Isnin, 31 Mei 2021

ชาวจามไหหนาน หรื่อชาว Utsul หนึ่งในชนชาวมลายูบนเกาะไหหนาน ประเทศจีน

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ชาวจามที่อาศัยอยู่บนเกาะไหหนาน จะเรียกว่าชาว Tsat หรือ Utsat หรือ Utset หรือบางครั้งจะเรียกว่าชาวจามไหนหนาน ชาวจามบนเกาะไหหนาน พวกเขาจะพูดภาษาที่อยู่ในกลุ่มภาษาจาม แต่ด้วยพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีน ทำให้มีอิทธิพลของภาษาจีนด้วย ภาษาที่พูดโดยชาวจามกลุ่มนี้มีจำนวนที่ยังไม่ชัดเจน น่าจะราว 4,500 คน มีชุมชนที่ชาวจามอาศัยอยู่สองหมู่บ้าน คือหมู่บ้าน ฮุยฮุย และหมู่บ้านฮุยซิน อยู่ในการปกครองของเมืองซันย่า เกาะไหหนาน ประเทศจีน

รองศาสตราจารย์ Zhang Liang จากศูนย์การศึกษาชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ของสถาบัน Chinese Southwest Borderland แห่งมหาวิทยาลัยยูนาน ประเทศจีน ได้เผยแพร่เอกสารการวิจัย เกี่ยวกับชาวจามซันย่า เป็นกลุ่มที่ยึดมั่นในคำสอนของศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิมอย่างใกล้ชิด พวกเขารักษาวิถีชีวิตอาหารฮาลาลในหมู่บ้านของตนอย่างจริงจัง แม้ว่าเนื้อวัวและเนื้อแกะในหมู่บ้านจะมีราคาแพงกว่า แต่พวกเขาจะไม่ซื้ออาหารที่อื่น ซึ่งไม่มีการรับประกันว่าฮาลาลจริงๆ เพื่อประหยัดเงิน หากพวกเขาทำงานในโรงงานที่ไม่มีเตาฮาลาล ชาวจาม จะวิ่งกลับบ้านเพื่อทานอาหารฮาลาล ไม่ว่าพวกเขาจะยุ่งแค่ไหนในที่ทำงาน เมื่อซื้ออาหารก็จะตรวจดูว่ามีฮาลาลในเร็วๆ นี้หรือไม่ เมื่อพูดถึงการแต่งตัว สาวๆ ชาวจามมักจะสวมผ้าคลุมศีรษะเสมอ

ภาษาจามเกาะไหหนาน เป็นภาษาที่มีการพูดกันในสองหมู่บ้านนอกเมืองซันยา   บนเกาะไหหนาน ภาษาจามนี้มีความสัมพันธ์กับภาษาจามชายฝั่งและที่ราบสูงของเวียดนาม   ภาษาจาม เป็นส่วนหนึ่งของตระกูลภาษามลายู-จาม ซึ่งเป็นส่วนแยกออกมาจากตระกูลภาษามลายู-โปลีเนเซีย สำหรับภาษาจามเกาะไหหนานพูดบริเวณตอนใต้ของเกาะไหหนาน  การอพยพของชาวจามออกจากเวียดนามไปยังเกาะไหหนาน มีสองคลื่น โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเมืองอินดราปูรา (Indrapura) ในเวียดนามตอนเหนือแตกปี 982  ในบันทึกของจีนกล่าวว่ามีชาวมุสลิมอพยพไปยังเกาะไหหนานในปี 186 และปี 88

การอพยพครั้งที่สอง ตามบันทึกของจีน ฉบับที่ 284 ของ Ming Xian Zong Shi บันทึกว่า ในยุคจักรพรรดิ Xian Zong ของราชวงศ์หมิง มีเจ้าชายชาวจาม ที่มีชื่อว่าเจ้าชาย Lai Gu ทำการโจมตีเวียดนาม แต่ไม่สามารถเอาชนะชาวเวียดนามได้  เจ้าชาย Lai Gu จึงนำภรรยา และพรรคพวกชาวจามหนึ่งพันคน หนีไหยังเกาะไหหนาน และในบันทึกของจีน ฉบับที่ 286 ของ Ming Xian Zong Shi ก็ยังมีการเช่นนั้นเหมือนกัน

 

