรงตำแหน่งระหว่าง 24 มกราคม 1971 - 14มกราคม 1976
ตนอับดุลราซัค ดาโต๊ะฮุสเซ็น (Tun Abdul Razak Dato' Hussein)

4. ตนฮุสเซ็น ออนน์ (Tun Hussein Onn)ดำรงตำแหน่งระหว่าง 14 มกราคม 1976 - 28 มิถุนายน 1981
ตนฮุสเซ็น ออนน์ (Tun Hussein Onn)

5. ตน ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Tun Dr. Mahathir bin Mohamad)ดำรงตำแหน่งระหว่าง 28 มิถุนายน 1981 - 30 ตุลาคม 2003
ตน ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Tun Dr. Mahathir bin Mohamad)

6. ตนอับดุลลอฮ บินฮัจญีอาหมัดบาดาวี (Tun Abdullah bin Haji Ahmad Badawi)ดำรงตำแหน่งระหว่าง 30 ตุลาคม 2003 - 28 มีนาคม 2009
ตนอับดุลลอฮ บินฮัจญีอาหมัดบาดาวี (Tun Abdullah bin Haji Ahmad Badawi)

7. ดาโต๊ะศรีมูฮัมหมัดนายิบ บินตนอับดุลราซัค (Dato' Sri Mohd Najib bin Tun Haji Abdul Razak)ดำรงตำแหน่งระหว่าง 28 มีนาคม 2009

เพลงประจำพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ(UMNO)
Bersatu, Bersetia, Berkhidmat
Bersatu Kita Bersatu
Dengan Setia Berganding Bahu
Jiwa Teguh Berpadu
Kita Rumpun Melayu
Bersama Kita Bersama
Mendukung Hasrat Semua
Berjasa Pada Bangsa
Agama Dan Negara
Lambang Kita Yang Gagah
Dipandang Mulia Dan Indah
"Bersatu, Bersetia, Berkhidmat"

ปีกเศรษฐกิจของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ
พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติมีปีกทางเศรษฐกิจอยู่ 2 ส่วนคือ
1.กิจการทางธุรกิจที่ดำเนินการในนามของพรรค
กิจการทางธุรกิจของพรรค ที่ให้บุคคลอื่น หรือองค์กรอื่นถือหุ้นแทนนั้นมีเป็นจำนวนมาก เช่นการถือหุ้นในหนังสือพิมพ์ สถานีโทรทัศน์ และกิจการธุรกิจอื่นๆ
2.กิจการทางธุรกิจที่ดำเนินการโดยสมาชิกพรรค
ด้วยสมาชิกพรรคมีเป็นจำนวนหลายล้านคน จึงมีการจัดตั้งหน่วยเศรษฐกิจของสมาชิกพรรค แรกเริ่มมีการจัดตั้งในรูปแบบของสหกรณ์ โดยใช้ชื่อว่า Kopersi Usaha Bersatu ต่อมาสหกรณ์แห่งนี้ได้ไปซื้อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สำหรับภูมิบุตรแห่งหนึ่งชื่อว่า Permodalan Perak Berhad และเปลี่ยนชื่อบริษัทดังกล่าวเป็น KUB Malaysia Berhad

สำหรับกิจการทางธุรกิจของกลุ่มสมาชิกพรรคนี้มีมากมาย เช่น มหาวิทยาลัยตนอับดุลราซัค (ร่วมเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาโททางไกลกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ) นอกจากนั้นมีบริษัทต่างๆดังนี้
1.KUB Telekomunikasi Sdn Bhd (KUBTel)
2.KUB-Fujitsu Telecommunications (Malaysia) Sdn Bhd
3.Empirical Systems (M) Sdn Bhd
4.KUB Development Berhad (KUBD)
5.Bina Alam Bersatu Sdn Bhd
6.Peraharta Sdn Bhd
7.KUB Power Sdn Bhd
8.KUB Realty Sdn Bhd
9.KUB Builders Sdn Bhd
10.Precast Products Sdn Bhd
11.A&W (Malaysia) Sdn Bhd
12.A&W Restaurants (Thailand) Co. Ltd.
สำหรับบริษัทนี้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ A&W ในประเทศไทย เดิมบริษัทนี้มีบรรษัทพัฒนาเศรษฐกิจแห่งรัฐตรังกานูเป็นเจ้า ต่อมาได้ขายหุ้นให้ทาง KUB Malaysia Berhad
13.KUB Agrotech Sdn Bhd
14.KUB Sepadu Sdn Bhd
15.Summit Petroleum (Malaysia) Sdn Bhd
16.KUB-Berjaya Enviro Sdn Bhd
17.อื่นๆ

