Selasa, 31 Ogos 2021

ฮัจญีอาฆุส สาลิม (H. Agus Salim) วีรบุรุษแห่งชาติอินโดเนเซีย สายแนวศาสนาอิสลาม

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ฮัจญีอาฆุส สาลิม (H. Agus Salim) ตอนเกิดมีชื่อว่า มัชฮูดุล ฮัก (Masyhudul Haq) มีความหมายว่า ผู้พิทักษ์ความจริง  เกิดเมื่อ 8 ตุลาคม 1884 เสียชีวิตเมื่อ  4 พฤศจิกายน 1954  เป็นนักสู้เพื่อเอกราชของอินโดเนเซีย ฮัจญีอาฆุส สาลิม ได้รับการประกาศให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษของชาติอินโดเนเซียเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 1961 ผ่านคำสั่งประธานาธิบดีฉบับที่ 657 ปี 1961

 

นายฮัจญีอาฆุส สาลิม  คือนักพูดและนักเขียน เขาพูดภาษาต่างประเทศได้ 4 ภาษาตะวันตก คือภาษาดัตช์ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมันและภาษาฝรั่งเศส และอีก 2 ภาษาต่างประเทศในตะวันออกกลาง คือ ภาษาอาหรับและภาษาตุรกี นอกจากนั้นยังพูดภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย

 

ชีวประวัติ

นายฮัจญีอาฆุส สาลิม  เป็นบุตรชายของนายซูตัน สาลิม (Soetan Salim) ซึ่งมีนามที่เขาตั้งให้ว่า นายซูตัน มูฮัมหมัด สาลิม (Soetan Mohamad Salim) กับภรรยาที่ชื่อว่า นางซีตีไซนาบ (Siti Zainab)  ตำแหน่งสุดท้ายของบิดาเขาคือหัวหน้าอัยการที่ศาลสูงของเรียว

การศึกษาขั้นพื้นฐานเริ่มที่โรงเรียน Europeesche Lagere School (ELS) ซึ่งเป็นโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กชาวยุโรป จากนั้นจึงเรียนต่อที่ Hoogere Burgerschool (HBS) ในเมืองบาตาเวีย เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา เขาก็กลายเป็นศิษย์เก่าที่ดีที่สุดของ Hoogere Burgerschool (HBS) ในอาณานิคมขณะนั้น

หลังจากสำเร็จการศึกษา นายฮัจญีอาฆุส สาลิม ทำงานเป็นล่ามและผู้ช่วยทนายความที่ทำกิจการร่วมค้าเหมืองแร่ในอินทราคีรี เรียว ในปี 1906 นายฮัจญีอาฆุส สาลิม  ออกเดินทางไปเมืองเจดดะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อทำงานที่เอกอัครราชทูตดัตช์ที่นั่น ในช่วงเวลานี้ที่ นายฮัจญีอาฆุส สาลิม ศึกษากับด้านศาสนากับเชคอาหมัด คาตีบ (Sheikh Ahmad Khatib) ซึ่งเป็นลุงของเขา  เชคอาหมัด คาตีบ  ถือเป็นนักการศาสนาในโลกมลายูที่มีชื่อเสียงในซาอุดีอาราเบีย

จากนั้นนายฮัจญีอาฆุส สาลิม ก็เข้าสู่โลกแห่งการสื่อสารมวลชนตั้งแต่ปี 1915 ที่ Neratja Daily ในฐานะรองบรรณาธิการ หลังจากนั้นเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าบรรณาธิการ นายฮัจญีอาฆุส สาลิม แต่งงานกับนางไซนาตัน นาฮาร์ (Zaenatun Nahar) และมีลูก 8 คน การงานของเขาด้านหนังสือพิมพ์ดำเนินต่อไปจนกระทั่งในที่สุดเขาก็กลายเป็นผู้นำของหนังสือรายวันชื่อว่า Hindia Baroe  ในกรุงจาการ์ตา จากนั้นก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อว่า Fadjar Asia ซึ่งเป็นหนังสื่อพิมพ์ที่ไปทางแนวของพรรค Serikat Islam ต่อมานายฮัจญีอาฆุส สาลิม เป็นบรรณาธิการของ Moestika Daily ในเมืองยอกยาการ์ตา และได้เปิดสำนักงานใช้ชื่อว่า Advies en Informatie Bureau Penerangan Oemoem  (AIPO) ในเวลาเดียวกันนายฮัจญีอาฆุส สาลิมเข้าสู่โลกแห่งการเมืองในฐานะผู้นำของพรรค Sarekat Islam