จากหนังสือ A Grammatical Sketch of Hainan Cham : History, Contact, and Phonology กล่าวว่า Savna (192 ; 29) ได้เดินทางไปที่เมืองซันยา และพบชาวมุสลิม ราง 400-500 คน ซึ่งไม่ทราบว่า มีแหล่งเดิมมาจากที่ไหน มีมัสยิดอยู่ 4 แห่ง และพวกเขาพูดภาษามลายู สำหรับผู้เขียนเชื่อว่า พวกเขาเหล่านั้น น่าจะพูดภาษาจามมากกว่า ซึ่งภาษาจามเอง ก็อยู่ในตระกูลภาษามลายู  ส่วนในหนังสือดังกล่าวเช่นกัน กล่าวว่า ในปี 1937 นาย Hans Scubel  นักมานุษยวิทยาชาวเยอรมัน ได้เดินทางไปเยือนเมืองซันวา เพื่อศึกษาภาษาหลี่ ซึ่งเป็นภาษาพูดของชาวบนเกาะไหหนาน เป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สุดในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต นาย Hans Scubel ได้เดินทางไปเกาะไหหหนาน โดยเขียนเรื่องราวที่เขาสัมผัส นอกจากภาษาหลี่แล้ว เขายังสัมผัสชุมชนชาวจามบนเกาะไหหนาน เขาเขียนลงในบทความชื่อว่า die li-stamme der insel hainan ein beitrag zur volkskunde sud chinas หรือ นิทานพื้นบ้านของชนเผ่าหลี่แห่งเกาะไหหลำ จีนตอนใต้ ในปี 1937 เขาพักอยู่ที่เมืองซันยาเป็นเวลานานพอควร เขาบอกว่า มีชาวมุสลิมอยู่ราว 400 หลังคาเรือน มีประชากรราว 2,000 คน

 

และหลังจากนาย Hans Scubel เขียนเรื่องราวของชาวจามบนเกาะไหหนานแล้ว มีนาย Jiawu cen ได้เขียนในปีทศวรรษที่ 1940 ชื่อว่า Sanya Gang de Huijiao หรือ The Islam in Sanya Harbor  เขากล่าวว่า ชาวมุสลิม อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่แยกออกจากชาวจีนที่ไม่ใช่มุสลิม มีมัสยิดอยู่ 4 แห่ง และในบรรดามัสยิดเหล่านั้น ปรากฏว่า มีมัสยิดอยู่ 3 แห่งที่มีอายุเก่าแก่ มัสยิดทางตอนเหนือ สร้างในยุคจักรพรรดิเฉียนหลง ( 乾隆) ปี 1736-1795 มัสยิดทางตอนใต้ สร้างในยุคจักรพรรดิเจียชิ่ง ปี 1796-1820 และมัสยิดทางทิศตะวันตก สร้างในยุคจักรพรรดิกวังซฺวี่ ()ปี 1875 –  1908

 

ในการสำรวจปี 1982 พบว่ามีชาวจาม บนเกาะไหหนานอยู่ 4,143 คน พบว่า  โดยอาศัยอยู่ในสองหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านฮุยฮุย ( Huihui) และหมู่บ้านฮุยซิน (Huixin) จำนวน  3,849 คน

คำภาษามลายู                  คำภาษาจามไหหนาน        

Basah                             sa

Panah                             na

Nipis                               pi

Habis                              phi

Atas                                ta

Kapas                              pa

 

อ้างอิง

Utsul จาก https://en.wikipedia.org/

 

Graham Thurgood, Ela Thurgood and Li Fengxiang,A Grammatical Sketch of Hainan Cham : History, Contact, and Phonology, Boston De Gruyter,2014.

 

Ling Tian เรื่อง Sanya Chams Muslim Minority in Hainan: Eradicating an Identity ใน https://bitterwinter.org/

Selasa, 11 Mei 2021

พจนานุกรมภาษาดัตช์-ภาษามลายูที่ผลิตจากคุกของสุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับชาวดัตช์คนหนึ่ง เขาคือ นาย Frederick de Houtman เป็นบุตรของนาย Pieter Cornelisz กับนาง Agnes née Frederiksd เขาเกิดที่เมือง  Gouda ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 1571 และเสียชีวิตที่เมือง Alkmaar ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่  21 ตุลาคม 1627 เขาเป็นนักสำรวจ นักเดินเรือ และยังเป็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของเจ้าอาณานิคมดัตช์ เขาได้ร่วมเดินทางครั้งแรกกับคณะของชาวดัตช์ไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรือภูมิภาคมลายู ภายใต้การนำของพี่ชายของเขาที่ชื่อว่า นาย Cornelis de Houtman และ นาย Pieter Dirkszoon Keyser ระหว่างปี 1595 ถึง 15957

 

ต่อมาเขาได้เดินทางมายังภูมิภาคมลายูเป็นอีกครั้งที่สองร่วมกับพี่ชายของเขา นาย Cornelis de Houtman ในปี 1598 ในการเดินทางครั้งนี้ คณะของเขาถูกโจมตีโดยสุลต่านอาลาอุดดิน รีอายต ชาห์ (Alauddin Riayat Syah) แห่งรัฐอาเจะห์ โดยพี่ชายของของเขาถูกสังหารเสียชีวิต ส่วนนาย Frederick de Houtman ถูกสุลต่านแห่งอาเจะห์จับตัวได้ และถูกคุมขังในคุกของรัฐอาเจะห์