มหวิทยาลัยตนอับดุลราซัค

มหวิทยาลัยตนอับดุลราซัค

ประวัติความเป็นมาของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ
ประวัติยุคดาโต๊ะออนน์ บินยะอาฟาร์
ในการประชุมสมัชชาที่เรียกว่า สภาชาวมลายูแห่งมาลายา ครั้งที่ 1 (Kongres Melayu SeMalaya Pertama) ที่จัดโดยสมาคมชาวมลายูแห่งรัฐสลังงอร์(Persatuan Melayu Selangor) ซึ่งจัดที่คลับสุลต่านสุไลมาน เขตกำปงบารู กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 1-4 มีนาคม 1946 มีองค์กรของชาวมลายูส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 41 องค์กร การประชุมครั้งนี้ดาโต๊ะออนน์ บินยะอาฟาร์ จากสมคมชาวมลายูแห่งรัฐโยโฮร์ (Persatuan Melayu Johor) ได้รับเลือกให้เป็นประธานของการประชุม มติของที่ประชุมครั้งนี้คือ

1. จัดตั้งองค์กรมลายูสามัคคีแห่งชาติ
2. ต่อต้านการจัดตั้งสหภาพมาลายา(ตามแผนการของอังกฤษ)
3. มีการจัดตั้งกองทุนการศึกษาของชาวมลายู

มีการคัดเลือกคณะกรรมการชุดหนึ่งประกอบด้วย ดาโต๊ะออนน์ บินยะอาฟาร์(Dato Onn Jaafar), ดาโต๊ะปังลีมาบูกิตกันตัง(Dato Panglima Bukit Gantang), ดาโต๊ะนิอาหมัด กามิล (Dato Nik Ahmad Kamil), ดาโต๊ะฮัมซะห์ อับดุลลอฮ (Dato Hamzah Abdullah) และ นายซัยนาลอาบีดิน อาหมัด หรือ ซาอาบา (Encik Zainal Abidin Ahmad @ Za'aba) เพื่อร่างธรรมนูญของพรรคองค์กรมลายูสามัคคีแห่งชาติ อันจะนำธนี้เข้าที่ประชุมสมัชชาครั้งต่อไป

สำหรับแผนการจัดตั้งสหภาพมาลายาของอังกฤษนั้น แม้ว่าจะได้รับการต่อต้านจากชาวมลายู แต่อังกฤษก็ยังคงเดินเรื่องในการจัดตั้งสหภาพมาลายา จนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 1946 อังกฤษก็ได้จัดตั้งสหภาพมาลายาจนสำเร็จ ชาวมลายูและองค์กรมลายูต่างๆได้ต่อต้านและไม่ให้ความร่วมมือในการจัดตั้งสหภาพมาลายา จนเมื่อ 11 พฤษภาคม 1946 จึงได้มีการประชุมสภาชาวมลายูครั้งที่ 3 (Kongres Melayu SeMalaya Pertama)
และการประชุมใหญ่ของพรรคอัมโน ที่พระราชวังโยโฮร์บาห์รู รัฐโยโฮร์ ในการประชุมครั้งนั้นมีการรับหลักการของธรรมนูญของพรรคอัมโน นั้นคือวันที่ถือว่าเป็นวันก่อตั้งที่เป็นทางการของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ หรือพรรคอัมโน

จะเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาตินั้น เกิดจากการรวมตัวขององค์กรชาวมลายู ดังนั้นในช่วงแรกๆสมาชิกของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ จึงประกอบด้วยองค์กรต่างๆของชาวมลายู ต่อมามีการเปลี่ยนสถานภาพสมาชิกจากองค์กรของชาวมลายูมาเป็นสมาชิกตัวบุคคล ภายหลังดาโต๊ะออนน์ บินยะอาฟาร์ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนสถานภาพของสมาชิกพรรค จากการผูกขาดเฉพาะชาวมลายู แต่ให้มีการเปิดกว้าง โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา หรือภาษาพูด แต่ขอเสนอดังกล่าวได้รับการต่อต้าน ดังนั้นในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 6 ของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ เมื่อ 25-26 สิงหาคม 1951 ดาโต๊ะออนน์ บินยะอาฟาร์ จึงได้ลาออกจากพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เมื่อ 26 สิงหาคม 1951 โดยพรรคการเมืองใหม่นี้ใช้ชื่อว่า พรรคเอกราชแห่งมาลายา หรือ Independence of Malaya Party เป็นพรรคที่สมาชิกไม่จำกัด เชื้อชาติ ศาสนา และภาษาพูด ต่อมาดาโต๊ะออนน์ บินยะอาฟาร์ลาออกจากพรรคนี้ไปจัดตั้งพรรคใหม่ใช้ชื่อว่า พรรคแห่งชาติ หรือ Parti Negara (National Party)

ประวัติยุคตนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา
หลังจากดาโต๊ะออนน์ บินยะอาฟาร์ ได้ลาออกจากประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติแล้ว ตนกูอับดุลราห์มาน ปุตราได้รับเลือกเป็นประธานพรรคคนใหม่ ในยุคตนกูอับดุลราห์มาน ปุตราเป็นยุคที่มาเลเซียได้รับเอกราช โดยได้รับเอกราชเมื่อ 31 สิงหาคม 1957 ตนกูอับดุลราห์มาน ปุตราเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อว่าสหพันธรัฐมาลายา ต่อมาตนกูอับดุลราห์มาน ปุตราเป็นผู้เสนอแนวคิดการจัดตั้งประเทศใหม่ โดยการรวมสหพันธรัฐมาลายา บรูไน สิงคโปร์ รัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค เข้าเป็นประเทศมาเลเซีย ต่อมาบรูไนถอนตัวก่อนการรวมประเทศ ประเทศใหม่นี้เกิดขึ้นเมื่อ 16 สิงหาคม 1963
ต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม 1965 สิงคโปร์ได้ถอนตัวออกจากประเทศมาเลเซียและประกาศเอกราชเป็นประเทศสิงคโปร์ ในยุคตนกูอับดุลราห์มาน ปุตราเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 1969 และในปี 1971 ตนกูอับดุลราห์มาน ปุตราได้ลาออกจากประธานพรรคพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

ยุคตนอับดุลราซัค
เมื่อตนกูอับดุลราห์มาน ปุตราลาออกจากประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียแล้ว ตนอับดุลราซัคได้รับเลือกเป็นประธานพรรคพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติคนที่ 3 และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 2 ในยุคตนอับดุลราซัคนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ “13 พฤษภาคม 1969 ” ทางรัฐบาลได้มีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ Dasar Ekonomi Baru (New Economy Policy) เพื่อปรับโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจของมาเลเซียให้มีความสมดุล และเป็นธรรมมากขึ้น ตนอับดุลราซัคเสียชีวิตในปี 1976

ยุคตนฮุสเซ็น ออน์
หลังจากตนอับดุลราซัคเสียชีวิตแล้ว ตนฮุสเซ็น บุตรชายดาโต๊ะออนน์ บินยะอาฟาร์ ประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติคนแรก ก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติคนที่ 4 และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 3 ในยุคตนฮุสเซ็น ออน์ได้มีการประกาศจัดตั้งกองทุนการเงินที่เรียกว่า Amanah Ikhtiar Nasional การจัดตั้งกองทุนการเงินนี้เพื่อระดมทุนจากชาวภูมิบุตร (ชาวมลายู, ชาวพื้นเมืองดั้งเดิม, ชาวพื้นเมืองรัฐซาบะห์, ชาวพื้นเมืองรัฐซาราวัค รวมทั้งชาวมาเลเซียเชื้อสายชาวไทยพุทธที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชาวภูมิบุตรด้วย) อันจะเป็นการยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวภูมิบุตรให้มีสัดส่วนที่สมดุลมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับชาวมาเลเซียเชื้อสายอื่นๆ

ยุคดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด
ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัดเป็นประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติคนที่ 5 และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 4 ในยุคดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ถือเป็นยุคที่พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติยุบศาลสั่งให้ยุบพรรค การยุบพรรคนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานพรรคระหว่างดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีกับเต็งกูราซาลี เต็งกูฮัมซะห์ อดีตรัฐมนตรีการคลัง ในปี 1987 ในการแข่งขันครั้งนั้นปรากฏว่าดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัดชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนไม่มากนัก คือ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ 761 คะแนน ส่วนเต็งกูราซาลี เต็งกูฮัมซะห์ได้ 718 คะแนน ต่างกันเพียง 43 คะแนน มีสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งไม่พอใจผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วยเห็นว่ามีบางสิ่งไม่ถูกต้อง สมาชิกพรรคจำนวน 11 คน ที่ต่อมารู้จักในนามของ “UMNO 11” ได้ทำการฟ้องศาลในเดือนมิถุนายน 1987 ให้การเลือกตั้งประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติครั้งนั้นเป็นโมฆะ และให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้เหตุผลว่า มีสาขาพรรคย่อย(Cawangan)จำนวนถึง 30 แห่งใน 4 สาขาพรรคระดับเขต(Bahagian) ที่ยังไม่ได้รับการจัดตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นถือว่าสาขาพรรคย่อย(Cawangan)เหล่านั้นย่อมผิดกฎหมาย และในการเลือกตัวแทนพรรค(Perwakilan)ในสาขาพรรคระดับเขต(Bahagian)ดังกล่าวเพื่อไปลงคะแนนในการเลือกประธานพรรค ย่อมถือว่าผิดกฎหมายด้วย และการเลือกประธานพรรคที่ผ่านมาย่อมเป็นโมฆะ ขอให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งประธานพรรคใหม่ แต่ในการตัดสินของศาลสูงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 1988 ผู้พิพากษาฮารุน ฮาชิม (Harun Hashim) ได้ตัดสินให้พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ หรือพรรคอัมโน เป็นพรรคที่ผิดกฎหมาย ต้องยุบพรรค ด้วยเหตุผลที่มีสาขาพรรคย่อย(Cawangan) ไม่ได้จดทะเบียน และถือเป็นที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งองค์กรปี 1966 (Akta Pertubuhan 1966)

ต่อมาดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัดได้จัดตั้งพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติขึ้นมาใหม่ เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 1988 ใช้ชื่อว่า พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติใหม่(United Malay National Organisation - UMNO Baru) ส่วนฝ่ายเต็งกูราซาลี เต็งกูฮัมซะห์ ได้ไปจัดตั้งพรรคของตฝ่ายตัวเอง ใช้ชื่อว่า พรรคสปิริต 46 (Parti Semangat 46) เป็นพรรคที่สืบทอดอุดมการณ์ของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นในปี 1946 การแตกแยกของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติในครั้งนี้ทำให้พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติอ่อนแอลง ต่อมาพรรคสปิริต 46 (Parti Semangat 46) ได้ร่วมกับพรรคปาส(Parti PAS)และพรรคการเมืองอื่นๆอีก 2 พรรคสามารถเป็นรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐกลันตัน ภายหลังพรรคสปิริต 46 (Parti Semangat 46)ได้กลับมารวมกับพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบันรัฐกลันตันก็ตกอยู่ภายในอำนาจของพรรคปาส

นอกจากนั้นในยุคดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายพระราชาธิบดีและบรรดาเจ้าเมือง ด้วยบรรดาเจ้าเมืองบางส่วนได้กระทำผิดหลายประการ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องการลดอำนาจของฝ่ายพระราชาธิบดีและบรรดาเจ้าเมือง จนเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญของมาเลเซีย มีผลทำให้อำนาจบางส่วนของฝ่ายพระราชาธิบดีและบรรดาเจ้าเมืองลดลง โดยสภาผู้แทนราษฎรมีการลงมติผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อ 19 มกราคม 1993และวุฒิสภาลงมติผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อ 20 มกราคม 1993 และหลังจากนั้นมีการบัญญัติการแก้ไขลงในรัฐธรรมนูญในเดือนมีนาคม 1993 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ฝ่ายพระราชาธิบดีและบรรดาเจ้าเมืองเมื่อกระทำผิดกฎหมายสามารถถูกดำเนินคดีได้ โดยมีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมา และมีการแก้ไขพ.ร.บ. การปลุกระดม ปี 1948 (Akta Hasutan 1948 หรือ 1948 Sedition Act) โดยอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์พระราชาธิบดีและบรรดาเจ้าเมืองได้

ในปี 1998 ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด เกิดความขัดแย้งกับดาโต๊ะศรี อันวาร์ อิบราฮิม (Datuk Seri Anwar Ibrahim) ผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จนดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด ปลดดาโต๊ะศรีอันวาร์ อิบราฮิม ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และต่อมาดาโต๊ะศรีอันวาร์ อิบราฮิม ได้จัดตั้งพรรคความยุติธรรมของประชาชน (Parti KeAdilan Rakyat) โดยมีดาโต๊ะศรี ดร. (Datuk Seri Dr. Wan Azizah Wan Ismail) ผู้ภรรยาเป็นหัวหน้าพรรค