 

งานเขียนของนายฮัจญีอาฆุส สาลิม

1. Riwayat Kedatangan Islam di Indonesia (ประวัติการเข้ามาของอิสลามในอินโดนีเซีย)

2. Dari Hal Ilmu Quran (จากศาสตร์แห่งอัลกุรอาน)

3. Muhammad voor en na de Hijrah (มูฮัมหมัดก่อนและหลังฮิจเราะห์)

4. Gods Laatste Boodschap  (ข้อความสุดท้ายของพระเจ้า)

5. Jejak Langkah Haji Agus Salim (ตามรอยนายฮัจญีอาฆุส สาลิม) เป็นการรวบรวมผลงานนายฮัจญีอาฆุส สาลิมโดยเพื่อนร่วมงานของเขา ตุลาคม 1954)

 

งานแปล

1. Menjinakkan Perempuan Garang (ฝึกผู้หญิงที่ดุร้าย) จากเรื่อง The Taming of the Shrew งานเขียนของ Shakespeare

2. Cerita Mowgli Anak Didikan Rimba (เมาคลีลูกหมาป่า) จากเรื่อง The Jungle Book งานเขียนของ Rudyard Kipling)

3. Sejarah Dunia (ประวัติศาสตร์โลก) งานเขียนของ E. Molt

 

งานทางการเมือง

ในปี 1915 นายฮัจญีอาฆุส เข้าร่วมกับพรรค Sarekat Islam และกลายเป็นผู้นำคนที่สองหลังจากนายอุมาร์ ซาอิด โจโกรอามีโนโต (Oemar Said Tjokroaminoto)

บทบาทของนายฮัจญีอาฆุส ระหว่างการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย เช่น

1.เป็นสมาชิกของสภา Volksraad (2464-2467) ซึ่งคำว่า Volksraad มาจากคำภาษาดัตช์ มีความหมายว่า สภาประชาชน จัดตั้งขึ้นเมื่อ 16 ธันวาคม 1916 โดยเจ้าอาณานิคมฮอลันดาiaan

 

2. กรรมการเก้าคนในคณะเพื่อเตรียมการให้เอกราช ซึ่งจัดทำรัฐธรรมนูญ ปี 1945

 

3. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในคณะรัฐมนตรีของนายชาห์รีร์ II ในปี 1946 และในคณะรัฐมนตรีชาห์รีร์ III ปี 1947

 

4. การเปิดความสัมพันธ์ทางการฑูตของอินโดนีเซียกับกลุ่มประเทศอาหรับ โดยเฉพาะอียิปต์ในปี 1947

 

5. รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ คณะรัฐมนตรีของ นายอามีร์ ชารีฟฟุดดิน ปี 1947

 

6. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคณะรัฐมนตรีมูฮัมหมัดฮัตตา ปี  1948-1949

 

ประธานาธิบดีซูการ์โนและนายฮัจญีอาฆุส สาลิม ถูกควบคุมตัวโดยชาวดัตช์ ในปี 1949  และระหว่างปี 1946-1950 เขายังมีบทบาทอย่างสูงในวงการการเมืองอินโดเนเซีย ดังนั้นเขาจึงมักถูกขนานนามว่า "ชายชราผู้ยิ่งใหญ่" นอกจากเขายังดำรงตำแหน่งด้านการต่างประเทศแล้ว เขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจนกระทั่งสิ้นสุดชีวิตของเขา

 

ในปี 1952 เขาดำรงตำแหน่งประธานสภากิตติมศักดิ์ของสมาคมนักข่าวอินโดเนเซีย แม้ว่าผู้ถามจะเฉียบแหลมและการวิพากษ์วิจารณ์เขาดูไม่สุภาพ แต่นายฮัจญีอาฆุส สาลิม ยังคงเคารพขอบเขตและรักษาจรรยาบรรณของนักข่าว

 

หลังจากลาออกจากวงการการเมือง ในปี เขาได้เขียนหนังสือเรื่อง Bagaimana Takdir, Tawakal dan Tauchid harus dipahamkan? ซึ่งภายหลังได้รับการแก้ไขใช้ชื่อว่า Keterangan Filsafat Tentang Tauchid, Takdir dan Tawakal

 

เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 1954 ที่โรงพยาบาลจาการ์ตา และถูกฝังในสุสานวีรบุรุษแห่งชาติ ที่กาลิบาตา กรุงจาการ์ตา ปัจจุบันชื่อของเขากลายเป็นชื่อสนามฟุตบอลในเมืองปาดัง  จังหวัดสุมาตราตะวันตก


Sabtu, 28 Ogos 2021

ฮังตูวะห์ วีรบุรุษของชาวมลายู กับตำนาน หรือฮีกายัตฮังตูวะห์

โดยนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ฮิกายัต ( حكاية ) นั้นเป็นคำภาษาอาหรับที่แปลตามตัวว่า "เรื่องราว" – เป็นวรรณกรรมของชาวมลายูในรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการผจญภัยของวีรบุรุษและบุคคลต่างๆจากราชอาณาจักรต่างๆ ในโลกมลายู ซึ่งครอบคลุมอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเกาะสุมาตรา อินโดเนเซีย พงศาวดารของพวกเขา แม้จะเป็นเรื่องราวที่จะอิงตามประวัติศาสตร์ แต่ก็มีความโรแมนติกอย่างมาก  ฮีกายัต เทียบได้กับคำว่า ตำนานในภาษาไทย

ประวัติของฮังตูวะห์

ฮังตูวะห์ (Hang Tuah) เป็นชื่อนักรบชาวมลายูที่อาศัยอยู่ที่รัฐมะละกาในรัชสมัยของสุลต่านมันซูร์ชาห์ ราวศตวรรษที่ 15 เขาเป็นผู้ที่อำนาจมากที่สุดในบรรดาแม่ทัพเรือ หรือ ลักษมณา สำหรับชาวมลายูแล้ว ฮังตูวะห์ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความสามารถในการต่อสู้แบบซีลัต ซึ่งถือเป็นศิลปะการป้องกันตัวของชาวมลายู และวรรณกรรมมลายูในเรื่องฮังตูวะห์ ถือว่าเป็นวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ฮีกายัตฮังตูวะห์ เป้นวรรณกรรมที่เป็นเรื่องราวชีวิตของฮังตูวะห์  แต่ไม่ปรากฎว่าผู้ใดเป็นผู้เขียนฮีกายัตฮังตูวะห์

ในยุคที่ราชอาณาจักรมะละกามีความเจริญรุ่งเรืองนั้น ฮังตูวะห์ห์เป็นแม่ทัพเรือที่มีชื่อเสียงมาก เขามาจากครอบครัวที่ยากจน และเกิดในกระท่อม แต่ด้วยความกล้าหาญของเขา เขาจึงได้รับความรักอย่างมากและในที่สุดตำแหน่งของเขาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเขาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตและเป็นตัวแทนของรัฐในการติดต่อกับต่างประเทศ


ฮังตูวะห์มีเพื่อนสนิทหลายคน เช่น ฮังเยอบัต (Hang Jebat) ฮังเกอสตูรี (Hang Kesturi) ฮังเลอกีร์ (Hang Lekir)  และฮังเลอกิว (Hang Lekiu) นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ว่าสองคนสุดท้ายเป็นเพียงคนเดียวกัน ด้วยในฮีกายัตนั้นเขียนตัวอักษรยาวี ที่ค่อนข้างจะคล้ายกัน คือ เวา หรือ "" และ รอ "" เมื่อดูแล้วค่อนข้างคล้ายกันมาก ส่วนนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งก็กล่าวว่าเพื่อนทั้งห้าคนนี้คือบุคคลซึ่งเป็นตัวละครหลักในมหากาพย์มหาภารตะ

แต่ก็ยังมีนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เชื่อว่า เรื่องราวของฮังตูวะห์ เป็นเรื่องจริง มีการลงพื้นที่พิสูจน์หลักฐานต่างๆ ทั้งในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย และบางกลุ่ม ก็เดินทางลงพื้นที่ ศึกษาเอกสารการติดต่อของฮังตูวะห์ กับประเทศญี่ปุ่น  เรื่องราวของฮังตูวะห์ ก็มีปรากฏในสถานที่ต่างๆ แม้แต่ในจังหวัดปัตตานี ก็ปรากฏในฮีกายัตฮังตุวะห์ กล่าวถึงตอนที่สุลต่านแห่งราชอาณาจักมะละกา สั่งให้ฮังตูวะห์มาซื้อช้างในสยาม ไม่ปรากฏว่าสถานที่ไหน ต่อมาฮังตุวะห์ ก็ได้แวะมาเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังปรากฎของบ่อน้ำฮังตุวะห์ ที่ขุดในขณะที่เขาเดินทางมาสามจังหวัด ตั้งอยู่ไม่ห่างจากมัสยิดกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี


ในฮีกายัตฮังตุวะห์ ก็มีเรื่องราวบอกเล่าถึง ฮังตุวะห์กับเพื่อนๆ ด้วยความไม่ภักดีของฮังเยอบัตต่อสุลต่าน ส่วนฮังตุวะห์ เป็นผู้ภักดีต่อสุลต่าน เรื่องราวของฮังตูวะห์กับฮังเยอบัต เกิดขึ้นจากฮังเยอบัตที่ปกป้องฮังตูวะห์ กลับถูกฮังตูวะห์ฆ่าตาย จนถึงขณะนี้ ในหมู่ชวมลายูก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ใครถูก ระหว่างฮังตูวะห์กับฮังเยอบัต  นอกจากนั้นในฮีกายัตยังมีการกล่าวถึงความบาดหมางระหว่างอาณาจักรมะละกากับอาณาจักรมาชาปาฮิตแห่งเกาะชวา

เรื่องราวระหว่างฮังตูวะห์กับฮังเยอบัต

ฮังตูวะห์ถูกกล่าวหาจากศัตรูของเขาว่าล่วงประเวณีกับสาวใช้คนหนึ่งของสุลต่าน เมื่อได้ยินข้อกล่าวหา สุลต่านก็สั่งให้ลงโทษฆ่าฮังตูวะห์ โดยไม่มีการสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดของเขา แต่ฮังตูวะห์ได้รับการช่วยเหลืออย่างลับๆ จากเบินดาฮารา (Bendahara) หรือเทียบได้กับนายกรัฐมนตรีขณะนั้น  โดยไม่ได้ฆ่าลงโทษฮังตุวะห์   แต่กลับซ่อนฮังตูวะห์ในที่ลับ


ฮังเยอบัตรู้ดีว่า ฮังตูวะห์ถูกลงโทษอย่างไม่ยุติธรรม ดังนั้นฮังเยอบัตจึงก่อกบถต่อสุลต่าน และกองกำลังของสุลต่านมะละกาไม่สามารถปราบปรามฮังเยอบัตได้


สุลต่านมะละการู้ในเวลาต่อมาว่าฮังตัวเป็นผู้บริสุทธิ์ และรู้สึกเสียใจในทันทีที่ลงโทษฮังตูวห์ถึงตาย เบินดาฮาระจึงบอกสุลต่านว่าฮังตูวะห์ยังมีชีวิตอยู่ และมีเพียงฮังตูวะห์เท่านั้นที่สามารถปราบฮังเยอบัตได้  ฮังตูวะห์จึงได้รับการนิรโทษกรรม และเรียกฮังตูวะห์กลับมา มีการต่อสู้กับระหว่างฮังตูวะห์กับฮังเยอบัต หลังจากต่อสู้กันเจ็ดวันทางฮังตูวะห์ ก็สามารถฆ่าฮังเยอบัตได้

นอกจากนั้นในฮีกายัตฮังตูวะห์ ยังวิจารณ์ชาวชวาเป็นอย่างมาก และการรับมือกับการแข่งขันระหว่างสุลต่านแห่งอาณาจักรมะละกากับอาณาจักรมาชาปาฮิตของชวา ในงานเขียนวรรณกรรมเล่มนี้ มีการเล่าถึงคนโกงและภาพร้ายหลายคนที่มาจากอาณาจักรมาชาปาฮิต และเบินดาฮาราของอาณาจักรมาชาปาฮิต คือกายะห์มาดา (Gajah Mada) ว่าเป็นคนเจ้าเล่ห์ และไม่มีความเห็นอกเห็นใจ เชื่อว่าเนื้อหาของฮีกายัตฮังตูวะห์ มีมาตั้งแต่ปี 1700 ในขณะที่เป็นต้นฉบับที่เป็นเอกสารมีใน 1849 ฮีกายัตฮังตุวะห์ ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1908 โดยการตรวจสอบของนายสุไลมาน บินมูฮัมหมัดนูร์ (Sulaiman bin Muhammed Nur) และ Mr. William Shellabear


ฮีกายัตฮังตุวะห์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น UNESCO's Memory of the World Program International Register ในปี 2001


สถานที่ต่างๆที่ใช้ชื่อว่าฮังตุวะห์  เช่น

1.มัสยิดฮังตุวะห์ รัฐมะละกา มาเลเซีย

2.ถนนหลายสายในมาเลเซีย ใช้ชื่อว่า ถนนฮังตูวะห์ มีในกรุงกัวลาลัมเปอร์ รัฐโยโฮร์  รัฐมะละกา รัฐเปรัค

3.เรือรบฟรีเกตของกองทัพเรือมาเลเซีย 2 ลำใช้ชื่อว่า ฮังตุวะห์ คือ KD Hang Tuah (F433) และ KD Hang Tuah (F76).

4. บนถนนฮังตูวะห์ ในรัฐมะละกา มีการสร้างห้างสรรพสินค้า ใช้ชื่อว่า Hang Tuah Mall เป็นแหล่งท่องเที่ยวของรัฐมะละกา

5. สถานีรถไฟฟ้าห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอรื ใช้ชื่อว่า สถานีรถไฟฟ้า Hang Tuah

6. ห้างสรรพสินค้าชื่อว่า The Mall ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีมุมอาหารใช้ชื่อว่า Medan Hang Tuah เป็นมุมอาหาร

7. สนามกีฬาฝนรัฐมะละกา ใช้ชื่อว่า Hang Tuah Stadium

8. ในรัฐมะละกา มีบ่อน้ำใช้ชื่อว่า บ่อน้ำฮงตูวะห์.

9. ในรัฐมะละกา มีชื่อเมือง และชื่อเขตเลือกตั้งว่า Hang Tuah Jaya

10. ในรัฐมะละกา มีหมู่บ้านใช้ชื่อว่า หมู่บ้าน Hang Tuah

11. ในรัฐมะละกา มีสะพานใช้ชื่อว่า สะพานฮังตูวะห์

12. ในรัฐมะละกา มีอาคารใช้ชื่อว่า Hang Tuah Hall


ส่วนในประเทศอินโดเนเซีย ก็มีการใช้ชื่อ ฮังตุวะห์ ไม่แพ้ประเทศมาเลเซีย และอาจมากกว่าด้วยซ้ำ  ร่วมทั้งชื่อมหาวิทยาลัยด้วย   เช่น

1. ชื่อถนนหลายสายที่มีชื่อว่า ถนนฮังตูวะห์ เช่นถนนถนนฮังตูวะห์  เมืองเปอกันบารู จังหวัดเรียว ถนนฮังตูวะห์ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียว ถนนฮังตูวะห์ ในกรุงจาการ์ตา ถนนฮังตูวะห์ ในเมืองตันหยงปีนัง จังหวัดหมู่เกาะเรียว ถนนฮังตูวะห์ เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ถนนฮังตูวะห์  เมืองสุราบายา จังหวัดชวาตะวันออก ถนนฮังตูวะห์  เมืองปาเล็มบัง จังหวัดสุมาตราใต้ ถนนฮังตูวะห์ เมืองปาดัง จังหวัดสุมาตราตะวันตก ถนนฮังตูวะห์ เมืองเดนปาซาร์ จังหวัดบาหลี  ถนนฮังตูวะห์ เมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก  ถนนฮังตูวะห์ เมืองปาลู จังหวัดสุลาเวซีกลาง


2. มหาวิทยาลัยฮังตูวะห์ ในเมืองสุราบายา เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นโดยกองทัพเรืออินโดเนเซีย


3. เรือรบอินโดเนเซีย สองลำใช้ชื่อว่า ฮังตุวะห์ คือ เรือลาดตระเวนชั้นบาทเฮิร์ส Bathurst-class corvette RI Hang และ เรือฟรีเกต Riga-class frigate KRI Hang Tuah (358)


4. สวนในเมืองเปอกันบารู จังหวัดเรียวใช้ชื่อว่า Hang Tuah Park


5. สนามกีฬาในบริเวณมัสยิดกลาง อัน-นูร์ เมืองเปอกันบารู จังหวัดเรียว  ใช้ชื่อว่า Hang Tuah Stadium

อ้างอิง

https://ms.wikipedia.org/wiki/Hang_Tuah

http://www.bl.uk/manuscripts/FullDisplay.aspx?ref=MSS_Malay_B_1

Bot Genoot Schap,Hikayat Hang Tuah I, Pusat Bahasa, Kementerian Pendidikan Nasional, Republik Indonesia,2010.

Bot Genoot Schap,Hikayat Hang Tuah II, Pusat Bahasa, Kementerian Pendidikan Nasional, Republik Indonesia,2010.

Sabtu, 21 Ogos 2021

ดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากุ๊บ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ที่ได้รู้จัก

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ผู้เขียนรู้จักดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของประเทศมาเลเซีย ครั้งแรกในปี 1982 เป็นการพบปะในงานสัมมนาของสมาพันธ์นักศึกษาเอเชีย หรือ Asian Students Association (ASA) โดยแต่ละองค์กรสมาชิกจะส่งตัวแทนเข้าร่วม นับจากนั้นความสัมพันธ์ของเราก็มีสานมาตลอด โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และผลประโยชน์ใดๆ

 

แหล่งข้อมูลกล่าวว่า เมืองเตอเมอร์โล๊ะห์ (Temerloh) รัฐปาหัง ที่เขาเติบโตนั้น เป็นแหล่งกำเนิดของนักเคลื่อนไหวหลายคน ส่วนใหญ่มาจากทางแนวซ้าย และดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ ก็ไม่มีข้อยกเว้น เพียงการมีส่วนร่วมของเขาในการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

นายฮีชัมมุดดิน ราอิส แกนนำนักเคลื่อนไหวกิจกรรมนักศึกษา ร่วมรุ่นอันวาร์ อิบราฮิม และพี่ชายของดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ กล่าวว่าดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ มีความสัมพันธ์ทางความคิดกับของพี่ชาย และดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ ยังเติบโตในเมืองลูโบ๊ะกาวะห์และเมืองเตอเมอร์โละห์ รัฐปาฮัง  ซึ่งสองแห่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “แหล่งเพาะพันธุ์” สำหรับการต่อสู้แนวคิดชาตินิยมมลายู

แม้ผู้เขียนจะมีความสนใจติดตามสถานการณ์การเมืองมาเลเซีย แต่ผู้เขียนเองไม่เคยคาดคิดว่าดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ จะมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยตัวเขายังมีจุดด้อยทางการเมืองอีกหลายข้อ เช่น ในพรรคการเมืองของตนเอง เขามีตำแหน่งเพียงผู้ช่วยประธานพรรค หรือ Naib Presiden (Vice President) ของพรรคอัมโน หรือ United Malays National Organisation ซึ่งถือเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย มีสมาชิกราว 3.3 ล้านคน

 

สำหรับตำแหน่งผู้ช่วยประธานพรรค นั้นมีจำนวน 6 คน โดย 3 คนเป็นตำแหน่งที่มาจากประธานของฝ่ายต่างๆ คือ ประธานฝ่ายปีกเยาวชน ประธานฝ่ายปีกสตรี ประธานฝ่ายปีกเยาวชนสตรี  เมื่อบุคคลใด ได้รับเลือกมาเป็นประธานฝ่ายนั้นๆแล้ว ผู้นั้นก็จะได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยประธานพรรคโดยตำแหน่ง ส่วนตำแหน่งผู้ช่วยประธานพรรคอีก 3 คน จะเป็นตำแหน่งที่มาจากการแข่งขันเลือกตั้ง โดยตัวแทนสาขาพรรคจะลงคะแนนโดยตรง  ดังนั้นดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ ในฐานะที่เป็นผู้ช่วยประธานพรรค จึงอยู่เป็นอันดับ 3 ภายในพรรค  เพียงสถานการณ์ของพรรคอัมโน อำนวยให้กับดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ สามารถเก้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น

 

ด้วยประธานพรรคอัมโน ดาโต๊ะสรี อาหมัด ซาอิด ฮามีดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีคดีติดตัวจากปัญหาการคอรัปชั่นในกรณีบริษัท 1MDB หลายสิบคดี จนไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆได้ ส่วนรองประธานพรรคอัมโน ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัด ฮัสซัน อดีตมุขมนตรีรัฐนัครีซัมบีลัน เป็นนักการเมืองในระดับรัฐ โดยเป็นสมาชิกสภานินิบัญญัติแห่งรัฐ เขาไม่ได้เล่นการเมืองในระดับประเทศ หรือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ดังนั้นภาระจึงตกกับดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ นับตั้งแต่พรรคอัมโน เป็นฝ่ายค้าน ในสมัยที่ มหาเธร์  มูฮัมหมัด หวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2  และดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ ได้รับแต่งตั้งมาเป็นหัวหน้าฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 

 

ครั้งนั้นผู้เขียนได้นัดเจอกับดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ ที่มหาวิทยาลัยมาลายา กัวลาลัมเปอร์ ด้วยเป็นสถานที่สะดวกในการพบ และฟื้นความหลังในสมัยร่วมกิจกรรมนักศึกษา ได้คุยถึงสถานการณ์การเมือง และผลของกิจกรรมนักศึกษาในอดีตที่เขาเคยช่วยเหลือต่างๆ ตอนนั้นสถานการณ์การเมืองเริ่มร้อนแรง และผู้เขียนคาดว่า อีกไม่นานดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ ก็จะกลับสู่ทำเนียบรัฐบาล  

 

แต่ไม่เคยคิดว่าเขาจะก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คิดแต่เพียงว่า เขาน่าจะอยู่ในระดับกลางๆของคณะรัฐมนตรี แต่ด้วยปัจจัยคุณสมบัติของผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าเขาในพรรคอัมโน และโอกาสทำให้เขาสามารถ ก้าวสู่เบอร์หนึ่งในทำเนียบรัฐบาลเมืองปุตราจายา

ดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ เกิดเมื่อ 18 มกราคม 1960 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขตเบอรา รัฐปาฮัง สังกัดพรรคอัมโน ปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก่อนหน้านี้เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2020 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 อดีตนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเขาเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เขายังเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาชนบทและภูมิภาคอีกด้วย

 

การศึกษา

ดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ ในปี 1967 เริ่มเรียนที่โรงเรียนประถมบางาว (Sekolah Kebangsaan Bangau) ต่อมาในปี 1973 เขาศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมไอร์ปูเตะห์ กวนตัน (Sekolah Menengah Air Putih)  และ ในปี 1976 เรียนที่โรงเรียนมัธยมเทคนิคกวนตัน รัฐปาฮัง (Sekolah Menengah Teknik Kuantan, Pahang)  จากนั้นเขาก็ศึกษาระดับหกที่โรงเรียน Jaya Akademik และเรียนต่อจนจบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา

 

สนับสนุนการทำกิจกรรมโครงการนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์




ปกตินักศึกษาสาขาภาษามลายูของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะทำโครงการฝึกงานกับสถาบันหนังสือและภาษา (Dewan Bahasa dan Pustaka) โดยการฝึกงานในช่วงปิดเทอมใหญ่ แต่มีครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าโควตาการฝึกงานนั้น มีอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งชิงโควตาไป ดังนั้น ทำให้นักศึกษาส่วนหนึ่ง ไม่มีที่ฝึกงาน ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้รับให้เป็นผู้ประสานหาสถานที่ฝึกงานที่อื่น เพื่อรองรับนักศึกษาที่ยังขาดสถานที่ฝึกงาน  ผู้เขียนจึงเดินทางไปรัฐมะละกา เพื่อประสานติดต่อสถานที่ฝึกงาน เมื่อสำเร็จแล้ว  ขณะกำลังจะกลับไทย ก็นึกได้ว่า ดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ  เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐปาฮัง จึงติดต่อไป เพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยนักศึกษาสาขาภาษามลายู และได้รับการรับปากว่าจะช่วยเต็มที่    แต่เมื่อกลับมาไทย ปรากฏว่า อีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง ที่ว่าจะไปร่วมโครงการต้องยกเลิก ดังนั้นนักศึกษาที่ขาดสถานที่ฝึกงาน จึงสามารถร่วมได้ และสำหรับโครงการที่ดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะอากู๊บ รับปากจะช่วย ก็เลยรับจะจัดให้นักศึกษาสาขามลายุศึกษาในปีถัดมา