 

เขาถูกคุมขังระหว่าง 11 กันยายน 1599 ถึง 25 สิงหาคม 1601 เขาถูกปล่อยออกมา เมื่อรัฐอาเจะห์ได้รับหนังสือขอจากเจ้าชายเมาริตส์ (Prince Maurits)แห่งฮอลันดา ในช่วงที่เขาถูกคุมขังในคุกของรัฐอาเจะห์ เขาใช้เวลาในการเรียนภาษามลายู  เมื่อเขากลับไปยังฮอลันดา ในปี 1603 เขาก็ได้จัดพิมพ์หนังสือพจนานุกรมภาษาดัชต์-ภาษามลายู-ภาษามาลากาชี (มาดากัสการ์)

 

ในปี 1603 นาย Frederick de Houtman ได้ออกเดินทางไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออกอีกครั้ง และเป็นเขาได้เป็นผู้สำเร็จราชการชาวดัตช์คนแรกของเกาะอัมบน ระหว่างตั้งแต่ปี 1605 ถึง 1611 และเขาได้กลับไปฮอลันดาในปี 1612 และอาศัยอยู่ที่เมือง Alkmaar ประเทศฮอลันดา โดยเขาเป็นสมาชิกสภาเมืองดังกล่าวตั้งแต่ปี 1614 ถึง 1618

 

ในปี 1618 เขาได้เดินทางไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออกอีกครั้ง  ต่อมาเขาได้เป็นผู้ว่าการของหมูเกาะมาลูกุ ระหว่างปี 1621-23 และต่อมาในปี 1624 เขากลับไปยังฮอลันดา และเสียชีวิตที่นั่น เมื่อ 21 ตุลาคม 1627


ความเป็นมาของการทำพจนานุกรมการสนทนาภาษาดัตช์ - ภาษามลายู

คณะชาวดัตช์ภายใต้การนำของนาย Cornelis de Houtman และน้องชายของเขา นาย Frederick de Houtman เดินทางมาถึงท่าเรืออาเจะห์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1599 พวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างอบอุ่น อย่างไรก็ตามสุลต่านแห่งอาเจะห์ไม่มีความสนใจในการค้าขาย สุลต่านต้องการใช้เรือและอาวุธของดัตช์ในการโจมตีรัฐโยโฮร์เท่านั้น

 

ในวันที่ 1 กันยายน 1599 กองทหารของสุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์ได้ซุ่มโจมตีและสังหารนาย Cornelis de Houtman และคนอื่น ๆ อีกหลายคน สำหรับนายเลอฟอร์ต (Le Fort) หัวหน้าคณะสำรวจอีกคนสามารถหลบหนีได้ด้วยเรือสองลำของเขา แต่ลูกเรือ 30 คนรวมทั้งนาย Frederick de Houtman ถูกจับได้

 

นาย Frederick de Houtman ถูกชักชวนให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามพร้อมจะให้ตำแหน่ง และแต่งงานกับหญิงชาวอาเจะห์ แต่เขาปฏิเสธ เขาจึงถูกคุมขังที่ป้อมเมืองปีดี เป็นเวลา 26 เดือน (11 กันยายน 1599 ถึง 25 สิงหาคม 1601)

นาย Frederick de Houtman ใช้เวลาในขณะที่ถูกคุมขังในการรวบรวมคำศัพท์หัวข้อการสนทนาต่างๆในภาษาดัตช์และภาษามลายู โดยใช้ชื่อหนังสือว่า Spraeck ende Woordboek, Inde Maleysche ende Madagaskarsche Talen met vele Arabische ende Turcsche Woorden

 

อาจารย์ลีลี่ ซูรัตมินโต (Lilie Suratminto) อาจารย์ประจำสาขาวรรณคดีดัตช์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กล่าวว่า "บทสนทนาที่เขียนขึ้นโดยนาย Frederick de Houtman จะเป็นภาษามลายูที่ใช้ในการติดต่อซื้อขายที่ท่าเรือ"

 

นาย Frederick de Houtman รวบรวมเนื้อหาและข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่อนผู้ต้องขัง เขามักจะได้รับความช่วยเหลือจากล่ามคนหนึ่งที่ทำงานให้กับกองเรือโปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์ ล่ามชาวจากลักเซมเบิร์กคนนั้นนาย Frederick de Houtman เรียกชื่อเล่นว่า "นายวันพฤหัส"

ส่วนแรกของพจนานุกรมที่เขาเขียนประกอบด้วยบทกวีเพลงสวด (Lof-Dicht) และคู่มือทางดาราศาสตร์ที่แสดงถึงกลุ่มดาวต่างๆ ทางตอนใต้ของเส้นศูนย์สูตรซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักเดินทางที่เดินทางไปถึงหมู่เกาะอินดีส นอกจากนี้พจนานุกรมเล่มดังกล่าวยังมีการสนทนาหลายรายการและรวมทั้งคำศัพท์ภาษาดัตช์ - ภาษามลากาซี(มาดากัสการ์)

 

นาย Karim Harun เขียนในบทความชื่อว่า “Aspek Konjugasi dalam Buku Perbualan Houtman (1603)” ลงในวารสารวิชาการชื่อ Jurnal Pengajian Melayu ฉบับที่ 17 (2006) กล่าวว่าการเพิ่มภาษามาลากาชี หรือมาดากัสการ์ เพื่อให้ชาวยุโรปจะได้ใช้เมื่อแวะพักที่แหลม Kaap de Goede Hoop (Cape of Good Hope) ในประเทศแอฟริกาใต้ ในการโต้ตอบกับเจ้าของภาษาในการขนส่งเสบียงอาหารและเครื่องดื่ม

นาย Frederick de Houtman เขียนบทสนทนาภาษาดัตช์ไว้ทางขวาด้วยอักขระแบบกอธิค คู่กับภาษามลายูทางซ้ายซึ่งใช้อักษรโรมัน ในส่วนนี้อาจารย์ลีลี่ ซูรัตมินโต (Lilie Suratminto) กล่าวว่า การเขียนด้วยอักขระแบบกอธิค น่าจะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวัฒนธรรมโปรตุเกสในเวลานั้น  ด้วยการใช้อักขระแบบกอธิคจะใช้ในการเขียนพระคัมภีร์

 

อาจารย์ลีลี่ ซูรัตมินโต (Lilie Suratminto) กล่าวเสริมว่า “ในศตวรรษที่ 17 อักขระแบบกอธิคไม่ได้ถูกใช้อีกต่อไป ด้วยทางบริษัท VOC ได้กำหนดให้อักษรโรมัน เป็นอักขระที่เป็นทางการสำหรับการปกครองในหมู่เกาะอินดีสตะวันออก”

 

หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากคุกในรัฐอาเจะห์แล้ว พจนานุกรมการสนทนาเล่มดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์โดย Jan Evertsz Cloppenburch Boecvercooper op't Water Amsterdam ในปี 1603

 

เดิมพจนานุกรมการสนทนานี้ถูกเก็บเป็นความลับ และมีไว้สำหรับเจ้าหน้าที่และนายเรือของ VOC เท่านั้น แต่ในที่สุดก็มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน พจนานุกรมนี้เป็นที่ต้องการสูงในยุโรป ลูกเรือของเรือเยอรมัน ดัตช์เดนมาร์กและสวีเดน จะใช้หนังสือเล่มนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการเดินทางของพวกเขา

 

ศาสตราจารย์ ดร. James T. Collins เขียนไว้ในหนังสือ Bahasa Melayu Bahasa Dunia: Sejarah Singkat ว่า ชาวยุโรป พวกเขาจะเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้ในกระเป๋าก่อนออกเดินทางไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ในปี 1612 นาย Albert Ruyll พ่อค้าของ VOC ได้แก้ไขและจัดพิมพ์พจนานุกรมใหม่เล่มนี้ใหม่ในชื่อว่า Speighel vande Maleyshce Tale ในเวลา 68 ปีต่อมา ได้มีการตีพิมพ์ฉบับเพิ่มเติม  โดยไม่รวมภาษามาลากาซี (มาดากัสการ์) ภาษาอาหรับและภาษาตุรกีอีกต่อไป  และนาย Gotardus Arthusius ได้ตีพิมพ์เป็นภาษาละติน  และต่อมานาย Avgvstine Spalding ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ชื่อว่า Dialogues in the English and Malaiane Languages

 

อาจารย์ลีลี่ ซูรัตมินโต (Lilie Suratminto) กล่าวเพิ่มเติมว่า การแปลพจนานุกรมการสนทนาของนาย Frederick de Houtman เป็นภาษาต่างๆ นั้นถือเป็นการประตูสำหรับชาวยุโรปโดยเฉพาะชาวดัตช์สู่หมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรือภูมิภาคมลายู

 

https://adb.anu.edu.au/biography/houtman-frederik-de-2201

http://www.ianridpath.com/startales/startales1c.html#houtman   

https://historia.id/kuno/articles/kamus-dari-penjara-sultan-vxj46/page/1