ถึงแม้ว่าดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด จะมีภาพของนักเผด็จการอยู่บ้าง แต่ด้วยการที่เป็นคนเด็ดขาด มองการณ์ไกลนี้เอง สามารถพัฒนาประเทศมาเลเซีย จนรุกหน้า บางครั้งอาจล้ำหน้ากว่าบางประเทศที่เคยก้าวหน้ากว่าประทศมาเลเซียด้วยซ้ำไป ในยุคดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด มีการสร้างนโยบายมองตะวันออก หรือ Look East ให้มีการศึกษาความพัฒนาของประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลี มีการส่งนักศึกษามาเลเซียไปยังทั้งสองประเทศเป็นจำนวนหลายหมื่นคน มีการสร้างตึกแฝดเปโตรนัส สร้างเมืองปุตราจายา สร้างหอคอยกัวลาลัมเปอร์ หรือแม้แต่การส่งนักอวกาศชาวมาเลเซียในยุคอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี ก็เป็นการเตรียมการในยุคดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด โดยมีการสัญญาส่งนักอวกาศชาวมาเลเซียในกรณีมาเลเซียซื้อเครื่องบินรบจากประเทศรัสเซีย

ผลงานของดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด
เมืองปุตราจายา

เมืองปุตราจายา

เมืองปุตราจายา

เมืองปุตราจายา

หอคอยกัวลาลัมเปอร์

ตึกแฝดเปโตรนัส

ตนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวีรับตำแหน่งประธานพรรคต่อจากดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด

ยุคตนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี
ภายหลังจากตน ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ลาออกจากประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีแล้ว ตนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวีขึ้นสู่ตำแหน่งประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติคนที่ 6 และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 5 ในช่วงแรกของการขึ้นสู่อำนาจปรากฏว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียในปี 2004 พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติและพรรคแนวร่วมแห่งชาติได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ในยุคตนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี ได้มีการประกาศนโยบาย “อิสลามฮาดารี – Islam Hadhari” แต่ต่อมาด้วยปัจจัยการเล่นพรรค เล่นพวกภายในครอบครัวตนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี รวมทั้งปัจจัยจากบุตรเขยของตนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี และความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียในปี 2008 พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติและพรรคแนวร่วมแห่งชาติได้รับเลือกตั้งไม่ถึง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร และไม่เพียงรัฐกลันตันยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคปาสเท่านั้น แต่มีผลทำให้รัฐสลังงอร์ รัฐปีนัง รัฐเปรัค ละรัฐเคดะห์ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคฝ่ายค้านอีกด้วย จนเกิดการเรียกร้องให้ตนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี ลาออกจาดตำแหน่งประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี จนต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 28 มีนาคม 2009
ดาโต๊ะศรีมูฮัมหมัดนายิบ บินตนอับดุลราซัครับตำแหน่งประธานพรรคต่อจากตนอับดุลลอฮ อาหมัด บาดาวี

ยุคดาโต๊ะศรีมูฮัมหมัดนายิบ บินตนอับดุลราซัค
ดาโต๊ะศรีมูฮัมหมัดนายิบ บินตนอับดุลราซัคดำรงตำแหน่งประธานพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติคนที่ 7 และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 6 สำหรับในยุคโต๊ะศรีมูฮัมหมัดนายิบ บินตนอับดุลราซัคด้วยปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติยังคงมีอยู่ จึงมีการประกาศนโยบาย “ 1 มาเลเซีย – 1 Malaysia” เป็นนโยบายเพื่อความปรองดอง ความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชนชาวมาเลเซีย โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และภาษาพูด นอกจากนั้นยังมีการประกาศโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “โมเดลเศรษฐกิจใหม่ - Model Ekonomi Baru”

เสียงจากรากหญ้า
ในโอกาสที่พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ หรือพรรคแมโน มีอายุครบ 64 ปีนี้ มีเสียงจากกลุ่มสมาชิกในระดับรากหญ้า ต้องการให้บรรดาผู้นำพรรคมีการปรับปรุงการดำเนินงานของพรรค ให้บรรดาผู้นำพรรคในระดับสูงรับฟังความต้องการของสมาชิกในระดับรากหญ้าด้วย ต้องการให้พรรคต่อสู้ พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวมลายูอย่างจริงจัง

Tiada ulasan: