Sabtu, 26 Disember 2009

กลุ่มชาติพันธุ์ในแหลมมลายู ประเทศมาเลเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

แผนที่ประเทศมาเลเซียในส่วนที่เรียกว่าแหลมมลายู (Semenanjung Tanah Melayu)

กลุ่มชาติพันธุ์ในแหลมมลายู
ในแหลมมลายูนั้น ปรากฏว่ามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์เช่นเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภูมิภาคมลายู (Nusantara) สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถือว่าเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย หรือที่เรียกว่า ภูมิบุตร (Bumiputra) นั้นประกอบด้วย

ชนชาวมลายู
คำว่า “มลายู” ในความหมายที่ทางองค์การ UNESCO ได้ให้คำอธิบายนั้นคือ กลุ่มชนที่รวมกันอยู่ในกลุ่มมลายู-โปลีเนเซีย (Melayu-Polinesia) ซึ่งมีอาณาเขตที่กว้างขวาง จากเกาะมาดากัสการ์ทางตะวันตก จนถึงเกาะอิสเตอร์หรือที่ชาวมลายูเรียกว่าเกาะปัสกะห์ (Pulau Paskah) ทางตะวันออก รวมทั้งเกาะไต้หวัน และ ฮาวาย ทางด้านเหนือ จนถึงหมู่เกาะอินโดเนเซีย และ นิวซีแลนด์ทางใต้

การแต่งกายชุดมลายู

ขบวนแต่งงานของชาวมลายู

ชุดแต่งกายชาวมลายู

ศาสตราจารย์วัง กง วู (Prof. Wang Gung Wu) ได้ทำการศึกษาค้นคว้าในบันทึกจีนโบราณ ปรากฏว่าในศตวรรษที่ 13 ยังไม่มีการบันทึกถึงคำว่า “มลายู” ในฐานะชนชาติหนึ่ง มีเพียงการบันทึก “มลายู” ในฐานะเป็นสถานที่แห่งหนึ่งในทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา จะมีเพียงในศตวรรษที่ 18 ที่กล่าวถึง “มลายู” ในฐานะชนชาติหนึ่ง ส่วนบันทึกของตะวันตกนั้นกล่าวว่า ตอนต้นศตวรรษที่ 17 คำว่า “มลายู” มีการใช้ในความหมายที่กว้าง ครอบคลุมถึงชนชาติที่อยู่ในภูมิภาคมลายู (Nusantara) ชนชาวมลายูได้ทิ้งร่องรอยทางอารยธรรมไว้มาก อาณาจักรโบราณของชนชาวมลายู เช่น อาณาจักร ฟูนัน ซึ่ง Daniel Georse E. Hall ได้กล่าวว่า “ชาวฟูนันเป็นชนชาติมลายู ”(The Funanese were Malay Race) และ Prof. Nguyen The Ah ชาวเวียดนามก็ได้กล่าวว่า “อาณาจักรฟูนันใช้ภาษามลายู” นอกจากนั้นยังมีอาณาจักรจามปาในเวียดนาม อาณาจักรลังกาสุกะ อาณาจักรมาชาปาหิต อาณาจักรศรีวิชัย รวมทั้งอาณาจักรมะละกา

ศ. ดร. วัง กง วู

ศ. ดร. วัง กง วู

ชนชาวมลายูนั้นถือว่าเป็นชนชาติใหญ่ชนชาติหนึ่งในโลก ทางองค์กรที่ที่ชื่อว่า Joshua Project ซึ่งเป็นองค์กรเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของสหรัฐตั้งอยู่ในรัฐ โคโลราโด ของสหรัฐอเมริกา ได้สำรวจและปรากฎผลได้ดังนี้ :

โลกอาหรับ 279,654,470 คน
อินโด-อิหร่านเนียน 137,509,326 คน
ยิว 17,593,084 คน
ชนชาวมลายู 339,134,635 คน
ชาวตุรกี 169,026,980 คน

จากข้อมูลข้างต้นที่มีชนชาติมลายูถึง 339,134,635 คน ปรากฏว่าชนชาวมลายูเหล่านั้น กระจัดกระจายไปทั่วโลก นอกจากพวกเขาจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศอินโดเนเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, ภาคใต้ของไทย, พม่า, เวียดนาม, เขมร และลาวแล้ว พวกเขายังอพยพไปยังภูมิภาคต่างๆ พวกเขาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศอัฟริกาใต้, มาดากัสการ์, สุรีนาม, ตะวันออกกลาง, ยุโรป และสหรัฐ

สำหรับความหมายของชนชาวมลายูในประเทศมาเลเซียนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาเลเซียได้บัญญัติว่า ชาวมลายูคือผู้ที่พูดภาษามลายู ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม

นักวิชาการได้มีการแบ่งชนชาวมลายูที่แตกต่างกันตามแต่ทัศนะของแต่ละคน ในที่นี้ขอแบ่งชนชาวมลายูออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ชนชาวมลายูที่ตั้งถิ่นฐานมาแต่ดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า Melayu Anak Jati ชนชาวมลายูกลุ่มนี้เป็นชนชาวมลายูที่ตั้งถิ่นฐานมาแต่ดั้งเดิมในรัฐต่างๆของประเทศมาเลเซีย เช่น ชนชาวมลายูในรัฐโยโฮร์ รัฐมะละกา รัฐนัครีซัมบีลัน(บางส่วน) รัฐสลังงอร์ รัฐเปรัค รัฐปาหัง รัฐปีนัง รัฐเคดะห์ รัฐเปอร์ลิส รัฐตรังกานู รัฐกลันตัน และรวมถึงชนชาวมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

2. ชนชาวมลายูต่างถิ่น เป็นกลุ่มชนชาวมลายูที่มีรากเหง้าเดิมไม่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมมลายู แต่เป็นกลุ่มชาวมลายูที่อพยพมาจากหมู่เกาะมลายู การอพยพนี้เป็นการอพยพมานานนับร้อยปีมาแล้ว กลุ่มชนชาวมลายูต่างถิ่นนี้เรียกว่า Melayu Anak Dagang เป็นกลุ่มที่เดินทางมาค้าขาย หรือเป็นการอพยพทางเศรษฐกิจ กลุ่มชนชาวมลายูนี้ประกอบด้วย ชนชาวอาเจะห์ (Aceh) ส่วนหนึ่งอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐเคดะห์, ชนชาวอัมบน (Ambon), ชนชาวบันยาร์ (Banjar) ชนชาวบาตัก (Batak) โดยเฉพาะมาจากเผ่ามันไดลิง (Mandailing) ชนชาวบาเวียนหรือโบยาน (Bawean/Boyan) ชนชาวบูกิส (Bugis) โดยชนชาวบูกิส สามารถเป็นกลุ่มผู้ปกครอง หรือ เจ้าผู้ครองรัฐ ในรัฐโยโฮร์ รัฐสลังงอร์ และรัฐเปรัค ชาวจาม (Cham) ที่อพยพมาจากกัมพูชาและเวียดนาม ชนชาวชวา (Jawa) ชนชาวมลายูที่อพยพมาจากเกาะสุมาตรา ที่รู้จักในนามของ ชาวมลายูเดอลี (Melayu Deli), มลายูจัมบี (Melayu Jambi), มลายูปาเล็มบัง(Melayu Palembang), มลายูเรียว (Melayu Riau) และมลายูเซียะ (Melayu Siak) นอกจากนั้นชนชาวมีนังกาเบาก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มชนชาวมลายูนี้ด้วย

ชนชาวมลายูดั้งเดิม หรือ Melayu Asli
ชนชาวพื้นเมืองดั้งเดิมในแหลมมลายู หรือที่เรียกว่า คนอัสลี นั้น ตามรัฐธรรมนูญของประเทศมาเลเซียถือว่ากลุ่มชาวมลายูดั้งเดิมนี้เป็นชนชาวภูมิบุตรของประเทศมาเลเซียด้วย จากการสำรวจประชากรในปี 2004 ปรากฎว่ามีประชากรชาวมลายูอัสลีทั้งหมด 149,723 คน สำหรับชนชาวมลายูดั้งเดิมนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

1. ชาวเซมัง (Semang)เป็นกลุ่มชนที่มีผิวค่อนข้างดำ ผมหยิก ร่างกายเล็ก ในรัฐเคดะห์ และรัฐเปรัค จะเรียกชนกลุ่มนี้ว่า เซมัง กลุ่มชนเซมัง ยังแบ่งออกเป็น กลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม เช่น

1. Bateq
2. Jahai
3. Kensiu
4. Kintak
5. Lanoh
6. Mendriq

2. ชาวเซอนอย (Senoi)เป็นกลุ่มชนที่เป็นนักล่าสัตว์ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐเปรัค รัฐกลันตัน และรัฐปาหัง ชาวเซอนอย แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม เช่น

1. Che Wong
2. Mahmeri
3. Jah Hut
4. Semoq Beri
5. Semai
6. Temiar.

3. ชาวมลายูโปรโต (Melayu Proto)
เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มชนชาวมลายูดั้งเดิม กลุ่มนี้สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยอีก 6 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. Jakun
2. Orang Kanaq
3. Orang Kuala
4. Orang Seletar
5. Semelai
6. Temuan

ผู้ชายชาวมลายูอัสลี

เครื่องดนตรีของชาวมลายูอัสลี

การแสดงของเยาวชนชาวมลายูอัสลี

ชาวมลายูอัสลี

ชนชาวจีน
ชนชาวจีนเป็นกลุ่มชนที่มีจำนวนประชากรใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากชนชาวมลายู ชนชาวจีนเป็นกลุ่มชนที่มีบทบาททางเศรษฐกิจในประเทศมาเลเซีย กลุ่มชาวจีนยังแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มชน เช่น

1. Hokkien
2. Hakka
3. Kantonis
4. Hainan
5. Hoklo
6. Hui
7. Henghua
8. กลุ่มชาวจีนที่อพยพมานับร้อยปี เป็นกลุ่มชาวจีนที่แต่งงานผสมผสานกับชาวพื้นเมือง กลุ่มชาวจีนกลุ่มนี้เรียกว่าชาวจีนเปอรานักกัน (Cina Peranakan) หรือรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ชาวจีนบาบ๋า ยะหยา (Baba Nyonya)

การแต่งกายของชายหญิงชาวจีน

การแต่งกายของชายหญิงชาวจีน

การแต่งกายของสตรีชาวจีน

ชาวจีนบาบ๋ายะหยากำลังรำ

ชนชาวอินเดีย
ชนชาวอินเดียได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแหลมมลายู โดยการนำเข้ามาของอังกฤษ เพื่อเป็นแรงงานในภาคการเกษตร ชนชาวอินเดียเป็นกลุ่มชนที่มีประชากรใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศมาเลเซีย ชนชาวอินเดียในประเทศมาเลเซีย ยังแบ่งออกเป็นชนเผ่าอีกหลายกลุ่ม เช่น

1. Tamil
2. Bengali
3. Gujerati
4. Malayali
5. Sinhala
6. Telugu
7. Punjabi
8. กลุ่มชนชาวอินเดียที่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศมาเลเซียมานานนับร้อยปีมาแล้ว ต่อมาได้แต่งงานกับชนพื้นเมือง ชาวอินเดียกลุ่มนี้รู้จักในนามของชาวอินเดียเจตตี (India Jetty)

การแต่งกายของสตรีชาวอินเดีย

การแต่งกายของชาวอินเดีย

การแต่งกายของชาวอินเดียเจตตี


ชนชาวโปร์ตุเกส
ชนชาวโปร์ตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะเมื่อตอนรัฐมะละกาตกอยู่ภายใต้การปกครองของโปร์ตุเกส ชาวโปร์ตุเกสได้มาตั้งถิ่นฐานในรัฐมะละกา ปัจจุบันยังคงมีชุมชนชาวโปร์ตุเกสในรัฐมะละกา กลุ่มชนนี้จะนับถือศาสนาคริสต์ และภาษาโปร์ตุเกสที่พูดเป็นภาษาโปร์ตุเกสโบราณที่ใช้พูดกันเมื่อหลายร้อยปีก่อน

ป้ายหมู่บ้านชาวโปร์ตุเกสมะละกา

การแสดงของชาวโปร์ตุเกสมะละกา

การแสดงของชาวโปร์ตุเกสมะละกา

ชนชาวไทย
ชนชาวไทยในประเทศมาเลเซีย จะรู้จักกันในนามของชาวสยาม หรือ เซียม (Siam ) ส่วนใหญ่ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐเปรัค รัฐปีนัง รัฐเคดะห์ และรัฐเปอร์ลิส ประชากรชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยมีประมาณ 6 หมื่นคน ในอดีตเคยมี สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นตัวแทนชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย เช่น นายดาโต๊ะเจริญ อินทชาต นางศรีชุน เอี่ยม แต่สมาชิกวุฒสภาชุดปัจจุบันไม่มีตัวแทนชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย

ตราสัญลักษณ์ของสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย ที่รู้จักในนามของสมาคมชาวสยามแห่งมาเลเซีย(Persatuan Siam Malaysia)

การแต่งงานของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย

การอนุรักษ์รักษาประเพณีไทยในหมู่ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย

การลอยกระทงของชุมชนชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย

Tiada ulasan: